Starting a Business

จากช่างภาพสู่เจ้าของสวนดอกไม้กินได้ ‘Papin-garden’ ธุรกิจเสกความกุ๊กกิ๊กสู่เมนูอาหาร

   ความน่ารักของดอกไม้นั้นเป็นที่ประจักษ์ให้เราได้เห็นชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา สีสันที่สดใสจนถึงกลิ่นหอมอ่อนๆ และตอนนี้ดอกไม้ไม่ได้เป็นเพียงพืชพันธุ์ที่เราปลูกกันไว้ในสวนเท่านั้น แต่ปัจจุบันดอกไม้นั้นเข้ามาอยู่ในจานอาหารกันมากขึ้น นี่คือดอกไม้กินได้หรือที่เรียกว่า Edible flowers ที่ช่วยเพิ่มมูลให้เมนูอาหาร ขนมและเครื่องดื่ม หนึ่งในสวนที่ปลูกดอกไม้กินได้ เป็นสวนของคนรุ่นใหม่ที่ผันตัวจากอาชีพช่างภาพมาปลูกดอกไม้ เพราะมองเห็นโอกาสของธุรกิจนี้ 




     Papin-garden หรือว่าสวนของป้าผิน นั้นตั้งอยู่ในย่านจรัญฯ โดย พัช - ภิญญา​พัช​ญ​์​ ปรีดา​บุญ​ ที่คลุกคลีอยู่ในวงการอาหาร เนื่องจากเธอเป็นช่างภาพถ่ายอาหารโดยเฉพาะ ทำให้เธอมองเห็นว่าดอกไม้กินได้กำลังเติบโต มีร้านอาหารรวมถึง Food Stylist ที่ต้องการดอกไม้กินได้อีกมากมาย ทำให้เธอเริ่มต้นปลูกดอกไม้กินได้ขึ้นเมื่อปีที่แล้ว


     “อาชีพหลักเราเป็นช่างภาพอาหาร ส่วนใหญ่จะถ่ายอาหารอยู่แล้ว เพื่อนในทีม Food Stylist ก็คุยกันว่าแบบโอกาสของธุรกิจดอกไม้กินได้ ยังไม่ค่อยมีคนทำ เวลาที่จะต้องถ่ายงานก็จะต้องวิ่งไปซื้อที มันลำบาก ทีนี้เราเพิ่งย้ายสตูดิโอมาอยู่แถวจรัญฯ เลยมีที่ก็เริ่มทำสวนดอกไม้กัน พัชเป็นคนชอบต้นไม้อยู่แล้ว เราเคยฝันอยากเป็นนักพฤกษศาสตร์”





     แต่สิ่งที่เคยฝันกับความเป็นจริงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในช่วงเริ่มต้นก็มีความยากของการปลูกดอกไม้กินได้และปัญหาต่างๆ ก็คลี่คลายด้วยการลงมือทำและค้นหาข้อมูล 


     “ก่อนหน้านี้เราชอบปลูก แต่ไม่เคยทำสวนจริงจังขนาดนี้ เราเจอปัญหาเยอะมาก จากที่เคยปลูกในกระถางเฉยๆ พอเราต้องปลูกเพื่อจะเอาดอก การดูแลก็ยากขึ้น เราต้องหาความรู้เพิ่มเติม ลองผิดลองถูกว่าเกิดอะไรกับต้นไม้ ทำไมถึงเกิดขึ้น ดอกไม้แต่ละชนิดมีการดูแลรักษาอย่างไร เราค่อยๆ ทำมาเรื่อยๆ จนมันอยู่ตัว จากที่เริ่มปลูกตอนแรก ประมาณ 3-4 เดือนก็เริ่มขายได้ แต่ขึ้นอยู่กับบางต้น บางต้นเป็นปีกว่าที่จะออกดอก”





     ภายในสวนดอกไม้ของพัช เต็มไปด้วยดอกไม้กินได้มากกว่า 30 ชนิดที่มีสีสันสดใส โดยเธอเลือกดอกไม้มาปลูกจากความต้องการของกลุ่มลูกค้าเพื่อให้ตอบโจทย์พวกเขามากที่สุด 


     “พัชจะลองศึกษาดูทั้งหาอ่าน ทั้งถามเชฟว่าส่วนใหญ่ใช้ดอกไม้อะไรตกแต่งจานบ้างหรือว่าเขาอยากได้ดอกไม้อะไร ก็จะมีคนมาแนะนำว่าปลูกดอกไม้นี้สิ ในครัวใช้บ่อย ส่วนใหญ่ในสวนเราก็จะมีทั้งไม้ไทยและไม้นอก อย่างถ้าคนที่ทำเบเกอร์รี่ก็จะใช้พวกดอกผีเสื้อหรือดอกหน้าแมว จะไม่ค่อยมีรสชาติ อย่างในร้านโอ้กะจู๋ก็ใส่ลงไปในจานสลัด ส่วนดอกผีเสื้อ จะสีสวยแล้วก็ไม่ค่อยมีกลิ่น ไม่มีรสชาติ พัชเป็นคนชอบสีเยอะๆ เลยอยากปลูกดอกไม้ที่แตกต่างกันจะได้สีสวยๆ เราจะศึกษาว่าแต่ละชนิดเป็นยังไง มีพิษหรือเปล่า ต้องชิมดูก่อน”




     สำหรับดอกไม้กินได้ของพัช จะมีให้ลูกค้าเลือก 2 ขนาดคือไซส์เล็ก ราคา 150 บาท กับไซส์ใหญ่ 200 บาท ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกโทนสีได้ตามความต้องการในการใช้งาน แต่ไม่สามารถเจาะจงดอกไม้พันธุ์ที่ต้องการได้ 


     นอกจากนี้พัชยังเสริมต่อไปว่าโอกาสของตลาดดอกไม้กินได้ยังมีความสดใสและไปได้อีกไกล เพราะยังมีผู้เช่นในตลาดค่อนข้างนอก ทั้งยังมีธุรกิจร้านอาหาร ร้านกาแฟ คาเฟ่ที่เกิดขึ้นใหม่เยอะตามไปด้วย ซึ่งแต่ละร้านก็ต้องการสร้างคาแรคเตอร์ที่ชัดเจน โดยดอกไม้คือหนึ่งในตัวช่วยในการเพิ่มมูลค่าให้เมนูอาหาร




     “พัชมองว่าธุรกิจนี้ยังโตได้อีก เพราะช่วงก่อนโควิดคาเฟ่เปิดใหม่เยอะมาก ร้านไหนถ่ายรูปสวยคนจะแห่ไป และดอกไม้มันมีสีสัน ช่วยดึงดูดในตัวเองอยู่แล้ว ยิ่งไปอยู่บนอาหาร บนขนมก็เสริมทำให้ทุกอย่างดูดีขึ้น พัชเคยทำโปรเจกต์กับเพื่อนที่เป็น Foos Stylist เอาพวก Street Food มาถ่ายรูปแล้วใส่ดอกไม้ลงไป มันสวยขึ้น แค่ Street Food ธรรมดาก็ดูเป็น Fine dining ได้ ดอกไม้ช่วยเพิ่มมูลค่าให้อาหารอยู่แล้ว ยิ่งยุคที่โซเชียลเร็วมาก ภาพลักษณ์ของร้านก็ต้องชัดขึ้น ดอกไม้จะช่วยเสริมตรงนั้นได้” เธอกล่าวปิดท้าย 
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup