Norchor croffle ออกจากงานมาขายครอฟเฟิลออนไลน์ ต่อยอดสู่หนังสือขายสูตรที่ปังจนคนขอซื้อหลายร้อยคน
เมื่องานประจำไม่ตอบโจทย์ ความคิดสร้างสรรค์ถูกจำกัดอยู่แค่ในกรอบ ทำให้สาวยุคใหม่ที่เพิ่งเรียนจบไม่นานออกจากงานมาเป็นนายตัวเองซะเลย! นี่คือเรื่องราวของแบรนด์ครอฟเฟิลออนไลน์ที่โด่งดังในโลก TikTok “Norchor croffle” ที่ก่อตั้งโดย ณัฐ - ณัฐชา ปัทธิสามะ ที่ทำขนมไม่เป็นแต่กลับเปิดร้านขายขนมจนปัง เธอทำได้อย่างไรไปติดตามกัน
ณัฐเล่าย้อนไปถึงช่วงก่อนเปิดร้านว่าเธอได้มีโอกาสเข้าไปทำงานประจำในสาย Online Marketing และรู้ตัวเองว่าไม่เหมาะกับเส้นทางนี้ ทำให้เธอตัดสินใจลาออกจากงาน แม้จะยังไม่รู้ว่าทำอะไรต่อก็ตาม
“ตอนแรกณัฐทำงานประจำประมาณ 6 เดือน เราไม่ได้เรียนจบสายนี้ แต่เคยขายของออนไลน์ แบบพวกเสื้อผ้ามือสองของเราเอง เราก็จะรู้ระบบหลังบ้านอะไรต่างๆ ของออนไลน์ เลยลองสมัครงานประจำสายนี้ดู แล้วก็ค้นพบว่าการทำงานประจำมันค่อนข้างถูกตีกรอบหลายอย่าง เลยอยากมาทำอะไรของตัวเองจะได้ใช้ความคิดของเราอย่างเต็มที่ อยากทำอะไรก็ทำ ช่วงลาออกจากงานยังไม่มีแพลน แต่เราก็คิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างแหละ ไม่งั้นไม่มีเงินใช้”
ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจเลือกขายอาหารเพราะมีทักษะด้านนี้อยู่บ้างประจวบเหมาะกับที่เธอได้เห็นขนมหน้าตาแปลกใหม่ในบล็อกของต่างประเทศที่เรียกว่า ครอฟเฟิล เป็นการผสมรวมร่างระหว่างครัวซองต์กับวาฟเฟิล เธอจึงตัดสินใจทำครอฟเฟิลออนไลน์ขาย แม้จะไม่ได้ทำขนมเป็นก็ตาม
“เราไม่เลือกขายเสื้อผ้าเพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะซื้อเสื้อผ้าทุกวันแต่เราเลือกขายของกินเพราะคนกินทุกวัน แล้วเราได้ไปเจอขนมครอฟเฟิลจากบล็อกเกาหลี มันกำลังดังและทำง่าย ค่อนข้างแปลกใหม่ เลยเลือกขายครอฟเฟิล แต่ตอนนั้นไม่ได้คิดจะเปิดหน้าร้าน เราจะขายเดลิเวอรี ใช้ระบบออนไลน์ที่เราคุ้นเคย แต่ทีนี้ด้วยความที่เป็นคนทำขนมไม่เป็น เราทำอาหารได้ เราเลยไปหาข้อมูลเจอว่ามันมีแป้งครัวซองต์สำเร็จรูปแช่แข็งขาย มันสะดวกกับเรา เลยลองทำ เพราะว่าถ้าเรายิ่งขายดี จะมานั่งทำแป้งเอง เราทำไม่ได้ เราทำคนเดียวหมดเลย ทีนี้พวกการตกแต่งหน้าครอฟเฟิล เราก็จะลองมาดูว่าทานกับอะไรเข้ากันบ้าง ก็กลายเป็นครอฟเฟิลของร้านเรา”
หลังจากที่ตัดสินใจเปิดร้านขายครอฟเฟิล ณัฐได้ใช้วิธีการโปรโมตผ่านกลุ่มในเฟซบุ๊กที่ขายของกินในย่านสายไหมและยังไม่ได้เริ่มเปิดขายผ่านแอปพลิเคชันเดลิเวอรี เนื่องจากยังไม่มีฐานลูกค้าที่มากพอจนถึงขั้นที่จะสต๊อกของได้ จึงเป็นการเปิดรับแบบพรีออเดอร์และส่งเองก่อน
“แถวสายไหมจะมีกลุ่มในเฟซบุ๊กแบบหาของกิน อันนี้คือสำคัญมากในยุคนี้ ไม่ว่าจะทำอะไร คนเขาจะหาของกินในนี้ ตอนแรกเรายังไม่ขายตรงแบบว่าเปิดรับออเดอร์ครอฟเฟิล เพราะเรากลัวคนจะงงว่าครอฟเฟิลคืออะไร แต่เราจะเริ่มจากการให้ข้อมูลลูกค้าก่อน เช่น วันนี้เราพามารู้จักครอฟเฟิลนะคะ หลังจากนั้นไม่นานก็เริ่มมีออเดอร์เข้ามา คนอยากลองว่ามันคืออะไร มันแปลกดีนะ จนเริ่มมีฐานลูกค้า มีลูกค้าเริ่มรีวิวให้ก็เลยเปิดขายในแอปพลิเคชัน”
อีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ร้าน Norchor croffle เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นนั่นคือการพาตัวเองเข้าไปอยู่บนโลก TikTok ที่เริ่มจากการแชร์ประสบการณ์ออกจากงานประจำมาขายครอฟเฟิล ทำให้เธอสามารถต่อยอดสู่สินค้าอีกหนึ่งประเภทได้ นั่นคือการขายหนังสือสูตร จนมีคนมาซื้อหลายร้อยคน
“ตอนแรกใน TikTok เราไม่ได้ลงเกี่ยวกับครอฟเฟิลเลย เราไว้ลงไลฟ์สไตล์เรา แล้วอยู่ๆ ก็คิดว่าลองทำคลิปเกี่ยวกับครอฟเฟิลดูดีไหม แชร์ประสบการณ์ พอเราออกจากงานมาทำครอฟเฟิลแล้วเป็นยังไง คนก็เริ่มสนใจขึ้นมา เหมือนเราหาข้อมูลว่า ถ้าคนเริ่มสนใจคลิปแบบนี้ เขาจะอยากดูเกี่ยวกับสิ่งนี้ของเรา ก็เลยทำมายาวๆ จนปังขึ้นมา ทีนี้เราเลยแบ่งสินค้าของเราเป็น 2 ประเภทคือขนมครอฟเฟิล ซึ่งมันส่งต่างจังหวัดไม่ได้ เราก็คิดว่าจะทำยังไงดีให้คนต่างจังหวัดได้ลองกิน เลยทำเป็นสินค้าตัวที่ 2 คือ หนังสือสูตร ให้คนที่ซื้อสามารถทำกินที่บ้านได้หรือว่าทำขายเพื่อต่อยอด เราก็จัดพิมพ์เป็นเล่มเลย ทำทุกอย่างเอง เขียนเอง ถ่ายรูป ออกแบบ เน้นรูปสวย ในนั้นจะบอกหมดเลยว่าเริ่มต้นยังไง มีปัญหาอะไรบ้าง ซื้อของที่ไหน ให้คนที่อยากเริ่มเขาเริ่มไปด้วยกัน คนก็สนใจเยอะมาก เราขายเล่มละ 450 บาท 64 หน้า”
โดยเธอเสริมว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้เธอตัดสินใจขายออนไลน์แบบไม่มีหน้าร้านเพราะอยากให้คนทั่วไปเห็นว่าแม้ไม่มีหน้าร้านก็สามารถประสบความสำเร็จได้ เธอจึงแชร์กลยุทธ์สำคัญในการเปิดร้านขนมแบบไม่มีหน้าร้านเอาไว้ให้ฟัง
“พยายามทำให้ลูกค้ามองเห็นว่าสินค้าของเราคืออะไร ให้เขารู้ว่าเราต้องการขายสิ่งนี้นะและตั้งใจทำมัน จับให้ได้ว่าการขายออนไลน์มีอะไรที่สำคัญ อย่างเราไม่มีหน้าร้าน ลูกค้าก็อาจจะมองไม่เห็นแต่เขาสามารถเห็นเราบนโลกออนไลน์ได้ ฉะนั้น รูปภาพจึงสำคัญมากๆ อีกอย่างคือการทำให้สินค้าของเราเป็นที่รู้จัก พอคนเริ่มเห็นบ่อยๆ เขาก็จะเข้ามาหาเรา ส่วนตัวณัฐใช้คอนเซปต์สำคัญคือครอฟเฟิลต้องเป็นขนมที่หากินได้ในราคาที่จับต้องได้ ปกติแล้วครัวซองค์หรือครอฟเฟิลจะหากินได้ตามห้างหรือคาเฟ่ ราคามันค่อนข้างสูง แต่เราอยากทำให้เข้าถึงได้ง่าย ขายชิ้นเล็กลง อยากให้ลูกค้าที่ไม่ได้มีกำลังซื้อสูงได้ลองทานด้วย”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup