Starting a Business

สายวีแกนต้องหวีด! Angie’s Tempeh เทมเป้ ถั่วหมักอินโด แบรนด์ที่ชูความต่างด้วยการเป็นแฮนด์คราฟท์


 

Main Idea
 
  • กระแสอาหารปลอดเนื้อสัตว์ยังมาแรงอย่างสม่ำเสมอ ตลาดนี้มีศักยภาพในการเติบโตอย่างมาก ช่วงหลายปีที่ผ่านมาจึงเห็นเหล่า Startup และผู้ประกอบการรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และแนะนำสินค้าเข้าสู่ตลาดเพื่อหวังแจ้งเกิด
 
  • แองเจลีน เหลียง ผู้ประกอบการรายย่อยจากสิงคโปร์ เจ้าของผลิตภัณฑ์ถั่วหมักสไตล์อินโดนีเซียภายใต้แบรนด์ “Angie’s Tempeh” ก็เป็นหนึ่งในนั้น
 
  • แต่เธอจะมีวิธีอะไรทำให้ผลิตภัณฑ์ของเธอแตกต่างจากเจ้าอื่นในตลาด ไปอ่านรายละเอียดกัน 




     กระแสอาหารปลอดเนื้อสัตว์ยังมาแรงอย่างสม่ำเสมอ ตลาดนี้มีศักยภาพในการเติบโตอย่างมาก ช่วงหลายปีที่ผ่านมาจึงเห็นเหล่า Startup และผู้ประกอบการรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และแนะนำสินค้าเข้าสู่ตลาดเพื่อหวังแจ้งเกิด แองเจลีน เหลียง ผู้ประกอบการรายย่อยจากสิงคโปร์ เจ้าของผลิตภัณฑ์ถั่วหมักสไตล์อินโดนีเซียภายใต้แบรนด์ “Angie’s Tempeh” ก็เป็นหนึ่งในนั้น


     แองเจลีนเป็นวีแกนไม่บริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์มานานหลายปีแล้ว ความที่ต้องการมองหาโปรตีนรสชาติดีเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ และเธอไม่ปลื้มนักกับบรรดาเนื้อเทียมทั้งหลายที่จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต แองเจลีนจึงลองทำ “เทมเป้” (tempeh) ด้วยตัวเอง


     เทมเป้เป็นอาหารพื้นเมืองของอินโดนีเซีย ลักษณะคล้ายเต้าหู้ก้อน ทำจากถั่วเหลืองหมักกับเชื้อราดีชนิด Rhizopus oligosporus ทำให้เกิดเส้นใยสีขาวปกคลุมรอบถั่ว นิยมใช้ทำอาหารหรือรับประทานแทนเนื้อสัตว์ ในเมนูของชาววีแกน (Vegan) และ มังสวิรัติ (Vegetarian) เนื่องจากมีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ และอุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ จึงได้รับการขนานนามว่าเป็นอีกหนึ่ง super food


     ด้วยความช่วยเหลือและชี้แนะจากมารดา แองเจลีนได้ทดลองทำเทมเป้ที่บ้าน และดูเหมือนจะประสบความสำเร็จด้วยดีกับความพยายามครั้งแรก หลังจากนั้น เธอก็ทำเทมเป้เรื่อยๆ เพื่อรับประทานเองในครอบครัว และแจกจ่ายให้กับมิตรสหาย กระทั่งเดือนเมย.ปี 2019 แองเจลีนตัดสินใจเอาดีด้านนี้ จึงเดินทางไปเมืองโบโกร์ของอินโดนีเซียเพื่อเรียนรู้ศาสตร์ด้านการทำเทมเป้จากผู้เชี่ยวชาญ แม้จะพอทำเป็นบ้างแล้ว แต่เมื่อต้องเรียนรู้กับผู้สอนระดับครู เธอจึงพบว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนักเพราะต้องพิถีพิถันมากขึ้นเพื่อให้ได้เทมเป้ที่ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด





     หลังจากไปรับการถ่ายทอดเคล็ดลับที่อินโดนีเซีย แองเจลีนก็กลับมาเปิดบริษัทและปั้นแบรนด์ผลิตภัณฑ์เทมเป้ภายใต้ชื่อ Angie’s Tempeh โดยเริ่มจากการผลิตจำนวนไม่มาก ผลิตตามที่ลูกค้าสั่ง โดยเฉลี่ยผลิต 2 รอบต่อสัปดาห์ และแต่ละรอบใช้เวลา 4 วันในการหมักจนถั่วได้ที่ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนที่ทานวีแกน มังสวิรัติ และทานมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น รวมถึงคนที่รักสุขภาพ ต้องการปรุงอาหารเพื่อสุขภาพทาน 


     ทั้งนี้ เทมเป้สามารถนำไปปรุงเป็นอาหารได้หลายวิธี จัดได้ว่าเป็นอาหารเพื่อสุขภาพเนื่องจากเทมเป้หนึ่งเสิร์ฟปริมาณ 100 กรัมให้พลังงาน 193 แคลอรี และโปรตีนจากถั่วทำให้รู้สึกอิ่มนาน สามารถใช้เป็นอาหารลดน้ำหนักได้ นอกจากถั่วเหลืองแบบดั้งเดิม แองเจลีนยังนำถั่วอะซูกิหรือถั่วแดงญี่ปุ่น และถั่วลูกไก่ (ชิคพี) มาหมักทำเป็นเทมเป้ด้วย ซึ่งถั่วแต่ละชนิดจะมีเนื้อสัมผัส รสชาติ และกลิ่นแตกต่างกันเมื่อหมักได้ที่


     แองเจลีนอธิบาย  “เทมเป้จากถั่วเหลืองจะมีกลิ่นกลางๆ ในขณะที่ถั่วอะซูกิ เมื่อหมักแล้วจะให้กลิ่นเหมือนสาเก ส่วนเทมเป้จากถั่วลูกไก่ กลิ่นจะเหมือนเบียร์หรือบาแก็ต (ขนมปังฝรั่งเศส) ที่เพิ่งอบใหม่” ด้านเชอร์รี่ ชาน นักกำหนดอาหารจากซิดนีย์ ออสเตรเลียกล่าวว่าเทมเป้เป็นแหล่งโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุ อาทิ วิตามินบี 2 บี 3 บี 6 แคลเซี่ยม แมกนีเซียม แมงกานีส ฟอสฟอรัส โปตัสเซี่ยม และสังกะสี ทั้งยังอุดมด้วยพรีไบโอติกส์ที่ส่งเสริมการทำงานของจุลินทรีย์ดีในลำไส้ ทำให้ระบบการย่อยอาหารราบรื่นอีกด้วย เทมเป้มีความคล้ายเต้าหู้คือควรนำไปปรุงด้วยเครื่องเทศ สมุนไพรเพื่อเพิ่มรสชาติให้ดีขึ้น และสามารถใช้เป็นเครื่องปรุงเอนกประสงค์กับอาหารแทบทุกจาน


     สำหรับกรรมวิธีการทำเทมเป้นั้นค่อนข้างใช้เวลา ตามแบบดั้งเดิมจะใช้ถั่วเหลืองนำมาแช่น้ำข้ามคืนก่อนนำมาต้มนาน 30 นาที จะต้มทั้งเปลือกหรือเลาะเปลือกออกก่อนก็ได้แล้วแต่ว่าต้องการเทมเป้แบบไหน จากนั้นกรองเอาน้ำที่ต้มถั่วทิ้ง แล้วนำถั่วไปหมักกับหัวเชื้อเทมเป้ หรือเชื้อราที่ใช้ทำเทมเป้ เป็นเชื้อราชื่อ Rhizopus oligosporus ทิ้งไว้ที่อุณหภูมิปกติประมาณ 1-2 วัน หรือเก็บในที่อุณหภูมิ 30-32 องศาเซลเซียสนาน 20 ชั่วโมง ระหว่างที่กำลังมีการหมักนั้นจะเกิดการสร้างเส้นใยสีขาวของรา (ชั้นดี) ขึ้นมาปกคลุมถั่ว และทำให้เกาะกันแน่นเป็นก้อน เมื่อการหมักได้ที่แล้ว ก็พร้อมสำหรับนำไปปรุงเป็นอาหาร


     ในตลาดสิงคโปร์อาจมีเทมเป้วางขายอยู่บ้าง แต่แองเจลีนก็พยายามสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้แตกต่างจากแบรนด์อื่น นอกจากใช้วัตถุดิบออร์แกนิกและปลอดการตกแต่งทางพันธุกรรม ขั้นตอนการผลิตเทมเป้ภายใต้แบรนด์ Angie’s Tempeh ยังซับซ้อนกว่า คือกระบวนการหมักเกิดขึ้น 2 ครั้ง หมักครั้งแรกเป็นการใช้กรดไฟติกซึ่งเป็นกรดธรรมชาติที่มีในถั่ว จากนั้นจึงนำมาหมักครั้งที่สองกับเชื้อราที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งการหมักสองครั้งแบบนี้จะให้ได้เชื้อราที่ปกคลุมถั่วคุณภาพดีและเก็บได้นาน ทั้งยังทำให้เทมเป้มีกลิ่นหอมขึ้นด้วย                 


     นอกจากนั้น แองเจลีนยังวางตำแหน่งสินค้าของเธอให้เป็นผลิตภัณฑ์แฮนด์คราฟท์ที่พิถีพิถันในการผลิต และจำหน่ายผ่านการสั่งซื้อล่วงหน้าหรือ pre-order ทางเว็บไซต์ Angie’s Tempeh ในเว็บไซต์ของเธอยังลงภาพและสูตรอาหารที่ทำจากเทมเป้เพื่อให้ลูกค้าได้นำไปทำตามอีกด้วย เนื่องจากผลิตภัณฑ์เทมเป้ยังถือเป็นสินค้าเฉพาะที่ไม่ได้มีจำหน่ายกว้างขวางในสิงคโปร์ แต่ผู้บริโภคที่ให้ความสนใจโปรตีนทางเลือกมีจำนวนสูงขึ้น และผู้คนก็เริ่มรู้จักและคุ้นเคยกับอาหารชนิดนี้ การผลิตเทมเป้จึงเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่น่าจะมีศักยภาพระดับหนึ่ง
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup