Starting a Business
ไม่ได้มาเล่นๆ หนุ่มวัย 16 จับธุรกิจรีเซลสนีกเกอร์แบบมืออาชีพ ทำรายได้เดือนละครึ่งล้าน
ด้วยวัยเพียง 16 ปี นอกจากเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลาย หมวกอีกใบที่ รีมัส แอร์ หนุ่มน้อยชาวสิงคโปร์สวมอยู่คือ การเป็นเจ้าของร้านค้าออนไลน์ชื่อ Hypermaster ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการรีเซล (ขายต่อ) รองเท้าสนีกเกอร์อันสร้างรายได้ให้กับเขา 20,000-30,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 450,000-670,000 บาทต่อเดือน
รีมัสก็เป็น Sneakerhead คนหนึ่งที่หลงใหลในรองเท้ากีฬา และมีสะสมไว้จำนวนหนึ่ง เมื่อมีการเปิดตัวสนีกเกอร์แบรนด์ดังรุ่นใหม่ๆ หากเงินในกระเป๋าพร้อม รีมัสมักไม่พลาดไปรอคิวหน้าร้านเพื่อสอยมาไว้ในครอบครอง จุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ธุรกิจรีเซลรองเท้าสนีกเกอร์เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน หลังจากเขาไปกดซื้อรองเท้าไนกี้ Vapormax 2018 ที่ร้านออนไลน์ Off-White มาได้ และเขาใส่รองเท้าคู่นั้นไปงานอีเวนต์เกี่ยวกับสนีกเกอร์กับเพื่อน มีคนมาทักว่ารองเท้ารุ่นที่เขาใส่นั้น ในตลาดรีเซลขายกันที่คู่ละ 1,200 ดอลลาร์สิงคโปร์ เป็นครั้งแรกที่ได้รู้ว่ารองเท้าบางรุ่นสามารถขายต่อได้ในราคาที่แพงกว่าเดิม
ที่งานอีเวนต์นี้เอง รีมัสไปเจอเกมตู้ Key Master ที่หยอดเหรียญทีละ 2 ดอลลาร์สิงคโปร์ วิธีเล่นคือ หากสามารถคีบลูกกุญแจไขแม่กุญแจได้ก็จะได้รองเท้า Yeezy รีมัสไปงานอีเวนต์นี้ 2 วันเต็มเพื่อเล่นเกมนี้โดยเฉพาะ เขาลงทุนหยอดเหรียญไป 500 ครั้งเป็นเงิน 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ สิ่งที่ได้กลับมาคือ รองเท้า Yeezy 5 คู่ เขาจึงนำไปปล่อยต่อได้เงินมา 2,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ หักต้นทุนแล้ว กำไรเหนาะๆ 1,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจรีเซลรองเท้าสนีกเกอร์
ขณะเดียวกัน รีมัสก็มีความสนใจในธุรกิจตู้เกม เขาจึงขอให้คุณพ่อช่วยจดทะเบียนบริษัท และซื้อตู้เกม 2 ตู้ไปวางที่ร้านค้าบนถนนออร์ชาร์ด จนถึงขณะนี้เพิ่มเป็น 4 ตู้ พร้อมๆ กันนั้น เขาก็เริ่มธุรกิจรีเซลไปด้วย วันไหนที่มีเปิดตัวรองเท้ารุ่นใหม่ตามช็อปต่างๆ เขายอมตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อไปรอคิว บางครั้งรอนานถึง 5-6 ชั่วโมงเพื่อรอซื้อรองเท้ารุ่น Limited Edition
รีมัสตัดสินใจสร้างเว็บไซต์เป็นของตัวเองชื่อ Hypemaster เพื่อจะได้รับเงินเต็มๆ ไม่ต้องแบ่งค่าคอมมิสชันให้แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซอื่น นอกจากนั้น รีมัสยังขยายธุรกิจโดยการเพิ่มสินค้าให้มากขึ้นด้วยการจ้างเพื่อนๆ ไปต่อคิวซื้อรองเท้ารุ่นพิเศษ และจ้างสตาฟฟ์ 3 คนเพื่อคอยตอบแชตกับลูกค้าที่มีทั่วทุกมุมโลก
การเข้ามาจับธุรกิจรีเซลสนีกเกอร์ ทำให้รีมัสได้เรียนรู้เกี่ยวกับการสังเกตว่า คู่ไหนของแท้ คู่ไหนปลอม โดยการซื้อรองเท้าเลียนแบบมาเปรียบเทียบกับของแท้ จนถึงตอนนี้เขาใช้เวลาพิจารณา 2-5 นาทีก็แยกแยะได้ เมื่อมั่นใจแล้วจึงโพสต์ขายในเว็บไซต์ สำหรับผลกำไรบางทีก็ต่ำเตี้ยแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ แต่หลายครั้งก็สูงถึง 300 เปอร์เซ็นต์ก็มี ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการเก็บสนีกเกอร์ และเป็นรุ่นหายากแค่ไหน ยกตัวอย่าง ครั้งหนึ่งเขาเคยซื้อรองเท้าไนกี้รุ่น Airforce 1 2020 Puerto Rico คู่ละ 400 ดอลลาร์สิงคโปร์ และปล่อยขายได้ในราคา 900 ดอลลาร์สิงคโปร์ ที่ได้ราคาเพราะเป็นรุ่นที่ไนกี้พิมพ์ธงชาติเปอร์โตริโกบนรองเท้าผิดด้าน ความผิดพลาดดังกล่าวทำให้กลายเป็นรองเท้าหายาก เนื่องจากมีไม่กี่คู่ ส่วนคู่แพงสุดที่เคยขายคือ Air Dior ซื้อมา 3,300 ดอลลาร์สิงคโปร์ ขายได้ 8,000 ดอลลาร์สิงคโปร์
แน่นอนว่าช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 และสิงคโปร์ได้ส่งผลกระทบทำให้ยอดขายลดลง รีมัสได้เรียนรู้ความเป็นมืออาชีพด้วยการทำแคมเปญการตลาดออนไลน์ ทำให้จำนวนผู้ติดตาม ยอดขายเพิ่มขึ้น เนื่องจากการระบาดของโรคทำให้การเปิดตัวรองเท้ารุ่นใหม่เปลี่ยนไปเปิดตัวในร้านออนไลน์ของแบรนด์ สิ่งที่ตามมาคือ คู่แข่งที่จะแย่งชิงซื้อรองเท้าเพิ่มขึ้น
รีมัสจึงลงทุน 8,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ซื้อโปรแกรมบอตอัตโนมัติถึง 7 โปรแกรมมาติดตั้งเพื่อทำให้การสั่งซื้อทางออนไลน์รวดเร็วขึ้น และตอนนี้เขาก็คืนทุนจากค่าบอตเรียบร้อยแล้ว แถมยังปล่อยเช่าโปรแกรมบอตแก่คนอื่นช่วงไม่ได้ใช้งานอีกด้วย รีมัสเล่าว่าเขากันเงิน 75 เปอร์เซ็นต์ของรายได้เพื่อต่อยอดธุรกิจ หรือเป็นทุนสำหรับซื้อรองเท้ามาขายต่อ ส่วนที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวและซื้อรองเท้าคู่ที่ชอบมาสะสม ซึ่งตอนนี้มีในครอบครองประมาณ 20 คู่ รองเท้าที่เขาสะสมราคาต้องไม่เกิน 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์
ในฐานะที่เป็นนักเรียนมัธยมและต้องดูแลธุรกิจไปด้วย รีมัสใช้เวลาทุกสัปดาห์อย่างคุ้มค่า เขาสามารถบริหารเวลาได้ดี จึงไม่รู้สึกเครียด แต่กลับสนุกกับงานที่ท้าทายในการติดตามเทรนด์รองเท้าและเสาะหามานำเสนอ ทั้งนี้ สนีกเกอร์ได้กลายเป็นสินทรัพย์ทางเลือกอันใหม่ที่ผู้คนนิยมสะสม โดยวาณิชธนากิจโคเวนแอนด์โคประเมินปี พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา ตลาดรีเซลสนีกเกอร์ทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ.2568
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup