Starting a Business

ตกงานเป็นเหตุ! เมื่อมนุษย์เงินเดือนถูกลอยแพ จึงแจ้งเกิดธุรกิจบาร์เบอร์ SWEENEY TED.

Text : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 


Main Idea
 
  • ไม่มีคำว่าสายเกินไปหากจะเปลี่ยนแปลงเส้นทางเดินชีวิต หลังจากที่ เท็ดลี ต้องตกงานเพราะบริษัทปิด ด้วยภาระต้องดูแลครอบครัว เขาจึงต้องคิดหาหนทางเพื่ออยู่รอด
     
  • เท็ด ลี จึงตัดสินใจเปิดร้านตัดผม เพราะเป็นอาชีพที่เคยฝันไว้ ซึ่งด้วยการวางแผนชีวิตอย่างระมัดระวังและเป็นขั้นเป็นตอน ทำให้ในที่สุดเขาก็มีธุรกิจเป็นของตัวเอง แถมยังต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ดุแลผมอื่นๆ อีกด้วย
 



     สำหรับคนที่ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นมนุษย์เงินเดือนทำงานประจำ คงเป็นเรื่องยากหากเกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรจนนำไปสู่การปลดพนักงาน แล้วเราไม่ได้มีแผนสำรองใดๆ ไว้ ความรู้สึกนี้เคยเกิดขึ้นกับ เท็ด ลี หนุ่มมาเลเซียที่ตั้งแต่เรียนจบมาก็ทำงานบริษัทมาตลอด แต่หลังจากที่บริษัทปิดตัวลง และพนักงานถูกลอยแพ เท็ดในวัย 30 กว่าปีมีภาระต้องดูแลครอบครัว และภรรยาที่กำลังจะคลอดลูกคนแรกจึงเริ่มคิดหาหนทางเพื่ออยู่รอด เขามองว่าไม่มีคำว่าสายเกินไปหากจะเปลี่ยนแปลงเส้นทางเดินชีวิต


     เท็ดเริ่มวางแผนจะประกอบธุรกิจ สิ่งที่ผุดขึ้นมาในหัวตอนนั้นคือ เปิดร้านตัดผม ซึ่งเป็นอาชีพที่เขาเคยฝันไว้ว่าอยากจะทำ เท็ดคุ้นเคยกับร้านตัดผมทั่วไปที่บริการตัดผมไม่กี่ทรง แต่ช่วงที่เขาได้ไปประจำที่อินโดนีเซียเมื่อ 5-6 ปีก่อนที่บริษัทจะปิดตัวลง เขาสังเกตเห็นพรรคพวกคนหนึ่งมีทรงผมที่เท่มาก เป็นทรงหวีแสกข้างไปด้านหลัง จึงสอบถามว่าตัดที่ไหน เพื่อนคนนั้นจึงพาไปร้านตัดผมที่เขาใช้บริการ
              

     ออกไปจากแบบเดิมๆ เท็ดจึงศึกษาด้วยตัวเองและลองฝึกตัดผมโดยเริ่มจากให้น้องชายเป็นหุ่น จากนั้นก็ขยับไปตัดให้เพื่อนๆ แน่นอนว่าเป็นการตัดฟรี ผลคือทุกคนพึงพอใจ ตอนนั้นเท็ดไม่คิดเรียนตัดผมเป็นเรื่องเป็นราวเพราะเขายังมีงานประจำทำ แต่หลังจากที่กลายเป็นคนตกงาน เขาจึงคิดพัฒนาตัวเองจากมือสมัครเล่นไปสู่การเป็นมืออาชีพ


     ด้วยเงินชดเชยหนึ่งก้อนที่ได้จากการเลิกจ้าง เท็ดไม่ผลีผลามเปิดร้านตัดผม เขาต้องการฝึกมือให้เชี่ยวชาญมากกว่านี้จึงไปสมัครเป็นช่างตัดผมตามร้านที่มีชื่อเสียง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากเนื่องจากเป็นช่างตัดผมหน้าใหม่ รายได้จึงไม่สูงมาก แต่เพราะมีเป้าหมายในการเปิดร้านของตัวเอง เขาจึงอดทนเพื่อสั่งสมประสบการณ์และเรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจร้านบาร์เบอร์          


     ระหว่างที่ทำงานเป็นลูกจ้างในร้านตัดผม เท็ดได้ทำธุรกิจออนไลน์ควบคู่ไปด้วย สินค้าที่จำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการดูแลเส้นผมของสุภาพบุรุษ ซึ่งเขามองว่าเป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับร้านตัดผม หลังจากที่เก็บเกี่ยวความรู้ได้ระยะหนึ่ง แล้วก็ถึงช่วงที่เท็ดตัดสินใจว่าจะเปิดร้าน ซึ่งเขาคิดว่าแทนที่จะมานั่งคาดเดาหรือรอเวลา เขาอาศัยสัญชาตญาณว่าตัวเองมีฝีมือและพร้อมแล้ว จึงลาออกจากร้านตัดผมเพื่อลงเรียนคอร์สตัดผมเพื่อเก็บตกทักษะต่างๆ





     กลางปี พ.ศ.2560 ร้านบาร์เบอร์ SWEENEY TED. ก็เปิดให้บริการในย่านเปตาลิงจายา โดยเพื่อนเป็นคนตั้งชื่อร้านให้ เป็นการล้อเลียน SWEENEY TODD (บาร์เบอร์หฤโหดแห่งฟลีทสตรีท) ภาพยนตร์แนวเขย่าขวัญดัดแปลงจากละครเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับช่างตัดผมชาวอังกฤษที่ชื่อท็อดด์ แม้จะปลื้มปิติที่มีธุรกิจเป็นของตัวเองแต่เขาก็หวั่นใจเล็กๆ เพราะความที่ต้องฉายเดี่ยวทำเองทุกอย่าง แต่โชคดีที่ลูกค้าส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน


     แม้ระยะหลัง เทรนด์ทรงผมผู้ชายจะมีสไตล์ แต่ละร้านมีเอกลักษณ์ของตัวเอง แต่เท็ดไม่ได้ตามกระแส เขาวางตำแหน่งให้ SWEENEY TED. เป็น Artisanal Barbershop หรือร้านตัดผมที่เน้นการใช้ฝีมือและรังสรรค์งานในเชิงศิลปะโดยปราศจากการกีดกั้นทางจินตนาการ ผลงานที่ออกไปจะสะท้อนบุคลิกของเจ้าของร้าน แทนที่จะโฟกัสที่เทรนด์ฉาบฉวย เท็ดเน้นใส่ใจรายละเอียด สื่อสารกับลูกค้า ให้คำปรึกษาแบบส่วนตัวแก่ลูกค้าทุกคน และแนะนำไปถึงเทคนิคการดูแลผม ทำให้ลูกค้ารู้สึกเป็นคนสำคัญ


     นอกจากนั้น การตกแต่งร้านสไตล์มินิมอล สะอาดสะอ้าน เงียบสงบ ทำให้ลูกค้ารู้สึกผ่อนคลายมากกว่าแค่เข้ามาใช้บริการตัดผมอย่างเดียว โดยทั่วไปผู้ชายจะตัดผมเฉลี่ยเดือนละครั้ง เท็ดคิดว่าสิ่งที่ลูกค้าโดยมากต้องการคือ ช่างตัดผมที่รับฟัง เป็นช่างที่เชื่อใจได้ และสร้างผลงานตรงตามที่ลูกค้าต้องการ


     นับจากเดือนแรกของการเปิดบริการ เดือนต่อๆ มาจำนวนลูกค้าก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดปลอดภัย สิ่งที่เขาทำควบคู่อีกอย่างคือ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการดูแลเส้นผมทางออนไลน์ และขยายช่องทางจำหน่ายให้มากกว่าเดิม หลังจากที่ดำเนินกลยุทธ์การตลาดอย่างหนัก ปัจจุบันเริ่มมีคนสนใจเป็นตัวแทนจำหน่ายครีม และผลิตภัณฑ์บำรุงผมจากธรรมชาติแบรนด์ O’Douds และ Burley Fellow ซึ่งเท็ดนำเข้าจากต่างประเทศแล้ว ทำให้สินค้าของเขาเข้าถึงกลุ่มลูกค้ากว้างขึ้น


     เท็ดทิ้งท้ายไว้ว่า ในการเปิดร้านตัดผมอาจจะมีเรื่องที่ท้าทาย เช่น ฝีมือของช่าง มาตรการการบริการ การทำให้ลูกค้าพึงพอใจ และที่เป็นปัญหาใหญ่สุดคือ ค่าเช่าร้าน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าอายุเท่าไร จะ 40 ปีหรือ 50 ปี ไม่มีคำว่าสายเกินไปหากจะเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการ สำหรับบางคน เป้าหมายอาจจะเป็นการได้ทำในสิ่งที่รัก แต่กับหลายคนอาจเน้นที่การหาเงินให้มากที่สุด ขึ้นอยู่กับทัศนคติและปูมหลังของแต่ละคน สำหรับเท็ดการถูกเลิกจ้างในวันนั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต การวางแผนชีวิตอย่างระมัดระวังและเป็นขั้นเป็นตอน ทำให้ในที่สุดเขาก็มีธุรกิจเป็นของตัวเอง ทั้งยังเป็นงานที่เขารักและสามารถเลี้ยงครอบครัวได้
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup