บทเรียนเงินล้านจากเด็กมหาลัย ที่เริ่มต้นจากรับหิ้วประตูน้ำสู่เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้ายอดขายแตะล้าน
เมื่อจังหวะชีวิตบวกกับความมุ่งมั่นตั้งใจไม่ยอมแพ้ ทำให้ 2 สาววัยเรียนสร้างธุรกิจเงินล้านได้ในวัยเพียง 23 ปี ไม่ต้องมีออฟฟิศหรูหราหรือทีมงานมากมาย แต่ด้วย 4 มือกับ 2 ใจของ 2 สาวอันแข็งแกร่งเกิดเป็นแบรนด์แฟชั่นวัยรุ่นสุดปังชื่อว่า Jilalin BKK ก่อตั้งโดย ไพลิน เกศทอง - ผักกาด และ จิฬากรณ์ นันตา - มิลลี่ ที่พวกเธอเริ่มต้นมาตั้งแต่การไลฟ์สดขายเสื้อผ้าตัวเอง รับหิ้วประตูน้ำ เริ่มสต๊อกเสื้อผ้าขาย จนในที่สุดก็สร้างแบรนด์ตัวเองขึ้น!
- จุดเริ่มต้นของความชอบขายตั้งแต่มหาลัยฯ
เส้นทางธุรกิจของพวกเธอเริ่มตั้งแต่สมัยปี 2 เมื่อทั้งคู่เป็นรูมเมทหอที่สนิทกัน มีไลฟ์สไตล์คล้ายกัน ชอบเสื้อผ้าเหมือนกัน ทำให้เธอลองเอาเสื้อผ้าของเองมาไลฟ์สดขาย หวังได้ค่าขนมเพิ่ม
“เรามีรูมเมทชื่อมิลลี่ อยู่หอกัน 2 คนแล้วชอบแต่งตัวมาก ได้เงินรายอาทิตย์เท่าๆ กัน แต่ไม่พอ เลยคิดว่างั้นลองไลฟ์สดขายเสื้อผ้ากัน ครั้งแรกคนดู 70 คน เป็นเพื่อนเราไปแล้ว 40 คน ทำอย่างนั้นสักพัก ก็ได้เงินเรื่อยๆ แล้วก็เลยลองหาข้อมูล เสื้อผ้ากระสอบมือสอง งานเหมา เรามีทุนประมาณ 4,000 บาท ก็ลองซื้อมาขาย พอของมาถึง สรุปได้ผ้าขี้ริ้ว บางตัวสภาพมันไม่ได้จริงๆ ตอนนั้นเครียด ร้องไห้เลย เราไม่มีประสบการณ์ไม่ได้ศึกษา เลยลองไลฟ์สด ขายตัวละ 5 บาท 10 บาท ขาดทุน ก็ขายหมด เป็นบทเรียนเราตอนนั้นเลยว่า งานเหมาตัดออก”
หลังจากโละงานเหมาจนหมด ทั้งคู่ก็ตัดสินใจนำเงินทุนที่มีอยู่ไปเดินซื้อของที่ประตูน้ำมาขาย โดยมีเวลาไปเดินซื้อวันเดียวคือวันเสาร์ เพื่อขายทั้งอาทิตย์ เนื่องจากพวกเธอเรียนที่นครปฐมจึงไม่มีเวลาไปหาของ
“เรามีเงินทุนตอนนั้นประมาณ 6,000 บาท ลองชวนเพื่อนไปประตูน้ำ ครั้งแรกไป 6 โมงเย็น เขาปิดหมดแล้ว ก็เลยลองซื้อกางเกงมาขาย เป็นทรงกระบอก 30 ตัว ตัวละ 100 บาท คละไซส์ เห็นคนอื่นไลฟ์ขายกัน 120 บาท เราเอาบ้าง หาพร้อพอะไรมาแขวนตกแต่ง ขาย 150 บาท แต่เราขายไม่ดีเท่าเขา คนดู 2-3 คนเอง เราก็กัดฟันสู้เรื่อยๆ จนมีฐานลูกค้า เอามือหนึ่งมาขาย ไปประตูน้ำอีก แต่เปลี่ยนเวลาไปตี 5 ก็เริ่มซื้อเสื้อมือหนึ่งมา ปรากฎว่าขายดี ซื้อวันเสาร์ ขายวันอาทิตย์ไลฟ์สดของเกือบหมด พอกลางๆ อาทิตย์ของในราวก็เริ่มร่อยหรอแล้ว ไม่แน่นเหมือนวันแรกๆ แต่เราเรียนไปด้วย เลยไม่มีเวลาไปซื้อของ ทำไปสักพัก จนมีคนถูกใจเพจ 2,000 กว่าคน แล้วเพจก็โดนปิด ปลิวไปเลย ”
- แจ้งเกิดแม่ค้ารับหิ้วประตูน้ำ
เมื่อเพจที่ตั้งใจสร้างมาถูกปิด บวกกับการติดทำวิจัยช่วงปี 3 ทำให้ 2 สาวต้องพักบทบาทการเป็นแม่ค้าออนไลน์เอาไว้ชั่วคราว จนถึงช่วงประมาณปี 4 เทอม 2 ที่มีสถานการณ์โควิดระบาด พวกเธอต้องเรียนออนไลน์อยู่บ้าน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมาขายออนไลน์อีกครั้งในบทบาทของแม่ค้ารับหิ้วประตูน้ำที่สร้างรายได้ถล่มทลาย
“ช่วงก่อนหน้านั้นไปเดินประตูน้ำ เราชอบเที่ยวทะเล เรากับเพื่อนก็จะชอบคล้ายๆ กัน แต่เวลาจะซื้อเสื้อ ต้องซื้อ 3 ชิ้นขึ้น ถึงจะได้ราคาส่ง แต่เราไปกัน 2 คน เลยสร้างไลน์กลุ่มเป็น Open chat ต้อนหาคน ทั้งเพื่อน คนรู้จัก โพสต์ในเฟซบุ๊ก อินสตาแกรมให้คนเข้ากลุ่มรับหิ้วในไลน์ จนสุดท้ายไม่ได้ไปเที่ยว หาเงินก่อน แล้วเพิ่งรู้ว่าการรับหิ้วมันขายดีมาก ตอนนั้นคนเข้ากลุ่มประมาณ 300 คน เราจะไปประตูน้ำตั้งแต่ 6 โมงเช้า เดินไล่ถ่ายรูปทุกร้าน สมมติราคาส่งหน้าร้าน 100 บาท เราเอาป้ายออก บวกเพิ่มเป็น 130 บวกค่าหิ้ว 20 ค่าส่งเหมาๆ ข้อดีคือเราไม่ต้องสต๊อกของ แต่ข้อเสียคือกลับมาอีกทีของหมด แต่ลูกค้าโอนเงินแล้ว เป็นแบบนี้บ่อยมาก ปัญหาจุกจิกแต่ก็ขายดีมาก จนมีคนเข้ามาในกลุ่มเกือบพันคน”
- จุดเปลี่ยนแม่ค้ารับหิ้วสู่แม่ค้าสายสต๊อก
หลังจากรับหิ้วไปสักพัก ผักกาดก็เล่าให้ฟังถึงจุดเปลี่ยนจากแม่ค้ารับหิ้วเพราะเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เธอตัดสินใจมาสต๊อกของ
“เราไปถ่ายรูปเดรสร้านหนึ่งเป็นเดรสที่ใหม่ดาวิกาใส่ แล้วก็โพสต์ในไลน์มีคนสนใจ 2-3 คนแต่เราอยากได้ออเดอร์เยอะๆ เลยไปโพสต์ในกลุ่ม KU จะขาย โพสต์ครึ่งชั่วโมง คนทักมาเยอะมากจนตอบแชทไม่ทัน เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เรารู้สึกว่าขายดี มีลูกค้าทักมาเอง ทีนี้ก็ทักไปถามที่ร้านว่ามีของพร้อมส่งไหม ปรากฎว่าสินค้าไม่มี ต้องพรีออเดอร์ เราก็เครียด เพราะรับเงินลูกค้าไปแล้ว 60-70 คน เป็นบทเรียนชีวิตเราเลยตอนนั้น ต้องไล่ขอโทษลูกค้าทีละคน พอเคลียร์จบเคสนั้นก็มีเงินประมาณหลักหมื่น คิดว่าเอาไงดี เลยลองเปิดบิล เข้ากลุ่มเพื่อจะได้ไม่ต้องซื้อ 3 ตัว ราคาส่ง แต่ได้ราคาส่งเลยตั้งแต่ตัวแรก แต่ก็มีปัญหาคล้ายๆ เดิม ถ่ายรูปแล้วโพสต์อัพเดตลูกค้าว่ามีแบบนี้ ลูกค้าทักเข้ามาจะเอาตัวนี้ พอไปหน้าร้าน สีนี้หมด ไซส์หมด มันไม่เหมือนแม่ค้าสต๊อกของ เขาจะทักร้านเลยว่าเอาสีนี้ 5 ตัว แต่เราเป็นรับหิ้ว ต้องรับออเดอร์ก่อนค่อยไปหน้าร้าน จนตอนนั้นเราเจอร้านหนึ่งแต่ยังขาดเงินลงทุนอยู่เกือบพันถึงจะเปิดบิลได้ หนูเลยลงกันคนละ 300 บาท เอามาเปิดบิล เราเริ่มลองสต๊อกผ้า เพราะรู้สึกว่าลูกค้า CF ตลอดของร้านนี้ ใช้เงินเป็นหมื่นในการสต๊อก ปรากฎว่าขายดี ก็เก็บเงินสักก้อนจนตัดสินใจจะทำแบรนด์ตัวเอง”
- จากแม่ค้ารับหิ้วสู่เจ้าของแบรนด์ Jilalin
ด้วยความที่ขายเสื้อผ้าจนมีเงินเก็บหนึ่งก้อน ทำให้พวกเธอตัดสินใจสร้างแบรนด์ตัวเองขึ้น แม้ไม่มีคอนเนกชันหรือประสบการณ์สร้างแบรนด์ แต่เพราะใจล้วนๆ ทำให้เธอลงมือทำในสิ่งที่คิดทันทีโดยมีกลุ่มลูกค้าในมืออยู่แล้วจำนวนหนึ่ง
โดยเสื้อผ้าของแบรนด์ Jilalin จะเน้นเป็นสายแฟชั่นตามสไตล์ที่พวกเธอชอบ แต่มีการเลือกผ้าให้เข้ากับความต้องการ หลังจากนั้นก็โพสต์ขายในช่องทางต่างๆ อาทิ ไลน์, Instagram, Shopee, Lazada และล่าสุดกับ TikTok Shop ซึ่งความปังของพวกเธอคือสามารถสร้างยอดขายได้แบบก้าวกระโดดจากหลักหมื่นสู่หลักแสนและเกือบล้านบาทภายในเวลาไม่กี่เดือน โดยเธอแชร์บทเรียนดังนี้
- คลิป TikTok ช่วยฉุดชีวิตให้ยอดขายปังแบบก้าวกระโดด
ผักกาดเล่าให้ฟังว่าช่วงที่พวกเธอยังรับหิ้วประตูน้ำ หลังจากที่โพสต์ในไลน์ก็ยังเริ่มโพสต์ขายใน Instagram จนมีลูกค้าทักมาเรื่อยๆ แต่จุดเปลี่ยนจริงๆ คือการทำคลิปใน TikTok ที่แมสคลิปเดียวแต่ชีวิตเปลี่ยนตลอดไป โดยวันนั้นพวกเธอนั่งแพ็คของตอนเย็น แล้วเพื่อนแช่เส้นอะไรบางอย่างเอาไว้ แต่เส้นไม่นิ่ม เลยลองทำคลิปลง TikTok ว่า “ทุกคน เราซื้อเส้นนี้มา แช่แต่เช้า ป่านนี้ยังไม่นิ่มเลย ใครมีวิธีให้เส้นนิ่มบ้าง บอกเราหน่อยนะ”
“ตอนนั้นเราโพสต์แล้วก็ไม่ได้กลับมาดู จนทำอะไรเสร็จ ดึกแล้ว ปรากฎว่าคลิปเราแมส คลิปมันวิ่ง คนดูเป็นล้าน เรางงเลย ส่งผลให้คลิปก่อนหน้านี้ของเรามันวิ่งด้วย คนเริ่มมาดูเป็นหมื่นและคอมเมนต์ว่าสนใจๆ สินค้าในคลิปเรา หลังจากนั้นก็ทำคลิป TikTok มาเรื่อยๆ อย่างคลิปเสื้อผ้า แบงค์ร้อย 2 ใบมีทอน คลิปแมสอีก แล้วเราก็ใส่ link อินสตาแกรมใน TikTok คนก็ตามจาก TikTok มาใน Instagram เป็นจังหวะชีวิตจริงๆ หรือตอนนั้นคลิปรับหิ้วประตูน้ำ คนดูเป็นล้าน คลิปนั้นคลิปเดียวทำให้ผู้ติดตามใน Instagram เพิ่ม 3,000-4,000 คน เรายังแบบ…พลัง TikTok! แล้วชีวิตเราก็ก้าวขึ้นไปเลย จนมีฐานลูกค้า มีเงิน เอาเงินมาต่อเงิน”
2.ทำคลิปโปรโมตแคมเปญดันยอดขายพุ่ง
นอกจากจะมีการทำคลิปรีวิวหรือแชร์เรื่องราวต่างๆ แล้ว ทางแบรนด์ยังมีการทำคลิปโปรโมตแคมเปญ อาทิ 8.8, 9.9 ลงใน TikTok เพื่อดันให้คนไปซื้อของใน Shopee จนรายได้ในแต่ละแคมเปญบน Shopee ถล่มทลาย
“เราเริ่มทำแบรนด์น่าจะประมาณเดือนกรกฎาคม ตอนนั้นมีแคมเปญ 6.6 ก็ขายได้ประมาณ 3 หมื่นบาทจากนั้นขยับเป็น 6 หมื่น แล้วก็ขึ้นไปเป็น 3 แสน อย่าง 9.9 เราทำคลิปถ่ายตอนนับสต๊อก โพสต์ตอนเที่ยงคืนว่าแสนแตกแล้ว จนตอนเช้า คลิปมันวิ่ง เป็นวันที่เรานั่งแพ็คของแล้วออเดอร์มาไม่หยุด แล้วคลิปก็วิ่งเร็วมากๆ ทำให้ยอดขายเดือนกันยายนเราได้ประมาณ 6-7 แสนบาทเลย ผู้ติดตามเพิ่มด้วย การที่คลิปมันแมส มันวิ่ง ส่งผลมากๆ แต่ก็กดดันตัวเอง จน 10.10 ทำอีก ก็ได้ยอดไม่ถึง 11.11 ทำอีก ก็ได้ยอดน้อยลงไปอีก จน 12.12 ส่งท้ายปี เดือนนั้นได้ยอดขาย 9 แสนบาทเกือบล้าน รวมๆ จากทุกช่องทาง”
- สต๊อกของต้องแน่น พร้อมให้ลูกค้ากดซื้อ
แม้ว่าลูกค้าจะพร้อมซื้อพร้อมโอนแค่ไหน แต่ถ้าของไม่มีก็จบ นี่เป็นบทเรียนที่ตกผลึกได้ของผักกาด โดยเธอเล่าให้ฟังว่ามีบางเดือนที่ต้องทำแคมเปญแต่ปรากฎว่ารุ่นที่ขายดี กลับไม่มีของ เพราะผ้าขาดตลาด ทำให้ตัดเย็บไม่ทัน จนยอดขายตก
“ทุกวันนี้เราตกผลึกได้ว่า ถ้าเรามีของให้กดเยอะ รุ่นที่ขายดีก็ทำให้ยอดขายเราเพิ่มขึ้น แต่มันไม่ได้เป็นที่เราอย่างเดียว บางทีเราควบคุมไม่ได้ อยู่ที่ร้านผ้าด้วย บางทีผ้ามันขาด ต้องพรีออเดอร์ กว่าจะตัดเย็บเสร็จก็เลยแคมเปญไปแล้ว ทุกวันนี้เราก็ยังคุมไม่ได้ ถ้าสต๊อกผ้าเข้าต้องตุนอย่างเดียว แล้วก็ต้องมีแผนสำรอง มีตัวเลือก อย่างร้านนี้ไม่มีของ ก็จะได้มีอีกร้านหนึ่ง ถ้าเราล้มจะได้ไม่เจ็บมาก”
โดยผักกาดปิดท้ายว่าการที่จะมาถึงจุดนี้ไม่ง่าย ต้องอาศัยพลังใจและจังหวะชีวิต ซึ่งหนึ่งในนิสัยของเธอที่ทำให้เธอสร้างแบรนด์ได้ปังในวันนี้คือ “คิดแล้วทำ” ถ้าเดี๋ยวก่อนก็จะไม่ได้ลงมือทำสักที
“เราคิดแล้วทำเลย ไม่รอ ถ้าเดี๋ยวๆๆ ก็จะไม่ได้ทำสักที แต่ก็จะมีช่วงที่หมดไฟ ห่อเที่ยวไม่อยากทำงาน อยากไปเที่ยว ทำอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่งาน มันหมดไฟเฉยๆ เหนื่อย คิดงานไม่ออก เราก็เพิ่งจะกลับมามีไฟเมื่อไม่นานมานี้เอง แล้วพอเราคิดอะไรออก ไอเดียมาต้องรีบจดไว้แล้วทำเลย”
“สุดท้ายนี้เราคิดว่าไม่เสียใจเลยที่เลือกมาทางนี้ เป็นแม่ค้าออนไลน์ บางคนอาจมองว่าไม่มีเกียรติแต่เรามีกิน การที่เรามีเงินก็เพราะงานตรงนี้ ถ้าใครบอกว่าอาชีพในฝันคืออะไร ก็คือแม่ค้าออนไลน์นี่แหละ ตื่นกี่โมงก็ได้ อยู่เฉยๆ ทำงานผ่านโทรศัพท์ ถ่ายคอนเทนต์ เรารู้สึกว่ามันอยู่ในสายเลือดเราจริงๆ การเป็นแม่ค้า” เธอเล่าปิดท้าย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup