เปลี่ยนกระดาษเป็นเงิน! เมื่ออดีตมนุษย์เงินเดือนลุกสร้างธุรกิจของขวัญ ปั้นแบรนด์ปังจนออเดอร์ล้น
มีหลายคนเลือกจะทำแบรนด์ของตัวเองผ่านช่องทางออนไลน์มากกว่าจะเดินบนทางสายมนุษย์เงินเดือน แต่การทำแบรนด์ของตัวเองนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ดังเช่น ปลา-หนึ่งฤทัย สุวรรณโฉม เจ้าของแบรนด์ Yim LekLek ที่สร้างแบรนด์ของขวัญที่ทำจากกระดาษ ด้วยการหยิบเอาความชอบของตัวเองในวัยเรียนมาทำแบรนด์เล็กๆ ที่ในตอนแรกแทบไม่มีลูกค้าเลย แต่ในวันนี้กลายเป็นแบรนด์ที่มีลูกค้าทั้งคนไทยและต่างชาติจนต้องปฏิเสธรับงานไปมากมาย
ปลาเล่าย้อนไปสมัยที่ตัวเองเรียนอยู่มหาวิทยาลัยว่า จากการที่เธอชอบงานแฮนด์เมดและทำการ์ด เธอจึงเริ่มทำแบรนด์ของตัวเองผ่านช่องทางออนไลน์ แต่การจะทำแบรนด์เป็นของตัวเองในตอนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทุกๆ การเริ่มต้นจะต้องใช้เวลาและต้องทุ่มเทใส่ใจ เธอจึงต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อให้งานหรือสินค้าเป็นที่รู้จักในกลุ่มลูกค้า
“ปลาชอบทำการ์ดมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว ชอบประกวดออกแบบการ์ดคริสต์มาสของโรงเรียน จากนั้นค่อยๆ เริ่มหาวิธีทำยังไงให้ความชอบของเรามาออกแบบเป็นการ์ดแล้วทำให้คนมาซื้อได้ พอเริ่มขายช่วงแรกๆ เลยก็มีแต่เพื่อนมาช่วยซื้อ พอลองลงขายในอินสตาแกรมปรากฏว่าไม่มีคนซื้อเลยตลอด 3 เดือน เงียบมาก เรานอนเฝ้าโทรศัพท์ทุกวัน รอเวลาไลน์เด้งขึ้นมาก็จะคิดว่าจะใช่ลูกค้าไหม มันยากมากจนท้อแอบร้องไห้ คิดว่างานประเภทนี้มันอาจจะขายไม่ได้จริงๆ พ่อแม่ก็บอกว่ามันขายไม่ได้หรอกของแบบนี้ใครจะซื้อ แต่ที่นี้มาคิดว่าเป็นเพราะเราทำการตลาดไม่เป็นหรือเปล่า เลยไปลองดูว่าคนอื่นมีการโปรโมตกันยังไง ไปเจออินสตาแกรมที่รับโปรโมตร้านให้ฟรี ทำให้มีคนเห็นงานเรามากขึ้น แล้วก็เริ่มมีลูกค้าใหม่ๆ เข้ามา ตอนนั้นดีใจมากๆ”
เหมือนเช่นคนอื่นๆ ที่เมื่อสามารถหารายได้เสริมตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย เธอจึงเลือกทำงานประจำเพื่อหวังเป็นรายได้หลัก และมีงานที่ชอบเป็นงานเสริมทำยามว่าง แต่เมื่อพบว่าการทำงานประจำนั้นไม่ตอบโจทย์กับชีวิต เธอจึงตัดสินใจเลิกทำงานประจำแล้วหันมามุ่งหน้าทำแบรนด์ของขวัญอย่างเต็มตัว จนมาถึงจุดที่แบรนด์เป็นที่รู้จักทั้งลูกค้าไทยและต่างชาติ จากการที่ได้มีโอกาสไปออกบู๊ธออกงาน Public Garden ประเทศสิงคโปร์
“การไปออกงานนั้นถ้าพูดถึงเรื่องตัวเงินที่ได้มามันอาจจะยังไม่ได้เยอะมาก เพราะเราทำของไปน้อยด้วย แต่ความตั้งใจคืออยากให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากกว่า แล้วก็ได้ประสบการณ์ที่ดี ที่สำคัญคือทำให้แม่เห็นว่ามีคนชอบงานเราเยอะ งานเราขายได้นะ แล้วจากที่ไม่เปิดใจก็ยอมรับว่าการทำแบบนี้มันก็เลี้ยงตัวเองได้ แล้วหลังจากนั้นก็มีออร์เดอร์จากต่างประเทศเข้ามาเรื่อยๆ”
อย่างที่รู้กันงานแฮนด์เมด มักจะมีข้อจำกัดในการเพิ่มกำลังการผลิตและเพิ่มรายได้ ปัญหานี้ก็ทำให้เธอลองเปิดคอร์ส สอนออนไลน์ ซึ่งนอกจากมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีเป้าหมายคือเพื่อให้คนที่มาเรียนได้นำไปทำเป็นอาชีพหารายได้ได้ แต่กว่าจะตัดสินใจเปิดคอร์สสอนได้ เธอบอกว่าต้องต่อสู้กับความคิดในหัวตัวเองพอสมควร เพราะนั่นหมายความว่าต้องยอมว่าจะมีคนทำสินค้าขายแบบเดียวกันนี้ขึ้นมาอีกมากมาย
“สิ่งที่เราสอนทำให้คนเอาไปต่อยอดหารายได้ แล้วตัวเราได้มากกว่าการทำของขวัญ เรารู้สึกมีความสุขที่คอร์สของเราสร้างอาชีพให้คนได้ แต่ก่อนที่จะเปิดใจกล้าสอนได้ก็ยากเหมือนกัน เพราะจะกังวลไม่ชอบให้คนทำงานออกมาขายเหมือนเรา ใช้เวลาคิดเป็นปี เครียดมากอยากไปหาจิตแพทย์เลยว่าจะทำยังไงให้เราใจกว้าง แต่มันก็หายด้วยการตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราทำไปเพื่ออะไร เราก็เปลี่ยน Mindset ว่าเราจะอยู่กับสิ่งนี้ไปจนตายเลยหรอ ตายไปแล้วเราก็ไม่ได้ทิ้งอะไรไว้เลยหรอ ก็เลยคิดว่าถ้ามีอะไรบางอย่างที่ทิ้งไว้ได้ก็คงเป็นความรู้ที่คนเอาไปต่อยอดได้ มันน่าจะแฮปปี้กว่า”
การทำของขวัญจากกระดาษถึงแม้จะเป็นความชอบและเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ Yim LekLek แต่ตัวปลาเองก็ยังมีความชอบในด้านอื่นๆ อีก เธอจึงยังคงค้นหาสิ่งที่ชอบและใช่ไปเรื่อยๆ เพื่อพัฒนาตัวเองและนำมาต่อยอดให้กับแบรนด์ต่อไป
“สำหรับใครที่อยากลองเริ่มจากอะไรที่ชอบแต่ไม่รู้ว่าชอบอะไร ก็ลองเริ่มจากสิ่งที่เราเห็นผ่านๆ ตาแล้วน่าสนใจ อาจจะลองไปเรียน ไป Workshop หรือดูฟรีตามยูทูบก็ได้ ความชอบมันก็มีทั้งชอบดูกับชอบทำ เราต้องลองลงมือทำเลยจะได้รู้ว่าเราชอบและถนัดจริงไหม แล้วถ้าเจอทางที่ใช่ก็ลงมือทำเลย”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup