Starting a Business

“หอม โฮสเทล” จากที่พัก สู่ Cloud Kitchen ครัวกลางใจเมือง

Text : นนท์ธวัช ไชยวัง Photo : กิจจา อภิชนรจเรข

 

Main Idea
 
  • มีหลายธุรกิจที่ฮึดสู้หลังจากเจอผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยการปรับโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ให้สอดรับกับวิถีใหม่
 
  • HOM hostel & cooking club คือหนึ่งในนั้น จากโฮสเทลเล็กๆ เพราะการปรับตัวทำให้เกิดธุรกิจใหม่ นั่นคือ HOM Cloud Kitchen
 



     วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบเป็นโดมิโน สะเทือนไปทุกหย่อมหญ้า หลายธุรกิจไปไม่รอดก็ล้มหายตายจาก แต่ก็มีหลายธุรกิจที่ฮึดสู้ด้วยการปรับโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ให้สอดรับกับวิถีใหม่ หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักคือ ธุรกิจโรงแรม โฮสเทลต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวหายเกลี้ยง ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนิวนอร์มอล และ HOM hostel & cooking club คือหนึ่งในนั้น

     หอม โฮสเทล แอนด์ คุกกิ้ง คลับ (HOM hostel & cooking club) เป็นโฮสเทลเล็กๆ ตั้งอยู่บนชั้น 4 ของศูนย์การค้านานาสแควร์ ที่มีจุดเริ่มต้นมาพร้อมกับคอนเซปต์เชื่อมโยงผู้คนด้วยอาหาร ภาวลิน ลิมธงชัย มาสะกี หรือ “ตูน” เจ้าของ HOM hostel & cooking club เล่าย้อนให้เราฟังว่า เมื่อมีโอกาสได้ทำโฮสเทลตามความฝัน ประกอบกับเป็นคนชอบทำอาหารทำให้ HOM hostel & cooking club เป็นโฮสเทลที่มีคอนเซปต์ชัดเจนและแตกต่างจากที่อื่นๆ





     “เราต้องการสร้างจุดขายที่แตกต่างไปจากโฮสเทลอื่น ด้วยความที่เป็นคนชอบทำอาหารตั้งแต่เด็กเลยอยากใช้อาหารเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน โดยมีครัวให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้อาหารไทย วัฒนธรรมไทย ทำอาหารรับประทานเอง รวมถึงการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนอะไรหลายๆ อย่างกับนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ชาติอื่นๆ ที่มาพักที่เดียวกัน ซึ่งคำว่า ‘หอม’ ซึ่งเป็นชื่อโฮสเทล มีความหมายว่า หอมกลิ่นอาหาร กลิ่นอายของวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ ที่หอมไปทั่วที่พักแห่งนี้”

     ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปี ธุรกิจได้รับการตอบรับดีมากๆ จากนักท่องเที่ยวยุโรป และเอเชียที่เริ่มเข้ามาอย่าง จีน ไต้หวัน  เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ในขณะที่ธุรกิจกำลังไปได้ด้วยดี แต่ต้องมาสะดุดเพราะโควิด-19 ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาพักเลย ทำให้ต้องคิดและปรับโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อความอยู่รอด ด้วยการทำโมเดล “ครัวกลาง ใจกลางเมือง” HOM Cloud Kitchen โดยจะใช้ชั้น 3 ของศูนย์การค้านานาสแควร์ ทำเป็นครัว 9 ร้าน ซึ่งจะดึงร้านอาหารดัง หรือเจ้าเก่าแก่ มาเช่าพื้นที่ครัวในการเป็นฐานการผลิตใหม่เพื่อส่งดิลิเวอรีโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ยังจะมีครัวของตัวเองด้วยเพื่อให้พนักงานทำอาหารส่งตรงถึงพนักงานออฟฟิศ ออฟฟิศบิวดิ้ง และคอนโดมิเนียมที่อยู่อาศัยในย่านนั้น

     “รูปแบบคือ เราจะดึงร้านอาหารดังมาทำการตลาดร่วมกัน โดยร้านอาหารเหล่านั้นก็ส่งดิลิเวอรีเป็นประจำอยู่แล้ว พอร้านอยู่ไกลจากย่านสุขุมวิท ลูกค้าสั่งอาหารก็จะเสียค่าส่งในอัตราที่สูง ส่วนตัวร้านค้าเองก็เสียค่า GP สูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น โมเดล HOM Cloud Kitchen มีข้อดีคือ ร้านอาหารสามารถยกครัวที่อยู่ไกลๆ มาเช่าพื้นที่ทำครัวได้เลย สามารถคุมคอส์ทการผลิตได้ และทำการตลาดดิลิเวอรีในย่านสุขุมวิท วิทยุ เพลินจิต ได้เลย เพราะที่นี่มีดีมานด์การสั่งอาหารดิลิเวอรีสูงอยู่แล้ว ทำให้ลูกค้าได้อาหารไว ค่าขนส่งที่ถูก ที่สำคัญร้านไม่เสียค่า GP ให้บริษัทขนส่ง”



 

     สำหรับรูปแบบการสั่งจะไม่ใช่การสั่งผ่านแอปพลิเคชัน แต่อาจจะเป็น LINE@ สั่งอาหารแทน และใช้พนักงานกระจายส่ง ซึ่งช่วงแรกๆ อาจต้องขอความร่วมมือร้านค้าที่มีหน้าร้านเดิมช่วยแจกใบปลิวประชาสัมพันธ์ หรือให้พนักงานแจกใบปลิวในย่านสุขุมวิท สร้างการรับรู้ และยังจะทำ CSR ร่วมกับมูลนิธิต่างๆ ให้คนที่ตกงาน หรืออยากมีงานทำ มาทำงานส่งอาหาร หรือมาเรียนการทำอาหาร พร้อมการเรียนเรื่องการตลาด การสร้างแบรนด์ด้วย นอกจากนี้ ยังจะให้เช่าครัวสำหรับการทำเวิร์กช็อปกัน เช่น ยูทูเบอร์ อีกด้วย

     ตูนฉายภาพว่า จากนี้ไปธุรกิจโฮสเทลที่มีมากในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต จะปิดตัวลงมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่เล็กสายป่านสั้น ที่สำคัญจะถูกโรงแรมขนาดกลาง ขนาดเล็ก ดัมพ์ราคาต่ำลงมาสู้ จะทำให้เกิดสงครามราคาขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการโฮสเทลจะต้องหาจุดขายที่เน้นการสร้างคุณค่าแบรนด์เข้าสู้ ในส่วนของหอม โฮสเทล เตรียมปรับห้องพักให้เหลือแค่ 1 ห้อง นอนได้ 4 คน จะเพิ่มราคาและการบริการให้ดีขึ้น ส่วนที่เหลือไว้เป็นที่พักพ่อครัว เพราะจะไปเน้นโฟกัสที่ Cloud Kitchen เป็นหลัก


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup