Starting a Business

Sh*t That I Knit ธุรกิจไหมพรมถักที่เริ่มต้นจากงานอดิเรกแต่สร้างรายได้นับล้านแถมสร้างงานให้ชุมชน


 

Main Idea
 
  • จุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการหลายคนมาจากงานอดิเรกหรือการหลงใหลในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง คริสติน่า ฟาแกน ปาร์ดี้ นักธุรกิจสาวชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้ง Sh*t That I Knit แบรนด์ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับไหมพรมถักจากเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ก็เป็นหนึ่งในนั้น
 
  • จากบล็อกที่ใช้อวดงานถักไหมพรมที่ทำขึ้นช่วงเรียนมหาวิทยาลัย มีผู้ติดตามจำนวนมาก จากนั้นจึงทดลองขายผลงานในวงแคบๆ ผลคือได้รับการตอบรับดี จนในที่สุด เธอก็ทิ้งงานประจำเพื่อมาลุยทำธุรกิจเต็มตัว
 
  • “ทำในสิ่งที่รัก รักในสิ่งที่ทำ” การดำเนินธุรกิจทุกวันนี้เหมือนทำงานอดิเรก และคริสติน่าสามารถทำงานทุกวันโดยไม่เบื่อเพราะทำแล้วมีความสุข นี่จึงอาจเป็นเคล็ดไม่ลับอีกอย่างที่ทำให้ Sh*t That I Knit ประสบความสำเร็จในเวลาอันสั้น 




     จุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการหลายคนมาจากงานอดิเรกหรือการหลงใหลในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง คริสติน่า ฟาแกน ปาร์ดี้ นักธุรกิจสาวชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้ง Sh*t That I Knit แบรนด์ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับไหมพรมถักจากเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ก็เป็นหนึ่งในนั้น การถักไหมพรมซึ่งเป็นงานอดิเรกที่ทำด้วยความเพลิดเพลินกลับกลายเป็นธุรกิจทำรายได้งดงาม และยังได้สร้างอาชีพให้กับชุมชนสตรีในเมืองลิมา ประเทศเปรู


     คริสติน่าเรียนรู้วิธีถักนิตติ้งตั้งแต่อายุ 10 ขวบหลังจากที่คุณแม่ของเธอพาไปร้านจำหน่ายไหมพรมเพื่อซื้ออุปกรณ์และสอนให้เธอถัก ผลงานชิ้นแรกคือเสื้อสเวตเตอร์สีม่วงที่เธอยังเก็บไว้เป็นที่ระลึกจนถึงทุกวันนี้ นับจากวันนั้น คริสติน่าก็ค้นพบสิ่งที่เธอรัก เธอถักนิตติ้งมาตลอด ตั้งแต่เรียนมัธยมต้น มัธยมปลาย จนเข้ามหาวิทยาลัย ในคืนวันศุกร์ ขณะที่เพื่อนๆ ออกไปเฮฮาปาร์ตี้ตามผับบาร์ คริสติน่าเลือกที่จะถักนิตติ้ง รังสรรค์ผลงานออกมาชิ้นแล้วชิ้นเล่าเพื่อมอบเป็นชองขวัญให้เพื่อนและสมาชิกในครอบครัว อาทิ หมวก สเวตเตอร์ และที่คาดผม


     ช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยปี 2012 คริสติน่าได้สร้างบล็อกขึ้นมาโดยใช้ชื่อ Sh*t That I Knit เพื่อแสดงผลงานการถักนิตติ้งซึ่งเป็นงานอดิเรกที่ไม่คิดว่าจะสร้างรายได้หรืออะไร หลังจากที่เรียนจบ เธอได้งานเป็นพนักพนักงานขายอุปกรณ์เทคโนโลยี เมื่อเข้าสู่โลกของการทำงาน คริสติน่าพบว่าสิ่งที่เธอโหยหาคือการได้ทำอะไรที่สร้างสรรค์ และสัมผัสได้ ช่วงนั้น คริสติน่าเริ่มนำงานนิตติ้งที่ถักๆ ไว้ออกมาขาย ลูกค้าก็คือเพื่อนๆ จากเพื่อนก็ลามไปยังเพื่อนของเพื่อน จนมีคนแปลกหน้าเข้ามาเป็นลูกค้าในที่สุด


     คริสติน่าใช้เวลาช่วงหน้าร้อนตะลุยถักหมวกไหมพรม และสายคาดศีรษะสะสมไว้เพื่อจำหน่ายในช่วงปลายปี เธอลงทุนเช่าแผงในตลาดนัดโซวามาร์เก็ตในบอสตัน และได้รับความสนใจจากลูกค้าจำนวนมาก จนทำให้มีผู้ติดตามในบล็อกมากขึ้น  นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คิดปลุกปั้นแบรนด์ Sh*t That I Knit อย่างจริงจัง ปี 2015 คริสติน่าก็ตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อมาทำธุรกิจเต็มตัว




     เธอเริ่มต้นธุรกิจแบบเริ่มจากศูนย์ และได้ระดมทุนผ่าน Kickstarter โดยตอนนั้นตั้งเป้าไว้ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง เธอก็หาเงินได้ตามเป้าที่วางไว้ และระดมหาทุนต่อเพื่อให้ได้อีก 25,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ คริสติน่าใช้อินสตาแกรมเป็นเครื่องมือการตลาด ทำให้ Sh*t That I Knit มีผู้ติดตามเป็นกลุ่มมิลเลนเนียลจำนวนมาก และคนกลุ่มนี้เองที่กลายมาเป็นฐานลูกค้าของคริสติน่า ปีแรกของการทำธุรกิจ Sh*t That I Knit ก็สามารถทำกำไร


     ธุรกิจเติบโตและขยายใหญ่ขึ้น จากที่ทำงานคนเดียว คริสติน่าต้องมีทีมงาน เธอตั้งบริษัทในบอสตัน และจ้างพนักงาน 6 คนเพื่อดูแลเรื่องการจ้างผลิตโดยแหล่งวัตถุดิบขนสัตว์ที่ใช้ผลิตสินค้ามาจากประเทศเปรู สินค้าภายใต้แบรนด์ Sh*t That I Knit มีหลากหลายทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ทั้งหญิงและชาย อาทิ หมวกไหมพรม ผ้าคลุมกันหนาว เสื้อคลุมกันหนาว เสื้อผ้าเด็ก กระเป๋า และเครื่องประดับต่างหู โดยการผลิตทั้งหมดทั้งมวลถูกถ่ายโอนไปยังกลุ่มสตรีในเปรู


     ทั้งนี้ ทีมงานของ Sh*t That I Knit ในบอสตันจะออกแบบสินค้า ทำตัวอย่างออกมา แล้วส่งตัวอย่างนั้นไปให้ชุมชนสตรีในลิมาที่ Sh*t That I Knit จ้างงานประมาณ 170 คนให้เป็นผู้ถัก ก่อนจะส่งกลับมาขายที่อเมริกา คริสติน่าเล่าว่าผู้หญิงในเปรูที่ทำงานให้กับ Sh*t That I Knit ส่วนใหญ่เป็นคนวัยมิลเลนเนียลที่มีอายุระหว่าง 20-30 กว่าปี นั่นอาจจะเป็นผลพวงของกระแส DIY ในไอจีและพินเทอเรสต์ช่วงปี 2012-2015 ที่ผู้คนนำงานหัตถกรรมมาอวดในโลกโซเชียลจนทำให้เกิดสังคมของคนที่มีความสนใจในสิ่งเดียวกัน   


     ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ Sh*t That I Knit เป็นที่รู้จักกว้างขวางยิ่งขึ้นเมื่อได้พรีเซ็นเตอร์คนดังโดยไม่ตั้งใจ เช่น เคที่ คริก นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักบุคคลิกภาพทางทีวีที่หันมาสวมหมวกไหมพรม Sh*t That I Knit หรือคริสติน คาวัลลารี นักแสดง พิธีกร และดีไซเนอร์ก็ใช้ผลิตภัณฑ์ Sh*t That I Knit ออกสื่อ ทำให้แบรนด์ได้รับการจดจำมากขึ้น ปัจจุบัน ธุรกิจของคริสติน่าขยับขยายมีมูลค่านับล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


     แม้จะเป็นแบรนด์ที่เน้นจำหน่ายออนไลน์ แต่คริสติน่าก็มักจะนำสินค้าไปเปิดเป็นร้านป๊อปอัพชั่วคราว มองว่าการมีหน้าร้านสำคัญในแง่ที่ว่าเป็นจุดที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับลูกค้า และเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้เข้ามาเลือก มาสัมผัสสินค้าด้วยตนเอง แม้คริสติน่าไม่เคยมีความคิดจะเป็นผู้ประกอบการมาก่อน แต่เมื่อได้ลงมือทำ ด้วยเวลา 5 ปีในการดำเนินธุรกิจ ถือว่า Sh*t That I Knit ประสบความสำเร็จค่อนข้างเร็ว นั่นอาจเป็นเพราะเธอรักในสิ่งที่ทำ คริสติน่ากล่าวว่าการทำธุรกิจทุกวันนี้เหมือนทำงานอดิเรก และเธอสามารถทำงานทุกวันก็ยังได้ เพราะทำแล้วมีความสุขนั่นเอง
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup