Starting a Business

เมื่อนายธนาคารทำมีดเป็นอาชีพเสริม! รับออเดอร์น้อยแต่รายได้งาม เพราะอะไร?

    สำหรับใครหลายคน มีดเป็นแค่ของใช้ในครัวที่มีไว้สำหรับหั่นสับอาหาร อาจจะมีคนบางกลุ่มที่ชมชอบของมีคมประเภทนี้จนสะสมเป็นงานอดิเรก แต่สำหรับคูมาร์ มูธูซามี หนุ่มทำงานธนาคารวัย 45 ปีชาวมาเลเซีย เขาหลงใหลในมีดจนถึงขั้นศึกษาและลงมือทำมีดด้วยตัวเอง จากงานอดิเรกนำไปสู่อาชีพเสริม มีดที่เขาผลิตภายใต้แบรนด์ “Vicious Tools” ทำเงินให้นอกเหนือจากรายได้ประจำ 




     “ก็เหมือนกับผู้หญิงทั่วไปที่สะสมกระเป๋าหรือรองเท้า ผู้ชายเองมีของชอบเป็นมีดก็มี“ คูมาร์เล่าว่าตั้งแต่ยังเด็ก เขาไม่เหมือนเด็กผู้ชายคนอื่นที่ชอบไปเตะฟุตบอลหรือเล่นกีฬาอื่น ๆ งานอดิเรกที่เขาชอบจะเกี่ยวกับมีดและเขาเริ่มสะสมมีดตั้งแต่ได้ครอบครองมีดเล่มแรกตอนเข้าค่ายลูกเสือ 


     ครั้นเวลาผ่านไปจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ความรักในการสะสมมีดไม่เคยจางหายแต่กลับทวีขึ้นจนคิดทำมีดใช้เอง กระทั่งเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ภรรยาของเขาคลอดลูกคนแรก เขาอยู่บ้านมากขึ้นเพื่อดูแลครอบครัวจึงเริ่มจริงจังกับการทำมีด หลังเลิกจากงานประจำวัน เขาจะกลับมาบ้าน ขลุกอยู่ในห้องทำงานฝีมือเพื่อทำมีด 




     คูมาร์เรียนรู้การทำมีดด้วยตัวเองจากการอ่านหนังสือ ดูยูทูป ศึกษาเทคนิคต่าง ๆ รวมถึงการทำมีดแบบญี่ปุ่นเนื่องจากหลายคนเชื่อว่ามีดญี่ปุ่นมีคุณภาพดีสุดในโลก เมื่อมั่นใจในองค์ความรู้ เขาก็ลงทุนซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อการนี้โดยเฉพาะ “ผมสร้างห้องทำงานและซื้ออุปกรณ์รวมแล้วประมาณ 300,000 ริงกิตได้ และได้ทำมีดไปประมาณ 500 เล่มแล้ว” 


     คูมาร์อธิบายอีกว่าความแตกต่างระหว่างมีดทั่วไปกับมีดที่ผลิตแบบงานคราฟท์หรือทำตามสั่งอยู่ที่กระบวนการอบชุบแข็งเหล็ก (heat treatment) คือการใช้ความร้อนเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างและคุณสมบัติของเหล็กด้วยจุดประสงค์ เช่น ทำให้เหล็กอ่อนตัว-สามารถขึ้นรูปได้ง่าย เพิ่มความแข็ง-ทำให้ทนการเสียดสี เพิ่มความเหนียว-ช่วยให้ทนทานแรงกระแทกและบิดตัว 


    หากเป็นมีดจากโรงงานอาจมีการลดขั้นตอนเพื่อย่นเวลาและลดต้นทุนในการผลิต แต่ถ้าเป็นมีดผลิตเอง กระบวนการนี้จะมีความพิถีพิถัน ใช้เวลามากกว่า คุณภาพที่ออกมาจึงดีกว่า ไหน ๆ ก็ลงทุนเรื่องอุปกรณ์แบบจัดเต็มไปแล้ว คูมาร์จึงเปิดธุรกิจรับทำมีดตามสั่ง โดยใช้ชื่อแบรนด์ Vicious Tools ฝีมือของช่างทำมีดมือสมัครเล่นคนนี้เป็นที่ประจักษ์จนทำให้เขามีลูกค้ามากมายจากหลายประเทศ ทั้งในมาเลเซีย ยุโรป สหรัฐฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแอฟริกาใต้  




     ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นเชฟเนื่องจากมีดของเขาใช้เหล็กคุณภาพดีที่มีความแข็งในระดับที่เชฟต้องการ ทำให้ไม่ต้องลับบ่อย ส่วนด้ามมีดก็ใช้วัสดุชั้นดีทำให้กระชับมือไม่ลื่นแม้โดนน้ำหรือน้ำมัน มีดสำหรับเชฟที่คูมาร์รับทำจึงมีราคาสูงคือเริ่มต้นที่เล่มละ 1,000 ริงกิตหรือราว 8,000 บาท 


     นอกจากมีดเชฟแล้ว คูมาร์ยังทำมีดอื่น ๆ ด้วย หากเป็นมีดพกหรือมีดขนาดเล็ก เขาจะใช้เครื่องกลึง CNC (Computer Numerical Control) เข้าช่วย เครื่องดังกล่าวเป็นเครื่องจักรกลที่ทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เหมาะสำหรับงานกลึงที่ต้องการความละเอียดหรือมีความซับซ้อนสูง


     สำหรับขั้นตอนการรับงาน เมื่อลูกค้าติดต่อมาว่าต้องการมีด จะมีการคุยกันถึงชนิดของมีดและการใช้งาน หลังจากนั้น คูมาร์จะเป็นคนออกแบบโดยคำนึงถึงความเหมาะสมเมื่อมีดอยู่ในมือลูกค้า ก่อนหน้านั้น เขาร่างแบบลงบนกระดาษก่อน ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ในการออกแบบ ทำให้ปรับแบบได้ง่ายขึ้น มีดที่เขาภูมิใจสุดเห็นจะเป็นมีดพับที่มีใบมีดคล้ายดาบซามูไรย่อส่วน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ค่อยผลิตกัน 


     คูมาร์กล่าวว่าเขายังสนุกกับงานประจำที่ธนาคาร ส่วนอาชีพเสริมในการเป็นช่างทำมีดนั้น เขาจะใช้เวลาแค่ช่วงสุดสัปดาห์หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์เท่านั้น คิวลูกค้าจึงค่อนข้างยาวเนื่องจากเขารับออร์เดอร์เดือนละไม่เกิน 4 คำสั่งซื้อ เป้าหมายของคูมาร์คือการสร้างแบรนด์แบบค่อยเป็นค่อยไปและไม่กดดันตัวเอง 


     ช่วงที่ผ่านมา เขาก็มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับบริษัทอื่น เช่น Outdoor Gears Malaysia และ The Polished Edge ซึ่งเป็นแบรนด์จำหน่ายอุปกรณ์เดินป่า และหากมีโอกาส เขาก็อยากร่วมงานกับ Snecx Tan หนึ่งในแบรนด์มีดพับที่ดีที่สุด ต่อคำถามที่ว่ามีโอกาสจะถอดสูท แล้วมาใส่เอี๊ยมเพื่อทำธุรกิจมีดเต็มตัวหรือไม่ คูมาร์กล่าวว่าอาจเป็น 5 หรือ 10 ปีข้างหน้าที่เขาจะอิ่มตัวจนยอมทิ้งงานประจำเพื่อเป็นช่างทำมีดเต็มเวลา
 


ที่มา
www.thestar.com.my/metro/focus/2018/09/14/making-the-cut-in-smithing




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup