Starting a Business

สานฝันนโยบาย 30x30! เมื่อ Urban Tiller สตาร์ทอัพสิงคโปร์จับธุรกิจขายผักสดจากฟาร์มส่งวันต่อวัน

 

Text : Vim Viva 

     ดูเหมือนว่าการประกาศนโยบาย "30 x 30" ของรัฐบาลสิงคโปร์จะถูกขานรับด้วยดีดังจะเห็นได้จากคนรุ่นใหม่ที่หันมาจับธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตรมีจำนวนมากขึ้น นโยบาย 30x30 คือแผนที่รัฐบาลสิงคโปร์กำหนดไว้ในการผลิตอาหารให้ได้ 30 เปอร์เซนต์ของความต้องการบริโภคในประเทศภายในปี 2030 เนื่องจากอาหารที่บริโภคในสิงคโปร์ 90 เปอร์เซนต์นำเข้าจากต่างประเทศ มีเพียง 10 เปอร์เซนต์เท่านั้นที่สามารถผลิตเองในประเทศ ช่วงเกิดวิกฤติโควิด-19 หนักสุดจนทำให้ผู้คนแห่เข้าซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อกักตุนอาหารด้วยความตื่นตระหนก ทำให้ความสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาหารทวีมากขึ้น

     โจลีน ลัม หญิงสาววัย 24 ปีก็เป็นหนึ่งในจำนวนคนรุ่นใหม่อายุน้อยที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำช่วงต้นปี 2020 เพื่อก่อตั้งเออร์เบิน ทิลเลอร์ (Urban Tiller) บริษัท Startup ด้าน Agtech เพื่อจำหน่ายผลผลิตจากเกษตรกรท้องถิ่นโดยจัดส่งให้ลูกค้าภายใน 6-8 ชั่วโมงหลังเก็บเกี่ยว นั่นหมายความว่าผักที่ลูกค้าได้รับจะมีความสดใหม่และอุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ

     โจลีนเล่าว่าเธอเคยทำงานในบริษัท Startup ด้านการศึกษาโดยรับหน้าที่ดูแลธุรกิจอาหารและการเกษตร ทำให้เธอรู้จักผู้คนในเครือข่ายการเกษตร เธอเริ่มสนใจและศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะแนวคิดด้านความมั่นคงทางอาหารที่จำเพาะไปที่เรื่อง “ความมั่นคงทางโภชนาการ” จากการค้นคว้าวิจัย ทีมเออร์เบิน ทิลเลอร์พบว่าผักใบเขียวบางชนิด เช่น ใบอ่อนผักโขมจะสูญเสียคุณค่าทางโภชนาการมากถึง 90 เปอร์เซนต์หลังเก็บเกี่ยวเพียง 24 ชั่วโมง
  



     
     ด้วยเหตุนี้เออร์เบิน ทิลเลอร์จึงให้ความสำคัญกับการคงคุณค่าทางอาหารจากผลผลิตไว้ให้ได้มากที่สุดโดยการจัดส่งให้ถึงลูกค้าแบบสดๆ ในไม่กี่ชั่วโมงเมื่อเก็บจากฟาร์ม ซึ่งโมเดลธุรกิจแบบนี้เหมาะสำหรับฟาร์มขนาดเล็กจนถึงขนาดกลาง และไม่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับระบบซัพพลายเชนแบบเดิม นั่นคือการส่งผลผลิตทั้งหมดให้ซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นตัวกลางในการขายเนื่องจากซูเปอร์มาร์เก็ตต้องการผักปริมาณมหาศาลและต้องจัดส่งต่อเนื่องสม่ำเสมอ

     ที่สำคัญ ในระบบซัพพลายเชน เกษตรกรอาจได้ค่าตอบแทนไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เช่น ถ้าส่งผักให้ซูเปอร์มาร์เก็ต 10 กิโลกรัม แต่กว่าผลผลิตจะไปถึง อาจไม่สดหรือเน่าเสียระหว่างทาง ก็ต้องถูกคัดทิ้ง ทำให้เกษตรกรได้ค่าตอบแทนไม่เต็ม 10 กิโลกรัม ข้อมูลระบุ 90 เปอร์เซนต์ของพืชผักผลไม้ที่นำเข้าสิงคโปร์ กว่าจะวางขายขนถึงมือผู้บริโภค ประมาณ 40-70 เปอร์เซนต์เน่าเสีย ซึ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนที่บ่อยครั้งถูกผลักให้เป็นภาระของผู้บริโภค นั่นจึงเป็นที่มาของแนวคิดการสร้างอุปสงค์รวมที่เหมาะสม หรือการทำให้การผลิตสอดคล้องกับความต้องการของตลาดเพื่อลดการสูญเสียและขาดทุน





     โจลีนตั้งเออร์เบิน ทิลเลอร์ขึ้นมาเพื่อเป็นตัวกลางที่เชื่อมระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตกับผู้บริโภค โดยเออร์เบิน ทิลเลอร์ได้คัดเลือกเกษตรกรรายย่อยบนเกาะสิงคโปร์เป็นพันธมิตร และให้ความช่วยเหลือให้มีความมั่นคงทางการเงินด้วยการวางกลยุทธ์ GTM (go-to-market) หรือการบริหารทรัพยากรภายในและภายนอกให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ การให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปลูกพืชหลากหลายชนิดด้วยเทคนิคที่แตกต่างกัน เช่น หากเป็นธัญพืชหรือพืชที่เป็นหัวจะเน้นปลูกบนดิน ส่วนพืชอื่นสามารถเปลี่ยนเป็นเกษตรในร่ม เกษตรแนวตั้ง หรือการทำสมาร์ทฟาร์มที่ควบคุมด้วยเทคโนโลยี

     การใช้เทคโนโลยีที่ควบคุมปัจจัยต่างๆ ทำให้สามารถกำหนดผลผลิตได้ตามความต้องการและเป็นผลผลิตที่มีคุณภาพ ทำให้ผู้บริโภคได้รับบริการที่ดีสุดจากพืชผักที่มีความสดใหม่จากฟาร์มชนิดที่หาได้ยากจากที่อื่น อย่างไรก็ตาม โจลีนยอมรับว่าการเกษตรแนวใหม่ที่มีเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้องอาจทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้นในช่วงเริ่มต้น ซึ่งเออร์เบิน ทิลเลอร์มีหน้าที่ทำให้ราคาสามารถแข่งขันได้ในตลาด  





     โมเดลธุรกิจของเออร์เบิน ทิลเลอร์คือเก็บจากฟาร์มและจำหน่ายแบบวันต่อวัน โดยทุกเช้า ทีมงานจะรับผลผลิตทางการเกษตรจากฟาร์มต่างๆ จากนั้นทำการบรรจุหีบห่อแล้วจัดส่งตามออร์เดอร์ภายในวันเดียว ทำให้ลูกค้าได้รับสินค้าที่เปี่ยมด้วยคุณค่าทางอาหารเนื่องจากเป็นของสดใหม่ไม่ค้างคืน อย่างไรก็ดี โจลีนยอมรับว่าเส้นทางธุรกิจไม่ได้ราบรื่นนักเพราะต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ต้นทุนทางธุรกิจ การขาดแคลนแรงงาน และการแข่งขันเรื่องราคากับซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่

     แต่เป็นที่น่ายินดีที่ 1 ขวบปีของการเปิดเออร์เบิน ทิลเลอร์ดำเนินไปด้วยดี และโจลีนมีแผนจะพัฒนาธุรกิจ เช่น การเพิ่มพื้นที่บริการ และจัดหาผักให้เลือกหลายชนิดขึ้น นอกจากนั้นยังมีแผนจะทำ co-farming space เพื่อให้เกษตรกรรุ่นใหม่ที่ไม่มีพื้นที่ของตัวเองได้ทดลองทำการเกษตรก่อนตัดสินใจว่าจะยึดอาชีพนี้จริงจัง หลายปีที่ผ่านมารัฐบาลสิงคโปร์มีความพยายามที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรของสิงคโปร์ ผ่านโครงการสนับสนุนเงินทุนหลายโครงการ กระทั่งจำนวนฟาร์มผักในประเทศเพิ่มจาก 54 ฟาร์มในช่วงปี 2558-2562 มาอยู่ที่ 83 ฟาร์มในปัจจุบัน

 
ที่มา : https://vulcanpost.com/760045/24-year-old-built-agtech-startup-urban-tiller-singapore/
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup