Starting a Business

"Awesome Screen" ส่องความสำเร็จจากเด็กสาวเริ่มต้นขายของตั้งแต่ 15 ปีสู่วันนี้กับโรงงานสกรีนเสื้อ 30 ล้าน

 

     “ปีล่าสุดบริษัทปิดงบที่ 30 ล้านบาท ปีนี้แค่ไตรมาสแรกก็แตะ 30 ล้านบาทแล้ว” คำบอกเล่าตัวเลขผลประกอบการของ แพรว-พรรณระพี พุกกะเจียม เจ้าของ Awesome Screen ธุรกิจรับสกรีนและตัดเย็บเสื้อครบวงจร ที่เริ่มต้นตั้งแต่พนักงาน 1 คน จนปัจจุบันมีพนักงานกว่า 50 คน รับลูกค้าไม่จำกัดไม่เกี่ยงแม้จะสั่งเสื้อตัวเดียว จึงมีลูกค้าตั้งแต่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ไปจนถึงบริษัทมหาชน

 

 

     ท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่บีบรัดจนหลายโรงงานต้องปิดกิจการลง แต่ Awesome Screen กลับเติบโตแบบก้าวกระโดด? ธุรกิจของแพรวในวันนี้ค่อนข้างลงตัวและสดใส แต่ถ้าย้อนมองกลับไป 7 ปีที่ผ่านมาเธอต้องเจอปัญหาและอุปสรรคมากมายที่มาจากความ “ไม่รู้” หนักสุดถึงขั้นที่โดนลูกค้าฟ้องมาแล้ว ชีวิตที่เกาะเกี่ยวกับการทำมาหากินตั้งแต่อายุ 15 ปี เรียนถูกเรียนผิดจนตั้งหลักการทำธุรกิจอย่างจริงจัง ได้บ่มเพาะประสบการณ์ต่างๆ มามากมายทั้งดีและร้าย ที่หล่อหลอมมาเป็นตัวตนของเธอในวันนี้

     ย้อนกลับสมัยที่เธอยังเป็นเพียงเด็กอายุ 15 ปี เหตุผลที่ทำให้เธอเริ่มต้นทำธุรกิจเล็กๆ สมัยมัธยมนั้นเป็นเพราะอยากหารายได้เสริมให้ตัวเอง ด้วยความที่มีพื้นฐานด้านศิลปะเป็นทุนเดิม ธุรกิจแรกของเธอคือเพนต์เคสขาย เพื่อนำเงินไปซื้อของที่อยากได้ในตอนนั้น กลายเป็นการบ่มเพาะให้เธอเป็นนักหารายได้ตั้งแต่วัยเยาว์ 

     "ต้องบอกก่อนว่า ครอบครัวแพรวเป็นครอบครัวที่มีพื้นฐานด้านศิลปะ พ่อเป็นช่างซ่อมรถแต่ชอบวาดรูป แม่ทำร้านซ่อมกล้องซึ่งสมัยก่อนเป็นกล้องฟิล์ม ตัวแพรวเองก็มีพื้นฐานด้านศิลปะ เนื่องจากว่าพ่อกับแม่ต้องหาเช้ากินค่ำ แม่ก็ส่งไปเรียนฝึกอาชีพของกทม.ที่ราคาไม่แพง แพรวเกิดในชุมชนฝั่งธนบุรี แต่เป็นเด็กที่เรียนเก่งมาก เลยสอบเข้าโรงเรียนชั้นนำ ชั้น ม.1 ได้ คือคนจะคิดว่าโรงเรียนเด็กผู้หญิงล้วนน่าจะเป็นสังคมที่มีความสุข แต่สำหรับแพรวมันไม่ใช่ กลับรู้สึกว่าตัวเองอ่อนด้อยจังเลย ที่นั่นมีเด็กเรียนเก่งและบ้านรวย แต่แพรวเกิดในชุมชน มีปัญหาตั้งแต่ชุดนักเรียนสีไม่ขาวจั๊วะ กระโปรงยับรีดไม่เรียบ เวลาที่พ่อขับรถกระบะเก่าๆ มาส่งที่โรงเรียน แพรวต้องให้พ่อจอดไกลๆ แล้วยอมเดินมาโรงเรียน เพราะว่าแพรวอายเพื่อน กลัวเพื่อนล้อ"

     "ทีนี้ไปเดินแถวเสือป่าก็เจอเคสโทรศัพท์ iPhone, BB ก็เลยเริ่มจากซื้อเคสมาชิ้นละ 50 บาท สีอะคริลิก 500 บาท แล้วก็ลองมาเพนต์ขาย ตอนนั้นยังไม่มีเฟซบุ๊กก็ขายอยู่ในเว็บบอร์ด Postjung ตั้งราคาขาย 990 บาท ลูกค้ากลุ่มแรกที่มาซื้อไม่ได้ซื้อลายที่เพนต์ เขาจะสั่งเป็น Customize เพื่อเป็นของขวัญในโอกาสพิเศษ ซึ่งเขาก็ยอมจ่ายแม้จะแพงก็ตาม แพรวเริ่มเพนต์เคสขายตอนอายุ 15 ปี ถามว่าที่ขยันเพราะอยากทำธุรกิจตั้งแต่เด็กหรือเปล่า ตอบเลยว่าไม่ใช่ แพรวทำเพราะแค่อยากหาเงินไปซื้อในสิ่งที่อยากได้ แพรวมีรายได้จากการขายเคส 15,000-20,000 บาทต่อเดือน เอามาใช้สบายๆ ไม่เคยขอเงินพ่อแม่เลย เคยไปออกงานแฟร์ขายดีที่สุดคือวันละ 70,000 บาท เคยมีรายได้ถึงเดือนละแสนก็มี ค่อนข้างมั่นใจว่าแพรวเป็นเด็กที่มีเงินมาโรงเรียนเยอะที่สุด รู้สึกว่าเรามีอิสระทางด้านการเงินจะซื้ออะไรก็ได้"

 

 

     จากการเพนต์เคสโทรศัพท์ขาย เมื่อแพรวโตขึ้น เธอเริ่มซื้อเครื่องจักรมาสกรีนเองและเครื่องจักรนั้นก็ต่อยอดสู่การสกรีนผ้าได้ด้วย จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นสู่ธุรกิจปัจจุบัน "Awesome Screen" ที่ช่วงแรกไม่ได้เรียบง่ายและเต็มไปด้วยปัญหามากมาย ถึงขนาดว่าลูกค้ากลุ่มแรกๆ ไม่เคยกลับมาจ้างเธออีกเลย 

     "ร้านมันก็ค่อยๆ เติบโต แต่โดนลูกค้าคอมเพลนเยอะมากเพราะว่าแพรวทำอยู่คนเดียว ส่งของช้า อันที่ไม่มีคนซื้อก็ทำเยอะ อันที่มีคนซื้อก็ไม่เติมเข้าไป คือแพรวทำงานมั่วไปหมด แพรวเลยชวนพี่สาวที่สนิทมาทำด้วยกันเพื่อช่วยดูแลธุรกิจ แล้วแพรวก็มีความคิดเปิดโรงงาน จดทะเบียนเป็นบริษัทด้วย ตอนนั้นเรียนอยู่ปี 3 ไปเช่าตึกทำออฟฟิศ ทีนี้แพรวอยากมีออฟฟิศในฝัน เฟอร์นิเจอร์อิเกีย คอมพิวเตอร์ทุกอย่างต้องดีที่สุด เงินหายวับเลย เหลือ 0 บาท แพรวใช้ชื่อแบรนด์ว่า Awesome Screen แม้ตอนนั้นเราจะโนเนม ใช้เสื้อจากโบ๊เบ๊ แต่ลูกค้าที่ใช้บริการงานพิมพ์ของเรา เจ้าแรกคือค่ายเพลง  ธนาคาร  เสื้อองค์กรเขาติดต่อมาเอง แพรวไม่เคยมีเซลส์ อาจจะด้วยตอนนั้นเราทำราคาถูกมาก แต่ก็ปรากฏว่าทำงานผิดพลาดเยอะมาก เชื่อไหมลูกค้าที่อยู่กับแพรวในช่วง 2-3 ปีแรกนั้น หลายรายไม่กลับมาทำกับแพรวอีกเลยจนทุกวันนี้ การขายของก็เรื่องหนึ่งแต่การทำโรงงานยากมาก การสกรีนเสื้อ 100 ตัวต้องเท่ากันทุกตัว ไม้บรรทัดวัดต้องห้ามเบี้ยว นั่นคือการทำโรงงาน แต่เราไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการโรงงาน การตรวจสอบคุณภาพสินค้าไม่มีเลย มันก็เลยพัง"

 

 

     สิ่งสำคัญที่ทำให้ Awesome Screen ยืนหยัดอยู่ได้ ไม่ว่าจะเจอพายุมากมายถาโถมเข้าใส่แค่ไหนนั่นคือเพราะการพัฒนาตัวเองของแพรวและการสู้ไม่ถอย จริงใจกับลูกค้า ทำให้ลูกค้าประทับใจและง่ายที่สุดเมื่อต้องการทำเสื้อกับ Awesome Screen 

     "มันเป็น 7 ปีที่เติบโตเร็วมากเติบโตแบบก้าวกระโดด คือตอนนี้เรามีพนักงานเกือบ 50 คนจากในปีแรกที่เรามีพนักงานแค่หนึ่งคน เวลาแพรวทำอะไรจะต้องชัดเจนต้องลึก แล้วเป็นคนทำงานเว่อร์ๆ คือแพรวบินไปจีนเพื่อไปเอาวัสดุแบบเว่อร์ๆ มาให้ลูกค้าเลือก แม้ว่าเราจะต้องสต็อกเยอะขนาดไหนก็ตามแต่ลูกค้าต้องมีสิทธิ์เลือก ร้านเรามีวัสดุให้ลูกค้าเลือกกว่า 100 แบบ เด็กนักเรียนทำธีสิสก็กรี๊ดกร๊าดเลยฝันที่อยากจะได้มีแล้วที่นี่ เราก็ได้ทำงานกับนักศึกษารุ่นใหม่เยอะ เรื่องถัดมาคือ คนที่มาติดต่อโรงงานไม่ใช่จะมีความรู้ทุกค ลูกค้าเดินเข้ามาปุ๊บ คุณจะไม่ต้องทำอะไรเลย แค่เปิดรูปว่าอยากได้แบบไหน เราจะมีให้คุณเลือกทุกอย่าง ส่งไฟล์มาเราจะทำให้ฟรีทุกอย่าง ตั้งแต่เปิดบริษัทมาแพรวไม่มีเซลส์วิ่งหางานลูกค้าเลย ตอนนี้เซลส์ของเราคือ แอดมินที่คอยตอบปัญหาต่างๆ ให้กับลูกค้า แพรวอยากจะรับงานที่ลูกค้าอยากจะทำกับเราอยากได้งานคุณภาพ ซึ่งสุดท้ายทุกโรงงานไม่ว่าจะใหญ่จะเล็กก็ต้องกลับมาที่เรื่องคุณภาพอยู่ดี"

 

 

     และท่ามกลางสถานการณ์โควิด หลายบริษัทมีรายได้ลดลง บางบริษัทต้องปิดตัว แต่สวนทางกับ Awesome Screen เพราะเธอเล่าว่า ปีล่าสุดบริษัทปิดงบที่ 30 ล้านบาท ปีนี้แค่ไตรมาสแรกก็แตะ 30 ล้านบาทแล้ว กลยุทธ์อะไรที่ทำให้ Awesome Screen มาได้ไกลขนาดนี้

     "แพรวมีคุณสมบัติเดียวที่ลูกค้ามาใช้บริการคือแพรวจริงใจมาก ตอนเด็กเดินเข้าหาโรงงานเป็นอะไรที่เข้าถึงยากมาก แบบมันจะวุ่นวาย แต่สำหรับแพรวลูกค้าจะเป็นแบรนด์ที่เล็กมากมีทุนทรัพย์แค่ 500 บาท พี่แพรวช่วยดูให้หน่อยก็มีสิทธิ์ที่จะได้คุยกับแพรว ตัวเดียวเราก็รับ แพรวรับทำตั้งแต่มีงบแค่ 300 บาท ไปถึง 7 ล้านบาท ช่วงโควิดนี้มีหลายโรงงานปิดกิจการ เพราะดูถูกลูกค้ารายย่อย แต่เราไม่เคยดูถูกลูกค้ารายย่อย แพรวมีลูกค้ารายย่อย 50 เปอร์เซ็นต์ รายกลางรายใหญ่อีก 50 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือก็จะมีขาจรบ้าง พอโควิดมา 50 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ไม่มีออร์เดอร์ และไม่จ่ายเงิน คือเขาต้องเซฟตัวเอง ซัพพลายเออร์รายเล็กรายน้อยจ่ายอยู่แล้วแต่ไม่ใช่ตอนนี้ กลายเป็นว่าลูกค้ารายย่อยมาช่วยชีวิตเรา ยิ่งโควิดอยู่กับเรา 2-3 ปี รายย่อยยิ่งเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะตลาดอีคอมเมิร์ซโต ก็เลยทำให้เราได้ออร์เดอร์เพิ่มมากขึ้น"

     โดยเธอวางอนาคตของโรงงานสกรีนเล็กๆ แห่งนี้เอาไว้ด้วยความยั่งยืนและจะไม่เติบโตแบบก้าวกระโดดไปมากกว่านี้จนควบคุมไม่ได้ 

     "แพรวมีความตั้งใจว่าอยากจะวางรากฐานธุรกิจนี้ให้กลายเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนด้วยสเกลเล็กๆ แบบนี้ มีพนักงาน 50 คน คนอาจจะแปลกใจว่าทำไมไม่ขยายไปอีกในเมื่อมันก็มียอดเข้ามามาก ขยายไปเป็นโรงงานที่มีคน 2,000 คนเลย คือแพรวเชื่อว่าแรงงานจะน้อยลงไปเรื่อยๆ และมีพื้นที่เหลือสำหรับทำโรงงานอุตสาหกรรมน้อยลงไปเรื่อยๆ คนเจนใหม่ๆ ก็อยากจะทำอาชีพอื่นที่นั่งโต๊ะทำงานใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพราะฉะนั้นเราก็ไม่รู้จะไปหาคน 2,000 คนที่อยู่กับเราอย่างยืนยาวไปอีกหลายๆ เจน ได้อีกนานขนาดไหน"

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup