Starting a Business
หนุ่มมาเลย์ตกงานแต่รอดได้ด้วยธุรกิจข้าวกล่องกะเพราไข่ดาวแบบไทย
Text : Vim Viva
ด้วยตรรกะที่ว่าไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ผู้คนก็ยังต้องกินเพื่อให้ดำรงชีพต่อไปได้ แนวคิดเช่นนี้เองที่ทำให้หลายคนเมื่อนึกไม่ออกว่าอยากทำธุรกิจจึงมักลงเอยด้วยการขายอาหาร วิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา แรงงานจำนวนมากถูกผลักดันออกจากระบบ เมื่อไม่มีงานประจำทำ พวกเขาเลือกจะขายของกิน สำหรับคนที่พอมีฝีมือในการทำอาหาร การขายอาหารสไตล์ home kitchen แบบไม่มีหน้าร้านก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้อยู่รอดได้
บรูซ หว่อง ชายชาวมาเลเซีย อดีตพนักงานระดับบริหารก็เป็นหนึ่งในนั้นที่หลังจากตกงานก็ผันมายึดอาชีพทำข้าวกล่องขายออนไลน์ จำกัดไม่เกินวันละ 100 กล่อง แต่บรูซอาจแตกต่างจากคนอื่นในแง่ที่ว่าเขาแทบจะไม่เคยเข้าครัวทำอาหารเองเลยแม้ว่าจะเคยมีหุ้นในร้านอาหารและผับ
ทว่า “Wongka Home Cooked Food” ธุรกิจเล็ก ๆ ที่เพิ่งเริ่มเมื่อเดือนกค.ปีที่แล้ว กับเวลาที่ผ่านไป 1 ปีเต็มพิสูจน์แล้วว่าแม้เป็นคนทำอาหารไม่เป็น แต่ความตั้งใจและความมุ่งมั่นก็ทำให้มาถึงจุดที่ธุรกิจอยู่รอด นอกจากสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวยังสามารถเผื่อแผ่ไปยังสังคมรอบข้างอีกด้วย
ย้อนกลับไปช่วงก่อนเกิดโควิดระบาด บรูซเคยเป็นมนุษย์เงินเดือนมาก่อน หนึ่งในงานที่เคยทำคือตำแหน่งผู้จัดการประจำ co-working space แห่งหนึ่งในกรุงเทพ แต่หลังจากเจอพิษเศรษฐกิจและถูกเลิกจ้าง เขาก็กลับมาตั้งหลักที่กัวลาลัมเปอร์พร้อมกับคิดหาวิธีจะทำยังไงให้สามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวซึ่งประกอบด้วยลูกชายวัย 8 และ 10 ขวบ 2 คน และภรรยาซึ่งกำลังตั้งครรภ์แก่ใกล้คลอด
สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจจะทำอาหารขาย แต่เมนูเดียวที่ทำเป็นในขณะนั้นคือ “ผัดกะเพรา” อาหารไทยที่เขาหัดทำช่วงทำงานที่กรุงเทพนาน 2 ปี เป็นเมนูที่เรียกได้ว่า “กันตาย” สำหรับเขา บรูซเปิดเฟสบุ๊กเพจขึ้นมาเพื่อขายข้าวกล่องโดยเริ่มต้นที่ข้าวกะเพราไข่ดาวซึ่งได้รับการตอบรับค่อนข้างดี ได้รับออร์เดอร์ 30-40 กล่องในช่วงแรก ๆ
หลังจากนั้นเขาก็พัฒนาฝีมือ ฝึกทำอาหารจากยูทูปและอินเตอร์เน็ต ทำการปรับสูตรเองจนลงตัว และสามารถเพิ่มเมนูให้ลูกค้าเลือกมากขึ้น อาหารส่วนใหญ่เป็นอาหารจีนสไตล์ไต้หวัน เช่น หมูตุ๋น และซุปต่าง ๆ อาหารมาเลย์ เช่น นาซีเลอมักหรือข้าวมันไก่/หมูทอดมาเลย์ บะกุดเต๋ และอาหารไทย นอกจากผัดกะเพราไข่ดาว ก็มีข้าวขาหมูแบบไทย ๆ และกุ้งผัดสะตอ เป็นต้น และช่วงหลังมีขนมหวานให้เลือกด้วย
ในการทำข้าวกล่องของบรูซ เขาใช้หลักการเป็นเมนูที่ทำทานเองในครอบครัว เป็นเมนูบ้าน ๆ แต่ทำด้วยความตั้งใจและพิถีพิถัน จากที่ทำน้อย ๆ ก็ทำในปริมาณที่เยอะขึ้นเพื่อแบ่งไปทำข้าวกล่องขายด้วย เพื่อให้รสชาติอาหารคงเส้นคงวา ทุกครั้งที่ปรุง เขาจึงชั่งตวงวัดวัตถุดิบ ส่วนผสมหรือเครื่องปรุงแบบเป๊ะ ๆ อาจจะเพราะพรสวรรค์ในการทำอาหารที่บรูซเองก็เพิ่งค้นพบ อาหารที่เขาทำรสชาติถูกปากลูกค้า ยอดสั่งซื้อจึงเพิ่มมากขึ้นจนเขาต้องจำกัดไม่เกิน 100 กล่องต่อวันเนื่องจากกำลังการผลิตได้เพียงเท่านั้น
ในการขายของบรูซ เขาจะกำหนดเมนูล่วงหน้าสัปดาห์ต่อสัปดาห์และโพสต์ภาพอาหารซึ่งจัดในจานอย่างสวยงามลงเฟสบุ๊กให้ลูกค้าจองล่วงหน้า ทั้ง 7 วันเป็นเมนูไม่ซ้ำกัน และแต่ละวันมีให้เลือกเพียง 2 อย่างเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นอาหารคาวทั้ง 2 อย่าง บางวันมีอาหารคาว และหวานให้เลือกอย่างละ 1 แต่ทุกวันที่ 1 และ 15 ของเดือน อาหารที่นำเสนอจะเป็นเมนูมังสวิรัติ เช่น ต้มจับฉ่าย ราคาอาหารเริ่มต้นที่ 10 ริงกิต (ราว 75 บาท) ไปจนถึง 23 ริงกิตหรือประมาณ 180 บาทขึ้นอยู่กับประเภทของเนื้อสัตว์ ถ้าเป็นอาหารทะเล เช่น กุ้งจะราคาสูงขึ้นมาหน่อย
ข้อดีของการขายอาหารแบบ pre-order หรือจองล่วงหน้าคือทำให้สามารถจัดสรรวัตถุดิบได้ลงตัวทำให้ไม่เหลือทิ้ง ไม่กลายเป็นขยะอาหาร ใช้เวลาเพียง 6 เดือน ธุรกิจ Wongka Home Cooked Food ของบรูซก็เริ่มอยู่ตัว มีออร์เดอร์เข้ามาสม่ำเสมอ หลังจากมีรายได้เลี้ยงครอบครัวแม้จะไม่ฟู่ฟ่านัก แต่บรูซก็เริ่มนึกถึงการคืนกำไรให้สังคม ด้วยเหตุนี้ ทุกวันเสาร์ เขาจึงทำอาหารเพิ่มเพื่อนำไปแจกจ่ายแก่คนยากไร้ บ้านเด็กกำพร้า บ้านพักคนชรา และผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด
ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ ธุรกิจข้าวกล่องของบรูซนออกจากจะเป็นแหล่งรายได้ ยังเป็นสิ่งที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น บรูซได้โอกาสสอนลูกชายทั้งสองให้ช่วยทำงาน เช่น เด็ดผักกะเพรา และทำให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่างของการแบ่งปันคนในสังคมด้วยการนำข้าวกล่องไปตระเวณแจกจ่ายให้ผู้ที่ต้องการ แม้ยังไม่รู้ได้ว่าจะได้กลับไปทำงานประจำอีกเมื่อไร แต่ดูเหมือนสิ่งที่ทำอยู่ในขณะนี้ก็สร้างความสุขให้บรูซและครอบครัวได้พอสมควร
ที่มา
www.malaymail.com/news/malaysia/2021/06/06/covid-19-after-losing-his-job-this-kl-daddy-started-a-home-based-food-busin/1979927
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup