จากเด็กสมาธิสั้นต้องหยุดเรียนสู่การเป็นดีไซเนอร์เจ้าของ Kochi แบรนด์แฟชั่นดังในญี่ปุ่น
Text : Vim Viva
- โชอิชิ นากาจิมะ เด็กหนุ่มวัย 28 ปีผู้ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น ทำให้เขาต้องย้ายโรงเรียนบ่อย แต่กลับมีพรสวรรค์ในการออกแบบ
- ในวันนี้เขาเปิดตั้งบริษัทเล็กๆ ขึ้นเพื่อออกแบบและผลิตสินค้าแฟชั่นประเภทเครื่องหนังโดยเน้นที่กระเป๋าสตางค์ ภายใต้แบรนด์ Kochi ที่ดังในญี่ปุ่น แถมยังได้ตอบแทนถิ่นอาศัยด้วยการสนับสนุนกิจกรรมที่ส่งเสริมให้จังหวัดโคจิเป็นที่รู้จักอีกด้วย
โชอิชิ นากาจิมะ เด็กหนุ่มวัย 28 ปีผู้ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น หรือ ADHD (Attention Deficit Hyperactivity Disorder) รู้ดีเสมอมาว่าเขาไม่เหมือนคนอื่นและเพราะภาวะที่เป็นนี่เองที่ทำให้เขาต้องออกจากโรงเรียน “ตั้งแต่ยังเด็ก ผมมีวิธีที่ค่อนข้างแปลกในการมองสิ่งต่างๆ ซึ่งคนรอบข้างผมก็คิดว่าผมนั้นเป็นคนประหลาด”
อย่างไรก็ตาม เพราะความประหลาดที่บ่มเพาะในตัวเขานี่เองที่นำไปสู่พรสวรรค์ในการออกแบบและประสบความสำเร็จในการเป็นดีไซเนอร์กระเป๋าและเครื่องหนัง
นากาจิมะใช้ชื่อแบรนด์ว่า โคจิ (Kochi) ซึ่งเป็นชื่อจังหวัดที่เขาเติบโต เขาตั้งบริษัทเล็กๆ ขึ้นเพื่อออกแบบและผลิตสินค้าแฟชั่นประเภทเครื่องหนังโดยเน้นที่กระเป๋าสตางค์ นากาจิมะยอมรับว่าเขาได้แรงบันดาลใจจากแบรนด์แฟชั่น “โค้ช” (Coach) ของสหรัฐฯ เนื่องจากการออกเสียงคำว่าโค้ชของชาวญี่ป่นจะละม้ายคล้ายคำว่าโคจิ ในการออกแบบกระเป๋า กานาจิมะจึงใช้ตัวอักษรคันจิซึ่งเป็นอักษรจีนในระบบภาษาญี่ปุ่นเป็นลวดลายบนกระเป๋าคล้ายกับดีไซน์ของกระเป๋าโค้ช ผลปรากฏว่าได้รับความนิยมอย่างมาก ผู้บริโภคญี่ปุ่นมองว่าเป็นกระเป๋าที่น่ารัก
ย้อนกลับไปวัยเด็ก นากาจิมะเกิดที่เมืองเซนได ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น เขาย้ายโรงเรียนบ่อยเพราะคุณพ่อเปลี่ยนงานบ่อย ทุกโรงเรียนที่ย้ายไปเรียน นากาจิมะจะประสบปัญหาคือขาดสมาธิ ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับการเรียน ไม่สามารถเข้ากลุ่มทำกิจกรรมกับเพื่อนร่วมชั้น เขาได้พยายามที่จะปรับตัวแล้ว แต่เพื่อนๆ กลับมองว่าเขาเป็นคนแปลก ช่วงที่เรียนชั้นประถม 5 หรือ 6 นากาจิมะเริ่มมีความคิดหรือเขาจะเป็นมนุษย์ต่างดาว
พอเริ่มเรียนระดับมัธยมต้น เด็กชายนากาจิมะก็ตกเป็นเป้าของการกลั่นแกล้งจากเพื่อน ทำให้เขาเลิกไปโรงเรียน หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้น ซึ่งทำให้เขารู้สึกโล่งใจที่ได้รู้และเข้าใจว่าตัวเองเป็นอะไร คุณครูคนหนึ่งแนะนำให้นากาจิมะเข้าเรียนที่มิราอิ ศูนย์ส่งเสริมการศึกษาที่สถาบันวิจัยการศึกษาเมืองโคจิ ศูนย์ดังกล่าวให้การช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่ไม่ได้เรียนในระบบ ฝึกให้ช่วยเหลือตัวเองและใช้ชีวิตในสังคมได้
ตอนที่นากาจิมะไปอยู่ที่ศูนย์นี้ใหม่ๆ เขาชอบเล่นคนเดียวกว่าจะปรับตัวให้ทำความรู้จักเด็กคนอื่น เด็กที่อยู่ในศูนย์มิราอิจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเรียนและทำกิจกรรมด้วยกัน ทำให้เกิดความผูกพันเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว วันหนึ่ง เมื่อทางศูนย์กำลังจะจัดงานเทศกาลวัฒนธรรม และคุณครูคนหนึ่งในศูนย์ได้ขอให้นากาจิมะช่วยออกแบบป้ายเพื่อติดในงาน การขอร้องครั้งนั้นของครูได้เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาลเมื่อนากาจิมะได้ออกแบบตัวอักษรและสัญลักษณ์ที่สื่อออกมาได้ดีจนครูชมว่าเป็นชิ้นงานที่น่าสนใจและเขามีแววว่าจะเป็นศิลปิน
นากาจิมะนึกภาพไม่ออกว่าการใช้ชีวิตเยี่ยงศิลปินนั้นจะเป็นเช่นไร แต่สำหรับนากาจิมะแล้ว ความสนใจในงานศิลปะไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น เขาสนใจเรื่องนี้มานานแล้ว ตอนเรียนชั้นประถม เขาเคยนำหินมาบดให้เป็นผงแล้วทำเป็นสี ในชั้นเรียนศิลปะ เขามักใช้ยางลบปั้นได้ (kneaded eraser) แปะบนกระดาษและเรียกมันว่า “ศิลปะ” หลังจากที่ได้รับคำชมจากคุณครูเขาก็เริ่มคิดว่ามันเป็นเรื่องโอเคที่จะแสดงไอเดียแปลกๆ ออกมา
นากาจิมะทำตามคำแนะนำของครูด้วยการกลับไปเรียนชั้นมัธยมปลายและเลือกเป็นสมาชิกชมรมศิลปะ แม้จะยังมีปัญหาในการร่วมกิจกรรมแบบกลุ่ม แต่ไอเดียในการสร้างสรรค์งานศิลปะไม่เคยแผ่วเลย ยิ่งโต นากาจิมะก็ยิ่งเรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเอง และเริ่มเป็นที่รู้จักจากผลงานศิลปะอันสร้างสรรค์ เขาพบว่ามันเป็นเรื่องสนุกในการใช้มือทำสิ่งต่างๆ เช่น ครั้งหนึ่ง เขาซื้อพัดลมเก่ามาแล้วเจาะรูที่ใบพัดพัดลมเพื่อทำเป็นเครื่องเป่าลูกโป่งจากฟองสบู่ หรือบางทีก็เดินไปตามริมตลิ่งใกล้โรงเรียนเพื่อเก็บกิ่งไม้มาเหลาเป็นคันธนู เป็นต้น
“นากาจิมะได้ขีดเขียนรูปแบบอักษรที่ผสมผสานระหว่างภาษาอาราบิกกับภาษาญี่ปุ่น
และโดยบังเอิญที่เขาจะเขียนคำว่า “โคจิ” ในแบบตัวอักษรต่างๆ อยู่บ่อยๆ
จนกระทั่งเขาสังเกตว่าแพทเทิร์นกลมๆ ที่เขาวาดขึ้นน่าสนใจดี
หากจะนำไปทำเป็นลวดลายบนกระเป๋าสตางค์"
ตอนเรียนชั้นมัธยม 5 นากาจิมะทำแม่พิมพ์รูปส้มแมนดารินจากปูนปลาสเตอร์ จากนั้นก็หลอมกระป๋องอลูมิเนียมที่เก็บรวบรวมมาแล้วเทใส่พิมพ์ ทำให้ได้ผลส้มอลูมิเนียม เขานำส้มอลูมิเนียมนั้นไปวางบนกระป๋องน้ำส้มแล้วเรียกงานชิ้นนี้ว่า “ส้มอลูมิเนียมบนกระป๋องอลูมิเนียม” ผลปรากฏว่างานชิ้นนี้ได้รับรางวัล Special Recognition Award จากการประกวดในงานนิทรรศการศิลปะระดับโรงเรียนมัธยมในจังหวัดโคจิ ไม่ต้องสงสัยเลยว่านากาจิมะจะมีความสุขมากเพียงใดที่ได้รับการยอมรับและได้รางวัลเป็นครั้งแรก
ในปี 2013 นากาจิมะเข้าศึกษาต่อสาขาศิลปะที่มหาวิทยาลัยโอซาก้า หลังเรียนจบ เขาไม่ได้ขวนขวายหางานทำตามที่บิดามารดาต้องการ ในหัวเขามีแต่งานศิลปะ แต่ครั้นจะกลับไปใช้ชีวิตที่จังหวัดโคจิแบบไร้งานทำก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดี ระหว่างที่ฟุ้งซ่าน นากาจิมะได้ขีดเขียนรูปแบบอักษรที่ผสมผสานระหว่างภาษาอาราบิกกับภาษาญี่ปุ่น และโดยบังเอิญที่เขาจะเขียนคำว่า “โคจิ” ในแบบตัวอักษรต่างๆ อยู่บ่อยๆ จนกระทั่งเขาสังเกตว่าแพทเทิร์นกลมๆ ที่เขาวาดขึ้นน่าสนใจดีหากจะนำไปทำเป็นลวดลายบนกระเป๋าสตางค์
เมื่อไอเดียบรรเจิด เขาจึงมองหาโรงงานในญี่ปุ่นที่จะผลิตกระเป๋าให้ แต่หาไม่ได้ ท้ายที่สุดก็ติดต่อโรงงานที่จีนได้ โดยลองผลิตออกมา 200 ใบ และลองพยายามขายผ่านอินเทอร์เน็ต แต่ขายไม่ได้เลยสักใบ นากาจิมะลงทุนเช่าพื้นที่เป็นมุมเล็กๆ ในห้างสรรพสินค้าในโคจิเปิดเป็นร้านขายกระเป๋าสตางค์ จุดเปลี่ยนในชีวิตได้เกิดขึ้นในเดือนสค. 2018 เมื่ออากิระ อิชิดะ นักแสดงตลกที่ทำรายการทีวีได้มาถ่ายทำรายการที่ร้าน และนากาจิมะได้มอบกระเป๋าสตางค์ที่เขาออกแบบเองเป็นที่ระลึก พลันที่อิชิดะโพสต์รูปกระเป๋าโคจิลงบนทวิตเตอร์ ยอดสั่งซื้อก็หลั่งไหลเข้ามาแบบถล่มทลาย
นากาจิมะเล่าว่าบางวัน ออร์เดอร์เข้ามามากถึง 2,000 ใบก็มี ในปลายปีนั้นเอง เขาก็ตั้งบริษัทและเปิดตัวกระเป๋าแบรนด์โคจิ และได้ร่วมมือกับแบรนด์อื่นๆ ในการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดโคจิอีกด้วย อาทิ โลชั่นบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของน้ำทะเลลึก และกระเป๋าใส่นามบัตรทำจากหนังกวางที่เลี้ยงในจังหวัด เป็นต้น ความสุขของนากาจิมะในขณะนี้คือการทำงานออกแบบผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์โคจิ และได้ตอบแทนถิ่นอาศัยด้วยการสนับสนุนกิจกรรมที่ส่งเสริมให้จังหวัดโคจิเป็นที่รู้จัก
ที่มา :
https://www.scmp.com/lifestyle/health-wellness/article/3198003/maybe-im-alien-adhd-made-him-drop-out-school-now-he-popular-fashion-accessories-designer-who
https://www.japantimes.co.jp/news/2022/11/01/national/social-issues/adhd-brand-kochi/
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup