Starting a Business

Food Delivery กับนัยสำคัญของการปรับตัวในธุรกิจอาหาร ในมุมมองของ “เกษม พฤกษานานนท์”

Text : อนัญชนา สาระคู  Photo :  Pae.yodsurang
 
 

 
Main Idea
 
  • วิกฤตโควิด-19 กลายเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ห่วงโซ่คุณค่าในธุรกิจ Food Delivery ต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ ทั้งผู้บริโภค ร้านอาหาร    
 
  • เกษม พฤกษานานนท์ จาก Wongnai มาเผยมุมมองการสร้างมาตรฐานใหม่ของการใช้ชีวิตแบบใหม่ ที่ Food Delivery จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และในระยะยาวแล้วธุรกิจนี้จะยังคงเติบโตต่อไป
 

 

     ในช่วงที่ทุกคนต้องกักตัวอยู่บ้านเพื่อช่วยกันหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นั้น ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่ได้เห็นชัดเจนคือ ผู้บริโภครู้จักการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันกันมากขึ้น ธุรกิจที่อยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีจึงมีความคึกคัก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ Food Delivery กลายเป็นธุรกิจที่เข้ามาสอดรับกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในปัจจุบัน

 
ถนนทุกสายมุ่งหน้าสู่ Food Delivery

     วิกฤตโควิด-19 กลายเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ห่วงโซ่คุณค่าในธุรกิจ Food Delivery ต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ ทั้งผู้บริโภค ร้านอาหาร รวมทั้งผู้ให้บริการอย่าง Wongnai  และ LINE MAN พันธมิตรที่ร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชันสั่งอาหารออนไลน์ โดย เกษม พฤกษานานนท์ Business Development Manager จาก Wongnai กล่าวว่า ในช่วงโควิดตลาดเดลิเวอรีเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งจำนวนผู้บริโภคที่หันมาใช้บริการมากขึ้น และร้านอาหารทั้งรายเล็กรายใหญ่ต้องปรับตัวเพื่อสร้างรายได้ในช่วงที่หน้าร้านไม่สามารถเปิดให้บริการแก่ลูกค้าได้ตามปกติ จึงมุ่งเข้าสู่ธุรกิจ Food delivery เป็นจำนวนมาก

     ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารที่ไม่เคยใช้บริการ Food Delivery มาก่อน หรือร้านที่เคยใช้อยู่แล้ว แต่เมื่อหน้าร้านถูกปิดลงช่องทางเดียวที่ร้านค้าพอจะมองหาโอกาสในการสร้างรายได้คือช่องทางออนไลด์ผ่านแพลตฟอร์ม Food Delivery ยังไม่นับรวมร้านค้าหน้าใหม่ทั้งมืออาชีพและสมัครเล่นที่ใช้ช่องทางนี้ในการหารายได้





     “สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้เห็นว่าธุรกิจที่ปรับตัวได้เร็ว ก็จะสามารถอยู่รอดได้แม้ในสถานการณ์วิกฤต ส่วน Wongnai เอง เราได้เรียนรู้ที่จะต้องปรับตัวเช่นกัน และการที่เราเป็นบริษัทเทคโนโลยีทำให้สามารถปรับตัวได้เร็ว เห็นได้จากช่วงวิกฤตมีร้านอาหารต้องการเข้าสู่ตลาดเดลิเวอรีเป็นจำนวนมาก เราจึงปรับปรุงกระบวนการทำงานหลังบ้านให้รวดเร็วขึ้น สามารถรองรับร้านค้าใหม่ๆ เข้ามาได้เร็วขึ้นและมากขึ้น ซึ่งตอนนั้นรับได้ถึง 1,500 ร้านค้าต่อวัน นอกจากนี้ ยังได้ออกฟีเจอร์ใหม่ๆ เช่น การให้ร้านอาหารบริหารจัดการคำสั่งซื้อด้วยตัวเอง รวมทั้งออกโปรโมชั่นต่างๆ ได้เอง การเพิ่มฟีเจอร์ Pickup เป็นระบบการสั่งซื้อล่วงหน้าทางออนไลน์และลูกค้าจะไปรับอาหารด้วยตัวเอง”   

     Wongnai ยังเห็นโอกาสในการขยายตลาดให้ครอบคลุมมากขึ้นด้วย ซึ่งนอกจากจะรองรับการขยายตัวของธุรกิจ Food Delivery แล้ว ในอนาคตหากมีการระบาดของเชื้อโควิดระรอกใหม่ ธุรกิจจะสามารถเข้าไปสนับสนุนร้านอาหารในต่างจังหวัดได้มากขึ้น



เมื่อพฤติกรรมการสั่งอาหารของผู้บริโภคเปลี่ยนไป
              
     ทั้งนี้ หากมองถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค อาจบอกได้ว่าวิกฤตโควิดคือตัวเร่งที่ทำให้ผู้บริโภคต้องหันไปพึ่งพาเทคโนโลยีกันมากเพื่อทดแทนการใช้ชีวิตในรูปแบบปกติเดิมที่ไม่สามารถทำไม่ได้ ผู้บริโภคซึ่งไม่เคยใช้บริการเดลิเวอรีมาก่อน ก็ได้มีประสบการณ์ในการสั่งอาหารออนไลน์ เกิดการเรียนรู้การกินอาหารที่บ้านมากขึ้น

     “พฤติกรรมการสั่งอาหารเดลิเวอรีในช่วงโควิดก็เปลี่ยนแปลงไป จากก่อนโควิดการสั่งอาหารส่วนใหญ่จะเป็นแบบสั่งคนเดียวสำหรับกินคนเดียว แต่พอเกิดโควิดพบว่าคำสั่งอาหารออนไลน์เปลี่ยนไปเป็นการสั่งสำหรับคนกลุ่มใหญ่ ซึ่งพบว่าคำสั่งในลักษณะนี้มีปริมาณมากขึ้น ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคว่าเริ่มเปลี่ยนไป คนได้เรียนรู้แล้วว่าการกินอาหารเป็นกลุ่ม จะกินกับเพื่อนๆ หรือกินเลี้ยงภายในครอบครัวไม่จำเป็นต้องไปกินนอกบ้าน แต่สามารถสั่งมากินที่บ้านได้ เช่น เมนูสุกี้ ก็ยังสามารถสิ่งมากินที่บ้านได้”
ดังนั้น จึงถือเป็นการปรับตัวให้อยู่รอดในช่วงโควิด และยังกลายเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ของการใช้ชีวิตแบบใหม่อีกด้วย





     เกษมบอกอีกว่า เมื่อสถานการณ์โควิดในไทยคลี่คลายลง การสั่งอาหารอาจจะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ เพราะว่าพฤติกรรมคนที่อัดอั้นมานานทำให้คนส่วนใหญ่อยากจะออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านกันบ้าง จึงอาจจะมีช่วงสะอึกของธุรกิจ Food Delivery แต่ในภาพรวมระยะยาวแล้วมองว่าธุรกิจนี้จะยังคงเติบโต ดังนั้นการปรับตัวของธุรกิจร้านอาหารในยุค New Normal จึงมีความสำคัญ

      “การปรับตัวให้สอดรับกับ New Normal นั้นมองว่าร้านอาหารจำเป็นต้องรู้จักตัวเอง รู้ว่าสินค้าของตนเองนั้นเหมาะสมกับสถานการณ์แบบไหน และอย่างไร ที่สำคัญคือต้องรู้จักและเข้าใจในโครงสร้างต้นทุนของตนเอง เพื่อเวลาเกิดวิกฤตอะไรขึ้นมา จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและรู้ว่าร้านตนเองสามารถทำโปรโมชันได้มากน้อยแค่ไหน ถัดมาคือเข้าใจลูกค้าว่าคือใคร ต้องการอะไร และเข้าใจในตลาดของตัวเอง สุดท้ายก็คือการปรับตัวด้วยการรู้จักเติมไอเดียเข้าไปในการทำตลาด เช่น การจัดทำโปรโมชั่นต่างๆ ควบคู่กันไป เพราะตลาดฟู้ด เดลิเวอรีที่กำลังเติบโตอยู่นี้ การแข่งขันของร้านอาหารก็ย่อมต้องมีสูงขึ้นตาม”  





     อย่างไรก็ดี ในวิกฤติโควิด ทำให้เห็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ร้านอาหารใดปรับตัวไม่ทันก็ต้องปิดตัวไป แต่ก็จะเกิดร้านอาหารใหม่ๆ เข้ามาทดแทนอยู่เสมอ

     เกษม กล่าวปิดท้ายว่า ร้านอาหารในรูปแบบ Dining  จะยังเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดของภาพรวมธุรกิจร้านอาหาร เพราะเน้นการสร้างประสบการณ์การกินอาหารที่ร้านมากกว่าการสั่งอาหารออนไลน์ แต่ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หลากหลายและการเรียนรู้ประสบการณ์การสั่งอาหารเดลิเวอรีในช่วงโควิด ทำให้ตลาดกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ร้านอาหารจึงควรต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับวิถีใหม่ๆ ของผู้บริโภค และเพิ่มเดลิเวอรีเป็นอีกช่องทางหนึ่ง
              

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup