Starting a Business

เปลี่ยนอาชีพยังไงให้มีรายได้เพิ่ม 10 เท่า ฟัง ถนอมวรรณ สิงห์จุ้ย รุกตลาดดอกไม้กินได้ขายเชฟมิชลิน

Text: Neung Cch.





     “ปลูกไม่ยากแต่ขายไม่ง่าย” คำบอกเล่าของถนอมวรรณ​ สิงห์​จุ้ย​ หรืออ้อ สาวจังหวัดสมุทรสาคร ที่หันมาจับธุรกิจดอกไม้กินได้ หรือ edible flowers เมื่อ 4 ปีที่แล้ว โดยก่อนที่จะตัดสินใจมาเป็นสาวชาวไร่เช่นนี้ เธอเคยทำงานอยู่ในหน่วยงานราชการ กระทั่งลาออกมาเป็นเจ้าของธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำบริษัทอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และรับติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งช่วงแรกที่ทำนั้นรายได้ดีมาก แต่ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีก้าวล้ำไปอย่างรวดเร็ว บวกกับมีคู่แข่งผุดขึ้นมามากมาย ทำให้รายได้ที่เคยเป็นหลักล้านลดลงมาเหลือเพียงหลักแสนเท่านั้น ซึ่งมันไม่พอเพียงกับค่าใช้จ่ายที่ทางบริษัทต้องรับผิดชอบ





     แม้จะพยายามปรับเพิ่มสินค้าประเภทกล้องวงจรปิดเข้ามาช่วย แต่สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้นเท่าไหร่ อ้อจึงได้รับคำชักชวนจากสามีที่ตอนนั้นทำสวนมะลิให้กลับมาช่วยดูแลสวน ทำได้สักพักเจอเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 ต้องย้ายบ้านไปอยู่อ่างทอง ได้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของพืชผักผลไม้ เหมือนเป็นการจุดประกายให้หันมาปลูกพืชผักที่กินได้ สามารถทำเงินได้ไว จึงได้ดัดแปลงพื้นที่ 30 ไร่ในจังหวัดสมุทรสาคร ให้กลายเป็น Farmsuk (ฟาร์มสุข) ที่ต้องใช้เวลากว่าสองปีเพื่อให้ดอกไม้กินได้ของเธอได้รับการยอมรับจากเชฟชั้นนำทั่วประเทศอย่างทุกวันนี้
 

     เริ่มจากโดนเชฟด่าก่อนจะได้เป็นลูกค้า


     ด้วยความที่มั่นใจว่าดอกไม้ที่เธอปลูกนั้นเป็นของดีทั้งไม่ใช้สารเคมีและยังเป็นดอกไม้ในประเทศไทย อีกทั้งประสบการณ์ในการพรีเซนต์งานมีติดตัวมาตั้งแต่ทำงานที่ออฟฟิศทำให้อ้อตัดสินใจบุกไปหาเชฟระดับมิชลินหวังเปิดตลาดดอกไม้กินได้เป็นเป้าหมายแรก


      “เจอเชฟด่าเลย เชฟระดับนี้เขาไม่ได้มีเวลาเยอะมาก พอเขาให้เวลาแล้วแต่ไม่สามารถทำให้เขาเข้าใจได้ว่าดอกไม้ไทยนั้นดีเหมาะกับอาหารของเขาอย่างไร สิ่งที่เขาพูดในวันนั้นคือ “วันนี้คุณทำให้ผมเสียเวลามากเลยนะ” นั่นหมายความว่า โอกาสที่จะกลับไปขายเขามันยาก





     หลังจากเหตุการณ์วันนั้นอ้อก็กลับหาข้อมูลอย่างหนัก สั่งหนังสือจากเมืองนอกมาอ่าน เพื่อทำความเข้าใจสายพันธุ์ดอกไม้ทั้งของเทศและของไทย เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการอ้างหรืออธิบายเปรียบเทียบได้ว่าดอกไม้ไทยนี้อยู่สกุลไหนของพืช เพื่อให้เชฟนึกภาพออก ไม่เพียงเท่านั้นเธอยังต้องทำการบ้านต่อไปอีกว่า เชฟแต่ละคนปรุงอาหารแนวไหน วิธีตกแต่งจานแบบไหน หลังจากที่หาข้อมูลทำการบ้านอย่างดี เธอกลับไปพบเชฟคนเดิมอีกครั้ง


     “ถ้าเราอยากพัฒนาเราต้องยอมรับข้อผิดพลาดของเราให้ได้ เชฟบอกดีใจที่เห็นเรากลับมาอีกครั้ง เพราะนั่นหมายถึงคุณพัฒนาไปอีกขั้นแล้ว”
 




     ปลูกไม่ยาก ขายไม่ง่าย



     ฟาร์มสุขมีดอกไม้กินได้แบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลักคือ หนึ่ง ดอกไม้ที่ได้จากต้นผัก สอง ดอกที่ได้จากต้นผลไม้ สาม ดอกไม้จากต้นสมุนไพรหรือผักสวนครัว และสี่ ดอกไม้ที่ได้จากไม้ดอกไม้ประดับ ซึ่งทั้ง 4 ประเภทนี้การดูแลไม่ยากเพราะเป็นพันธุ์ไม้เมืองไทย


     “ปลูกไม่ยากเท่ากับขายๆ แบบธรรมดาไม่ยากเท่ากับขายให้เชฟมิชลินยอมรับเราได้ มันต้องมีข้อมูลเชิงลึก ถือว่าโชคดีได้เริ่มทำงานกับกับเชฟมิชลิน ทำให้ได้เรียนรู้ทักษะในการขายของไม่ใช่ง่ายๆ ต้องกล้าสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ถ้าทำได้บอกทำได้ แต่ถ้าทำไม่ได้ต้องบอกเพื่อได้ข้อมูลจริงๆ เพราะมันต้องทำงานร่วมกัน เชฟมาดูดอกไม้ที่สวน เราก็ต้องไปถึงครัว ช่วงแรกลงทุนไปซื้อคอร์สกินอาหาร หาความรู้ว่าเขาทำอาหารแบบไหน ทำธุรกิจต้องลงทุน นั่งสวยๆ แล้วขายได้ไม่มี”





     ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าของฟาร์มสุขแบ่งออกเป็นสามกลุ่มคือ เชฟชั้นนำตามโรงแรม 50% บาร์เทนเดอร์ 30% และที่เหลือคือกลุ่มคาเฟ่ เบอเกอรี่ ซึ่งลูกค้าแต่ละกลุ่มหรือแต่ละร้านมีความต้องการที่ต่างกันไป การทำความเข้าใจระหว่างฟาร์มกับเชฟเพื่อวางแผนล่วงหน้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ


     ปกติเราส่งเดโมดอกไม้ไปให้ลูกค้าเลือกเพื่อทดสอบๆ หลังจากนั้นเรากับเชฟต้องคุยกันว่า จะใช้ดอกไม้กี่ชนิด ในเมนูไหน เมนูนั้นรันกี่เดือน เพื่อจะได้ทำการปลูกล่วงหน้า เราเองก็ต้องรู้ว่าดอกไม้ประเภทนี้ใช้เวลาปลูกนานเท่าไหร่ ต้นหนึ่งจะมีกี่ดอก เราต้องเก็บข้อมูลพวกนี้อย่างละเอียด”





     แม้แต่วิธีการส่งสินค้าก็ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ถ้าไปส่งสินค้าในย่านรถติดอย่างอโศกใช้รถขนส่งทั่วไปก็จะทำเวลาไม่ได้ จึงต้องใช้มอเตอร์ไซด์เพื่อให้ทันเวลาและต้องหาภาชนะที่คุมอุณหภูมิให้ได้ เพราะดอกไม้บางชนิดไม่ชอบความเย็นใส่น้ำแข็งมากไปทำให้ดอกไม้สตั๊นท์เหี่ยวเร็วขึ้น


     “การทำงานทุกอย่างต้องละเอียดมาก แม้แต่วิธีการตัดก็ต้องมีเทคนิคตัดอย่างไรไม่ให้ดอกไม้ช้ำ เหี่ยวเร็วเกินควร”
 

     โดเรมอนสำหรับเชฟ


     ถ้าถามว่าการบริการดอกไม้กินได้ให้กับธุรกิจไหนยากสุด อ้อบอกว่า การทำดอกไม้กินได้ไปเสิร์ฟในอาหารจะมีความยากในระดับหนึ่ง เพราะเชฟแต่ละคนอยากได้ดอกไม้ที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวแล้ว บางคนอยากได้ดอกไม้ที่มีกลิ่นอายของดินแต่ต้องไม่ทำให้รสชาติของอาหารเสีย ในขณะที่การนำดอกไม้ไปใช้กับเครื่องดื่ม ก็จะเน้นเรื่องความสวยงามการตกแต่ง จะเน้นเรื่องไซส์ต้องมีขนาดเท่ากัน เพื่อเวลาตกแต่งสามารถปักในแจกันหรือแก้วได้เท่ากันหมด





     “
เราทำธุรกิจตรงนี้ต้องมีข้อมูล ว่าเจ้าใหญ่คือใคร ธุรกิจนี้มีใครบ้าง อย่างที่เป็นระดับประเทศคือ ดอกไม้จากโครงการหลวงฯ เราจึงฉีกปลูกแต่ดอกไม้แต่ในประเทศ เน้นการบริการลูกค้าสามารถ เลือกไซส์ เลือกสีได้ เราต้องหาวัตดุดิบใหม่ๆ ร้านอาหารเหมือนเสื้อผ้า ต้องมีสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา มีเชฟให้นิยามอ้อว่าเป็นโดเรมอนอยากได้อะไรจัดให้ได้ ล่าสุดอ้อกำลังทำโปรเจ็กต์ชวนเชฟมาชิมหญ้า ใช้วัชพืชมาเป็นวัตถุดิบใหม่ซึ่งเมืองไทยมีวัชพืชที่เป็นประโยชน์ 5,000 กว่าตัว”


     กับสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาส่งผลให้ฟาร์มสุขได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทางฟาร์มจึงต้องปรับจากที่เคยขายให้ลูกค้า B2B มาเป็น B2C คือเจาะตลาดผู้บริโภคโดยตรง เพราะคนอยู่กับบ้านมากขึ้น มักหากิจกรรมมาทำหนึ่งในนั้นคือการทำอาหาร


    “ภาพรวมรายได้มันก็โอเคมากกว่าตอนขายคอมฯ เป็น 10 เท่า โดยเฉพาะช่วงหลังที่มีคู่แข่งเกิดขึ้นกำไรประกอบคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องเหลือถึงเครื่องละ 300 บาท แต่เราขายดอกไม้ดอกละ 1 บาท ต้นชบาเมเปิ้ลหนึ่งต้นออกใบประมาณ 1,000-2,000 ใบ เราขายใบละบาท ส่งไปงานสมุยเฟสติวัล 3,000 เสิร์ฟดริ๊งก์  หรืองานเฟอรารี่ 2,000 ดริ๊งก์  มีงานวันละ 10 ที่เราก็พอแล้ว”


     นอกจากจะมีลูกค้าอยู่ทั่วประเทศแล้วดอกไม้กินได้ของฟาร์มสุขยังเสิร์ฟถึงมาเก๊าและอเมริกา ซึ่งเป็นเป้าหมายต่อไปของฟาร์มที่จะพาดอกไม้ไทยไปอยู่ในร้านอาหารทั่วโลก


     “เริ่มจากมองสิ่งรอบๆ ตัว  เริ่มจากสิ่งที่ตัวเองอยากทำ มันจะพัฒนาไปต่อได้ไม่หยุดถึงแม้มันจะมีอุปสรรค และการจะทำให้ธุรกิจสำเร็จได้ต้องมีข้อมูลเชิงลึกเพื่อตอบโจทย์หรือทำตามความต้องการลูกค้าให้ได้มากที่สุด สองคอนเนกชัน และการจัดการที่ดี”
 

     นี่คืออีกหนึ่งการเริ่มต้นธุรกิจแบบฟาร์มสุข
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup