Starting a Business

Marbling Art เทคนิคลายผ้าบนผิวน้ำจากตุรกีที่แจ้งเกิดธุรกิจในฝันให้สาวอยุธยา


Text: Neung Cch




Main Idea
 
  • การออกแบบลายผ้าแบบเดิมๆ เป็นข้อจำกัดในเส้นทางธุรกิจ 
 
  • สู่การปฏิรูปลายผ้าแบบใหม่ที่ได้เทคนิคจากตุรี เพื่อมาสร้างธุรกิจในฝันของตัวเอง



            ตั้งแต่จำความได้ก็คลุกคลีกับงานออกแบบผ้าลายครามของที่บ้านกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ วลีพร ผงบุญตา (ลูกปัด) เลือกเรียนคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น ยามว่างจากการเรียนก็ได้มาช่วยงานที่บ้าน ช่วยแม่ขายของตามงานแสดงสินค้าต่างๆ ทำให้ได้พบเห็นลวดลายผ้าส่วนใหญ่มักเป็นวิธีการเดิมๆ เช่น ถ้ามัดย้อมธรรมชาติก็จะเป็นสีจากคราม ในขณะที่ตัวเธอเองมีแรงบันดาลใจที่อยากทำลายผ้าให้มีสีสันมากกว่าที่เป็นอยู่


                จากคำถามที่อยู่ในใจก็เริ่มกลายเป็นไอเดียเมื่อได้ฟังเลกเชอร์ในชั้นเรียนที่อาจารย์สอนเทคนิคการทำลวดลายผ้าต่างๆ ถ้าเป็นของประเทศไทยก็จะมีการมัดย้อม การทำผ้าบาติก แต่ที่เธอสะดุดหูมากที่สุดคือ เทคนิคการทำลายผ้าบนผิวน้ำ หรือ Marbling Art จากประเทศตุรกี





                ไม่ต้องรอให้มีคำถามเกิดขึ้นในใจอีกต่อไปว่า Marbling Art คืออะไร วลีพร ค่อยๆ เรียนรู้เทคนิคด้วยตัวเองจากข้อมูลหลายๆ แห่งจนทำให้ทราบว่า Marbling Art ​ คือเทคนิค​ การ​หยด​ สะบัด​สี​วาดลวดลวย ลงบนพื้นผิวน้ำ ​(เจล) และพิมพ์ภาพลงบนวัสดุต่างๆ อาทิ กระดาษ​ ผ้า​ ไม้​ แผ่นหนัง​ๆ​ ซึ่งลวดลายที่เกิดขึ้นคล้ายชั้นของหิน​ ​จึงเรียกงานศิลปะ​ชนิดนี้ว่า​ Marbling Art นั่นเอง


                แม้ความรู้และข้อมูลที่ค้นคว้ามาจะเริ่มแน่นขึ้น แต่ก็คงไม่ทำให้เข้าใจได้ลึกซึ้งเท่ากับลงมือปฏิบัติ จากที่หาแค่ตำราก็พัฒนาเป็นการหาวัสดุมาลองทำจริง




                “ที่สนใจเพราะมันเหมือนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ จะต้องผสมสีอย่างไร ลายผ้าจะติดได้ยังไงเพราะไม่ได้มีตัวเคลือบเหมือนบาติก อีกอย่างหนึ่งคือเทคนิค Marbling Art นี้แพร่หลายไปยุโรป จีน ญี่ปุ่น แต่ในช่วงสองปีที่แล้วเมืองไทยยังไม่ค่อยมีใครรู้จักเทคนิคนี้มากนัก”


                สาวอยุธยาขยายความให้ฟังว่าสาเหตุที่ช่วงนั้นเทคนิคลายผ้าบนผิวน้ำยังไม่ค่อยได้รับความนิยม อาจเพราะหลายคนยังไม่ค่อยเข้าใจแม้แต่เรื่องวัสดุ ซึ่งการวาดลวดลายบนน้ำแท้จริงแล้วไม่ใช่น้ำเปล่าแต่เป็นเจลซึ่งมีความหนืด ความหนาแน่นทำให้สีไม่จมลงไปในน้ำแต่ติดที่ผ้า ที่เธอพัฒนาจนเป็นสูตรของตัวเอง


                เมื่อได้สูตรเป็นที่พอใจวลีพรจึงเริ่มนำหมวกมาเป็นสินค้านำร่อง จำหน่ายภายใต้ชื่อแบรนด์ Walee Marbling Art พาไปโชว์ตัวตามงานแสดงสินค้าต่างๆ และการโปรโมตทางสื่อออนไลน์ทั้งเฟซบุ๊ก โดยเฉพาะอินสตาแกรมที่วลีพร พยายามนำลวดลายต่างๆ ที่เธอออกแบบไว้ อาทิ ลายหางนกยูง ลายดอกไม้ ลายฟันปลา ส่งผลให้ลวดลายเหล่านี้ไปเข้าตาลูกค้าบางคนส่งผ้าปูที่นอนมาให้เธอเติมลวดลาย





                “ไม่รู้ว่าเอาความมั่นใจมากไหนว่ามันสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจได้ รู้แต่ว่าไม่ได้ทำเล่นต้องทำได้จริง ช่วงแรกมีสีหลุดบ้างไม่ติดบ้าง ไม่ท้อลองสูตรปรับใหม่ คิดว่าถ้าเราผ่านได้ก็เจ๋ง อยากเป็นคนเก่งที่ประสบความสำเร็จแบบคนอื่นๆ บ้าง”

            ปัจจุบัน Walee Marbling Art ได้ต่อยอดผลิตภัณฑ์จากหมวกไปเป็นสินค้าอีกหลายชนิดทั้งผ้าพันคอ หน้ากากอนามัย เสื้อผ้า กระเป๋า ที่เจ้าตัวบอกว่าประสบความสำเร็จเกินคาด


            “ตอนแรกคิดแค่จะหาเงินใช้เองเพียงคนเดียว กลายเป็นว่าตอนนี้เราสามารถกระจายรายได้ไปให้ช่างตัดผ้ามีรายได้ส่งให้ลูกได้เรียน ภูมิใจมากเพราะมันเป็นธุรกิจในฝัน แต่ยังไงจะพัฒนาต่อไปอีกค่ะ” วลีพร กล่าวทิ้งท้าย
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup