Starting a Business

ขายฟอนต์ทำเงินแสน! เด็กปี 4 ไอเดียเจิด ครีเอทฟอนต์สุดเก๋ ตอบโจทย์แม่ค้าออนไลน์

 

     ใครว่าทำธุรกิจเท่านั้นถึงจะแตะหลักแสนได้อย่างรวดเร็ว? แต่ยุคใหม่ ไม่ว่าอาชีพอะไรก็สามารถสร้างรายได้แตะหลักแสนได้ถ้ามาถูกทาง! อย่าง อั้ม - รวิสรา คงไกร เด็กสาวมหาลัยฯ ปี 4 ที่หยิบเอาความชอบมาเปลี่ยนเป็นอาชีพที่ใช่ จนทำเงิน สร้างอาชีพได้

     โดยอั้มเล่าให้ฟังว่า ตัวเธอเรียนทางด้านบัญชี แต่มีแววด้านศิลปะ ทำให้มีคนมาทาบทามให้ทำงานคอนเทนต์และกราฟฟิก จนในที่สุดก็ได้เป็นผู้ดูแล Instagram ของธุรกิจแบรนด์หนึ่ง 

     “อั้มเรียนบัญชีมา มันคนละทางเลย เราชื่อชอบเรื่องศิลปะอยู่แล้วแต่ว่าไม่มีโอกาสได้เรียน ทีนี้ตอนเราฝึกงานเสร็จ เราสนิทกับรุ่นพี่ที่ฝึกงานด้วยกันแล้วเพื่อนเขาตามหากราฟฟิกอยู่ เขาเลยแนะนำอั้มไป บอกว่าอั้มมีแวว คิดว่าทำได้ เราก็ส่งผลงานดีไซน์เล็กๆ น้อยๆ ไป เขาตกลงรับอั้ม เราก็เริ่มจาก Content Creator คิดคอนเทนต์ใน Facebook จนเขาอยากปูช่องทางใน Instagram เลยให้อั้มมาทำตรงนี้ ก็จับทางตรงนี้เต็มตัว”





     ด้วยความที่เธอต้องดูแล Instagram มีการตกแต่งรูปภาพสินค้า เธอจึงสร้างความแตกต่างด้วยการใช้ลายมือตัวเองในการเขียนลงไปบนรูปภาพ จนทำให้หลายคนมองเห็นและเข้ามาสอบถามว่า “มีฟอนต์ขายไหม?” นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นอาชีพขายฟอนต์ของเธอ 

     “งานที่เราทำใน Instagram เป็นแนวแต่งรูป ต้องใช้ลายมือตัวเองเขียน ไม่ได้ใช้ฟอนต์สำเร็จ ใน Instagram จะเน้นแนวน่ารัก มุ้งมิ้ง เพราะกลุ่มลูกค้าจะเน้นเจาะกลุ่มวัยรุ่น อั้มก็ใช้ลายมือตัวเองมาตลอด เริ่มฝึกจากลายมือไม่ได้สวยมาก ยังไม่นิ่ง ก็ฝึกมาเรื่อยๆ จนเราทำมาได้ปีกว่า คนเริ่มมาถามเยอะว่า อันนี้ใช้ฟอนต์อะไร คนเลยเชียร์ว่าทำไมไม่ทำฟอนต์ขาย ตอนนั้นอั้มสองจิตสองใจ เกรงใจเจ้านายด้วย เราตัดสินใจคุยกับเจ้านาย เขาก็เข้าใจและสนับสนุนให้เราทำ”

     สำหรับรายละเอียดในการทำฟอนต์ อั้มเล่าเพิ่มเติมว่าจะมีแพลตฟอร์มในการสร้างฟอนต์ของตัวเองอยู่ 2 รูปแบบหลักคือ 1.สร้างฟอนต์ในแอปพลิเคชัน 2.สร้างฟอนต์ในเว็บไซต์ 





     “ถ้าทำฟอนต์ในเว็บไซต์จะชื่อว่า Calligraphr เสียเงินรายเดือน เดือนละ 200 กว่าบาท ส่วนในแอปฯ จะชื่อว่า iFontMaker เป็นแอปฯ เสียเงินรอบเดียวจบ 240 กว่าบาท ความต่างไม่เหมือนกัน แล้วแต่ฟอนต์และรูปแบบการใช้งาน ถ้าให้อั้มเปรียบเทียบ ใน Calligraphr มันจะคล้ายลายมือเราที่สุด เราจะ Export ไฟล์ที่เป็นรูปปกติมาแล้วเขียนในแอปฯ แต่งรูปอีกที เส้นจะไม่มีการปรับให้อัตโนมัติ เหมือนลายมือเรา 100% ส่วน  iFontMaker จะปรับเส้นให้อัตโนมัติ ให้เส้นมันโค้งกว่า ไม่เหมือนลายมือเราทั้งหมด คอนโทรลยากนิดหนึ่ง แต่ข้อดีคือเสถียรกว่า คนใช้เยอะกว่าด้วย”

     ส่วนสำคัญที่ทำให้ฟอนต์ของอั้มกลายเป็นที่รู้จักในกลุ่มของแม่ค้าออนไลน์ สร้างรายได้แตะหลักแสนภายในไม่กี่เดือน นั่นเป็นเพราะความน่ารักของฟอนต์ที่ตอบโจทย์คนขายออนไลน์ รวมถึงการที่ลูกค้ารีวิวให้ 

     “ตอนนี้อั้มปล่อยฟอนต์ออกมา 7 เวอร์ชัน 4 เดือน แต่ตอนเวอร์ชันแรกๆ ยังไม่ค่อยมีคนรู้จักอั้ม คนซื้อคือคนที่รู้จักอั้มจากใน Instagram เจ้านายอั้ม เขาเคยเห็นผลงานแล้วตามมาอุดหนุน แต่มาเวอร์ชันที่ 4 ถึง 7 เริ่มจะบูมขึ้น เพราะมีคนรู้จักเรามากขึ้น มีคนรีวิวให้ อย่าง Instagram ใหญ่ๆ ที่เขาซื้อไปใช้ก็แท็กรีวิวมาทางสตอรี่ แล้วแต่ละคนยอดฟอลโล่ 3-4 หมื่นคน ทำให้เราได้เครดิตตรงนี้ เราเองก็เจาะกลุ่มแม่ค้าออนไลน์ในไอจีโดยเฉพาะ”





     โดยอั้มเล่าเสริมถึงกลยุทธ์สำคัญในการดึงดูดลูกค้าให้กลับมาซื้อซ้ำ แม้ว่าฟอนต์จะเป็นอะไรที่ซื้อครั้งเดียวแล้วจบไป นั่นเป็นเพราะการให้บริการกับลูกค้าที่จริงใจและเรื่องของการสร้างตัวตนให้ลูกค้ารู้ว่าเราเป็นใคร 

     “รายได้ที่ทำมา มันดีกว่าที่คิดไว้ ด้วยความที่เราสร้างฐานลูกค้าประจำ ฟอนต์เป็นอะไรที่ซื้อรอบเดียวจบ แต่จะทำยังไงให้ลูกค้ากลับมาซื้อกับเราอีก อันนี้สำคัญมาก ต้องเป็นเรื่องของ Service mind ดูแลลูกค้า ชวนคุย เหมือนเราเน้นการสร้าง Personal branding ให้ลูกค้ารู้ว่าเจ้าของร้านนี้เป็นใคร ไม่ได้จำแค่ว่าร้านนี้ขายฟอนต์นะ แต่รู้ไปถึงว่าคนนี้คืออั้มนะ อั้มที่เขียนฟอนต์ เราลงไลฟ์สไตล์ตัวเอง เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในไอจีจริงๆ ไม่ใช่แค่ขายฟอนต์แล้วจบ สร้างตัวตนให้ลูกค้าจำได้ เราออกคอลเลคชันอะไรมา ลูกค้าก็จะมาตามเก็บทุกคอลเลคชัน เราลงทุนซื้อแอปฯ ครั้งเดียวจบ แต่กลับสร้างยอดขายให้เยอะมากๆ เรายังตกใจ ต้องขอบคุณลูกค้าจริงๆ และอั้มขายฟอนต์ไม่ได้แพงถึง 4-5 ร้อย แต่อั้มขายใช้งานส่วนตัว 99 บาท ถ้าเชิงพาณิชย์ 199 บาท แพงสุด 249 บาท นอกจากนี้เราจะมีไฟล์ตกแต่ง อำนวยความสะดวกให้แม่ค้า มันจำเป็นในการแต่งรูป อันนี้เป็นตัวสร้างกำไรให้อั้มด้วย”

     อั้มได้ปิดท้ายถึงหัวใจสำคัญในการทำให้อาชีพของเธอประสบความสำเร็จ นั่นเป็นเพราะความเอาใจใส่ พัฒนาตัวเองตลอดเวลาเพื่อให้ลูกค้าไม่รู้สึกเสียดายเงินที่มาซื้อกับเธอ 

     “อั้มเคยได้ยินมาว่า จะทำอะไร ให้เราจริงใจกับลูกค้าเสมอ ทำอะไรก็ทำออกมาให้ดีที่สุดแล้วเขาจะเชื่อใจเรา ถ้าเราทำอะไรออกมา เขาจะซื้อเราทุกอย่างที่เราทำขาย”
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup