Starting a Business

Startup ไม่จำกัดอายุ สาววัย 51 สร้างโลกใบที่สองลองผันตัวเป็นเชฟ สร้างรายได้ในวัยใกล้เกษียณ

Text: Vim Viva





     หากพูดถึงวงการเชฟขนมหวานมาเลเซีย นาทีนี้คนที่โด่งดังสุดเห็นจะไม่มีใครเกิน Keem Ooi “คีม อุย” สตรีวัย 51 ปีผู้รังสรรค์ขนมอบที่ไม่เพียงอร่อยลิ้นแต่ยังงดงามปราณีตประดุจงานศิลปะชั้นดี ที่น่าทึ่งคือคีมซึ่งเป็นครูสอนร้องเพลง และเปียนโนคลาสสิก ไม่เคยเข้าเรียนเป็นเรื่องเป็นราว หรือจบด้านเบเกอรีจากสถาบันไหนสักแห่ง อาศัยค้นคว้าและเรียนรู้ด้วยตัวเอง ถึงกระนั้น ฝีมือของเธอกลับเป็นที่ยอมรับจนสามารถสร้างรายได้ด้วยการเปิดคอร์สสอน ประกาศทีไร คนแห่สมัครเรียนเต็มทุกคลาส


      อะไรที่ทำให้ครูสอนดนตรีหันมาสนใจทำขนมอบ เทคนิคการเรียนรู้หรือฝึกฝนเป็นอย่างไร คำตอบคงเริ่มต้นตั้งแต่ปูมหลังในวัยเยาว์ คีมเป็นชาวเมืองไทปิง รับเปรัก เติบโตในครอบครัวที่บิดาเป็นนักธุรกิจ และมารดาเป็นครูสอนเปียโน คีมสนใจงานศิลปะมาตั้งแต่เด็ก วิชาโปรดของเธอคือวาดขียน แต่เธอก็สนุกกับวิชาคหกรรมด้วยเช่นกัน





     สมาชิกในครอบครัวของเธอที่ประกอบด้วยพี่น้อง 4 คนรวมตัวเธอต่างรักในเสียงดนตรี แต่มีคีมคนเดียวที่เรียนเปียโนและเข้าคอร์สเรียนร้องเพลงอย่างจริงจัง บิดามารดาเองก็สนับสนุนทำให้เธอได้ไปศึกษาต่อที่อังกฤษจนจบสถาบัน Royal School of Music and Trinity College ในลอนดอนด้านเปียโน และการร้องโซปราโน่ พอกลับมายังมาเลเซีย คีมแต่งงานมีครอบครัว มีลูก 2 คน และดำรงชีพด้วยการสอนดนตรีและร้องเพลง รวมระยะเวลา 33 ปีแล้ว นั่นคือโลกใบแรกของเธอ


     โลกใบที่สองเกี่ยวข้องกับงานอดิเรกที่เธอชมชอบ นั่นคือการอบขนม คีมเล่าว่าตอนสมัยยังเด็ก ช่วงสุดสัปดาห์ คุณแม่และป้า ๆ จะขลุกอยู่ในครัวอบขนมสารพัดอย่างไว้ทานในบ้าน คีมจะป้วนเปี้ยนแถวนั้น คอยช่วยเหลือหยิบจับ ทำให้เรียนรู้การทำขนมโดยอัตโนมัติ คีมทำขนมเป็นแต่ไม่ใช่มืออาชีพ และเธอไม่เคยลงเรียนกับสถาบันไหนมาก่อน





     ด้วยความที่ชอบวาดภาพและระบายสี วันหนึ่งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว คีมก็คิดขึ้นว่าอยากทำเค้กที่ไม่ใช่แค่รสชาติดีแต่ต้องสวยงามเหมือนงานศิลปะ และเป็นเค้กที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร กระทั่งจับพลัดจับผลูได้เข้าไปร่วมกลุ่มขนมอบในเฟซบุ๊กที่สมาชิกภายในกลุ่มจะนำขนมฝีมือตัวเองมาลง คีมอาศัยเวทีนี้นำเสนอผลงาน ช่วงแรก ๆ จะมีการลองผิดลองถูก และเธอตั้งเป้าว่างานแต่ละชิ้นที่โพสต์ลงต้องดีกว่างานชิ้นก่อน ๆ ทุกความผิดพลาดจะต้องได้รับการแก้ไขทุกครั้ง  


     คีมเล่าอีกว่าเธอสั่งสมองค์ความรู้ในการทำเค้กสวย ๆ จากการอ่านหนังสือ อ่านบทความทางอินเตอร์เน็ต ดูยูทูป และพินเทอเรสต์ ทำให้ได้ไอเดียต่าง ๆ ที่นำมาประยุกต์ใช้ เค้กที่สร้างเอกลักษณ์ให้เธอคือเค้กโรลเพนต์ลวดลายต่าง ๆ ซึ่งความจริงไม่ใช่เค้กที่แปลกใหม่ เป็นเค้กที่ได้รับความนิยมมาหลายปีแล้วโดยเฉพาะในญี่ปุ่น แต่คีมทำให้แตกต่างออกไปด้วยเทคนิคและการรังสรรค์ลวดลายเฉพาะของเธอ เรียกได้ว่าสอดใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปเต็ม ๆ ผลงานที่ออกมาจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นเค้กที่สวยที่สุดในแง่ของเนื้อสัมผัสและดีไซน์ กลายเป็นงานศิลปะที่กินได้





     แม้จะทำเค้กได้หยาดฟ้ามาดินขนาดนั้น แต่คีมก็ไม่คิดจะอบเค้กขาย เธอสนุกกับคิดค้นลวดลายใหม่ ๆ เมื่ออบออกมาแล้วก็แจกจ่ายให้คนรอบตัวรวมถึงนักเรียนดนตรีของเธอ คีมลงผลงานในไอจี และมีคนจำนวนมากสนใจเรียน เธอจึงเปิดคอร์สสอนและเต็มทุกรอบ ราคาค่าเรียนอยู่ระหว่าง 380-600 ริงกิตหรือราว 2,800-4,500 บาทแล้วแต่ชนิดของเค้ก โดยคีมจะสอนตั้งแต่เริ่มต้นอบขนมไปจนถึงการตกแต่งเค้ก คนที่มาเรียนมีทั้งมือสมัครเล่น และคนที่ทำเค้กมืออาชีพก็มี  


     หลายปีที่ผ่านมา คีมยึดอาชีพครูดนตรีเป็นหลัก และสอนทำเบเกอรีเป็นงานเสริมที่ทำเพราะความสนุก แต่ครั้นเกิดวิกฤติไวรัสโควิด-19 ระบาด รัฐบาลมีคำสั่งให้ล็อกดาวน์ เธอต้องยุติงานทั้งหมดเพราะการสอนเปียโนหรือร้องเพลงให้มีประสิทธิภาพนั้นไม่สามารถเรียนสอนกันทางออนไลน์ได้ จากที่ไม่อบเค้กขาย คีมก็หันมารับออร์เดอร์ผลิตเค้กตามสั่ง ครั้งหนึ่งเธอเคยอบเค้กรูปใบหน้าเอ็ด ชีแรน นักร้องชาวอังกฤษให้กับบริษัทวอร์เนอร์ บราเธอร์ มาเลเซียในวาระเปิดตัวอัลบั้มใหม่





     คีมเล่าว่าช่วงโควิด ความต้องการเค้กกลับสูงขึ้น แต่เธอผลิตได้จำนวนจำกัด วันละไม่เกิน 6 ก้อน สนนราคาเค้กอยู่ที่ 120-350 ริงกิต (ประมาณ 900-2,600 บาท) ต่อก้อนขึ้นอยู่กับชนิดของเค้กและดีไซน์ ในวัยเตรียมตัวเกษียณและไม่มีภาระใด ๆ คีมไม่คิดขยายธุรกิจ เธอสนุกกับงานในปริมาณเท่านี้ และเฝ้ารอแค่ว่าโรคระบาดยุติเมื่อไรก็จะกลับไปทำหน้าที่ครูดนตรี และเปิดคอร์สสอนทำขนมเหมือนเดิม  
               

ที่มา
https://vulcanpost.com/735828/keempossible-viral-baker-cake-design-instagram/
 
www.nst.com.my/lifestyle/sunday-vibes/2021/01/661830/keem-ooi-conquers-world-one-cake-time
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup