Starting a Business

ไม่ยอมก็ยังไม่แพ้ TGFC Startup ใจสู้ร่วมคิดผลิตสินค้าใหม่ใน 48 ชม. หารายได้เลี้ยงพนักงานแทนการเลิกจ้าง

Text: Vim Viva




     เชื่อว่าผู้ประกอบการจำนวนมากกำลังประสบภาวะเดียวกับ จัสมิน โมฮัน นักธุรกิจสาวชาวมาเลเซียที่ลงทุนลงแรงไปกับการเปิดธุรกิจ มีพนักงานอยู่ในการดูแลหลายชีวิต แต่เมื่อเกิดวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 ธุรกิจที่ทำอยู่ก็เหมือนถูกต้อนไปอยู่ปากเหวจนต้องปิดกิจการชั่วคราว ทีนี้มาถึงทางแยกที่ต้องเลือกระหว่างปลดพนักงานทั้งหมดเพื่อลอยตัว หรือจะอุ้มชูพนักงานต่อไปด้วยความเห็นอกเห็นใจ
               

     จัสมินไม่สามารถตัดสินใจได้ ความเครียดรุมเร้าจนทำให้เสียน้ำตาไปหลายครั้ง กระทั่งสามีของเธอให้ข้อคิดว่าการร้องไห้ไม่มีประโยชน์อะไร สิ่งที่ต้องทำคือการตัดสินใจอย่างเด็ดขาด ถ้าไม่เลิกจ้างพนักงานทั้งหมดก็ต้องลุกขึ้นมาสู้ว่าจะทำอย่างไรจึงจะอยู่รอดต่อไปได้ เมื่อได้ยินดังนั้น จัสมินก็คิดได้ เธอต้องการเก็บทีมงานเอาไว้เพราะเป็นทีมที่เข้าขากันดีมาก นั้นจึงเป็นที่มาของการระดมความคิดเกี่ยวกับเทรนด์ตลาดและความต้องการของผู้บริโภค จนได้คำตอบว่าเทรนด์ที่ไม่เคยล้าสมัยคือเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ





     จัสมินเจาะจงไปที่ Artisanal foods หรืออาหารรสเลิศที่กระบวนการผลิตมีความพิถีพิถัน “ที่ผ่านมาอาหารประเภท Artisanal foods มักถูกมองเป็นกระแสสำหรับคนที่พยายามปั้นไลฟ์สไตล์ให้ดูดี แต่ความจริงอาหารประเภทนี้ยึดโยงกับแนวคิดการกลับสู่สิ่งที่เป็นพื้นฐาน มันเกี่ยวเนื่องกับการได้รู้ว่าอาหารที่เราบริโภคมีที่มาที่ไปอย่างไร ทั้งในเรื่องของคุณภาพ กรรมวิธีการผลิต และวัตถุดิบที่ใช้” จัสมินอธิบาย


     จัสมินเล่าว่าอาหารที่ผู้บริโภคมาเลเซียนิยมซื้อเป็นอาหารนำเข้าซึ่งเป็นอาหารแปรรูปและคุณค่าทางโภชนาการถูกลดทอน จากประสบการณ์ในการเดินทางไปยังหลายประเทศ จัสมินเพลิดเพลินกับการบริโภคถั่วชนิดต่าง ๆ เช่น อัลมอนด์ เฮเซลนัท พีแคน และอีกมากมาย แต่เมื่อกลับมายังมาเลเซีย ถั่วเดียวที่แพร่หลายมีเพียงถั่วลิสง ความคิดในการผลิตเนยถั่วจึงเกิดขึ้น





     ใช้เวลาไม่ถึง 48 ชั่วโมง จัสมินก็ตัดสินใจได้ว่าจะทำเนยถั่วคุณภาพดีจำหน่าย หลังจากที่เขียนแผนธุรกิจขึ้นมาคร่าว ๆ และนำเสนอต่อทีมงาน ไม่นาน The Good Fat Company (TGFC) สตาร์ทอัพที่เพิ่งก่อตั้งก็เปิดตัว โชคดีอีกอย่างที่ทีมงานคนหนึ่งที่รับผิดชอบด้านปฏิบัติการมีความรู้ด้านการทำอาหารจึงทำให้มองภาพธุรกิจได้ชัดเจนและเข้าใจง่าย


     หลังจากนั้น ทีมงานก็ลงมือคิดค้นและทดลองสูตรจนในที่สุดก็ได้เนยถั่วสไตล์ The Good Fat Company ในการผลิตเนยถั่วคุณภาพดี สิ่งสำคัญคือเครื่องบดสับถั่วที่ใช้จะต้องไม่ปล่อยความร้อนออกมาเพราะจะเป็นการทำลายคุณค่าทางอาหารในถั่ว ด้วยเหตุนี้ The Good Fat Company จึงลงทุนก้อนโตไปกับซื้ออุปกรณ์และเครื่องจักรในการผลิต อาทิ เครื่องคั่ว และเครื่องบดถั่ว





     จัสมินและสามีใช้เงินเก็บทั้งหมดลงทุนไปกับ The Good Fat Company หากธุรกิจไปได้สวยก็ถือเป็นความสำเร็จ แต่ถ้าไม่เป็นอย่างที่คาดหวังก็ถือเป็นบทเรียนทางธุรกิจอีกบทเรียนหนึ่ง ที่สำคัญ เธอได้รับความร่วมมือจากพนักงานที่ยอมให้ลดเงินเดือน ซึ่งจัสมินมองว่าเป็นความเสียสละของทีมงาน เธอมองว่าเงินเดือนที่ถูกหักไปก็เป็นส่วนหนึ่งที่ใช้เพื่อการลงทุนในธุรกิจใหม่นั่นเอง 


     เจ้าของธุรกิจ The Good Fat Company ให้สัมภาษณ์ว่าเธอเคยรับประทานเนยถั่วพรีเมี่ยมแบรนด์ BREAKFAST และสงสัยมาตลอดว่าน้ำมันที่ลอยอยู่ข้างบนสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ งานผลิตจึงเป็นงานท้าทายแรก และเธอก็ได้คำตอบว่าเนยถั่วจะมีน้ำมันลอยอยู่ด้านบนเนื่องจากเนื้อเนยถั่วจะมีปริมาณไขมันค่อนข้างสูง และน้ำมันนี้จะทำหน้าที่ถนอมอาหารให้ยาวนาน แม้จะเป็นน้ำมันที่ปลอดภัยในการบริโภค แต่ก็ดูน่ากลัวในสายตาคนซื้อ และเมื่อเปิดขวดแล้ว ควรรับประทานให้หมดภายใน 90 วัน 





     ด้วยข้อจำกัดเช่นนั้น จัสมินจึงไม่แนะนำลูกค้าให้ซื้อเนยถั่วแพคใหญ่ แต่ควรซื้อแบบพอรับประทาน เมื่อหมดแล้วค่อยซื้อใหม่ นอกจากนั้น ทาง The Good Fat Company เองก็คำนวณปริมาณในการผลิตเพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าและอายุในการบริโภค หลังจากที่เคยประสบปัญหาผลิตเยอะเกินไปจนสินค้าเหลือต้องนำมาแจกจ่ายรับประทานเอง และบางเดือนกลับผลิตไม่พอขาย แต่ปัจจุบัน ทางแบรนด์เริ่มจับจุดถูกหลังจากที่มีฐานลูกค้าประจำ และใช้วิธีผลิตตามรอบการบริโภคของลูกค้า


     ลูกค้าของ The Good Fat Company ประกอบด้วยกลุ่มคนดูแลสุขภาพที่ลดละการบริโภคเนื้อสัตว์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลุ่มมิลเลนเนี่ยล สร้างความประหลาดใจให้จัสมินไม่น้อยเพราะเธอคิดว่าลูกค้ากลุ่มใหญ่น่าจะเป็นกลุ่มเบบี้บูมเมอร์หรือ Gen X นั่นแสดงว่าคนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น


     นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว The Good Fat Company สามารถทำยอดขายไปแล้วกว่า 8,000 กระปุก และที่น่าชื่นใจคือยอดขายเพิ่มขึ้นทุกเดือน โดยทางแบรนด์มีเนยถั่วให้เลือก 10 ชนิดด้วยกัน ราคาจำหน่ายอยู่ระหว่าง 29.90-65.90 ริงกิต (230-500 บาท) ต่อกระปุกขึ้นอยู่กับชนิดของวัตถุดิบ เช่น ถั่วลิสง เมล็ดฟักทอง อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ หรือเฮเซลนัท ช่องทางจำหน่ายหลัก ๆ ผ่านเว็บไซต์บริษัท และมีกระจายตามร้านค้าต่าง ๆ บ้าง 3-4 แห่ง จัสมินมองว่าธุรกิจของเธอน่าจะเดินหน้าต่อไปได้ สิ่งที่ทำในขณะนี้จึงหันไปเน้นที่การสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งและทำให้สินค้าเข้าถึงผู้บริโภคให้มากที่สุด
 

ที่มา
https://vulcanpost.com/746120/the-good-fat-company-malaysia-nut-butter-online/


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup