Starting a Business

ไม่ยอมแพ้! พลิกวิกฤติจากโรงเรียนสอนดนตรีสู่ร้านเบเกอร์รี่ออนไลน์ ขายขนมต่อชีวิตพนักงาน

 

Text : Yuwadi S.

     “พี่เป็นผู้นำองค์กร เราต้องมีเลือดนักสู้ การเลิกจ้างคือสิ่งสุดท้ายที่พี่จะทำ” เสียงบอกเล่าจากผู้ฝ่าวิกฤติโควิดที่ทำให้ธุรกิจหลักของเธอต้องปิดลงชั่วคราวมายาวนานเกือบ 2 ปีเต็ม “สุกฤตา จันทรอุดมมาส-ปุ๊ก” เจ้าของสถาบันดนตรีสุกฤตา (Let me Play) ที่ดำเนินการมาถึง 12 ปี จนเจอกับ COVID-19 ส่งผลให้โรงเรียนดนตรีขาดรายได้และอาจจะถึงจุดจบได้หากไม่ลุกขึ้นมาสู้ 

     แม้จะท้อแต่ไม่ถอย ปุ๊กจึงฮึดสู้ด้วยการหยิบเอาความชอบมาเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ใช่ นั่นคือการทำขนมและขายบนโลกออนไลน์และทำให้พนักงานของเธอทุกคนมีรายได้โดยไม่ต้องมีใครต้องตกงานแม้แต่คนเดียว 

     “โรงเรียนสอนดนตรีเราเข้าสู่ปีที่ 12 แล้วค่ะ ก่อนที่เจอโควิดนั้นธุรกิจไปได้ดี เป็นธุรกิจเล็กๆ ที่มีความสุขและราบรื่น จนมาถึงโควิดระบาด โรงเรียนต้องถูกปิดกิจการชั่วคราวถึง 3 ระลอก ระลอกแรกดูเหมือนจะกลับมาได้แต่พอมาระลอกที่ 3 มันยากมาก กินเวลานาน เราเป็นธุรกิจเล็กๆ เงินทุนเราหมดไปเรื่อยๆ รายรับไม่มีเลยแต่เรายังมีรายจ่าย มีพนักงาน เราคิดมากอยู่สักพักและถ้าเรายังมัวรอที่จะเปิดกิจการอีกครั้ง มันไม่มีความหวัง ต้องหาหนทางที่จะผ่านพ้นวิกฤติและประคององค์กรให้ได้”





     ปุ๊กเล่าให้ฟังว่าคืนหนึ่งที่เธอกำลังนอนคิดว่าจะทำอย่างไรดี เงินทุนก็ใกล้จะหมดเต็มที เธอได้คิดว่ามีศิลปะอีกหนึ่งแขนงที่เธอสามารถทำได้และชอบด้วยนั่นคือการทำขนม 

     “ถ้าเราทำขนมเล็กๆ น้อยๆ มาขายที่โรงเรียนล่ะ! ก็เลยเอาล่ะ เรายังมีความหวัง เราอาจจะรอด มันเป็นไพ่ใบสุดท้ายแต่ไม่ใช่ฟางเส้นสุดท้ายแน่ๆ ตอนเช้าเราเรียกประชุมพนักงานเลย บอกเขาว่าเรารักโรงเรียนนะ เรารักพวกเราทุกคนและจะไม่ยอมปิดกิจการ แต่ระหว่างที่รอเวลาเปิด พี่จะสอนพวกเราทำขนม เราจะทำเบเกอร์รี่ขายกัน ลุยด้วยกันไหม ถ้าลุยด้วยกันจะสอน แล้วเรามีขายออนไลน์กัน ทุกคนก็ตอบว่าลุยค่ะ หนูจะทำ”

     หลังจากที่ทุกคนฮึดขึ้นสู้อีกครั้ง ก็เริ่มลงมือก่อร่างสร้างธุรกิจใหม่นั่นคือ Vanilla Sugar ร้านเบเกอร์รี่ออนไลน์ที่เปิดขายวันละ 2 รอบ บางรอบก็ขายหมดภายในไม่กี่นาที ธุรกิจนี้ทำให้เธอกลับมามีรายได้ประคับประคององค์กรได้โดยที่ไม่ต้องเลิกจ้างพนักงานและไม่ต้องลดเงินเดือน 





     “พอเราคุยกับพนักงาน ก็ลงมือสอนเขา แล้วระหว่างนั้นกลับมาโพสต์ขายตามช่องทางออนไลน์ เริ่มจากลูกค้ากลุ่มแรกๆ นั่นคือผู้ปกครองที่โรงเรียนดนตรี หลายคนก็แวะเวียนมาอุดหนุน พออร่อยก็บอกต่อ จากเพจที่มีผู้ติดตามร้อยกว่าคนกลายเป็นเกือบ 4 พันคนในเวลาไม่นาน เรายิ่งมีแรงฮึด จนเรามีรายได้หลายหมื่นบาท สามารถจ่ายเงินเดือนได้โดยไม่ต้องเลิกจ้างใคร โดยร้านของเราเป็นร้านขนมเล็กๆ มีกิมมิกตรงที่ขายขนมวันละ 2 รอบ รอบเที่ยงและรอบเย็น ขนมเราจะทำสดใหม่ทุกวันก่อนเปิดขาย ขนมหมดเมื่อไรก็ปิดการขายและอยู่ในครัวเพื่อทำขนมรอบใหม่ ขนมส่วนใหญ่จะทำมาจากผลไม้สด ครีมสด พอรับประทานหลังทำเสร็จใหม่ๆ มันอร่อยมาก แรกๆ ก็กลัวนะคะ เพราะต้องเสี่ยงทำขนมไว้ก่อน กลัวไม่หมด แต่พอเอาเข้าจริง ลูกค้าสั่งขนมเราในแต่ละรอบ บางทีหมดภายใน 10-18 นาที”

     โดยเธอได้ปรับโรงเรียนดนตรีให้กลายเป็นที่ทำขนม จากพนักงานที่ทำหน้าที่เป็นพนักงานต้อนรับก็กลายเป็นคนทำขนมแทน การปรับเปลี่ยนเหล่านี้คือสิ่งที่ช่วยต่อลมหายใจให้กับธุรกิจได้กลับมาฟื้นคืนได้อีกครั้ง





     “เราทำขนมอยู่ในโรงเรียนเลย โรงเรียนของเราจะมีโถงด้านหน้า เวลาที่มีผู้ปกครองมาส่งลูกเรียนแล้วก็จะมีพื้นที่ด้านข้าง เป็นพื้นที่ที่เราปลูกต้นไม้ เราก็เอาวัสดุอุปกรณ์ที่เหลืออยู่ในบ้านมาช่วยกันทำเป็นครัวเบเกอร์รี่ เป็นมุมหนึ่งในโรงเรียนดนตรีและจากพนักงานที่ทำงานในโรงเรียนดนตรีก็มาทำขนม พี่ยังแปลกใจว่าทำไมน้องๆ เก่งจัง เคยถามเขาว่าเหนื่อยไหม ลำบากไหม เขาก็ตอบว่าเหนื่อยก็เหนื่อยนะพี่ แต่ทำแล้วมีความสุข เหมือนได้อยู่กับศิลปะอีกแขนงหนึ่ง พี่ดีใจมากที่คนในองค์กรไปในทิศทางเดียวกับเรา ถามว่าเรารักและคิดถึงโรงเรียนดนตรีไหม แรกๆ เราร้องไห้กันหนักมาก แต่ตอนนี้มันเกิน 1 ปีครึ่งแล้ว น้ำตาเรามันแห้งไปหมดแล้ว”

     หากวันนั้นคิดถอดใจ เลิกจ้างพนักงาน ไม่ฮึดสู้ วันนี้คงไม่มีร้านขนมออนไลน์อย่าง  Vanilla Sugar และต้องเสียพนักงานที่ผูกพันกันไป โดยปุ๊กได้เล่าถึงแนวคิดในวันที่ท้อแท้ให้ฟังว่าทำอย่างไรถึงกลับมาเข้มแข็งได้อีกครั้ง

     “มองย้อนไปในวันที่ธุรกิจไม่มีทางออก ไม่มีรายได้ หนทางสุดท้ายน่าจะต้องเลิกจ้างหรือปิดกิจการ แต่สำหรับพี่ รู้สึกว่าพี่เป็นผู้นำองค์กร เราต้องมีเลือดนักสู้ การเลิกจ้างจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่พี่จะทำ ในมุมมอง การเลิกจ้างคือการหยุดค่าใช้จ่าย แต่พี่กลับมองเห็นศักยภาพของตัวเอง เห็นศักยภาพของพนักงาาน ถ้าเราสอนและเขาพร้อมจะเรียนรู้ แทนที่จะตัดพวกเขาทิ้ง สู้เราดึงความสามารถออกมาเพื่อสร้างรายได้ให้องค์กร เกิดธุรกิจซ้อนธุรกิจ เมื่อวันหนึ่งสถานการณ์กลับมาดีขึ้น เราก็มีถึง 2 อาชีพ ถ้าวันหนึ่งโรงเรียนดนตรีเปิดได้ ก็จะไม่เลิกอาชีพทำเบเกอร์รี่ออนไลน์”





     ใครที่กำลังขาดกำลังใจหรือว่าท้อจนมองไม่เห็นหนทางออก อยากจะบอกว่าวันนี้ไม่ใช่แค่คุณคนเดียวที่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก ยังมีเพื่อนร่วมทางไปด้วยกัน

     “พี่อยากให้กำลังใจทุกคน งานนี้มันหนักจริงๆ อยากฝากทุกคน ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรก็ตาม อย่ามัวตื่นตกใจ อย่าเสียเวลากับความเสียใจและผิดหวัง ถ้าคิดแบบนั้น คุณจะไม่มีวันเริ่มต้นใหม่ได้ จะต้องมองใหม่ มองคุณค่าในชีวิตเรา เคารพศักยภาพในตนเอง ตั้งหลัก ล้มได้แต่ต้องลุกให้ไว อุปสรรคและปัญหาจะสอนให้เราอดทนและเข้มแข็ง พอเราเข้มแข็ง มีสติ ก็จะเห็นทางออกอยู่ข้างหน้า ค่อยๆ เดินออกไปแล้วเราจะเจอแสงสว่าง”

     โดยปุ๊กปิดท้ายว่าหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนสอนดนตรีหรือธุรกิจเบเกอร์รี่ออนไลน์นั่นคือการทุ่มเทและใช้หัวใจในการทำ

     “ไม่ว่าเราจะทำงานอะไร ก็ต้องใช้หัวใจ เราใส่หัวใจให้เต็ม 100 คิดล่วงหน้าเสมอ วางแผนเป็นขั้นเป็นตอน การหาความรู้สำคัญที่สุดเพื่อพัฒนาธุรกิจ ต่อยอดให้เติบโตและยั่งยืน”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup