Starting a Business
B-Garlic นวัตกรรมกระเทียมดำขยับราคากระเทียมไทยถึง 30 เท่าเข้าไปเขย่าตลาดค่อนโลก
Main Idea
- ความพยาพยามที่จะหลุดพ้นวงจรสงครามราคา นำไปสู่นวัตกรรมกระเทียมดำเพิ่มคุณค่าทางอาหาร แต่กลับเป็นหลุมดำในการขอมาตรฐานอย. ด้วยติดที่คำว่า Novel Food
- เมื่อไม่ละความพยายาม ไม่เพียงได้ใบเบิกทางฉลากอย. ยังสามารถยกระดับราคากระเทียมไทยจากหลักสิบเป็นหลักพัน และพากระเทียมไทยไปเปิดตลาดได้กว่าค่อนโลก
เจ็บปวดแค่ไหนที่เห็นกระเทียมที่ขายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันขายได้ราคาดีสุดคือหลักร้อยบาทต่อกิโลกรัม หรือถ้านำไปแปรรูปเป็นกระเทียมดองได้ราคาสูงขึ้นมาหน่อยประมาณกิโลกรัมละ 500 บาท แม้จะได้ราคาสูงขึ้นแต่ก็ยังห่างไกลกับกระเทียมดำของญี่ปุ่นที่ขายได้ถึงกิโลกรัมละ 5,000 พันบาท ตัวเลขที่ต่างกันถึง 10 เท่านี้ ทำให้ นพดา อธิกากัมพู หนุ่มชาวเหนือกลับมาคิดว่าต้องสร้างนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเพื่อเป็นทางรอดของธุรกิจ ที่พึ่งแรกในการสร้างนวัตกรรมของเขาก็คือ ความรู้ในโลกออนไลน์ช่วยให้เขาค้นพบวิธีผลิตกระเทียมดำแบบง่ายๆ โดยใช้อุปกรณ์คือ หม้อหุงข้าวนำมาผ่านกระบวนการอบบ่ม (Fermentation) ที่อุณหภูมิสูงในสภาวะที่มีความชื้นใช้เวลาบ่มไม่ต่ำกว่า 30 วัน
แม้กระเทียมจะเป็นอาหารที่คนไทยคุ้นเคยแต่กับกระเทียมดำแล้วก็ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของผู้บริโภค เขาจึงหยิบเอากระเทียมโทนมาแปรรูปเป็นกระเทียมดำเพื่อให้ง่ายต่อทำการตลาดที่จะล้อไปกับความรู้สึกคนไทยที่คุ้นเคยว่า กระเทียมโทนคือยา
นพดาอธิบายต่อไปว่า การนำกระเทียมไปผ่านกระบวนการควบคุมความชื้นและอุณหภูมิ เพื่อกระตุ้นให้เอนไซม์ในกระเทียมทำงาน เปลี่ยนขนาดโมเลกุลให้เล็กลงทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้ทันที มีรสชาติหวาน ไม่เผ็ด ไม่มีกลิ่นฉุน รับประทานง่าย ที่สำคัญส่งผลให้มีคุณค่าทางสารอาหารสูงกว่ากระเทียมสดถึง 13 เท่า
ด้วยคุณสมบัติที่เพิ่มขึ้นของกระเทียมดำทำให้จากหม้อหุงข้าวจำนวน 1 ใบก็เพิ่มจำนวนเป็น 10 ใบ และมารู้ตัวอีกครั้งในบ้านนพดาก็มีหม้อหุงข้าวถึง 80 ใบ แม้จะได้รับการตอบรับดีจากผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพชื่นชอบว่าทานกระเทียมดำแล้วไม่เวียนหัว ความดันลดลง หลับง่ายขึ้น ฯลฯ แต่ก็มีอีกหลายเสียงที่ติงว่ารสชาติกระเทียมดำไม่สม่ำเสมอ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ บริษัท นพดาโปรดักส์ จำกัด เพื่อสร้างโรงงานและเครื่องจักรที่สามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้นทำให้กระเทียมดำมีรสชาติสม่ำเสมอ และยังผลิตได้เร็วขึ้นจากที่ใช้เวลา 30 วัน เหลือเพียง 15 วัน ที่สำคัญยังทำให้สามารถขยับราคากระเทียมจากกิโลกรัมละ 30-40 บาทขยับเป็น 1,200 บาทต่อกิโลกรัม
“จากวันแรกที่ผมตัดสินใจทำกระเทียมดำผมมีเซลล์อยู่สองคน ถ้าขายได้แค่วันละ 10 กิโลกรัม พวกเราก็แทบปิดบริษัทกินเลี้ยงแล้ว”
ผู้บริโภคไม่รู้จัก รัฐไม่เข้าใจ
ถึงจะเป็นเรื่องใหม่กับผู้บริโภค แต่ด้วยรสชาติที่ผู้บริโภคบอกต่อปากต่อปากนพดาจึงใช้เวลาไม่นานนักที่จะขยับยอดขายของเขาขึ้นมา ต่างจากการเดินหน้าขอมาตรฐานอย. ที่ทำให้ขาข้างหนึ่งของเขาแหย่เข้าไปในห้องขัง เนื่องจากผลิตภัณฑ์กระเทียมดำนั้นเป็น Novel Food คือ เป็นอาหารชนิดใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมแปลกใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในการผลิต
“เมื่อสองปีที่แล้ว มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำจังหวัดมาบอกให้ผมหยุดผลิต เนื่องจากกระเทียมดำไม่มีในสารบบอาหารไทย ผมต้องพยายามเข้าไปพบเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขไปเจรจาว่าต้องให้ทำอย่างไรบ้าง รวมทั้งไปเจรจากับกระทรวงพาณิชย์เพราะเมื่อไม่มีอย. เราไม่สามารถส่งออกได้ ไม่สามารถนำกระเทียมดำแปรรูปเป็นแคปซูล หรือพัฒนาให้อยู่ในส่วนประกอบของอาหารอื่นๆ ก็โชคดีที่ได้ทางกระทรวงพาณิชย์ช่วยด้วยอีกแรง”
เมื่อถามถึงสาเหตุที่ทำให้นพดา ดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งมาตรฐานอย. นั้นเขาบอกว่าอย. เหมือนใบเบิกทางไปสู่ตลาดทุกแห่งในโลกแล้ว ตัวกระเทียมดำยังเป็นนวัตกรรมที่จะช่วยให้เขาไม่ต้องกลับไปสู่จุดเดิมอีก
“เราก็ได้หลายฝ่ายคอยช่วยเหลือทั้งอาจารย์ และหน่วยงานต่างๆ คิดว่าฝั่งฝันไม่ไกลยังไงก็ต้องไป ทำให้วันนี้ผมกลายเป็นบริษัทแรกและบริษัทเดียวที่ได้ อย.”
เมื่อมีใบเบิกทางชั้นดีอย่างมาตรฐานอย. นพดาจึงเริ่มนำผลิตภัณฑ์ไปร่วมงานแสดงสินค้าระดับประเทศอย่างงาน THAIFEX ทำให้มีโอกาสได้พบเจอตัวแทนจำหน่ายจากประเทศญี่ปุ่นที่ติดใจรสชาติกระเทียมดำของ B-Garlic ที่มีความหวานแตกต่างจากกระเทียมดำของญี่ปุ่นที่ออกรสเปรี้ยวจึงสนใจนำไปจำหน่าย
“รู้สึกภูมิใจที่สินค้าของไปตีตลาดญี่ปุ่น ทั้งๆ ที่เขาเป็นหนึ่งในต้นตำรับของคำว่ากระเทียมดำ เราดีใจตรงที่ว่าประเทศต้นตำรับยอมรับ”
ผลของการสร้างนวัตกรรมและการร่วมงานแสดงสินค้าทำให้กระเทียมดำของบริษัทไม่ได้รับความสนใจจากตลาดญี่ปุ่นเท่านั้นยังส่งออกไปอีกหลายที่อาทิ อเมริกา ตะวันออกกลาง ผ่านไป 7 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทมียอดขายสูงประมาณ 80 ล้านบาท
“ผมว่าเอสเอ็มอีบางคนไปมองอะไรที่ไกลตัว อยากให้มองสิ่งใกล้ๆ ตัวที่เคยทำ แล้วนำสิ่งนั้นมาพัฒนาเพระมันเป็นอะไรที่เข้าถึงได้ง่ายและเร็วกว่า แต่ก็ต้องไม่ยอมแพ้เมื่อเจอปัญหา อดทน และสร้างทีมงาน”
บางครั้งความสำเร็จก็อยู่ใกล้แค่เอื้อมถ้ารู้จักนำสิ่งใกล้ตัวมาต่อยอด เหมือน บริษัท นพดาโปรดักส์ จำกัด ที่นำกระเทียมไทยไปไกลในตลาดโลก
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup