Starting a Business

Case Bitter Sweet แบรนด์สุดกวน ที่ชวนให้ลูกค้ายิ้มจนต้องควักกระเป๋า

     Case Bitter Sweet เป็นผลงานสร้างสรรค์ของ ปัน-โสภิดา แซ่เฮ้ง ที่เธอหยิบจับสิ่งที่อยู่รอบตัวมาสร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเอง จนเกิดเป็นตัวการ์ตูนที่มีคาแร็กเตอร์แปลกๆ ตลกติดไปทางกวนๆ ออกมาบนสินค้ามากมาย เช่น เคสมือถือ กระเป๋า บางลวดลายก็มีความหยาบคายและความกวน จึงได้แทนคำว่า Bitter ส่วนความขมผสมผสานกับสไตล์การวาดรูปที่มีความน่ารักและมีสีสันสดใส ก็จะตรงกับคำว่า Sweet


     ดังนั้น Bitter Sweet จึงเป็นชื่อแบรนด์ที่สะท้อนความเป็นตัวตนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะคาแร็กเตอร์สุดกวนอย่าง Funny Face ที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ไปแล้ว 





     การลุกขึ้นมาทำ Case Bitter Sweet เป็นการต่อยอดมาจากงานรายได้เสริมตั้งแต่สมัยเรียนที่เธอรับวาดรูปไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเรียนจบแล้วก็ยังทำงานที่รักตรงนี้อยู่ โดยก่อนหน้าที่จะเริ่มสร้างแบรนด์อย่างจริงจังเธอตั้งคำถามกับตัวเองไว้ว่า “การรับวาดรูปแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ มันจะดีจริงหรือเปล่า?” เพราะการวาดงานต่อหนึ่งชิ้นนั้นแลกมาด้วยความเหนื่อยและเวลา เธอจึงเริ่มมองหาสินค้ารูปแบบอื่นที่สามารถนำรูปวาดของตัวเองไปอยู่บนนั้นได้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้ โดยสินค้าตัวแรกที่ได้ลงมือทำก็คือเคสมือถือ เริ่มจากการลองทำ ถ่ายรูปลง ทำขายชิ้นต่อชิ้นเพื่อให้มีชิ้นเดียวในโลก จนตัดสินใจออกแบบคอลเลกชันที่ใครหลายคนก็สามารถใช้งานได้ 



     “จะเห็นได้ว่าลวดลายบนสินค้านั้นมีความหยาบๆ กวนๆ ปนไปกับสีสันที่หวานและลายเส้นที่น่ารัก อย่างเคสมือถือลายชูนิ้วกลางที่เป็นเคสลายแรกที่เราทำขาย แม้ว่าจะดูหยาบคายแต่เราก็ตัดด้วยการวาดตัวการ์ตูนน่ารักๆ ครอบอยู่บนนิ้วกลางอีกที เพื่อที่จะทำให้เคสลายนิ้วกลางอันนี้ดูไม่หยาบคายจนเกินไป ให้มันดูดรอปดูซอฟต์ลงมาและดูมีลูกเล่นด้วย ซึ่งตรงตามคอนเซปต์กับชื่อแบรนด์ที่มองแล้วให้ความรู้สึกถึงความขมปนหวาน”





     ด้วยความน่ารักที่มาพร้อมความแปลกของรูปวาดใบหน้าคนบนหลังเคสที่มีชื่อว่า Funny Face จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ และทำให้ประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งในแง่ของการดึงดูดความสนใจและยอดขาย ดังนั้น เธอจึงได้ออกผลิตภัณฑ์อื่นๆ ตามมามากมาย ซึ่งนับว่าเป็นก้าวแรกที่ได้ลองทำหลายอย่างนอกเหนือจากเคสมือถือ เช่น กริ๊ปต๊อก สติกเกอร์ มาสกิ้งเทป พวงกุญแจ โปสต์การ์ด กระเป๋า หมอน และหน้ากากผ้า  


     เมื่อพูดถึงปัญหาที่พบเจอมาสำหรับนักวาดคงหนีไม่พ้นการถูกก๊อบปี้ผลงาน โสภิดาบอกว่าผลงานของเธอถูกประเทศจีนก๊อบไปตั้งแต่เริ่มสร้างแบรนด์เลยทีเดียว แล้วสินค้าที่ก๊อบปี้เหล่านั้นก็ถูกคนไทยรับมาขายต่อในราคาที่ถูกกว่าอีกทีหนึ่ง นับว่าเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก เธอจึงเลือกที่จะเขียนเล่าเรื่องราวลงบนโซเชียลเพื่อให้คนอื่นหรือลูกค้าของแบรนด์ได้รับรู้ ซึ่งกลายเป็นว่าลูกค้าเองก็ช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับแบรนด์ด้วยเหมือนกัน และหลังจากนั้นทางแบรนด์ก็ได้รับการสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น เพราะอย่างไรก็ตาม ลูกค้าย่อมเลือกที่จะสนับสนุนผลงานจากเจ้าของผลงานจริงๆ มากกว่า





     การปรับตัวเป็นสิ่งที่แบรนด์ต้องทำอยู่เสมอ วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทำให้ยอดขายลดลง โสภิดาจึงลองหันมาเน้นการขายออนไลน์มากขึ้น พร้อมๆ กับการเปิดคอร์สเรียนวาดรูปและทำบรัชขายสำหรับวาดรูปบนแพลตฟอร์ม ซึ่งนอกจากได้รายได้เพิ่มแล้วมันยังช่วยให้คนอื่นหารายได้ได้ด้วย ยกตัวอย่างการทำบรัชขาย บรัชนี้จะช่วยทำให้พวกเขาวาดรูปง่ายขึ้นและสามารถหารายได้จากการใช้งานบรัช ส่วนคอร์สสอนวาดรูปก็เช่นเดียวกันคนที่มาเรียน บางคนก็จะนำไปต่อยอดเพื่อหารายได้จากการวาดรูป


     “เรามองว่าตลาดตรงนี้มันยังคงไปต่อได้เรื่อยๆ ซึ่งในวันนี้เติบโตมากกว่าเมื่อก่อน มีศิลปินหน้าใหม่หลายคนเดินเข้ามาในวงการ มันทำให้ตลาดนี้มีสีสันมากขึ้น และตัวของผลิตภัณฑ์อย่างสติกเกอร์ พวงกุญแจ โปสต์การ์ด ต้นทุนการผลิตไม่ได้แพงมากยังคงอยู่ในราคาที่จับต้องได้ง่าย การคิดเยอะก่อนเริ่มทำนั้นเป็นสิ่งที่ควร แต่ถ้าคิดเยอะเกินไปหรือคิดดักทุกอย่างไปก่อนที่จะได้ทำมันจะทำให้เราไม่กล้าลงมือทำจริงๆ สักที การลงมือทำเลยแล้วแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองเลยนับว่าเป็นการเรียนรู้ เผื่อในวันข้างหน้าเราเจอปัญหาแบบเดิมอีกจะได้แก้ไขได้เพราะเราเคยผ่านมาได้แล้ว” โสภิดากล่าวแนะนำทิ้งท้ายถึงนักวาดที่อยากเริ่มต้นทำแบรนด์ของตัวเอง



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup