Starting a Business

เปิดเคล็ดลับปั้น “ซุปตาร์ชาบู” อายุ 25 เปิดร้านชาบู ปีเดียว 2 สาขา ทำยังไงให้ลูกค้าต่อคิว

 

Text : Yuwadi.spm

      หนึ่งในธุรกิจฮอตฮิตยุคนี้คือการเปิดร้านบุฟเฟ่ต์ โดยเฉพาะชาบู ที่มองไปทางไหนก็เห็น แต่จะทำอย่างไรให้ร้านชาบูอร่อย จนมีลูกค้ามาต่อคิวเยอะถึงขนาดเปิด 2 สาขาในปีเดียวแบบนี้ เจ้าของร้านวัย 25 ปีที่เพิ่งเรียนจบได้ไม่นานอย่าง อันดา - พรรณธิดา กิจเพิ่มเกียรติ เธอเป็นคนที่คลั่งรักชาบูและมีความฝันอยากเป็นเจ้าของธุรกิจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หลังจากเรียนจบก็สั่งสมประสบการณ์ทำงานในกรุงเทพฯ อยู่ปีกว่า จนกระทั่งที่บ้านชวนกลับมาทำธุรกิจเล็กๆ ของตัวเองที่จังหวัดอุบลราชธานี จึงเป็นโอกาสดีที่เธอจะได้ตามหาธุรกิจที่ใช่ว่าจะทำอะไรดี จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของร้านชาบูสุดฮอต “ซุปตาร์ชาบู”

     “ก่อนหน้านี้พอเราเรียนจบ ก็ทำงานที่กรุงเทพฯ ได้ปีกว่า วันหนึ่งคุณแม่โทรมาหาว่าอันดา สนใจกลับมาทำธุรกิจที่บ้านไหม ผู้ใหญ่อยากทำให้กลับมาอยู่ที่บ้านกับครอบครัว เขาก็บอกว่ากลับมาดูตลาดก่อนก็ได้ ว่าจะทำอะไร ให้เวลาเดือนหนึ่ง เราก็คิดว่าลองดูไม่เสียหาย พอกลับบ้านเราก็ลองไล่ชิมอาหารทุกร้านเลย ใหญ่ เล็ก ไปชิมหมด ตอนนั้นในจังหวัดก็มีร้านชาบูที่มีชื่ออยู่ แต่พอเราไปชิมแล้วยังไม่ตอบโจทย์สไตล์ที่อันดาชอบ เราชอบชาบูที่เป็นราคาเดียว คิดว่าถ้าจะทำก็จะทำราคาเดียวทั้งร้าน มาแล้วกินอะไรก็ได้ แล้วคนที่นี่ก็จะชอบมากินเป็นครอบครัว เราเลยคิดว่างั้นจะทำให้ตอบโจทย์คนทุกคน จะชอบกินหมู กินเนื้อหรืออาหารทะเล มาร้านอันดาแล้วราคาเดียวตอบโจทย์ทุกอย่าง”

 

 

     ด้วยความชอบกินชาบูเป็นทุนเดิมบวกกับช่องว่างในตลาดที่ยังมีอยู่ ทำให้เธอตัดสินใจว่าจะทำร้านชาบูในจังหวัดบ้านเกิด เมื่อปิ๊งไอเดีย อันดาจึงใช้วิธีการไล่ชิมชาบูทุกร้านในจังหวัด จากนั้นก็กลับมาพัฒนาสูตรของตัวเองทั้งน้ำซุป น้ำจิ้ม จนรสชาติถูกปาก ลงตัว ก็กลายเป็นร้านซุปตาร์ชาบู ราคาเดียวทั้งร้าน 268 บาท

     “พอคิดว่าจะทำร้านชาบู เราก็ตัดสินใจงั้นไปชิมชาบูทุกวัน โฟกัสที่ร้านชาบู ก็จะเริ่มรู้ว่าร้านนี้รสชาติประมาณนี้ เราก็กลับมาคิดสูตรของเราเองแล้วเรียกเพื่อนมาชิม เขาก็จะแนะนำว่าคนนี้ชอบแบบนี้ อีกคนชอบแบบนี้ เริ่มรู้ว่าคนเราชอบรสชาติไม่เหมือนกัน ก็คิดว่าถ้าเราจะทำให้ตอบโจทย์แบบที่คิดไว้ตอนแรก ทุกคนกินได้ รสชาติต้องกลางๆ ในแบบที่คนส่วนใหญ่ชอบ เราก็คิดเองทั้งสูตรน้ำซุป น้ำจิ้ม ใช้เวลาพัฒนาสูตรหลายเดือนไปพร้อมๆ กับการทำตัวร้าน ตัวน้ำซุปจะมี 6 แบบ มีกระดูกหมูที่เป็นออริจินัล น้ำดำ ต้มยำ มิโซะ เย็นตาโฟและหม่าล่า จุดเด่นของร้าน อันดามองว่าเป็นการที่เราสไลด์เนื้อโชว์กลางร้าน เป็นกิมมิกที่ลูกค้าจะได้กินเนื้อที่สไลด์สดๆ ความอร่อยมันจะมากกว่าที่เราสไลด์ทิ้งไว้ในตู้เย็น”

 

 

     แต่ก่อนที่จะปัง อันดาเล่าให้ฟังว่าในช่วงแรกที่เปิดร้านก็เจอกับเหตุการณ์ที่ทำให้ใจเสีย เพราะไม่มีลูกค้าเข้าร้าน เงียบกริบ ต่างจากภาพที่คิดเอาไว้ จึงทำให้เธอลุกขึ้นมาโฟกัสที่การทำการตลาดจนในที่สุดก็เริ่มมีลูกค้าเข้าร้านและต่อคิวรอกินชาบู

     “ช่วงแรกด้วยความที่เราเป็นมือใหม่ โลกสวยมาก อุ้ยของเราอร่อย เรามั่นใจ คิดว่าอาหารอร่อย ทำออกมาดี ทำไมจะไม่มีลูกค้า แต่เปิดมาปุ้บ เงียบกริบเลย เราก็โอ้! ไม่ได้เปิดมาแล้วลูกค้าเยอะเลยนี่หว่า ก็มาปรึกษาเพื่อนที่เก่งการตลาดว่าทำไงดี เขาก็ให้ความรู้ เราก็เริ่มทำการตลาด จนมันเป็นรูปร่างขึ้นช่วงหลัง เราก็ทำตลาดง่ายๆ คือชวนคนรู้จักมากิน ให้คุณแม่ชวนเพื่อนๆ มากิน ถ้าชอบก็รีวิวให้หน่อย เช็คอินให้หน่อย แล้วก็คิดต่อว่าถ้าทำแบบนี้ในโลกออนไลน์ก็น่าจะเวิร์ค เลยหาเพจต่างๆ ที่รีวิวอาหารหรือคนทั่วไปบนโลกออนไลน์ที่มีเพื่อนเยอะหน่อย ให้เขาลองมากินชาบูร้านเรา กินฟรีได้เลย ชวนเพื่อนมากี่คนก็ได้ แลกกับรีวิว จากนั้นไม่นานก็มีลูกค้าตามรีวิวมา เป็นความโชคดีที่ลูกค้าชอบร้านเรา เลยกลายเป็นปากต่อปาก ลูกค้าเลยเยอะขึ้นและมีขาประจำด้วย”

 

 

     หลังจากที่ชาบูร้านแรกประสบความสำเร็จ มีลูกค้าเข้าร้านจนเริ่มต้องต่อคิว ทำให้เธอตัดสินใจเปิดร้านชาบูสาขา 2 ภายใน 1 ปี และสาขา 2 ก็ประสบความสำเร็จ มีลูกค้าต่อคิวอีกเช่นกัน จนปัจจุบัน ซุปตาร์ชาบู กำลังจะเปิดร้านชาบูสาขาที่ 3 ในจังหวัดอุบลฯ

     “หลังจากที่สาขาแรก ลูกค้าเริ่มรอคิว จากนั้น 1-2 เดือนเราก็มั่นใจเหมือนเดิม เปิดสาขาสองต่อเลย ผลตอบรับดี เราใช้วิธีเหมือนสาขาแรกคือเรียกคนที่เคยมากินว่าจะมีสาขาสองแล้วนะ กลับมารีวิวให้หน่อย ส่วนสาขาสามก็เหมือนเดิม เริ่มมีคนรอคิว ส่วนตัวมองว่าตลาดมันยังเข้าได้อีก คิดว่าต้องมีสาขาเพิ่มจนกว่าจะนิ่ง รองรับลูกค้าได้ทุกพื้นที่แล้ว”

 

 

     สิ่งสำคัญที่ทำให้ร้านซุปตาร์ชาบูประสบความสำเร็จภายในเวลาอันรวดเร็วนั่นคือเพราะรสชาติที่ถูกปากและการให้บริการอย่างจริงใจ ซื่อสัตย์ ทำให้ทุกอย่างให้ลูกค้าเหมือนคนในครอบครัว โดยอันดาได้ปิดท้ายถึงหัวใจสำคัญให้ฟัง

     “มันเป็นความอร่อยที่เราใส่ใจ เพราะอันดารู้สึกว่าพอเราทำธุรกิจอาหาร รสชาติสำคัญ ถึงจะโปรโมตดีแค่ไหน แต่ถ้ารสชาติกับคุณภาพไม่ได้ เขาก็มากินแค่ครั้งเดียว อีกเรื่องคือการทำธุรกิจ ไม่ควรมองแค่กำไร หมายถึงว่ากำไรเป็นเป้าหมายก็จริง แต่ระหว่างที่จะมองเป้าหมายต้องมองด้วยว่าสินค้าและบริการเราให้อะไรกับลูกค้าบ้าง เรามองไปถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ความซื่อสัตย์ในการทำงาน เช่น ในครัว ลูกค้ามองไม่เห็นก็จริงว่าเราดูแลยังไง ก่อนมาเสิร์ฟ อาหารจะสะอาดจริงไหน หน้าตาดูดีแต่กรรมวิธีมันโอเคแค่ไหน เขาไม่เห็น เราก็จะบอกกับพนักงานเสมอว่าให้ทำอาหารเหมือนให้คนในครอบครัวกิน ลูกค้าเขามองไม่เห็นแต่เขารู้สึกได้และถ้าเขารู้สึกว่าคุ้มค่าที่มากินร้านเรา ตัวกำไรก็จะตามมาอยู่แล้ว”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup