Starting a Business

คุยกับเชอรี่-เข็มอัปสร พลิกบทดาราสู่ผู้ก่อตั้งแบรนด์สิริไท ธุรกิจที่มีมากกว่าผลกำไร

_______________________________________________________


“ถ้าได้ทำงานที่เรารักแล้วเราจะมีแต่ความสุข”

_______________________________________________________


     คำพูดนี้พิสูจน์ได้จากแววตาอันตื่นเต้นและรอยยิ้มของ เชอรี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ ที่ฉายชัดตลอดเวลาของการสัมภาษณ์ได้เป็นอย่างดี 


     จากนักแสดงมากความสามารถที่โลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิงมากว่า 20 ปี ในช่วง 5-6 ปีหลัง เชอรี่เริ่มสนใจเข้าไปมีส่วนร่วมกับงานด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และล่าสุดกับบทบาทการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม Social Enterprise ภายใต้แบรนด์สิริไท จำหน่ายข้าวออร์แกนิกและชาข้าวคั่ว


     ในฐานะนักแสดงที่มีชื่อเสียงเธอเลือกที่จะทำธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้โดยแบบง่ายๆ แต่ทำไมเธอถึงเลือกที่จะทำธุรกิจเพื่อสังคม ธุรกิจที่เส้นทางเดินไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หากต้องฝ่าฟันกับปัญหาและอุปสรรค 


     เราพูดคุยกับ เชอรี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ ในฐานะผู้ประกอบการผู้ก่อตั้งแบรนด์สิริไท กับจุดเริ่มต้น ปัญหาอุปสรรค และความหมายของความสุขกับสิ่งที่เธอกำลังทำ



 
 
Q : อะไรคือแรงบันดาลใจ
ที่ทำให้สร้างแบรนด์สิริไท? 


     เริ่มจากการที่เชอรี่ได้มีโอกาสเข้ามาทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว มีสิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้คือ การจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนนั้น ต้องแก้ปัญหาที่ความยากจนของคนและการให้โอกาสคน ตั้งแต่นั้นมาก็สนใจการเกษตรมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของข้าว จนเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วก็เริ่มมีความคิดอยากจะสนับสนุนชาวนาที่ปลูกข้าวที่เอื้อต่อสิ่งแวดล้อม แต่ด้วยสถานการณ์ในตอนนั้นเชอรี่มีภาระทางครอบครัวทำให้ไม่มีเวลาที่จะทำอย่างจริงจัง จนเมื่อภาระทางครอบครัวไม่มีแล้ว บวกกับเมื่อกลางปีที่ผ่านมาสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายดีขึ้น แต่ขณะเดียวกัน เกษตรกรไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะราคาผลิตผลที่ตกต่ำ เลยถือโอกาสลงมือทำเลย ทั้งๆ ที่รู้ว่า ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ง่ายเลย


     ที่ผ่านมาเชอรี่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมจะเป็นลักษณะ Non Profit Project ซึ่งทำให้ได้เห็นข้อดีข้อเสียว่ามีอะไรบ้าง ควรจะแก้ไขหรือเข้าไปอุดรูรั่วตรงไหนได้บ้าง จึงคิดว่าถ้าจะทำเรื่องข้าวที่เชอรี่สนใจจริงๆ ขึ้นมา ก็อยากจะมี Commitment ให้กับตัวเองมากกว่าแค่การเป็น Non Profit Project ซึ่งการมี Commitment สำหรับเชอรี่นั้นเหมือนกับว่าเรามีลูกและจะต้องเลี้ยงดูลูกคนนี้ให้เติบโตให้ได้ หมายความว่าเราจะต้องใช้ความพยายามใช้ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีทั้งหมดใส่ลงมาอย่างเต็มที่ ก็เลยเป็นที่มาของข้าวอินทรีย์แบรนด์สิริไท ที่ทำในลักษณะ Social Enterprise โดยถึงแม้ว่าจะไม่ได้จดทะเบียนเป็น Social Enterprise ด้วยความที่มีความยุ่งยากซับซ้อน แต่โดยการปฏิบัติของเราคือ Social Enterprise เต็มรูปแบบ 
 
 
Q: มีวิธีคัดเลือกข้าวอินทรีย์
ที่จะมาร่วมกับแบรนด์สิริไทอย่างไร?

 
     เชอรี่อยากสนับสนุนชาวนาที่ดูแลสิ่งแวดล้อม จึงเริ่มต้นค้นหาชุมชนที่ทำเรื่องนี้ มีคนแนะนำมาหลายชุมชนหลายจังหวัด แล้วเราก็ได้ชิมข้าวกว่า 20 สายพันธุ์ ชิมจนมาถูกใจข้าวจำนวนหนึ่งที่อร่อยมาก หายากและไม่เคยรับประทานมาก่อน แต่ต้องบอกว่ายังเป็นแค่ข้าวปลอดสารพิษไม่ใช่ข้าวอินทรีย์ซึ่งไม่ตรงกับจุดประสงค์ของเราที่ต้องการสนับสนุนข้าวอินทรีย์ เลยลดจำนวนลงมาเหลือไม่กี่สายพันธุ์ 


     ทีนี้ด้วยความที่เราตั้งใจว่าถ้าจะเลือกทำงานกับชุมชนไหนจะต้องลงไปดูพื้นที่ให้เห็นกับตาตัวเองว่าเขามีการปลูกข้าวอย่างไร มีการเตรียมแปลงนาอย่างไร ดูแลสิ่งแวดล้อมรอบข้างอย่างไร จึงเริ่มต้นไปดูที่บ้านโคกสะอาด จังหวัดสกลนคร ซึ่งต้องบอกว่าการทำงานกับชุมชนสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ ต้องมีความรู้สึกถูกชะตากันด้วย เพราะว่าเราต้องทำงานด้วยกันในระยะยาว

     
     พอเราได้ไปเห็นชุมชนนี้เชอรี่ก็รู้สึกว่าถูกชะตากับคนที่นี่ ได้ไปชมแปลงนาและวิถีการทำนาก็ถูกใจ เพราะมีทั้งการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นถิ่น การอนุรักษ์พันธุ์ข้าวโบราณซึ่งใกล้จะสูญพันธุ์ มากไปกว่านั้นเขาปลูกข้าวโดยการแบ่งพื้นที่แปลงนาตามธรรมชาติของพื้นที่นั้นๆ คือ พื้นที่ที่เป็นที่ลุ่มมากลุ่มน้อยจะมีระดับของน้ำที่แตกต่างกัน เขาก็จะเลือกสายพันธุ์ข้าวมาปลูกที่เหมาะกับน้ำมากน้ำน้อยตามพื้นที่แปลงนานั้น ไม่ได้ฝืนธรรมชาติ ที่สำคัญคือเขาเห็นประโยชน์ของการปลูกป่า สมมติพื้นที่ 100 เปอร์เซ็นต์ เขาจะแบ่งสำหรับทำแปลงนาประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ อีก 80 เปอร์เซ็นต์ทำเป็นพื้นที่ป่าเต็งรังที่จะโอบล้อมผืนนาเอาไว้ เป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์มากๆ 


     อีกอย่างหนึ่งคือ การมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งมาก เวลาที่จะให้เกษตรกรเปลี่ยนมาปลูกข้าวอินทรีย์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความอดทนฝ่าฟันอุปสรรคหลายอย่าง ซึ่งการที่มีผู้นำกลุ่มที่เข้มแข็งจะทำให้เรารู้สึกสบายใจ นอกจากนี้ เขาให้ความสำคัญกับเด็กๆ พาเด็กมาเรียนรู้เรื่องของข้าว การปลูกข้าวแบบวิถีดั้งเดิม เราเห็นอุดมการณ์แบบนี้ก็รู้สึกว่าตอบโจทย์เราทุกอย่าง เลยคิดว่าเริ่มที่บ้านโคกสะอาดก่อน โดยมี 22 ครัวเรือนที่เขาตั้งกลุ่มขึ้นมา โดยใช้วิถีการทำเกษตรนิเวศนี้ ซึ่งเราบอกเขาว่าให้เขาเป็นคนตั้งราคาเองได้เลยว่าอยากจะขายให้เราที่ราคาเท่าไหร่ ที่เหลือเป็นหน้าที่ของเราที่จะไปทำต่อ ซึ่งเราสัมผัสกับรับรู้ได้ถึงความสุขและความภาคภูมิใจที่เขาได้ปลูกข้าวแล้วได้ตั้งราคาข้าวเอง 



 
 
Q : การให้ชาวนาเป็นผู้ตั้งราคาขายเอง
ทำให้การทำตลาดยากขึ้นหรือเปล่า?
 

     ต้องไม่ลืมว่าจุดประสงค์ของแบรนด์สิริไทคืออะไร เราต้องการสนับสนุนชุมชนที่ทำการเกษตรที่เอื้อต่อสิ่งแวดล้อม แล้วต้องการที่จะให้เรื่องราวเหล่านี้ได้ยินไปถึงผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มคนสำคัญที่กำหนดทิศทางของตลาดว่าจะให้ไปทางไหน ซึ่งการที่เราทำหน้าที่บอกเล่าให้คนรับรู้ไม่ใช่แค่ว่าเป็นข้าวที่มีคุณภาพเท่านั้น แต่ยังได้สนับสนุนชุมชน และสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความแข็งแกร่งของแบรนด์  


     แต่ยอมรับว่าเชอรี่ใหม่มากกับการทำ Social Enterprise เราเริ่มต้นจากเล็กๆ และต้องการที่จะเรียนรู้แบบค่อยเป็นค่อยไป เราไม่ได้หวังผลกำไร กำไรค่อนข้างต่ำ เชอรี่ตั้งใจเอาไว้ว่าเงินลงทุนที่ลงไป 1 ล้านบาทในครั้งนี้จะช่วยให้แบรนด์สิริไทสามารถตั้งต้นและเดินต่อไปได้ แค่มีเงินหมุนเวียนกลับมาเชอรี่ก็พอใจแล้วต่อให้ยังไม่ได้ทุนคืนก็ตาม ขณะเดียวกันเราก็เอาเงินที่ได้จากการขายข้าวส่วนหนึ่งมาแบ่งปันสู่สังคมอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะช่วงนี้เรามีการทำอาหารให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ และช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เชอรี่มีความรู้สึกว่าการได้ทำเพื่อสังคมจริงๆ ที่สำคัญคือ มันมีแนวโน้มไปในทิศทางที่บวกขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าสมมติทำไปแล้วเงินหมดหายไปเรื่อยๆ อันนั้นก็อาจจะต้องพิจารณาในการที่จะปรับโครงสร้างต่อไป 



 
 
Q : นอกจากข้าวอินทรีย์
และเรื่องราวของชุมชนบ้านโคกสะอาดแล้ว
ข้าวสิริไทยังมีจุดเด่นอะไรบ้าง? 

 
     เราใส่ใจในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การสีจนส่งถึงมือผู้บริโภค เราต้องการส่งข้าวที่สีสดใหม่เท่านั้น เพราะข้าวที่สีใหม่จะมีความอร่อยแตกต่างจากข้าวทั่วไป รวมถึงการใช้ไนโตรเจนบรรจุในขวดเพื่อทดแทนสารเคมีที่ใช้กันมอด เพื่อรักษาความสดใหม่ก่อนถึงมือผู้บริโภค แพ็กเกจจิ้งของเราจึงระบุวันเดือนปีที่สีข้าว และที่มาของข้าวว่ามาจากแปลงของใคร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับด้วย เราคำนึงถึงเรื่องสารเคมีในทุกขั้นตอนนอกเหนือจากการปลูกที่ไม่มีสารเคมีอยู่แล้ว การเคลื่อนย้ายข้าว การบรรจุ จนถึงมือลูกค้าต้องไม่มีสารเคมีเลย


     ถัดมาเรายังให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์ ถุงพลาสติกบางชนิดรีไซเคิลไม่ได้ บางชนิดปนเปื้อนแล้วเก็บไม่ได้ แต่ถ้าเป็นขวดมันมีราคา เวลาทิ้งไปจะถูกเก็บแล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล หรือที่ดีไปกว่านั้น ก็คือว่าสามารถนำมาใช้ได้อีกหลายครั้ง อันนี้คือจุดประสงค์หลักของเราเลยก็คือเป็นการลดขยะ ฉลากเราก็ใช้กระดาษรีไซเคิล 100 เปอร์เซ็นต์ เราคิดมากไปจนถึงวิธีการแปะฉลากกับขวดเราก็พยายามหาวิธีที่ลอกออกได้ไม่ยากเพื่อให้สามารถนำขวดกลับไปใช้ได้อีก 



 
 
Q : หลังจากที่เปิดตัวแบรนด์สิริไท
ด้วยข้าวอินทรีย์แล้วคุณพอใจแค่ไหน?
 
     ต้องบอกว่าไม่คาดฝันกับฟีดแบ็กในตอนแรก เพราะเราขายดีมากพอสมควร โดยเฉพาะช่วงปีใหม่มีการสั่งซื้อจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำการตลาด ไม่มีเงินซื้อโฆษณา นอกไปจากโซเชียลมีเดียของเชอรี่เองเท่านั้น คือเรารู้แล้วว่าข้าวอินทรีย์สิริไทนั้นอร่อยและดีต่อสุขภาพ เราก็อยากได้รับการตอบรับที่ดี แต่ด้วยเราขายในช่วงสถานการณ์โควิด ก็คิดว่ามันไม่ง่ายเลย  

 
     หลังจากเปิดตัวแบรนด์สิริไทผ่านมา 10 เดือนนี้เชอรี่ถือว่าพอใจมาก เพราะแบรนด์สิริไทเป็นภาพจำของลูกค้าแล้วว่าถ้าคิดถึงสิริไทก็จะนึกถึงข้าวอินทรีย์ที่เป็นของดีต่อสุขภาพ เริ่มมีการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เช่น ลูกค้าเริ่มถามว่าจะสามารถเอาขวดที่บรรจุข้าวอินทรีย์สิริไทเดิมมาบรรจุข้าวใหม่ได้ไหม ซึ่งเชอรี่มองว่าเป็นเรื่องดีที่ลูกค้ามีส่วนร่วมในการที่จะคิดและเติบโตไปกับเรา ที่สำคัญมีชุมชนหลายที่เริ่มติดต่อเข้ามาว่าเราสนใจข้าวเขาไหม ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี 


     หรืออย่างการที่แบรนด์สิริไทได้ร่วมกับแบรนด์ Issue Thailand คือ เขามองเห็นถึงสิ่งที่แบรนด์สิริไททำก็อยากจะมา Collaboration ด้วย เกิดเป็น Siri Issue ขึ้นมา ต่อยอดออกมาเป็น Aromatic hand spray และ Aromatic hand cream ซึ่งปราศจากแอลกอฮอล์และปลอดสารเคมีที่เป็นอันตราย โดย Issue เขาอยากมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงต้องการให้เรามีส่วนในการให้คำแนะนำ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ว้าวมากสำหรับเชอรี่ ที่ทำแล้วมีคนเห็นแล้วให้การสนับสนุนต่อ


 
Q : การทำแบรนด์สิริไทในรูปแบบ Social Enterprise
มีความยากง่ายอย่างไรบ้าง?


 
     การทำ Social Enterprise กำไรจะค่อนข้างต่ำ ดังนั้น ต้องมีความอดทนรอ แล้วต้องบอกตัวเองอยู่เสมอว่าวัตถุประสงค์ในการทำ Social Enterprise ของเราคืออะไร เพราะว่าจะไปหวังจากผลกำไรหรือให้คืนทุนแบบบริษัททั่วไปในทันทีไม่ได้


     การทำ Social Enterprise นั้น การบอกเล่าเรื่องราวเป็นสิ่งสำคัญมากว่าที่มาที่ไปอย่างไร แล้วดีต่อผู้บริโภค ต่อชุมชน ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร ซึ่งตรงนี้เป็นความท้าทายมากในการสื่อสาร โชคดีที่ว่านอกเหนือจากตัวเชอรี่ก็ยังมีคนที่เริ่มมาเป็น Loyal Customer ของเรา ใครจะบอกว่าสิ่งนี้มันตกยุคไปแล้วก็ตาม แต่เชอรี่ยังเชื่อมั่นมากว่าพวกเขาเหล่านั้นยังมีบทบาทสำคัญ การบอกปากต่อปากยังคงใช้ได้ดี จริงๆ ตัวเชอรี่เองไม่ใช่นักขาย การมานั่งขายของมันไม่ใช่เรา ก็อาจจะเป็นความยากอีกอย่างหนึ่งของตัวเชอรี่เอง แต่เชอรี่แสดงให้เห็นถึงความจริงใจในสิ่งที่เราทำ เพราะการทำ Social Enterprise ต้องทำให้เกิดความเชื่อใจเพื่อเขาจะได้สนับสนุนเราด้วย


 
 
Q : คุณเคยรู้สึกกังวลบ้างหรือไม่ว่าจะไม่สำเร็จ?
 

     ไม่กังวลเลย เพราะเชอรี่คิดว่าทุกอย่างอยู่ที่การเรียนรู้ แล้วตัวเชอรี่ใหม่มากกับการทำ Social Enterprise และธุรกิจที่เกี่ยวกับผล ผลิตทางการเกษตร เพราะที่ผ่านมาอาจจะเคยทำธุรกิจแต่เป็นสินค้าที่ไม่เน่าเสีย แต่การทำข้าวที่เกี่ยวกับสุขภาพคนและสิ่งแวดล้อมด้วยเป็นคนละเรื่องกัน มันจะมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เราต้องเรียนรู้ ต้องค่อยๆ ปรับปรุงพัฒนา แต่เชอรี่ไม่รู้สึกกลัวหรือกังวลเลย มีปัญหาก็แก้ไขกันวันต่อวัน แต่ในขณะเดียวกันก็วางแผนไปข้างหน้าด้วยว่าในระยะยาวเราจะทำอย่างไร


     แต่ด้วยความที่สินค้าเป็นสินค้าเกษตรก็จะมีปัญหาเยอะ ที่ผ่านมาเราเคยเจอปัญหาข้าวที่เขาส่งมาให้เราก่อนไปบรรจุมีมอด เราก็ต้องไล่หาเหตุว่ามันมาจากขั้นตอนไหน สีเสร็จแล้วมีความชื้นหรือเปล่า หรือจะเกิดในขั้นตอนที่ใส่ถุงสุญญากาศส่งมาที่นี่ คือเราพยายามที่จะลดขยะในทุกขั้นตอน ดังนั้น การส่งข้าวมาจะบรรจุใส่ถุงสุญญากาศที่เป็นถุงรียูส เราก็ต้องกลับไปดูว่าถุงรั่วหรือเปล่า หรือบางทีจะเกิดขึ้นตอนที่ไปรออยู่โรงงานก่อนบรรจุ เราก็พยายามแก้ปัญหาทุกจุด ทั้งที่จริงแล้วมอดไม่ใช่ปัญหาโดยเฉพาะกับข้าวอินทรีย์ที่ไม่ใช้สารเคมีในการเก็บรักษา แค่เราตากแดดมอดก็จะหายไปแล้ว แต่เราไม่สามารถขายข้าวที่มีมอดกับลูกค้าได้
 
 
Q: ความตั้งใจของคุณสำหรับแบรนด์สิริไทอย่างไรบ้าง?


     เราเริ่มจากเล็กๆ ก็จริงแต่ภาพฝันของเราไปไกลมาก และเรากำลังดำเนินไปตามความฝัน เชอรี่ฝันถึงว่าเราจะมีการแปรรูปข้าวสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีก 3 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงการพัฒนา อีกอย่างหนึ่งคือเชอรี่มีความตั้งใจที่จะส่งออกข้าวอินทรีย์


     แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังอยากที่จะขายข้าวออร์แกนิกให้กับคนไทยก่อน ข้าวออร์แกนิกมีราคาสูงกว่าข้าวทั่วไป ในเมืองไทยก็เป็นตลาดกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่ใหญ่มาก ซึ่งทำให้คนที่ปลูกข้าวออร์แกนิกรายใหญ่ๆ ในเมืองไทยจะเน้นส่งออกมากกว่าเพราะตลาดต่างประเทศใหญ่มาก แต่เชอรี่อยากให้คนไทยได้มีโอกาสรับประทานข้าวที่ดี ในราคาที่จับต้องได้


     นอกจากนี้ ก็อยากจะขยายไปในหลายๆ ชุมชน เพื่อสนับสนุนเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม ตอนนี้กำลังวางแผนที่จะขยายไปอีก 1 ชุมชน ถ้าหากว่าผลิตภัณฑ์ที่กำลังอยู่ในกระบวนการพัฒนานี้สำเร็จเรียบร้อย นี่คือฝันของเชอรี่ ซึ่งการที่ฝันใหญ่ตั้งแต่แรกก็เพราะว่าเชอรี่คิดว่าถ้าเราแค่รับข้าวมาขายก็ช่วยได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าเรารับซื้อในจำนวนเยอะๆ ที่สามารถเอาไปแปรรูปหรือต่อยอดเป็นอะไรได้ต่อไป ก็จะยิ่งช่วยเกษตรกรได้กว้างขึ้น 
 
 
Q : หลังจากทำแบรนด์สิริไทมา
คุณได้หลักคิดอะไรบ้าง? 


     อะไรที่ไม่จำเป็นก็ไม่ควรลงทุนทำ อย่าขี่ช้างจับตั๊กแตน เพราะว่าโดยนิสัยเชอรี่เป็นคนชอบคิดว่าถ้าจะทำต้องลงทุน ต้องซื้อเครื่องจักรหรืออุปกรณ์มาทำ ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะมีวิธีอื่นอีกมากมายที่เรายังไม่ต้องลงทุนขนาดนั้น หรือมีช่องทางที่เราจะลองทำดูได้ ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะมีสักกี่คนที่เล่นใหญ่แล้วประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว แต่เชื่อว่าเขาคงไม่ได้มากับดวงอย่างเดียว ต้องมากับความรู้ในทุกมิติ มากับประสบการณ์ มากับเงินทุน ซึ่งสำหรับคนที่ไม่ได้มีความชำนาญในสนามนั้นอย่างเชอรี่คิดว่าค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ ใช้เวลาก็จะเป็นการลดความเสี่ยงให้กับตัวเองได้ในระดับหนึ่ง 



 
Q : คุณมีคำแนะนำอะไรให้กับ
คนที่คิดอยากจะทำ Social Enterprise
แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรบ้างไหม?


 
     เชอรี่เชื่อว่าคนที่ทำ Social Enterprise เริ่มจากการที่อยากจะแก้ปัญหาอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม หรือปัญหาในกลุ่มเปราะบาง ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องดีถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เราอินกับมันจริงๆ แล้วพร้อมที่จะร่วมหัวจมท้ายไปกับมัน เพราะต้องบอกว่าการทำ Social Enterprise นั้นไม่ง่ายเลย ไม่ได้สวยหรูที่พอทำแล้วจะ Rocket to the Moon เลย ฉะนั้นนอกจากความสนใจแล้ว ต้องมีความรัก ความทุ่มเท และความอดทนที่จะรอได้ เชอรี่เข้าใจว่าคนที่ทำธุรกิจจะมองเรื่องเงินเป็นปัจจัยใหญ่ว่าทำอย่างไรถึงจะมีรายได้มีกำไรมากๆ แต่ Social Enterprise ไม่ใช่ ดังนั้น ความอดทนจึงสำคัญมาก นอกจากนี้ ก็ต้องแน่ใจว่าสิ่งที่ทำนั้นมีความต้องการ เพราะถ้าตั้งใจดีอยากจะช่วยเหลือแก้ปัญหา แต่สินค้าหรือสิ่งที่ทำออกมาไม่มีความต้องการในตลาด ก็จะไม่สามารถช่วยใครได้ แม้กระทั่งช่วยเหลือตัวเอง 


     ต้องไม่มองว่าการทำ Social Enterprise เป็น Marketing Plan หนึ่ง เพราะการทำ Social Enterprise เมื่อเริ่มมีคนให้ความสนใจ อาจจะมีคนให้ความสนับสนุน แต่ถ้าเกิดว่าไม่สามารถไปได้ด้วยตัวของมันเอง การสนับสนุนจากคนอื่นหรือการช่วยเหลือจากคนอื่นก็จะไม่มีประโยชน์ ดังนั้น คุณภาพของสินค้าจึงสำคัญมากๆ 


     สิ่งสำคัญที่สุดในการทำ Social Enterprise คือ ความจริงใจที่จะช่วยชุมชน มีความปรารถนาดีกับกลุ่มลูกค้าจริงๆ และมองไปถึงภาพใหญ่ว่าการทำสิ่งนั้นจะแก้ปัญหาอื่นๆ ได้ ซึ่งเชอรี่ว่าเราสามารถเห็นผลลัพธ์ได้ถึงแม้ไม่ได้ทำการโฆษณาก็ตาม แต่ยังเชื่อในเรื่องของพลังงานมนุษย์ ซึ่งไม่ใช่แค่คำพูดหรือสิ่งที่เห็น แต่สัมผัสได้ด้วยใจ ไม่รู้ว่ามองโลกในแง่ดีหรือเปล่า แต่ก็ต้องลองดูว่าแล้วปีหน้าซึ่งเป็นปีที่ 2 ของสิริไทจะเป็นอย่างไร  



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup