Starting a Business
แข่งอย่างไรให้รุ่งในตลาด Red Ocean แทคติกจาก CHA BAR ในวันที่สนามชานมไข่มุกเดือด
Photo : กิจจา อภิชนรจเรข
Main Idea
- CHA BAR ชานมไข่มุก 2 ยุค ถือกำเนิดในวันที่ชานมเริ่มเสื่อมมนต์ขลัง แต่ด้วยการยึดคอนเซปต์เป็นชา Low Calorie แจ้งเกิดแบรนด์ตัวเองสำเร็จ
- แต่ชื่นชมความสำเร็จได้แค่ครึ่งปี CHA BAR ต้องปรับเกมธุรกิจอีกครั้งรับคู่แข่งทั้งแบรนด์ไทยและแบรนด์ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
“ตลาดชานมไข่มุกเรียกว่า Red Ocean และเราอยู่ท่ามกลางปลาฉลามจำนวนมาก”
คำบอกกล่าวจากเจ้าของ cha bar แบรนด์ชานมไข่มุกสัญชาติไทย ที่ถือกำเนิดขึ้นจาก 3 สาว นาว-แพรวไพลิน ศรีแสงนาม, นิว-พลอยแพรว ศรีแสงนาม และ เจ้น-ธันยพร รุ่งเรืองธัญญา ที่หลงใหลการดื่มชานมไข่มุก แต่ขัดใจที่หาซื้อลำบาก จึงรวมกันสร้างสรรค์ชานมไข่มุกที่แตกต่างด้วยการใช้วัตถุดิบธรรมชาติของไทย 100 เปอร์เซ็นต์ ในแบบ Low Calorie ที่เติบโตขึ้นในช่วง 2 ปีที่แล้วซึ่งตลาดชานมไข่มุกอยู่ในช่วงขาลง แต่วันนี้วันที่ตลาดชานมไข่มุกเต็มไปด้วยคู่แข่งมากหน้าหลายตา cha bar มีดีอะไรถึงอยู่รอดได้ท่ามกลางปลาฉลามมากมายเช่นนี้
จุดต่างที่สร้างจุดยืนในวงการ
เพราะเติบโตมาในยุคที่มือหนึ่งอ่านหนังสืออีกมือต้องมีชานมไข่มุก แต่การหาซื้อชานมไข่มุกในช่วงสองปีที่แล้วยังไม่ง่ายดายนักอาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงขาลงของธุรกิจชานมไข่มุกในเมืองไทย ทำให้สาวกชานมไข่มุกอย่างสามสาวเพื่อนซี้เลยรวมตัวกันเปิดร้านชมนมไข่มุกภายใต้ชื่อ CHA BAR
“เราเห็นร้านชานมไข่มุกที่เปิดมาในยุคแรกๆ บางร้านยังอยู่ได้ เลยไม่กลัว” นาว บอกเหตุผล
นอกจากความกล้าแล้ว พวกเธอช่วยกันคิด สร้างจุดเด่นให้กับ CHA BAR โดยตั้งใจทำชานมไข่มุก Low Calorie ส่วนผสมทุกอย่างต้องใช้วัตถุดิบอย่างดีกรรมวิธีผลิตแบบเฉพาะ ซึ่งต้องผ่านการศึกษารายละเอียดเยอะมากกว่าจะได้ชานมไข่มุกหนึ่งแก้ว กลายเป็น Story ที่ CHA BAR สื่อไปถึงลูกค้า รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ การตกแต่งร้าน โลโก้ ฯลฯ เน้นให้ถ่ายรูปสวยเป็นเหตุผลทำให้เกิดการบอกต่อในกลุ่มนักดื่มชาไข่มุก
“ค่อนข้างมั่นใจว่าจะทำให้เกิดการพูดปากต่อปากได้ ด้วยความที่มันแปลกใหม่มากในตอนนั้น ยิ่งกระแสมันเงียบไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้เราก็จะเป็นแบรนด์ที่โดดเด่นขึ้นมาได้ง่าย” นิวกล่าวเสริม
สูตรใหม่ลงตัวที่ได้จากลูกค้า
แม้จะได้ทำเลทองซอยละลายทรัพย์ ซึ่งเป็นแหล่งคนทำงาน แต่ก็มีข้อจำกัดคือ ช่วงเวลาที่พีกคือ เช้ากับเที่ยง เท่านั้น ฉะนั้นวันแรกพวกเธอตั้งเป้าไว้น่าจะยังขายได้ไม่มากนัก
เจ้น: ด้วยความที่คิดว่าช่วงแรกไม่น่าจะมีลูกค้ามากนัก คิดว่ามาปั้นไข่มุกแล้วค่อยๆ ต้มไปขายไป ปรากฏว่าวันแรกไข่มุกหมดไวมาก พอวันที่ 2 ไม่ได้กินข้าวกันเลย ถึงแม้พื้นที่ตรงนั้นบังคับให้ร้านเปิด 7 โมงเช้า แต่พวกเรามีงานประจำกันจึงเปิดร้านได้ประมาณ 10 โมง ปรากฏว่ามีลูกค้ามารอแล้ว ทำให้ชงชาไม่ค่อยทัน ต้องปรับกลยุทธ์บางอย่าง เช่น แบ่งกันปั้นไข่มุกที่บ้านไว้ก่อน
นิว: ประสบการณ์ของเราเวลาซื้อชานมต้องสั่งลดหวานทุกครั้งเลย เลยคิดว่าไม่อยากให้ลูกค้าต้องมาเจอแบบนี้ อยากให้สบายใจว่าซื้อชาร้านนี้ได้หวานน้อยแน่นอน แต่ช่วงแรกๆ คนจะไม่เข้าใจว่า ทำไมมันจืดเหมือนน้ำเปล่า ต้องคอยปรับสูตรซึ่งสุดท้ายมันคือแคลกับรสชาติที่คนรับได้ คือหวานปกติจะเท่ากับ 25 เปอร์เซ็นต์ของทั่วไป แล้วก็เพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า ขยายท็อปปิ้งมากขึ้น
ขยาย 4 สาขาใน 2 ปี
หลังจากเปิดร้านได้ 6-7 เดือนเมื่อกระแสตอบรับเป็นไปในทิศทางที่ดี พวกเธอจึงตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อทุ่มเทให้กับร้านอย่างเต็มตัว พร้อมกับเริ่มขยายสาขาจากสีลม สยามสแควร์ สยาม และเซ็นทรัล ลาดพร้าว
นิว ทุกสาขายังคงรักษาคอนเซปต์เดิมคือ ชงสดทีละแก้ว ทุกจุดต้องโฟโต้เจนิกคือ ถ่ายรูปขึ้น พยายามสื่อสารออกไปว่าของเรา Low Calorie ทำสด ใช้วัตถุดิบที่ดี ฉะนั้นลูกค้าที่มาที่ร้านทั้งสาขาสยาม สีลม จะได้กลิ่นน้ำตาลมะพร้าว หรือกลิ่นชาตลอดเวลา แล้วทุกเพจ ทุก Influencer ที่มารีวิวจะเห็นขั้นตอนการเทนมว่าเราใช้นมสด ชาสด
นาว อย่างตอนแรกกลุ่มเป้าหมายเราเป็นพนักงานออฟฟิศ แต่พอมาอยู่สยามกลายเป็นเด็กนักเรียน นักศึกษา บางแคมเปญเราพยายามปรับเมนูให้ดูสดใส แทรกกิมมิกน่ารักๆ เช่น แจกสติกเกอร์ฟรี
นาว ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา จะได้รับอีเมลมาจากต่างประเทศ อเมริกา ดูไบ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ติดต่อมาเยอะมากสนใจแบรนด์เรา ซึ่งเราก็ดีใจมากๆ แต่เราก็พยายามบอกทุกคนว่าเรายังไม่พร้อมทำแฟรนไชส์
การปรับตัวรับสถานการณ์ Red Ocean
เมื่อธุรกิจเติบโตแต่คู่แข่งก็เพิ่มมากขึ้น จากช่วงแรกๆ ที่พูดถึงชานมชื่อของ cha bar จะอยู่ในลิสต์อันดับต้นๆ แต่หลังจากผ่านไป 6-7 เดือน กระแสชานมในเมืองไทยก็กลับมาเปรี้ยงอีกครั้ง มีชานมไข่มุกแฟรนไชส์เมืองนอกผุดขึ้นมามากมายจาก ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลี ซึ่งร้านแฟรนไชส์เหล่านี้มีข้อได้เปรียบคือ ทุนหนา มีสาขาจำนวนมาก
นาว เราก็กังวลมีคิดว่าจะทำอย่างไรดี สุดท้ายเราได้บทสรุปว่า ที่คนรัก cha bar เพราะเป็นแบบนี้ เลยคิดว่าจะปรับให้ทันสมัยขึ้น พยายามหาเมนูที่ลูกค้าเข้าถึงง่าย เจ้นกับนิวก็พยายามหาวัตถุดิบใหม่ๆ มาใช้ แล้วก็อุดรอยรั่วที่เรามี สิ่งไหนที่พัฒนาได้ก็พัฒนา เน้นโปรโมตเรื่อง Low Calorie สื่อสารออกไปให้มากขึ้นว่าแต่ละเมนูของเรา Low Calorie จริงนะ
นิว บริการของเราจะเหมือนร้านข้างบ้านไม่ได้ ต้องมีไดอะล็อกการพูดการบริการ ให้ลูกค้ามั่นใจ รู้สึกว่าแบรนด์เราโตขึ้น
เจ้น พยายามออกเมนูใหม่ เจ้นกับนิวคิดกันทุกเดือนจะเปลี่ยนตาม Seasonal ของวัตถุดิบหรือตามเทศกาล ช่วงนั้นคือดีมาก มีเมนูใหม่มาแล้วจะมีคอนเทนต์เกิดขึ้นตลอด
Cha Bar ไม่ใช่แค่ชานมไข่มุก
นิว ถ้าชานมไข่มุกขาลง นี่คือคำถามที่น่ากลัวมาก เมื่อใดที่เทรนด์ชานมไข่มุกซา เมื่อนั้นเราจะทำธุรกิจลำบาก ฉะนั้นสิ่งที่เราคิดคือถ้าคนไม่ได้มอง cha bar เป็นแค่ชานมไข่มุกล่ะ แต่มองเป็นแบรนด์ที่เอาวัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพมาเสนอให้เขาในรูปแบบใหม่ ฉะนั้นเราจะแตกไลน์โปรดักต์ของหวานที่ดีต่อสุขภาพ
นาว พวกเราก็คิดกันเอาไว้แล้ว สิ่งที่เราจะทำเพื่อรับมือหากกระแสชานมไข่มุกจะหายไป คือตอนนี้เราเริ่มที่จะแตกไลน์โปรดักต์ เป็นเจลาโต้ มิลค์เชค และในอนาคตที่วางแผนเอาไว้คือจะมีขนม หรือเป็น Nice Dessert คือไม่ใช่แค่ร้านเครื่องดื่มแล้ว อะไรที่ให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น อยากให้ cha bar เป็นแบรนด์ที่ไม่ได้มีแค่ชานมไข่มุก เป็น Top of Mind ว่าเป็นแบรนด์ไทย โดยคนไทย วัตถุดิบไทยที่ทะลุไปในเอเชียได้
เจ้น ถ้าพูดจริงๆ เป็นเหมือนความฝันเลยคือ อยากให้เป็นแบรนด์ชานมไข่มุกแบรนด์แรกที่ได้มิชลิน สตาร์ แต่ก็คงจะยาก อยากให้เป็นแบรนด์ที่คนมองเห็นเข้าใจว่าเราตั้งใจทำจริงๆ
นิว สิ่งที่อยากเห็นคือ ไม่ว่าสื่อใดก็ตามพาดหัวข่าวว่าเทรนด์สุขภาพแบบไทยไปไกลระดับโลก ถามว่าคืออะไร ตอนนี้ไม่ใช่แค่น้ำชานมแก้วหนึ่ง แต่รวมทุกๆ อย่างที่มีผลดีต่อสุขภาพ เช่น เก้าอี้ที่ดีต่อสุขภาพ นั่นคือเทรนด์สุขภาพที่เราจะทำ
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup