Starting a Business

คัมภีร์ความสำเร็จของ “ราฟี ริดวัน” ดีไซเนอร์พิการและเด็กสุดในวงการแฟชั่นอินโดนีเซีย

Text : Vim Viva
 


 
Main Idea
 
  • แม้จะพิการมาแต่กำเนิด หูไม่ได้ยิน และปากเปล่งเสียงไม่ได้ แต่ราฟี  อับดูร์ราห์มาน ริดวาน ดีไซเนอร์หนุ่มวัย 18 ปีจากอินโดนีเซียก็ค้นพบสิ่งที่ชอบและพรสวรรค์ของตัวเองตั้งแต่อายุ 5 ขวบจนนำไปสู่การมีแฟชั่นโชว์ของตัวเองตั้งแต่อายุเพียง 9 ขวบ
 
  • ทั้งยังได้รับเลือกให้เป็นผู้ออกแบบคอลเลคชั่นเสื้อผ้าสำหรับ America’s Next Top Model รายการทีวีอันโด่งดังของสหรัฐฯ ที่ไปถ่ายแบบที่บาหลี
 
  • ไปดูเส้นทางชีวิตว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร พร้อมกับเบื้องหลังฉายา  “ดีไซเนอร์ผู้ได้ยินเป็นสีสัน” (designer who hears in colours) 
 



ทำความรู้จัก ราฟี ริดวัน

     ราฟี  อับดูร์ราห์มาน ริดวาน สามารถฟันฝ่าอุปสรรคจากความพิการตั้งแต่กำเนิด และมีโอกาสได้เดินสายโชว์คอลเลคชั่นเสื้อผ้าของเขาทั้งในอินโดนีเซียและในต่างประเทศ เรียกว่าเป็นบุคคลหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในขณะที่อายุยังน้อย โดยเส้นทางชีวิตก่อนเข้ามาโลดแล่นในวงการแฟชั่นและแคทวอล์กนั้นเกิดจากความบังเอิญ และเมื่อได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว และดีไซเนอร์รุ่นใหญ่ในอินโดนีเซีย ก็ทำให้เขากลายเป็นดาวรัสแสงในเวลาไม่นาน

     ราฟีเกิดเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2002 ในกรุงจาการ์ต้า อินโดนีเซีย เขาอาจจะโชคร้ายที่หูหนวกตั้งแต่เด็กและกลายเป็นใบ้ในวัยที่หัดพูด มิหนำซ้ำสุขภาพยังไม่แข็งแรง มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ต้องเข้าออกโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น และเคยนอนป่วยติดเตียงอยู่นาน 2 ปี แต่โชคดีที่มีบิดามารดารักและให้การดูแลเป็นอย่างดี
ชินตา ฮันดายานี มารดาของเขาเล่าว่าตอนที่ราฟีอายุประมาณ 3-4 ขวบ เขาถามมารดา (เป็นภาษามือ) ว่า

     “แม่ครับ เสียงเป็นเช่นไร”

     เมื่อได้ยินคำถามของลูก คนเป็นแม่หัวใจแทบสลายและพยายามคิดหาคำตอบที่จะไม่ทำร้ายความรู้สึกของลูก เธอจึงอธิบายไปว่าเสียงนั้นก็ไม่ต่างจากสีสันที่หลากหลาย มีทั้งแดง เหลือง เขียว น้ำเงิน และสีต่างๆ โดยหวังว่าคำตอบนี้จะช่วยเติมเต็มความว่างเปล่าในชีวิตของลูกชาย    

     เมื่อได้ยินคำตอบ ราฟีก็เริ่มวาดสิ่งต่างๆ ด้วยสีสันที่สดใส จนกระทั่งอายุ 5 ขวบและเริ่มเข้าเรียนที่สันติรามา โรงเรียนสอนคนหูหนวก ขณะกำลังดูภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องเงือกน้อยผจญภัย (The Little Mermaid) ของวอลท์ ดิสนีย์ทางทีวี เขาได้ถามมารดาว่าทำไมเงือกน้อยแอเรียลถึงแต่งตัวโป๊แบบนี้ ชินตาจึงบอกกับลูกชายว่า

     “งั้นลูกก็ออกแบบเสื้อผ้าให้เธอสิ”

     ราฟีหายไปพักใหญ่ และกลับมาพร้อมภาพสเกตช์เสื้อผ้าแบบต่างๆ มีทั้งเสื้อ กระโปรง และชุดราตรีโดยมีรายละเอียดครบครัน
 




จุดเริ่มต้นของการเป็นดีไซเนอร์

     หลังจากนั้น เขาก็ไม่หยุดวาด ชินตาและสามีเมื่อได้เห็นผลงานของลูกชายจึงตัดสินใจพาเขาไปชมงานแฟชั่นโชว์และแนะนำราฟีให้รู้จักกับดีไซเนอร์มีชื่อของอินโดนีเซียโดยไม่ลืมนำภาพสเกตช์ ผลงานของราฟีไปให้ดีไซเนอร์เหล่านั้นดูด้วย ผลงานการสเกตช์ภาพของราฟีเกิดสะดุดตา บาร์ลี อัสมารา ดีไซเนอร์ชื่อดังของอินโดนีเซีย บาร์ลีจึงขอให้ราฟีมาร่วมงานกับเขาในแฟชั่นโชว์ครั้งต่อไป

     ภาพที่ราฟีสเกตช์ในกระดาษได้ถูกนำมาตัดเย็บกลายมาเป็นคอลเลคชั่นแสดงบนแคทวอล์กในขณะที่เขามีอายุเพียง 9 ขวบเท่านั้น รวมถึงการได้แสดงผลงานบนเรือนรางนางแบบ 24 คนบนเวทีจาการ์ต้าแฟชั่นวีค ปี 2011 นับจากนั้นเป็นต้นมา ราฟีก็ขะมักเขม้นกับการสเกตช์ภาพเสื้อผ้าที่เขาออกแบบเองมาตลอด

     ไม่เพียงออกแบบเท่านั้น แต่ราฟียังพิถีพิถันไปถึงการเลือกชนิดของผ้าที่จะนำมาตัดเย็บ โดยรสนิยมส่วนตัว เขาไม่ชอบผ้าสำเร็จรูปที่ซื้อตามร้านสักเท่าไร งานของเขามักเป็นการออกแบบก่อน แล้วสั่งผลิตหรือทอผ้าให้ได้ตามที่เขาต้องการเพื่อให้เข้ากับดีไซน์ งานออกแบบของเขามีตั้งแต่แฟชั่นสไตล์ฮาราจูกุไปจนถึงเสื้อผ้าสไตล์อินโดนีเซีย ชุดราตรี และชุดลำลองแบบแนวๆ    





     จุดที่เรียกได้ว่าสูงสุดในชีวิตราฟีคือการได้รับเลือกจากไทร่า แบงส์ นางแบบสาวชื่อดังที่เป็นพิธีกรรายการ America’s Next Top Model เมื่อปี 2013 ให้ออกแบบเสื้อผ้าสำหรับผู้เข้าประกวดขณะถ่ายแบบที่บาหลี นั่นเป็นความประทับใจไม่รู้ลืมของดีไซเนอร์ตัวน้อยอย่างเขา หลังจากนั้น ราฟีก็เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับเชิญให้นำผลงานไปแสดงตามเวทีต่างๆ
 

อย่ากลัวที่จะฝัน

      ทว่าหนทางสู่การเป็นดีไซเนอร์ไม่ได้ราบรื่นเสมอไป ราฟีต้องเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติอยู่บ่อยๆ หลายคนคิดว่าชื่อเสียงของราฟีไม่ได้มาจากพรสวรรค์แต่อาจจะมาจากความแตกต่างของตัวเขาเมื่อเทียบกับดีไซเนอร์คนอื่น คือความที่อายุยังน้อย แถมยังพิการอีกด้วย แม้จะถูกเหยียด และไม่เชื่อในฝีมือ แต่ราฟีก็ยังก้มหน้าก้มตาสร้างผลงานต่อไปจนสามารถ “โกอินเตอร์” ได้รับเชิญไปโชว์งานที่เวทีนอกบ้าน เช่น ที่เมลเบิร์น แคลิฟอร์เนีย เท็กซัส และมาเลเซีย

     ความฝันของราฟีคือการได้แสดงงานบนเวทีแฟชั่นโชว์ในมิลาน ปารีส หรือญี่ปุ่น เขาต้องการป่าวประกาศให้โลกรู้ว่าเด็กพิเศษอย่างเขาก็สามารถทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้เช่นกัน คุณแม่ของราฟีพูดถึงลูกชายด้วยความภาคภูมิใจว่า
“เขาเป็นคนที่กล้าฝัน และทำทุกอย่างเพื่อให้ความฝันนั้นเป็นจริงไม่ว่าจะต้องลุยงานหนักแค่ไหน”





     เมื่อเริ่มประสบความสำเร็จ ราฟีก็เริ่มคิดถึงการตอบแทนสังคม อย่างช่วงที่เขาทำคอลเลคชั่นเสื้อผ้าเด็ก เขาก็เลือกนักเรียนหูหนวกจากโรงเรียนสอนคนหูหนวกที่เขาเคยเรียนมาเป็นนายแบบนางแบบ จุดประสงค์เพื่อต้องการให้เพื่อนผู้พิการได้เห็นว่าหากเขาทำได้ คนอื่นก็ทำได้เช่นกัน 

     แนวคิดของราฟีมีคนมองเห็น และนั่นทำให้เขาได้รับการสนับสนุนจากบริษัทพีที เทลคอม อินโดนีเซียในการทำโครงการเวิร์กช้อปเพื่อสอนทักษะใหม่ๆ ให้กับผู้พิการเพื่อเป็นประโยชน์ในอนาคต เวิร์กช้อปที่ว่านี้มีกำหนดจัดในเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา เพื่อฉลองวันเกิดครบรอบ 18 ปี แต่สถานการณ์ไม่เป็นใจเมื่ออินโดนีเซียพื้นที่ที่เขาอาศัยอยู่เกิดน้ำท่วม อีกทั้งทั่วโลกกำลังเกิดวิกฤตโควิดระบาด ทำให้โครงการเวิร์กช้อปต้องเลื่อนออกไป แต่ราฟีก็ไม่ท้อ ประกาศทำหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กพิการในอินโดนีเซียต่อไป เขาทิ้งท้ายก่อนจบการสัมภาษณ์ว่า

     “ไม่ว่าเราจะมาจากไหน หรือพิการยังไง อย่ากลัวที่ฝันให้ไกล สิ่งที่สำคัญคือการทำงานหนักเพื่อไปให้ถึงฝันนั้น”    
 

ที่มา : www.scmp.com/lifestyle/fashion-beauty/article/3095191/deaf-and-mute-young-indonesian-fashion-designer-ravi
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup