Starting a Business
No cuts. No color ร้านซาลอนรูปแบบใหม่ที่บริการแค่สระกับไดร์ก็พอแล้ว
Main Idea
- ด้วยแรงบันดาลใจจากร้านซาลอนสุดแนวในอเมริกาที่มีใช้สโลแกน ”No cuts. No color. Just blowouts” บริการแค่สระกับเป่าผม ทำให้คิม และชาน สองสาวชาวมาเลย์เกิดปิ๊งไอเดีย
- หลังจากได้ลองศึกษา pain points หรือปัญหาที่ลูกค้ามักประสบในการใช้บริการร้านทำผม COCOdry จึงถือกำเนิดขึ้นในย่านหรูชานกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยคงคอนเซ็ปต์ตามร้านต้นแบบคือ สระไดร์เท่านั้น
- แต่เปิดบริการได้เพียง 3 เดือนก็เจอพิษโควิดพ่นใส่ ไปดูกันว่า COCOdry รับมือกับสถานการณ์อย่างไรเมื่อร้านปิดบริการชั่วคราว และอะไรที่ทำให้ร้านอยู่ต่อไปได้อีกระยะจนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ
No cuts. No color. Just blowouts
คิม และ ชาน ร่วมกันก่อตั้งร้านทำผม COCOdry ที่พวกเธอได้แรงบันดาลใจจากร้าน Drybar บิวตี้ซาลอนในรัฐแคลิฟอร์เนียที่มีสโลแกนว่า ”No cuts. No color. Just blowouts” ไม่ตัด ไม่ทำสี สระไดร์อย่างเดียว และแม้จะบริการเพียงแค่นั้นแต่กลับขยายสาขาไปกว่า 100 สาขาทั่วสหรัฐฯ และในแคนาดา คิมและชานสนใจธุรกิจนี้มากถึงกลับบินไปลอนดอนเพื่อสำรวจและพูดคุยกับเจ้าของร้านซาลอนแนวนี้ เพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมธุรกิจนี้จึงไปได้ดีในอเมริกา และถ้าเปิดในเอเชียจะเป็นอย่างไร
จากการพูดคุยกับเจ้าของร้านทำให้ทั้งคู่มองเห็นปัญหาที่ลูกค้ามาเลเซียเผชิญเมื่อใช้บริการร้านซาลอนทั่วไป อาทิ ความไม่สม่ำเสมอของบริการ หลังจากเป่าผมแล้วอยู่ทรงได้ไม่นาน ถูกกดดันให้ซื้อบริการพิเศษต่างๆ จำกัดสไตล์ทรงผม หากต้องการใช้แชมพูคุณภาพดี ลูกค้าต้องจ่ายเพิ่ม และมาเลเซียมีประชากรหลากเชื้อชาติ ส่วนใหญ่ลูกค้าเชื้อสายจีนก็จะใช้บริการร้านจีน เช่นเดียวกับเชื้อสายมาเลย์ และอินเดียก็มักใช้บริการซาลอนมาเลย์ หรืออินเดีย
ระดมทุนผ่าน Angel Investor
หลังจากที่มองเห็นปัญหา คิมและชานจึงตัดสินใจเปิดธุรกิจซาลอนสระไดร์โดยระดมทุนจาก Angel Investor หรือนักลงทุนอิสระ ซึ่งตอนที่นำเสนอโครงการเพื่อขอทุนสนับสนุนนั้น คำถามหนึ่งที่นักลงทุนชอบถามคือตลาดมาเลเซียมีความต้องการบริการสระไดร์มากขนาดที่จะเปิดร้านแบบนี้โดยเฉพาะเลยหรือ แล้วธุรกิจจะอยู่รอดหรือไม่กับบริการเพียงเท่านี้ คิมและชานมักจะตั้งคำถามกลับไปว่าสำหรับผู้หญิงผมยาว พวกเธอตัดผมหรือทำสีผมบ่อยแค่ไหน บางทีอาจจะแค่ปีละ 1-2 ครั้ง แต่ถ้าพูดถึงการสระไดร์ แน่นอนความถี่มากกว่าแน่นอน อย่างต่ำก็สัปดาห์ละ 1 ครั้ง บางคนมากกว่านั้น การเปิดร้านสระไดร์อย่างเดียวจึงตอบโจทย์ลูกค้าได้
อย่างไรก็ตาม อาจมีข้อสงสัยอีกว่าแค่สระไดร์ ลูกค้าทำเองก็ได้ไม่จำเป็นต้องพึ่งซาลอน แต่คิมและชานมองว่าก็เหมือนกับการทำอาหาร หลายคนทำเองได้แต่ก็ชอบที่ซื้อกินเพราะสะดวกดี การใช้บริการสระไดร์ก็เช่นกัน อีกประการหนึ่ง มาเลเซียกำลังพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศที่ประชาชนมีรายได้สูง ธุรกิจนี้จึงน่าจะอยู่ได้
ท้ายที่สุด ร้าน COCOdry ก็ได้ฤกษ์เปิดบริการช่วงต้นเดือนธันวาคมปี 2019 ที่ผ่านมา โดยทำเลอยู่ที่บังซาร์ อันเป็นย่านที่อยู่อาศัยร่ำรวยในเขตชานเมืองของกรุงกัวลาลัมเปอร์ และวางเป้าหมายที่ลูกค้า 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้หญิงทำงานอาชีพการงานดี กลุ่มลูกค้าสังคมชั้นสูงที่ออกงานบ่อย และลูกค้าทั่วไปที่เชื่อการส่งต่อพลังของแบรนด์ COCOdry ไปยังชุมชน
แม้ทำเลจะอยู่ในบังซาร์ ย่านที่ถือว่าไฮโซแต่ COCOdry กำหนดอัตราค่าบริการในราคาที่สมเหตุสมผล โดยปกติ ร้านซาลอนทั่วไป ราคาค่าสระไดร์อยู่ระหว่าง 20-50 ริงกิต (ประมาณ 150-350 บาท) หากลูกค้าต้องการแชมพูพิเศษเฉพาะ เช่น แชมพูสำหรับผมดัด แชมพูสำหรับผมทำสี หรือแชมพูขจัดรังแคก็ต้องจ่ายเพิ่ม ส่วนร้านซาลอนระดับไฮเอนด์ ค่าบริการเริ่มต้นที่ 50 ริงกิตไปถึง 100 ริงกิต (ประมาณ 350-700 บาท) สำหรับ COCOdry ราคาบริการ 60 ริงกิต ซึ่งถือเป็นราคากลางๆ และลูกค้าสามารถเลือกแชมพูที่เหมาะกับสภาพเส้นผมได้
นอกเหนือจากราคาสมเหตุสมผลและบริการที่ได้คุณภาพ สิ่งที่ทำให้ลูกค้าชมชอบเกี่ยวกับ COCOdry คือร้านสวย ตกแต่งทันสมัยและให้บรรยากาศอบอุ่น ลูกค้าไปใช้บริการอดถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดียไม่ได้ นอกจากนี้พนักงานมีใจบริการ เป็นมิตรกับลูกค้า และมีความเป็นมืออาชีพ การเข้าร้าน COCOdry แม้จะเพียงเวลาสั้นๆ แต่ก็ถือว่าได้ผ่อนคลายสบายใจ นั่นเป็นเหตุผลที่ลูกค้ากลับมาใช้บริการซ้ำ
คิม หุ้นส่วนร้านวัย 26 ปีเผยช่วงเปิดบริการแรกๆ จากลูกค้าวันละไม่กี่รายก็ขยับเพิ่มเป็น 20 รายโดย 30 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้บริการเป็นลูกค้าต่างชาติ คิมกล่าวว่าเธอมีแผนจะขยายธุรกิจในอนาคต รวมถึงการแตกไลน์ไปยังการสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์สำหรับผม อาทิ แชมพู ครีมนวด ครีมและเซรั่มบำรุงผม ในอนาคต
สร้างโอกาสในยามวิกฤต
อย่างไรก็ตาม หลังเปิดบริการได้เพียง 3 เดือน ก็เกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19 ระบาด รัฐบาลมาเลเซียประกาศมาตรการปิดประเทศและหลายธุรกิจทำให้ร้าน COCOdry ต้องปิดบริการชั่วคราวเหมือนร้านซาลอนอื่นๆ คิมและชานจึงต้องคิดหาช่องทางสร้างรายได้ ด้วยการเปิดตัวแบรนด์ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผมทั้งหมด ชูจุดขายเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ จากนั้นก็เริ่มเปิดขายออนไลน์ช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยทำโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1 ผลคือได้รับการตอบรับดีมาก
นอกจากจำหน่ายผลิตภัณฑ์ออนไลน์แล้ว COCOdry ยังทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย นำเสนอคอนเทนต์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับคนดู เช่น คลิปสอนวิธีการดูแลผม และทำผมง่ายๆ เปิดช่องทางให้ผู้บริโภคเข้ามาสอบถามหรือขอแนะนำเกี่ยวกับผม เมื่อรัฐบาลปลดล็อค และ COCOdry เปิดบริการอีกครั้งเมื่อ 10 มิถุนายน จากการที่วิตกว่าลูกค้าจะหายไป ปรากฏว่าลูกค้ากว่า 50 เปอร์เซ็นต์ก็กลับมาใช้บริการดังเดิม นั่นอาจเป็นผลของการสร้าง engagement กับลูกค้าผ่านโซเชียลมีเดียในช่วงที่ผ่านมา
เพื่อให้การบริการมีความปลอดภัย ทางร้านได้ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด เช่น จัดวางเก้าอี้ให้ห่าง 2 เมตร พนักงานสวมหน้ากากอนามัย และกระบังหน้า รวมถึงถุงมือขณะบริการลูกค้า และเปลี่ยนใหม่ทุกครั้งเมื่อให้บริการคนต่อไป ลูกค้าที่จะใช้บริการต้องนัดหมายล่วงหน้าเนื่องจากทางร้านรับลูกค้าคราวละไม่เกิน 6 คน แม้การให้บริการจะยังไม่เต็มร้อยเนื่องจากไม่สามารถรับลูกค้าได้เต็มที่ แต่โชคดีอยู่อย่างที่ COCOdry ยังพอมีทุนหมุนเวียนจากนักลงทุนอิสระ ทำให้ประคับประคองธุรกิจต่อไปได้จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ
ที่มา : https://vulcanpost.com/702287/bangsar-blowdry-hair-salon-cocodry-mco-business-pivot/
: https://vulcanpost.com/691403/cocodry-blowdry-hair-salon-bangsar/
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup