เมื่อบล็อกเกอร์สายเที่ยวหยิบไอเดียจากการเดินทาง มาสร้างร้านชาบูไม้ ภายใต้แนวคิด “ชีวิตมีต้องใช้!”
จะมีสักกี่คนที่กล้าทำทุกอย่างแบบที่ตัวเองอยากทำ หยิบเอาทุกแพสชันมาสร้างเป็นธุรกิจได้และหนึ่งในนั้นคือ ไม-ภูวนาท ทานะ บล็อกเกอร์สายท่องเที่ยวชื่อดังจากเพจ Palapilii Thailand ที่มีผู้ติดตามเกือบครึ่งล้านคน แต่เบื้องหลังของเขาไม่ใช่การดำเนินบทบาทของนักรีวิวสถานที่ท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่เขายังเป็นทั้งวิศวกรที่มีงานประจำ เป็นเจ้าของ Online Travel Agency แถมล่าสุดยังเปิดร้านอาหารจากความชอบอีกด้วย!
“ผมเป็นวิศวกร แล้วก็เป็นบล็อกเกอร์ท่องเที่ยว ได้รายได้จากตรงนี้ด้วย ทีนี้พอเราทำบล็อกเกอร์ เราก็เริ่มมีคอนเนกชันจากการทำกิจกรรม ที่พัก เลยมาเปิดเป็นบริษัท Travel Agency เพิ่งทำช่วงโควิดเลย ผลลัพธ์ก็โอเค ไม่แย่ แล้วด้วยความที่เราเป็นคนเดินทางเยอะ เวลาไปเที่ยวมักจะเจออาหารหลายแบบ จนมาเจอตัวนี้ที่เรียกว่าช่วนช่วน แล้วชอบมาก อยากเปิดร้านแบบนี้ กินไปด้วย คุยไปด้วย เลยหาที่เปิดจนได้ที่ปัจจุบัน จังหวัดอยุธยา ก็ลองเปิดดู”
แม้ว่าครั้งแรกที่เขาเจอกับชาบูเสียบไม้ลักษณะนี้ที่ประเทศจีน เขายังไม่กล้าที่จะลองกิน แต่เขาก็ได้วนกลับมาเจอช่วนช่วนอีกครั้ง ณ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเขาตัดสินใจลองกินเป็นครั้งแรกและก็ติดใจจนลืมไม่ลง ทำให้เขาหยิบเอาไอเดียชาบูไม้ละ 5 บาท มาลองทำที่จังหวัดอยุธยา
“ผมเจอครั้งแรกจากประเทศจีน ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าคืออะไรและยังไม่กล้าจะลองกิน แต่เราไปชอบน้ำหม่าล่าของไต้หวัน ชอบซุปน้ำดำจากญี่ปุ่น จนมาถึงตอนที่เราไปเชียงใหม่แล้วมีร้านคนจีนมาเปิดเยอะ เราเลยลองไปกินอาหารเขาดู เขาก็เสิร์ฟมาแบบช่วนช่วน มันไม่ใช่ชาบูที่น้ำเดือดๆ แต่มันสุกมาแล้ว ไม้ละ 5 บาท ตอนแรกเราก็งงว่ามันจะโอเคเหรอ แต่พอได้กินแล้วมันเพลิน กินได้เรื่อยๆ คุยไปกินไป จนมารู้ว่าตอนกลางคืนเขามีขายเบียร์วุ้นด้วย แล้วคนเยอะมาก เหมือนคนติดใจร้านนี้เพราะมีทั้งเบียร์วุ้น มีทั้งของร้อน เขาจะเน้นกิมมิก ไม้ละ 5 บาท เลยได้ไอเดียนี้มาปรับแล้วลองทำเองว่าจะออกมาประมาณไหน”
เมื่อตัดสินใจว่าจะทำ เขาก็ลงมือทำทันที โดยใช้เวลาเสกไอเดีย 2 อาทิตย์ให้กลายเป็นร้าน “ชาบูไม้สาขาโรจนะ จ.อยุธยา” จุดเด่นของร้านคือทุกอย่างเป็นโฮมเมด ไม่ว่าจะเป็นน้ำซุปหรือน้ำจิ้ม มีกิมมิกอยู่ที่ไม้ละ 5 บาท นอกจากนี้ยังไม่ได้มีแค่น้ำซุปหม่าล่าแบบช่วนช่วนอย่างเดียวแต่มีการปรับให้เข้ากับคนไทยมากขึ้นด้วยการเพิ่มทางเลือกอย่างน้ำซุปใสและน้ำดำ
“ร้านชาบูไม้ของเรา ที่น่าสนใจคือน้ำซุป เราจะมีความยูนีค ไม่ได้ใช้สำเร็จรูป อย่างซุปใสเราจะใส่ความเป็นไทยเข้าไป มีการใช้ผลลำใยมาปรุงเพิ่มความหวานแทนน้ำตาล ได้ไอเดียจากตอนที่ไปเที่ยวไต้หวัน ส่วนน้ำดำเราจะใช้ปลาโอแห้งมาเคี่ยวจนมันหอมปนไปกับหอมหัวใหญ่ ทีเด็ดคือน้ำซุปหม่าล่าที่เป็นสูตรเราเฉพาะ ไม่ได้ซื้อสำเร็จรูปมา เราสั่งวัตถุดิบจากจีนโดยตรงมาปรุงใหม่เอง ทำเอง ส่วนเนื้อของเราจะไม่ได้หวือหวา เพราะเราเน้นกิมมิกไม้ละ 5 บาท ให้ลูกค้าเขาถึงได้ทุกกลุ่ม เช่น น้องฝึกงาน วิศวกรหรือพ่อค้าแถวนั้น”
ปัจจุบันร้านชาบูไม้ของไมเปิดมาประมาณเดือนกว่า ซึ่งเขาเล่าให้ฟังว่าตอนนี้ยังไม่สามารถวัดฟีดแบคได้ว่าจะเป็นไปในทางไหนเพราะทุกอย่างยังใหม่มาก แต่ตัวเขาก็ยังอยู่ดูแลร้านด้วยตัวเองเพื่อจัดการระบบให้เข้าที่ โดยใช้เวลาหลังเลิกงานประจำมาอยู่ที่ร้าน
ด้วยความที่เขาเป็นคน “กล้าที่จะเริ่ม” แม้ว่าจะไม่มีประสบการณ์ทำร้านอาหารมาก่อนก็ตาม แต่เขายึดมั่นการดำเนินชีวิตที่ใช้หลักเดียวกับการลงทุน นั่นคือ ถ้าเราอยากได้อะไรที่มากกว่าที่เป็นอยู่ เราต้องกล้าเสี่ยง
“เราไม่มีประสบการณ์ทำร้านอาหารมาก่อนเลย สูตรทุกอย่างเราคิดเองทั้งหมด รวมถึงระบบของร้านด้วยเพราะเราไม่ได้ซื้อแฟรนไชส์มา เป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่งที่เราได้ลองทำร้านนี้ ที่ผมดูไม่กลัวในการทำอะไรต้องยอมรับว่าความกล้ามาจากการท่องเที่ยว ตอนที่เราเที่ยวอายุ 22 ปี กับตอนเราเที่ยวอายุ 30 ปีตอนนี้ ความกล้าเสี่ยงมันต่างกัน สมัย 20 ปี ผมโดดหน้าผาเป็นว่าเล่น แต่ตอนนี้เราคิดแล้วคิดอีก เพราะร่างกายไม่เหมือนเดิม ผมมองถึงการลงทุนด้วย ถ้าเกิดเราอยากอยู่สบาย เราไม่ต้องทำอะไร อยู่แค่นี้ก็ได้ แต่ถ้าเราอยากท้าทายตัวเอง อยากได้เงินเพิ่ม ต้องลองดูในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งมันอาจจะขาดทุนหรือได้กำไรเพิ่ม ถ้าพูดเรื่องเงินไม่มีใครการันตีได้ แต่ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า ถ้าเราได้ทำตอนนี้ มันมีอย่างหนึ่งที่ผมจะได้คือประสบการณ์ใหม่ นั่นคือการได้ทำร้านอาหารแบบอาหารสด ที่ต้องสต๊อกของ มีระบบ ได้ลองทำอาหารจริงๆ จังๆ ผมตั้งใจเลยว่าจะทำให้เป็นแฟรนไชส์ แต่ถึงแม้ว่ามันจะล้มเหลว อย่างน้อยผมก็ยังได้มีสูตรอาหารของผมเอง มีระบบการจัดการ รู้ว่าอาหารจะต้องทำอะไร มีบทเรียนในการเลือกโลเคชัน ถ้าครั้งนี้จะต้องจบลง ผมไม่ได้มองเรื่องเงิน แต่มองเรื่องประสบการณ์ที่คุ้มกว่า มันคุ้มที่จะลองดู”
โดยไมได้ปิดท้ายว่าแม้ทุกวันนี้หลายหัวโขนที่เขาสวมอยู่จะทำให้เหนื่อย แต่ก็เป็นความเหนื่อยที่คุ้มค่า เมื่อชีวิตต้องการอะไรที่มากกว่าคนอื่น ก็ต้องยอมรับความเหนื่อยที่มากกว่าเช่นกัน
“เหนื่อยแน่นอน แต่ต้องยอมรับว่าถ้าเราอยากได้อะไรที่มากกว่าคนอื่นเขา เราก็ต้องเหนื่อยกว่าคนอื่นเขา จริงๆ ผมอยู่เฉยๆ ก็ได้ ไม่ต้องหาเรื่องใส่ตัวก็ได้ แต่ถ้าไม่ลองเราก็จะไม่ได้ ไม่งั้นผมก็ยังคันไม้คันมือถ้าไม่ได้ทำ มันคาใจ ลองให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลยดีกว่าว่ามันจะเป็นยังไง มันคันก็ต้องเกา” เขาปิดท้าย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup