Starting a Business

BWILD ISAN กระเป๋าไก่ใบหลักหมื่นจากแดนอีสาน ที่เปลี่ยนความบ้านๆ ให้โกอินเตอร์!

 

     ก่อนหน้านี้หลายคนอาจจะได้เห็น “กระเป๋าไก่” ที่กลายเป็นไวรัล เพราะมีคุณลอเรนจากเพจ “ดิฉันไม่ใช่คนภาค2” ถือกระเป๋าไก่สีเหลืองถ่ายรูป มีคนกดไลค์กว่า 6 หมื่นคนและแชร์ออกไป 5 พันกว่าคน! เบื้องหลังกระเป๋าไก่ที่ดูเตะตาใบนี้คือแบรนด์ BWILD ISAN แบรนด์แฟชั่นไทยสัญชาติอีสานแท้ๆ ที่มีสตอรี่ไม่ธรรมดาและอยากจะจะเปลี่ยนสิ่งธรรมดาจากอีสาน ให้กลายเป็นสิ่งพิเศษ

 

 

     โดย ชมพู่ - กาญจนา ชนาเทพาพร ผู้ก่อตั้ง BWILD ISAN ให้กลายเป็นรูปร่างขึ้นมาในช่วงโควิดเนื่องจากความต้องการช่วยนักออกแบบชาวอีสานน้ำดีหลายคนที่โดนผลกระทบจากโควิดและต้องกลับมาอยู่ที่บ้านให้มีรายได้ ทั้งยังต้องการสร้างธุรกิจเล็กๆ ที่พอดีตัวเพื่อสื่อสารความเป็นอีสานออกไปให้คนได้รู้จักในมิติใหม่ๆ แบบยั่งยืน

     “หลังปริญญาโทในสาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและแต่งงาน ธุรกิจสามีเป็นร้านขายผ้า พี่ก็ไปเรียนตัดเย็บ พี่อยากทำโดยที่รู้ว่าตลาดทั้งหมดคืออะไร จนกลายเป็น ห้องเสื้อ by Heart ที่ จ.ขอนแก่น มากว่า14 ปี ทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่ เรารักในการทำเสื้อผ้า มันเป็นวิธีการตัดเย็บแบบโบราณมีเสน่ห์  มีความพิถีพิถัน ละเอียด เน้นทำชุดแต่งงานที่ต้องสั่งเป็น Custom made จนถึงช่วงปี 2019 แผนที่จะทำ BWILD เราเคยคิดมาก่อนแล้ว แต่ไม่ได้คิดว่าจะเข้มข้นมาถึงจุดนี้ มันเป็นส่วนที่เราอยากลงไปช่วยงานชุมชนและนำผ้าไทยมาต่อยอดสำหรับตลาดต่างประเทศ คิดเล็กๆ แค่นั้น แต่พอโควิดมาเรารู้สึกว่ามันเริ่มกระทบไปหมด  ธุรกิจงานแต่งงานก็จัดไม่ได้ มีเด็กที่ตกงานเยอะขึ้น ตอนนั้นเรามองเห็นความตั้งใจของนักออกแบบที่บางบริษัทเขาไม่แบกรับภาระของพนักงานไว้ เลยมีคนที่หลุดกลับมาบ้าน หนึ่งในนั้นคือเด็กดีๆ ที่มีความตั้งใจ เราไม่อยากปล่อยเขาไว้”

 

 

     เพราะความตั้งใจอันดีเป็นที่ตั้ง ที่ไม่ได้อยากทำธุรกิจเพราะมองเห็นเม็ดเงินแต่กลับอยากช่วยเหลือนักออกแบบรุ่นใหม่ ชมพู่เล่าว่าการเริ่มธุรกิจแฟชั่นในช่วงโควิด ขณะที่คนอื่นปิดบริษัทนั้นจึงมีความยากลำบากในตอนต้น

     “ของพี่ไม่ได้ทำธุรกิจจากการเห็นเม็ดเงินหรือโอกาส แต่เราทำธุรกิจแฟชั่นช่วงโควิด ที่คนอื่นเขาปิด แต่เรารับคนเข้ามาเพื่อสร้างและไปด้วยกัน เลยลำบากในช่วงเริ่มต้นมากๆ นักออกแบบของ BWILD ISAN แต่ละคนมีสไตล์ต่างกัน ทีมค่อนข้างหลากหลาย เราจะต้องฟังทุกอย่างและเบลนเพื่อให้มีแกนเดียวในการสื่อสาร เราใช้เวลา 2 ปีถึงจะเริ่มนิ่ง เราเรียนรู้วิธีการว่าเราจะไปต่อได้จริงๆ ไหม และธุรกิจเล็กๆ ของเรา ถ้ามีความรอบคอบ เราระวัง ไม่ไปเดินทางที่ผิดบ่อยๆ ก็มีทางที่รอดได้จริงๆ พี่คิดว่ามันสำคัญมากที่เราจะไม่ดูถูกตัวเองก่อนและเชื่อว่าถ้าสิ่งที่เราทำ มีพื้นฐานจากความจริงใจ ความตั้งใจที่ดี สื่อสารออกไปรวมถึงทีมทั้งหมดของเรามีความคิดแบบเดียวกัน เขาก็เป็นคนสื่อสารเรื่องราวของเราออกไปและแผ่ขยายไปได้เหมือนกัน มันจะมีโอกาสรอด ที่สำคัญเราไม่ได้ทำของแมส และยังเป็นของที่มีมูลค่าด้วยงานฝีมือและไอเดีย ราคาแค่ไหนที่ธุรกิจจะอยู่รอดได้ ”

 

 

     กว่า 2 ปีตั้งแต่ตอนคิดและเริ่มลงมือทำลองผิดลองถูก ในที่สุดผลงานชิ้นแรกของแบรนด์หลังจากมีจุดยืนที่ชัดเจน ก็คลอดออกมากลายเป็น กระเป๋าไก่บ้าน หรือ Kai Baan Bag ราคาเริ่มต้น 15,000 บาท โดยชมพู่เล่าว่าการออกแบบของแบรนด์มีแรงบันดาลใจจากวิถีชีวิตคนอีสาน หยิบความธรรมดา บ้านๆ ถูกหยิบมาเล่าใหม่กลายเป็นงานศิลปะที่อยู่ในรูปแบบกระเป๋า

     ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การหิ้วกระเป๋าสวยๆ และดูสนุกในการดีไซน์อย่างเดียว แต่กระเป๋าใบนี้ซุกซ่อนความหมายบางอย่างเอาไว้ ชมพู่เสริมว่า“แฟชั่น”ไม่ใช่ ทำได้แค่สนุก สวยงามไปวันๆ แต่ทุกคนที่ซื้อเพราะเห็นคุณค่าบางอย่างและอยากสนับสนุนให้ BWILD ISAN ให้สร้างงาน สร้างความภาคภูมิใจให้เกิดขึ้นในอีสานได้จริง

     “กระเป๋าไก่เป็นโพรดักส์แรกหลังจากที่พี่ได้เรียนรู้และเข้าใจกลยุทธ์ของแบรนด์ที่เราอยากจะเป็น เราทำงานไปด้วย เรียนรู้ไปด้วย เดิมเรื่องราวของแบรนด์ที่เราไม่เคยคิดว่าต้องบอกเล่าให้ใครให้รับรู้มากนัก เน้นผลิตแต่สินค้าออกมาสินค้าในตลาด แต่ทุกๆแบรนด์ก็พูดเรื่องเดียวกัน ทั้งนั้น ทำไมคนจะต้องมาซื้อของเรา เพราะเรากลัวว่าจะขายราคาสูงเกินไป เลยออกสินค้ากลางๆ แมสๆ ต้องผลิตจำนวนเยอะๆ แล้วมาสต๊อก ทำสินค้าที่เหมือนกันในตลาด เจอการแข่งขันด้านราคา ทำให้ทุกอย่างยากไปหมด และเริ่มลดราคา ตัดราคากัน วงจรจึงเป็นเช่นนี้

 

(เครดิตรูปซ้าย : Facebook : ดิฉันไม่ใช่คนภาค2 | เครดิตรูปขวา : IG : Artof hongtae)

 

     หลังจากที่เราพบจุดยืนของแบรนด์ และออกสินค้ามาให้แตกต่าง ทำแบรนด์ด้วยความจริงใจ เราคิดว่าลูกค้าจะซื้อของเรา ไม่ใช่เพราะเขาอยากได้กระเป๋าไก่มูลค่า 15,000 บาท แต่เขาซื้อเพราะต้องการจะแสดงให้เรารู้ว่า เขาซัพพอร์ตเรานะ อยากส่งกำลังใจให้เราและดีใจที่เราทำสินค้าออกมาแบบนี้ ทำงานแบบนี้เพื่อคนแบบนี้ นี่เป็นสิ่งที่เราเรียนรู้หลังจากที่กระเป๋าไก่ออกไปและกลายเป็นไวรัลมาก อย่างพี่ลอเรนที่เขามีฟีดแบคกลับมา รีวิวให้และปักพินไว้ที่เพจเขา ไลน์มาคุยกับเราว่าเป็นยังไง ขายดีไหม เขาอยากให้ขายดีนะ มันทัชหัวใจเรามาก ทำให้เรามีกำลังใจในการทำงาน”

 

 

     เพราะเบื้องหลังของกระเป๋าไก่ 1 ใบ ไม่ใช่แค่แฟชั่นสวยๆ ชิคๆ เพียงอย่างเดียวแต่ยังมีเรื่องราวและผู้คนที่ซ่อนอยู่ทั้งวัฒนธรรมของคนอีสาน ช่างฝีมือที่สั่งสมประสบการณ์ทำงานมาหลายปี นักออกแบบรุ่นใหม่ที่อยากชูความเป็นอีสานให้ไปได้ไกลกว่านี้ นี่คือแบรนด์ BWILD ISAN ที่ไม่ใช่แค่แบรนด์แฟชั่นแต่ยังเป็น Community อีสานที่แข็งแกร่งด้วย โดยหัวใจสำคัญคือเรื่องของ “คน” เน้นสร้างคนให้เติบโตไปพร้อมกับแบรนด์เพื่อส่งต่อโอกาสดีๆ ให้ผู้อื่น ภายใต้ความเชื่อว่า…เราจะสร้างสังคมที่ดี ที่เราอยากจะอยู่ขึ้นมาได้ โดยเริ่มจากจุดเล็กๆที่มีสังคมเป็นปลายทาง “คน” คือทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของแบรนด์ BWILD ISAN

     “พี่ไม่ได้คิดเอาไว้เลยว่า อยากจะเป็นแบรนด์แฟชั่นแบบไหน พี่ไม่ใช่นักเรียนแฟชั่น พี่ทำงานนี้เพราะรัก เริ่มจากความสามารถที่มี เริ่มต้นจากคน เราต้องการทำงานที่เรายังได้รับคุณค่าจากการทำงานนั้นด้วย มันเลยไม่ได้เป็นสูตรหรือคัมภีร์ธุรกิจอะไร BWILD ISAN อาจจะไม่ได้เป็นเหมือนแบรนด์แฟชั่นอื่น เราอยากทำสิ่งที่ได้ฮีลใจตัวเองด้วย ยิ่งในวิกฤต ความรู้สึกทุกอย่างที่เจอมันจะยิ่งมากกว่าการทำแบรนด์ในเวลาปกติ เพราะเราผ่านอะไรมาด้วยกัน ทีมกระทบหมด โดยเฉพาะกับคนที่อยู่ต่างจังหวัดรอบนอก เราทำงานแฟชั่น แต่เหมือนถูกจำกัดว่า ถ้าเป็นแฟชั่นนิสต้องอยู่ในกรุงฯ แต่เราพยายามฉีกว่าแฟชั่นมันอยู่ทุกที่นั่นแหละ ทุกคนมีแฟชั่นเป็นของตนเอง ไม่ต้องเหมือนกัน แฟชั่นแบบไหนที่ทำให้ชีวิตคนดีขึ้น พี่เลือกทำแฟชั่นแบบนั้นแหละ”

 

 

     แฟชั่นที่ยั่งยืน การทำธุรกิจแบบพอดีตัว ไม่ได้มองเม็ดเงินเป็นที่ตั้ง ทำให้ BWILD ISAN กลายเป็นแฟชั่นที่ฉีกกรอบ โดยชมพู่ได้เล่าปิดท้ายว่า เธอใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้เรียนรู้ในฐานะเป็นหนึ่งในครีเอเตอร์ จากโครงการ “พอแล้วดี The Creator” มาปรับใช้กับการทำธุรกิจแฟชั่นจนทำให้เธอผ่านวิกฤติต่างๆ มาได้จนถึงปัจจุบันนี้

        “เราถือว่าเป็นแบรนด์แฟชั่น ที่ได้นำเอา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ในการออกแบบธุรกิจในภาวะวิกฤต จนผ่านพ้นมาได้จนถึงในวันนี้ BWILD ISAN ใช้ทางสายกลาง คือ เราคิดและทำ ทุกอย่างแบบพอประมาณ มีเหตุมีผล และเร่งเติมความรู้ เพื่อที่จะเป็นภูมิคุ้มกันให้ธุรกิจที่เราทำนั้นแข็งแรง ไม่ล้มหาย ตายจากไปง่ายดาย การค่อยๆเติบโต อย่างมีผู้อื่น มีสังคมเป็นปลายทางนั้น เปรียบเสมือนต้นไม้ที่ใช้เวลา จนรากยึด ผืนดินมั่นคง จะแข็งแรงพอที่จะเป็นที่พักพิงให้ผู้อื่นได้ในวันนึง เชื่อว่า การทำธุรกิจไม่ต่างกับการใช้ชีวิต ที่เมื่อใดที่เราขาด เราพร่องไป ต้องรู้จักเติม เมื่อใดที่เราพอ ต้องรู้จักหยุด และเมื่อที่เรามีมากจนเกินไป ต้องรู้จักแบ่งปัน ปัจจุบันทุกคนล้วนอยากอยู่ในสังคมที่ดี ไม่เพียงแค่ปฏิบัติตัวเป็นคนดี หากเราอยู่ในฐานะนักธุรกิจ ก็ต้องสร้างธุรกิจที่ ดีขึ้นมาในสังคมด้วย ไม่ต้องรอใครเริ่ม เริ่มจากตัวเราเอง เริ่มในจุดที่เราทำได้” 

     ท้ายสุด อยากเป็นกำลังใจให้SME ไทย ทำธุรกิจผ่านพ้นภาวะนี้ไปได้ โดยยังรักษา”คน”ที่เป็นกำลังสำคัญขององค์กรไว้ได้ ด้วยสติ ปัญญา ใช้ความเมตตาต่อกันและกัน เพราะทุกชีวิตนั้น มีคุณค่าเท่ากัน การเดินทางของธุรกิจที่ดี ไม่ว่าเล็กแค่ไหน ก็ควรแบ่งปันโอกาสให้ผู้คนได้ด้วย 

         

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup