ออร์แกไนซ์สาวฮึดสู้โควิด! ปั้นแบรนด์เสื้อผ้าเด็กจนกลายเป็นธุรกิจต่อลมหายใจ
Text : Ratchanee P.
ความหนักหนาของโควิด-19 ทำให้หลายคนต้องพักธุรกิจเดิม แล้วมองหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อประคับประคองให้อยู่รอด รวมถึง นันทพร เกตุพงศ์สุดา สาวออร์แกไนซ์งานแต่งงาน ที่หันมาเอาดีกับการทำเสื้อผ้าเด็กแบรนด์ Kindergarden
หากคิดจะซื้อเสื้อผ้าให้ลูกน้อยสวมใส่อะไรคือสิ่งที่คุณนึกถึง?
สำหรับแบรนด์น้องใหม่ที่แจ้งเกิดในช่วงโควิด-19 อย่าง Kindergarden แล้ว ไม่ใช่แค่ดีไซน์สวย เนื้อผ้าดีมีคุณภาพเหมาะกับเด็กน้อยเท่านั้น หากแต่เกิดจากการทำด้วยหัวใจ แม้จะฟังดูเป็นนามธรรมแต่นั่นเป็นเพราะนันทพรคิดและทำเหมือนกับที่เธอทำให้ลูกสวมใส่
การมีลูกน้อยทำให้นันทพรต้องหาสิ่งที่ดีให้กับลูก และทำให้เห็นโอกาสในตลาดคุณแม่ที่แม้เศรษฐกิจจะแย่เพียงใด แต่เรื่องของลูกก็ยังต้องมาเป็นหนึ่งเสมอ สินค้าในตลาดนี้จึงยังคงเติบโต เมื่อประกอบกับไม่มีงานแต่งงานให้ทำ จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจทำให้นันทพรตัดสินใจลองสร้างแบรนด์เสื้อผ้าเด็ก เพื่อหวังเป็นทางรอดในช่วงที่งานออแกไนซ์หดหาย
“เป็นออร์แกไนซ์เซอร์งานแต่งงาน พอจนถึงมาปีนี้หนักเลย งานจัดไม่ได้ตั้งแต่ปลายปีเรื่อยมาซึ่งเป็นช่วงไฮซีซันก็เริ่มเดือดร้อนแล้ว เพราะมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 5 แสนบาท เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเงินเก็บจะหมดแล้ว เรามีลูกก็ชอบซื้อเสื้อผ้าให้ลูก เห็นแบรนด์เสื้อผ้าเด็กรายหนึ่งขายดีมากๆ ตัวเราเองก็ยังอยากได้ชุดเสื้อผ้านี้มาให้ลูกเราใส่ ซึ่งก่อนหน้านี้เริ่มรู้จักแบรนด์นี้ ก็ยังไม่ได้ขายดีขนาดนี้ การที่เขาขายดีมากในขณะที่เศรษฐกิจไม่ดี มีการรีเซลกดซื้อเพื่อไปขายต่อ ฉะนั้นมันไม่ใช่แค่เสื้อผ้าเด็กแต่เป็นสินค้าหนึ่งที่มีคนต้องการมีการเก็งกำไร”
นันทพร นำเงินก้อนสุดท้ายมาซื้อผ้า หาโรงงานที่รับตัดเย็บจำนวนน้อยหรือร้านเย็บผ้า ออกแบบ เลือกวัตถุดิบ ตัดเย็บ ทดลองให้ลูกตัวเองสวมใส่จนถูกใจ จึงทำออกมาขาย
“หัวใจของคนเป็นแม่ทำให้ลูกเลยอยากเลือกวัตถุดิบที่เราคิดว่าดีเหมาะกับเด็กในวัยต่างๆ ถ้าเราทำอะไรแล้วเราต้องลองคิดว่าถ้าเราเป็นลูกค้าเราจะซื้อมันไหม ทำเสื้อผ้าเด็กก็ให้ลูกเรานี่แหละเป็นคนใส่ในชีวิตประจำวันเพื่อดูว่ามันดีหรือเปล่า เวลาเด็กเขาวิ่งเสื้อผ้ามันจะเป็นพันธนาการมากกว่าเป็นเครื่องนุ่งห่มร่างกายหรือเปล่าอะไรแบบนี้จนได้แบบที่เราพอใจจึงทำมาออกขาย แล้วที่สำคัญคือเรื่องของดีไซน์ เรามีดีไซเนอร์ที่จบสถาปัตย์มาเพราะฉะนั้นทุกคนมีโนฮาวอยู่ในตัวอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องปรับ mindset จากดีไซเนอร์งานออแกไนซ์ให้มาออกแบบเสื้อผ้าเด็กตามคอนเซ็ปต์ที่ต้องการ”
ความใส่ใจในสินค้านี่เองทำให้ผลตอบรับออกมาเกินความคาดหมาย เมื่อ Kindergarden คอลเลกชันแรกจำนวน 300 ตัวขายหมดภายใน 5 นาที อีกทั้งยังมีลูกค้าซื้อเป็นพรีออเดอร์กลับมาอีก 500 ตัว ทำให้นันทพรมั่นใจที่จะก้าวต่อไป
“จริงๆ เราไม่ได้มีแผนการตลาดเลย แต่มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากทำให้เราขายได้ นั่นคือกลุ่มแม่ๆ ซึ่งเดี๋ยวนี้คุณแม่ที่เพิ่งคลอดลูกจะมีไลน์กรุ๊ปมารวมตัวกัน ตอนทำออแกไนซ์เรารู้จักลูกค้าที่เคยช่วยจัดงานแต่งให้ เขากำลังมีลูกเหมือน ก็มาดึงเราเข้าไปอยู่ในกรุ๊ป แม่กลุ่มนี้ที่คุยกันจนกลายเป็นเพื่อนเขาช่วยโปรโมทในกรุ๊ปแม่ๆ ที่ 1 แล้วไปบอกต่อในกรุ๊ป ที่ 2 เรื่อยๆ เรียกว่าเป็นการบอกต่อแบบปากต่อปากบนกรุ๊ปในโซเชียล เลยทำให้แบรนด์ Kindergarden เป็นที่รู้จักแล้ว แล้วก็ขายหมดในเวลาอันรวดเร็ว”
แต่ที่แน่ๆ ความสำเร็จนี้ นอกจากจะวัดจากจำนวนยอดขายแล้ว ยังทำให้มีเจ้าของลิขสิทธิ์การ์ตูนญี่ปุ่นในไทย เข้ามาติดต่อเพื่อร่วมมือกันทำเสื้อผ้าเด็ก ซึ่งนันทพรวางแผนขยับตลาดโดยการเพิ่มจำนวนการผลิตมากขึ้น โดยเธอตั้งใจจะออกชุดเด็กคอลเลคชันที่ 3 จำนวน 1,500 ตัว และคอลเลกชันที่ 4 ซึ่งเป็นคอลเลกชันอาร์ตูนลิขสิทธิ์ญี่ปุ่น 2,500 ตัว
“ยอดเงินมันไม่ได้มากเหมือนตอนทำออแกไนซ์ แต่อย่างน้อยต่อลมหายใจคือให้เรามีเงินจ่ายลูกน้อง มีเงินจ่ายดอกเบี้ยพอจะต่อชีวิตได้ไปอีก” นันทพรกล่าวในท้ายที่สุด
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup