พลิกงานอดิเรกเป็นเงิน! Rebult ธุรกิจจำหน่ายชิ้นส่วนคีย์บอร์ดที่ทำโดยนักศึกษามาเลย์
Text : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
วิกฤตโควิด-19 อาจทำให้หลายธุรกิจม้วนเสื่อพับกิจการ ขณะเดียวกันก็ทำให้บางธุรกิจแจ้งเกิดได้ ดังเช่น Rebult ธุรกิจจำหน่ายชิ้นส่วนแมคคานิคอลคีย์บอร์ดของ ตัน ไค ฮอง (ฮอง) และ ที เคียน เม็ง (จิมมี่) สองนักศึกษามหาวิทยาลัยในมาเลเซีย โดยคนแรกศึกษาด้านคอมพิวเตอร์ ส่วนอีกคนกำลังเรียนวิศวกรรม จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นในปี 2563 มาจากการเรียนออนไลน์ช่วงโควิดเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อทำให้ฮองและจิมมี่มีเวลาว่างมากขึ้น
ก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด ฮองและจิมมี่คุ้นชินกับการใช้แมคคานิคอลคีย์บอร์ดอยู่แล้ว คีย์บอร์ดชนิดนี้บรรดาเกมเมอร์จะคุ้นเคยกันดี เนื่องจากเป็นคีย์บอร์ดที่ทำงานโดยใช้สวิทช์ (Switch) หรือกลไกของปุ่มในการเชื่อมต่อระหว่างคีย์แคปกับแผงวงจรอันต่างจากคีย์บอร์ดทั่วไป และกลุ่มคนที่ใช้แมคคานิคอลคีย์บอร์ดยังเป็นกลุ่มเล็กๆ การเสาะหาชิ้นส่วนจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทาย
ช่วงว่างจากการเรียนออนไลน์ ฮองและจิมมี่ก็พยายามหาซื้อสวิทช์ทีเอ็กซ์ซึ่งเป็นชิ้นส่วนคีย์บอร์ดแบรนด์เกาหลีใต้ แต่หาไม่ได้จึงลงเอยด้วยการสั่งซื้อโดยตรงจากเกาหลี ด้วยความอยากประหยัดจึงเลือกบริการขนส่งที่ราคาถูกสุดซึ่งไม่สามารถติดตามสถานะพัสดุ แถมยังต้องรอนานกว่าจะได้รับสินค้า เป็นเรื่องที่สร้างความหงุดหงิดใจให้กับคนที่ต้องการความรวดเร็วในการปรับแต่งคีย์บอร์ดอย่างยิ่ง
“เราสังเกตช่องว่างในตลาดตรงนี้ จึงเกิดความคิดอยากเปิดบริษัทที่เชี่ยวชาญและจำหน่ายชิ้นส่วนแมคคานิคอลคีย์บอร์ดโดยเฉพาะ แต่นั่นก็เป็นเพียงความคิดที่ไม่เคยลงมือทำ จนกระทั่งเกิดโควิดจึงเริ่มจริงจัง และคิดว่าต่อให้ไม่ประสบความสำเร็จ อย่างน้อยก็ได้ประสบการณ์ และทำให้ได้เพื่อนหรือรู้จักคนมากขึ้น” หนึ่งในหุ้นส่วนเล่า
นั่นจึงเป็นที่มาของการเปิด Rebult Keyboards ธุรกิจจำหน่ายชิ้นส่วนแมคคานิคอลคีย์บอร์ด มีตั้งแต่สวิทช์ คีย์แคปไปจนถึงตัวบาลานซ์ปุ่มบนคีย์บอร์ด โดยเปิดขายออนไลน์ มีแค็ตตาล็อกให้ลูกค้าเลือก ฮองเล่าว่าเมื่อหาซัพพลายเออร์ได้ก็จะเป็นจุดเริ่มต้น แต่สิ่งที่ยากอาจเป็นการเลือกสินค้าหรือแบรนด์ที่จะมาลงขาย ซึ่งท้ายที่สุด ทั้งสองก็เลือกจากความชอบส่วนตัว และความต้องการของตลาด
จับตลาดเร็วจึงไปได้ไกล
สำหรับสินค้าบางชิ้นที่ราคาสูง ทางบริษัทจะให้ลูกค้ารวมกลุ่มซื้อ และสั่งแบบพรีออร์เดอร์ แต่โดยมากฮองและจิมมี่จะเน้นที่การขายสินค้าที่มีในสต็อกมากกว่า ไม่มีประสบการณ์ด้านการตลาดหรือการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ฮองมองว่าไม่มีผลสักเท่าไรเพราะแมคคานิคอลคีย์บอร์ดเกี่ยวเนื่องกับงานอดิเรกและคนที่ใช้ก็เป็นกลุ่มเฉพาะ ซึ่งทั้งฮองและจิมมี่ก็ไปสิงอยู่ในชุมชนคนใช้คีย์บอร์ดนี้อยู่แล้ว ทำให้รู้กลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน
“เราเป็นรายแรกๆ ที่เริ่มนำสินค้ามาจำหน่าย และได้ช่วยขยายตลาดในมาเลเซีย จากจุดที่ว่ามีสินค้าให้เลือกไม่มากก็ขยายใหญ่ขึ้น การเป็นผู้เล่นที่เข้ามาจับตลาดตั้งแต่เนิ่นๆ และเข้ามาในช่วงเวลาที่เหมาะสมก็ทำให้เราได้เปรียบ บวกกับการใช้งานคีย์บอร์ดประเภทนี้เริ่มได้รับความนิยม จึงทำให้ธุรกิจเติบโต อีกอย่างหนึ่งการบอกกันปากต่อปากของลูกค้าพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นการตลาดที่ทรงพลังมาก” ฮองกล่าว
นอกเหนือจากการนำเสนออุปกรณ์และชิ้นส่วนคีย์บอร์ดหลากหลายชนิดซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศ Rebult ยังเริ่มออกแบบและผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ของตัวเอง เช่น สวิทช์รุ่น Penyu และ Harimau ถือเป็นสินค้ารุ่นแรกๆ ที่ทีมงาน Rebult ออกแบบและผลิตเอง
แต่ผลงานที่ได้รับความสนใจมากสุดเป็นคีย์แคปดีบุกรูปทุเรียนที่ Rebult จับมือกับรอยัล สลังงอร์ แบรนด์เครื่องใช้ดีบุกชื่อดังในตำนานของมาเลเซีย ฮองเล่าว่าไอเดียมาจากสมาชิกในกลุ่มแมคคานิคอลคีย์บอร์ดพูดเล่นๆ ว่าน่าจะมีการผลิตคีย์แคปที่เป็นดีบุกออกมาบ้างนะ ทีมงาน Rebult จึงศึกษาความเป็นไปได้ และได้เข้าไปคุยกับรอยัล สลังงอร์ จึงมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา
รังสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า
ผู้บริหาร Rebult กล่าวว่าเป้าหมายอย่างหนึ่งของบริษัทคือ การรังสรรค์ผลิตภัณฑ์อันทรงคุณค่าที่มีความหมายแฝงอยู่ในเนื้องาน ซึ่งต่อมาก็มีการออกแบบสินค้าที่สอดแทรกแนวคิดเกี่ยวกับสัตว์ป่าสงวน โดยรายได้ส่วนหนึ่งมอบให้ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่ามาเลเซีย ทำให้เกิดโปรเจกต์ผลิตสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับเอกลักษณ์ของประเทศออกมาเรื่อยๆ เช่น ล่าสุด Rebult เปิดตัวซองผ้าบาติกสำหรับใส่คีย์บอร์ด ซองผ้าเหล่านั้นผลิตโดยกลุ่มผู้ลี้ภัยสตรี และกำไรทั้งหมดมอบให้มูลนิธิเด็ก
แม้จะดำเนินธุรกิจได้เพียง 2 ปี และ Rebult กลายเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้ใช้แมคคานิคอลคีย์บอร์ด แต่ฮองกับจิมมี่ก็ยังไม่คิดจะหันมาจับธุรกิจนี้แบบเต็มตัว เพราะยังมีความสุขกับการทำเป็นรายได้เสริมควบคู่ไปกับการเรียนหนังสือ
“เรายังไม่คิดจะขายสินค้าทุกอย่างที่เกี่ยวกับคีย์บอร์ด ไม่อยากเป็นร้านค้าแบบครบวงจรที่มีครบทุกอย่าง เราไม่ต้องการผูกขาดตลาด เราพอใจกับการเฟ้นหาสินค้าที่ยังไม่มีขายในมาเลเซียมาขาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่เราต้องการใช้เองอยู่แล้ว” เมื่อถามถึงแผนในอนาคต คำตอบของฮองก็คือ “เนื่องจาก Rebult ไม่ใช่งานประจำของเรา ด้วยความสัตย์จริงเราจึงไม่ได้กำหนดเป้าหมายอะไร เราก็แค่ทำไปเรื่อยๆ แล้วแต่ว่าความรักความชอบในสิ่งที่ทำจะนำพาเราไป”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup