Starting a Business

COSA ร้านกระเป๋าผ้ามินิมอลที่ปั้นธุรกิจด้วย Personal branding ตกลูกค้าผ่านตัวตนเจ้าของแบรนด์!

 

Text : Yuwadi.s

     เพราะยุคนี้การมีอาชีพเดียวอาจไม่เพียงพออีกต่อไป คนรุ่นใหม่มักจะเต็มไปด้วยไอเดียและอยากใช้เวลาที่มีให้เต็มที่แบบขั้นสุด หนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ทำทั้งงานประจำ เป็น KOL แถมยังมีธุรกิจเสริมเล็กๆ ของตัวเองนั่นคือ พลอย-กัญญ์นลิน ฤกษ์พิศุทธิ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์กระเป๋าผ้าแคนวาสสุดมินิมอลที่เรียบแต่เก๋ แถมยังเนี้ยบทุกรายละเอียดกับแบรนด์ที่ชื่อว่า COSA โดยเธอได้เนรมิตแบรนด์นี้มาจากความชอบและแพสชัน จัดเต็มทุกดีเทล ที่สำคัญคือการโปรโมตผ่านการทำ Personal Branding จากการที่เธอเป็น KOL อยู่แล้ว ทำให้ลูกค้ารู้จักแบรนด์กระเป๋าผ่านไลฟ์สไตล์ของเธอบนช่องทางออนไลน์แถมยังตกลูกค้าได้จากการทำคอนเทนต์ด้วย

ธุรกิจเล็กๆ ที่เกิดในช่วงโควิด

     พลอยได้เล่าถึงตอนก่อตั้งแบรนด์ว่าเริ่มต้นมาจากการที่เธอมองหาธุรกิจเล็กๆ ในการสร้างรายได้ช่วงโควิด เพราะงานประจำหายากมากในช่วงนั้น เธอมีทักษะการดีไซน์เป็นทุนเดิม ทำให้ตัดสินใจออกแบบกระเป๋าและปั้นแบรนด์ขึ้น

     “ตอนนั้นพลอยเรียนจบจากปริญญาโทที่อังกฤษ เป็นช่วงโควิดพอดี เราต้องรีบกลับไทย สถานการณ์ที่นู่นไม่ค่อยดี เราก็มาเรียนต่อที่ไทยให้จบ หลังจากนั้นช่วงโควิดก็คือหางานยากมากๆ สมัครที่ไหนก็ไม่มีคนรับ แล้วเรามีช่วงว่างอยู่หลายเดือน เลยต้องหาอะไรสักอย่างที่ซัพพอร์ตรายได้ในช่วงนั้น งั้นก็ทำกระเป๋าแล้วกัน เราเรียนจบดีไซน์มา มีทักษะทำโปรแกรมได้ ทำกราฟิกได้ เลยเริ่มมาทำกระเป๋าผ้า ดีไซน์เองทุกอย่าง”

      แต่ความยากของการเริ่มต้นนั่นคือการเฟ้นหาช่าง การคุยกับซัพพลายเออร์ ซึ่งพลอยใช้ช่องทางออนไลน์ในการหาช่าง นอกจากนี้ความยากคือการทำอย่างไรให้สินค้าออกมาได้ตรงกับความต้องการมากที่สุด

     “ก่อนสินค้าจะออก เราใช้เวลาเหมือนกัน ตอนนั้นโควิดด้วย อย่างการดีไซน์ก็จะประมาณ 2 เดือน กว่าจะมาเจอสไตล์และดีไซน์ที่ถูกใจ เราดีไซน์เอง แล้วก็คุยกับช่างยากนิดหนึ่ง คุยกับซัพพลายเออร์ด้วย เราเองไม่รู้จักใครมาก่อน ก็จะใช้โซเชียลมีเดียในการหาช่าง เข้าไปตามกลุ่มที่เป็นกลุ่มรวมช่างตัดเย็บหรือช่างสกรีน ไปดูผลงานของเขา ความยากมันอยู่ที่การคุยกับช่าง กับซัพพลายเออร์ เพื่อให้เขาผลิตงานได้ตรงความต้องการของเรา เราเองก็ไม่ใช่คนน้อย เราก็เยอะอยู่ อย่างเรื่องสี ที่เขามีอาจจะไม่ตรงกับความต้องการของเรา เราต้องลงไปดูไลน์ผลิตเอง ไปช่วยเขาผสมสี ความยากมันคือการประนีประนอมในการพูดคุย เราต้องเข้าใจว่าเขาอาจจะไม่ได้ลงดีเทลเท่าเรา ตรงนี้ก็เป็นปัญหานิดหนึ่ง”

ทำการตลาดแบบแทรกซึมผ่านไลฟ์สไตล์

     สำหรับวิธีการทำการตลาดให้ลูกค้าได้รู้จักแบรนด์กระเป๋า พลอยเล่าว่าเธอใช้วิธีการโปรโมตผ่านช่องทางออนไลน์ของตัวเอง เนื่องจากเธอมีผู้ติดตามทั้งใน Instagram และใน TikTok รวมกันประมาณ 4 หมื่นคน อีกหนึ่งพาร์ทของเธอคือการเป็น KOL รับงานรีวิวสินค้า ทำให้เธอใช้ช่องทางเหล่านี้ในการพาแบรนด์กระเป๋ามาให้ผู้คนได้รู้จัก

     “ตอนแรกเราจะโปรโมตผ่านช่องทางตัวเอง ในไอจีตัวเองว่าเรามีขายกระเป๋านะ เรามีผู้ติดตามอยู่จำนวนหนึ่งในไอจีของเรา แล้วก็มีการสร้างช่องทางการขายทั้งไอจี Lazada Shopee และไลน์ เพื่อให้ลูกค้าเข้ามาซื้อได้ง่ายในทุกช่องทาง แล้วก็เน้นการโปรโมตผ่านทาง KOL ส่งของไปให้คนรีวิว ลูกค้าจะได้เห็นจากหลายๆ ช่องทางมากขึ้นแล้วก็มีการยิงโฆษณาเพื่อเพิ่มการมองเห็นในช่องทางออนไลน์”

    โดยเธอเสริมถึงวิธีการสร้าง Personal Branding ในแบบของเธอนั่นการคือโปรโมตกระเป๋าผ่านไลฟ์สไตล์และคอนเทนต์ในชีวิตประจำวันของเธอ ทำให้ลูกค้าที่ชื่นชอบไลฟ์สไตล์คล้ายๆ กันก็น่าจะหลงรักแบรนด์ COSA เช่นเดียวกัน

     “จริงๆ พลอยเป็นพนักงานออฟฟิศพอมีเวลาว่างก็จะมาทำคลิปลง TikTok หรือทำคอนเทนต์ลงไอจีอยู่แล้ว ก็เลยจะมีผู้ติดตามที่รู้จักไลฟ์สไตล์เราและตัวตนเรา แบรนด์หรือสินค้าที่เราทำมันเลยนำเสนอผ่านตัวตนของเรา เหมือนเป็นการเอาแบรนด์มาผสมผสานกับตัวตนของเรา เลยทำให้คนเข้าใจและเข้าถึงได้ง่ายกว่า อย่างเวลาเราถ่ายรูปลงก็ Tag สินค้า มันแทรกไปในไลฟ์สไตล์ของเราไปเลย พลอยว่ามันเป็นข้อดีในแง่ที่ว่าคนจะรู้จักเราในนามของแบรนด์ และรู้จักแบรนด์ในนามของเรา ถ้าบอกว่ารู้จักพลอย ก็จะอ๋อ พลอยที่ขายกระเป๋าอันนี้ไง”

     พลอยเล่าเสริมให้ฟังถึงจุดเด่นของแบรนด์กระเป๋า COSA ที่มีความต่างจากกระเป๋าผ้าทั่วไปนั่นคือการใส่ใจรายละเอียดและดีเทล เน้นการใช้งานได้ทุกวัน ทุกไลฟ์สไตล์ 

       “มันเริ่มมาจากการออกแบบและความชอบของเรา ตอนแรกเรามองว่าเรามี Pain point อะไรในการใช้กระเป๋าใบนี้บ้าง เราชอบของแบบไหน วิธีการใช้งานเป็นยังไง เราก็ถ่ายทอดจาก Paint point มาเป็นกระเป๋า ทั้งการดีไซน์ ขนาด ดีเทล ผ้า ลาย มันออกมาจากความต้องการของคนคนหนึ่งอย่างเรา เราก็คิดว่าคนอื่นก็อาจจะอยากใช้แบบนี้เหมือนกัน พอเราเอาจุดนี้มาทำเป็นแบรนด์ มันเลยกลายเป็นตอบโจทย์ความต้องการของคนได้ เราเป็นคนค่อนข้างละเอียด เวลาจะออกมาเป็นชิ้นหนึ่งได้ กระเป๋าผ้าตามท้องตลาดทั่วไปก็มี แต่ของเราจะแตกต่างตรงดีเทลที่เนี้ยบกว่า”

     โดยเธอได้ปิดท้ายให้ฟังถึงหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจนี้ แม้เป็นเพียงธุรกิจเสริมเล็กๆ แต่สิ่งสำคัญคือความใส่ใจและความสนุกในการทำงาน

     “หัวใจสำคัญน่าจะเป็นเรื่องความชอบและความสนุกในการทำงาน ทุกวันนี้ที่ทำงานประจำไปด้วย ทำแบรนด์กระเป๋าไปด้วย มันไม่ได้เหนื่อยขนาดนั้น เพราะเราสนุกในการทำงาน ทั้งการออกแบบ ครีเอทีฟ คุยกับช่าง เลือกสี มันสนุก ทำให้เราไม่เหนื่อยและทำไปได้เรื่อยๆ มันดีใจเวลาที่เห็นคนที่เราไม่รู้จักแต่เขาใช้ของที่เราดีไซน์ ใช้แบรนด์เรา ทำให้เรารู้สึกว่ามีคุณค่าทางจิตใจมากกว่าเงินในบัญชีที่เข้ามา”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup