แม่บ้านอเมริกันเผยเคล็ดลับขายเสื้อผ้ามือสองอย่างไรให้รายได้พุ่งแตะ 30 ล้าน
Text : Vim Viva
ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแส sustainable fashion หรือแฟชั่นรักษ์โลกที่รณรงค์ให้ผู้บริโภคเลือกใช้เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายให้คุ้มค่าการผลิตอย่างที่สุดมีส่วนทำให้ธุรกิจเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายมือสองเติบโตอย่างมีนัยยะ ก่อนหน้านั้น ลูกค้าที่ซื้อสินค้ามือสองอาจเป็นกลุ่มชนชั้นกลางที่มีงบจำกัดจึงต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย หรือเป็นกลุ่มที่แสวงหาสินค้ารุ่นลิมิเต็ดเอดิชั่นที่ไม่มีการผลิตอีกแล้ว แต่ช่วงหลังจะเห็นว่ามีลูกค้ากลุ่มใหม่เพิ่มเข้ามาเป็นคนหนุ่มสาวที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ทำให้ตลาดสินค้ามือสองทั้งที่มีหน้าร้านและในรูปแพลตฟอร์มออนไลน์มีความคึกคักขึ้น
ความบูมของตลาดสินค้ามือสองนี้ยังเปิดโอกาสให้หลายคนกลายเป็นผู้ประกอบการโดยไม่ตั้งใจ ทั้งยังทำรายได้เป็นล่ำเป็นสันอีกด้วย หนึ่งในนั้นคือโมนา เมเจีย แม่บ้านลูก 3 วัย 44 ปีจากเมืองฮิวส์ตัน รัฐเท็กซัส ตั้งแต่ยังวัยรุ่น โมนาชมชอบการเลือกซื้อของตาม garage sales ที่ผู้คนนำข้าวของไม่ใช้แล้วออกมาโละขายถูกๆ เธอจะสนุกสนานกับการรื้อค้นกองสิ่งของเพื่อเลือกหาสิ่งที่ดีและจำเป็นต่อการใช้งานที่สุด
ครั้นโตมาหน่อย ความที่ชอบแต่งตัว น้องสาวก็แนะนำให้ช้อปออนไลน์บน Poshmark เครือข่ายออนไลน์ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงหารายได้ด้วยการระบายเสื้อผ้าส่วนเกินออกมาจากตู้ Poshmark ซึ่งเปรียบเหมือนศูนย์รวมสินค้าแฟชั่นมือสองแทบทุกแบรนด์ทั้งแบรนด์หรูและแบรนด์ทั่วไปจึงเป็นแหล่งรวมผู้ประกอบการมือสมัครเล่นจำนวนมาก
ความบูมของตลาดสินค้ามือสองนี้ยังเปิดโอกาสให้หลายคนกลายเป็นผู้ประกอบการโดยไม่ตั้งใจ
ทั้งยังทำรายได้เป็นล่ำเป็นสันอีกด้วย หนึ่งในนั้นคือ โมนา เมเจีย
แม่บ้านลูก 3 วัย 44 ปีจากเมืองฮิวส์ตัน รัฐเท็กซัส
ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว จากที่เป็นลูกค้าและเข้าไปใช้บริการแอปพลิเคชัน Poshmark หลายต่อหลายครั้ง โมนาก็ลองนำเสื้อผ้าของเธอและของลูกที่ไม่ใช้แล้วมาลงขาย และนั่นก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่พลิกชีวิตของเธอในบัดดล “ฉันเริ่มจากการลงสินค้าสัปดาห์ละ 5 ชิ้น ปรากฏว่าขายได้ และขายออกเร็วด้วย เธอจำได้ว่าสินค้าชิ้นแรกที่ขายได้เป็นเดรสที่เธอไม่ใช้แล้ว เธอขายได้ในราคา 36 ดอลลาร์ นั่นเป็นจุดที่ทำให้คิดได้ว่าโอเค นี่คือสิ่งที่ฉันทำได้ ฉันเป็นแม่บ้านมาตลอด ต่อไปนี้ฉันจะมีรายได้โดยที่ไม่ต้องออกไปไหน”
หลังจากนั้น โมนาได้เพิ่มสินค้าจากเสื้อผ้าเป็นรองเท้า ของเล่น และของแต่งบ้าน เรียกว่าบรรดาของที่มีในบ้านแต่ไม่ใช้แล้ว เธอนำมาลงขายหมด ไม่รู้เพราะดวงถูกโฉลกกับการเป็นแม่ค้าหรืออย่างไร สินค้าของโมนาขายดีมาก จากที่เติมสินค้าสัปดาห์ละครั้งก็กลายเป็นเติมแทบทุกวัน จนในที่สุดเธอก็ไม่มีของเหลือใช้ในบ้านที่จะลงขาย สุดท้ายเธอใช้วิธีไปตะเวนตามร้านสินค้ามือสอง และห้างสรรพสินค้าที่กำลังลดราคาเพื่อเลือกสินค้ามาขายต่อ
โมนาเล่าว่าอย่างห้างเมซี่ ทุก 3 เดือนจะนำสินค้ามาลดอยู่แล้ว มากสุด 75 เปอร์เซ็นต์เลย เธอก็ไปซื้อมาแล้วลงขายเป็นสินค้าใหม่ซึ่งก็ทำกำไรดี แต่ยอมรับว่าสินค้ามือสองทำกำไรได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับมือหนึ่ง โมนาเล่าอีกว่าระบบของ Poshmark จะช่วยเหลือผู้ขายในการตั้งราคา เช่น เมื่อผู้ขายกรอกรายละเอียดสินค้า อาทิ แบรนด์ สไตล์ ขนาด และราคาเดิม ทาง Poshmark จะช่วยคำนวณและเคาะออกมาว่าควรอยู่ที่ราคาเท่าไร
ทั้งนี้ เป็นเพียงคำแนะนำ ขึ้นอยู่กับผู้ขายว่าจะกำหนดราคาเท่าไรก็ได้หากพิจารณาแล้วไม่โก่งราคาจนเกินไป Poshmark ก็ปล่อยผ่าน ในการลงสินค้าบนแพลตฟอร์ม Poshmark หากสินค้าขายได้ เจ้าของร้านจะต้องเสียค่าธรรมเนียมให้แพลตฟอร์มซึ่งมี 2 อัตราด้วยกัน 2.95 ดอลลาร์สำหรับสินค้าราคาต่ำกว่า 15 ดอลลาร์ และ 20 เปอร์เซ็นต์ของราคาสินค้าที่สูงกว่า 15 ดอลลาร์ จากยอดขาย 100-200 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ก็ขยับเป็นหลักพัน ครบขวบปีแรกของการเปิดร้านบน Poshmark โมนาทำรายได้ 50,000 ดอลลาร์หรือเกือบ 2 ล้านบาท
กระทั่งวิคเตอร์ สามีซึ่งทำงานเป็นวิศวกรล้มป่วย หลังเข้ารับการผ่าตัดหัวใจ เขาก็ไม่ได้กลับไปทำงานประจำแต่เลือกที่จะมาช่วยภรรยาทำธุรกิจขายสินค้ามือสอง แม้จะมียอดผู้ติดตามบน Poshmark กว่าครึ่งล้านบัญชี โมนาไม่หยุดแค่นั้น ยังขยายช่องทางจำหน่ายไปยังแพลตฟอร์มอื่น รวมถึง อินสตาแกรม ติ๊กต็อก และเฟซบุ๊ก
การไลฟ์สดทำให้ยอดขายสินค้าเพิ่มขึ้น สร้างรายได้ 8,000-9,000 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ สินค้าที่ขายมีทั้งเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ สินค้าเกี่ยวกับเด็ก และของใช้ของตกแต่งบ้าน กระเป๋าแบรนด์เนม เช่น ชาเนล หรือหลุยส์วิตต็องก็มี ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 15-20 ดอลลาร์ไปจนถึง 1,300-1,400 ดอลลาร์ ช่วงเกิดวิกฤติโควิด-19 ยอดขายยิ่งทะลุทะลวงเพิ่มเป็น 4 เท่าเนื่องจากผู้บริโภคออกไปไหนไม่ได้จึงช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น
ความสำเร็จจากการเป็นยอดนักขายและมีผู้ติดตามจำนวนมากนี่เอง
ทำให้โมนาขึ้นแท่นอินฟลูเอนเซอร์ในโลกออนไลน์
กระทั่งเธอได้เซ็นสัญญากับ Torrid แบรนด์แฟชั่นสำหรับสาวพลัสไซส์
และห้างทาร์เก็ตในการเป็นพรีเซนเตอร์สวมใส่เสื้อผ้าของ 2 แบรนด์เวลาไลฟ์สดขายสินค้า
โมนาและสามียังใช้วิธีเสาะหาสินค้าตามร้านมือสองและจากห้างค้าปลีกเช่นเดิม เพิ่มเติมคือสั่งสินค้าจากซัพพลายเออร์ในปริมาณมากเพื่อให้ได้ราคาขายส่ง โมนาถ่อมตนว่าอันที่จริงเธอไม่ได้มีพรสวรรค์พิเศษอะไรในการเลือกสินค้า สิ่งที่เธอค้นพบคือยิ่งลงสินค้ามากเท่าไร โอกาสในการขายก็จะมากขึ้น ทุกวันนี้เธอลงสินค้าวันละไม่ต่ำกว่า 100 รายการ โดยเลือกลงช่วงเย็นซึ่งเป็นช่วงที่จะขายได้เยอะที่สุด
นอกจากนั้น เธอยังเผยเคล็ดลับว่าในการตั้งราคาสินค้า ควรสำรวจราคากลางในตลาดก่อน แล้วกำหนดราคาต่ำกว่าตลาดประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่ต้นทุนสินค้าต้องถูก เธอยกตัวอย่างชุดเดรสมือสองแบรนด์ Anthropologie ที่เคยได้มาตัวละ 30 ดอลลาร์ เธอเคยขายได้เกือบ 300 ดอลลาร์ หรือกางเกงเล็กกิ้งแบรนด์ดังที่เธอไปคุ้ยมาได้จากกองเสื้อผ้าเปิดท้ายขายของในราคาเพียง 1 ดอลลาร์ เธอสามารถลงขายถึง 100 ดอลลาร์
ความสำเร็จจากการเป็นยอดนักขายและมีผู้ติดตามจำนวนมากนี่เองที่ทำให้โมนาขึ้นแท่นอินฟลูเอนเซอร์ในโลกออนไลน์ กระทั่งเธอได้เซ็นสัญญากับ Torrid แบรนด์แฟชั่นสำหรับสาวพลัสไซส์ และห้างทาร์เก็ตในการเป็นพรีเซนเตอร์สวมใส่เสื้อผ้าของ 2 แบรนด์เวลาไลฟ์สดขายสินค้า อานิสงส์จากการเซ็นสัญญานี่เองที่ทำให้ที่ผ่านมา โมนาทำรายได้สูงถึง 735,000 ดอลลาร์หรือราว 28 ล้านบาท สำหรับแผนต่อไปที่โมนาวางไว้คือการขยายธุรกิจด้วยการเปิดหน้าร้าน และจ้างพนักงานมาดูแล
ที่มา : https://www.the-sun.com/money/5981427/reselling-clothes-online-side-hustle-poshmark/
https://www.businessinsider.com/how-mom-launched-poshmark-reseller-business-made-735k-income-2022-9?utm_campaign=sf-bimain&utm_source=facebook.com&utm_medium=social&fbclid=IwAR3z8M1m6UGOWAw5X4cnE7Gv4kpITfi2WD7edUHa0ez6L6GUnP57LK_v_ak&mibextid=JZBKsD
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup