Starting a Business

​สุดเจ๋ง! Locall .bkk แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีที่ช่วยชุมชนก้าวข้ามวิกฤต

Text : นนท์ธวัช ไชยวัง




Main Idea
 
  • หลังจากที่โควิด-19 ลุกลามมายังไทยศานนท์ หวังสร้างบุญ ไม่เพียงแต่ต้องปรับโมเดลธุรกิจโฮสเทลที่ทำอยู่ใหม่ แต่ยังผุด Locall.bkk แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีน้องใหม่อีกด้วย
 
  • ความแตกต่างของ Locall.bkk คือมีเป้าหมายการช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้าร้านอาหารเล็กๆ ในชุมชน จึงหน้าที่เป็นตัวกลางในการซื้อ-ขายอาหารของชุมชน   
 
  • ปัจจุบันการบริการผ่าน Locall.bkk ครอบคลุมพื้นที่ร้านอาหารบริเวณ 3 ย่านเสาชิงช้า-ประตูผี   ย่านเยาวราช ย่านนางลิ้นจี่ และจะขยายไปชุมชนอื่นๆ อีกต่อไป




     เห็นสัญญาจากจีนแล้วว่าโควิด-19ระบาดหนักต้องลุกลามมาถึงเมืองไทยแน่นอนเลยกางแผนปรับธุรกิจตั้งแต่ตอนแรกเลย นี่คือคำพูดของหนุ่มที่ชื่อว่า ศานนท์ หวังสร้างบุญ ผู้ร่วมก่อตั้ง Once Again Hostel โฮสเทลที่อยู่ในศูนย์กลางเมืองโบราณของกรุงเทพมหานคร ในซอยสำราญราษฎร์ ถนนมหาไชย เขตพระนคร จนเป็นที่โด่งดัง


     ศานนท์ เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่โควิด-19 ลุกลามมายังไทยก็ได้ปรับโมเดลธุรกิจใหม่ ด้วยความที่ตนเองเป็นคนช่วยเหลือสังคมมาโดยตลอดเป็นต้นทุนเดิมอยู่แล้ว เลยได้ไปปรึกษาหารือกับเพื่อนๆ ที่มีความถนัดงานทางด้านต่าง ๆ ที่แตกต่างกันออกไป สุดท้ายจึงได้ผุด 3 โมเดล ขึ้นมา คือ


     1. พลิก Hostel ให้เป็นที่พักระยะยาวแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ตกค้าง และให้คนไทยเช่าระยะยาวในการ work from home ได้ปรับเปลี่ยนจาก Luk Hostel เป็น Luk Home ปรับเฟอร์นิเจอร์ สิ่งอำนวยความสะดวกใหม่หมด เพื่อให้มีความปลอดภัย และมีข้อกำหนดในการใช้พื้นที่ร่วมกัน


    2.ปรับพื้นที่ล็อบบี้ของ Once Again Hostel ให้เป็นครัวขนาดใหญ่แล้วก็มีบริการดิลิเวอรี เรียกว่า ‘Once Again Kitchen’ presented by RISE Cafe x Living Kafe ทำอาหารแบบผูกปิ่นโต


     3. Locall.bkk แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีน้องใหม่ที่จะส่งอาหารในย่านนั้นถึงผู้บริโภคถึงหน้าบ้านเลยที่เดียว โดยจะคัดกรองร้านที่ไม่เคยดิวกับเดลิเวอรีมาก่อนมาร่วมงานส่วนใหญ่เป็นร้านค้าชุมชนขายอาหารสร้างรายได้


     สำหรับ Locall.bkk ที่เป็นโปรเจกต์ที่มาแรงในตอนนี้ ผู้บริหารหนุ่ม เผยว่า จุดเริ่มต้องของการพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ก็เพื่ออยากให้ชุมชนบริเวณใกล้เคียงกับ Hostel มีช่องทางการขายอาหาร หลังจากที่โควิด-19ระบาดร้านอาหารก็ถูกสั่งปิด เลยคิดกับเพื่อนๆ ว่าจะหาวิธีอย่างไรในการช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้าร้านอาหารเล็กๆ ในย่านนี้อย่างไร จึงได้พัฒนา Locall.bkk ขึ้นมา ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นไหลใหญ่ที่จะชุบชีวิตชุมชนในกลับมามีชีวิตอีกครั้ง เป็นการสร้างรอยยิ้มให้ชุมชน ทำชุมชนเข้มแข็ง อีกทั้งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้ยืนได้


     โดยรูปแบบของ Locall.bkk จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการซื้อ-ขายอาหารของชุมชน รวบรวมร้านอาหารเข้ามาในแพลตฟอร์มออนไลน์ หากมีการซื้อขายกันก็ทำหน้าที่ประสานงานร้านอาหาร รวมถึงการขนส่งนำอาหารไปส่งถึงผู้บริโภคที่สั่งถึงหน้าบ้าน ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานให้ชุมชน พร้อมทั้งกระจายอำนาจให้ชุมชน เหมือนเส้นเลือดฝอยที่จะคอยสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงชุมชน ซึ่งจะมีการรวบรวมร้านค้าที่เข้าร่วม มาให้ผู้บริโภคได้กดเลือกซื้ออาหารบนออนไลน์ ขั้นต่ำ 300 บาทขึ้นไป และยังใจดีใช้บริการวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ว่างงานในย่านนั้นมาส่งอาหารอีกด้วย


     ปัจจุบันการบริการผ่าน Locall.bkk ครอบคลุมพื้นที่ร้านอาหารบริเวณ 3 ย่าน โดยเริ่มที่เสาชิงช้า ประตูผี ตามด้วย ย่านเยาวราช ย่านนางลิ้นจี่ ขณะนี้มีร้านอาหารเข้าร่วมเฉพาะย่านประตูผีมีมากถึง 40-50 ราย ซึ่งเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่เดือนเมษายน ที่ผ่านผลตอบรับดีมาก ลูกค้าสามารถสั่งอาหารได้ช่องทางดังนี้ IG , เฟซบุ๊ก และไลน์@ Locall.bkk  และในเร็วๆ นี้เตรียมขยายพื้นที่ให้บริการไปยังย่านตลาดพลู และจุฬาฯ  สวนหลวง ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มที่จะขยายไปช่วยเหลือชุมชนอื่นๆ มากขึ้น


     “เราจะอาสาเป็นตัวกลางในการไปซื้ออาหารในแต่ละร้านค้าชุมชนในย่านที่เราให้บริการ เป็นการสร้างโอกาสค้าขายให้ลุงป้าน้าอาที่ยังคงเข้าไม่ถึงะแพลตฟอร์มออนไลน์เพราะช่วงโควิดพ่อแม่พี่น้องเหล่านี้แทบจะไม่มีรายได้เลยหากไม่เน้นขายผ่านออนไลน์ เราทำมาแล้วเดือนกว่าได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจเลยทีเดียว โดยต่อไปจะพยายามสร้างฮับขึ้นในแต่ละชุมชนเพื่อให้ตัวแทนชุมชนมีส่วนร่วมในการหาร้านอาหารในชุมชนมาร่วมโครงการ และเป็นตัวกลางในการประสานงานต่างๆ ด้วย จะได้สร้างรายได้ให้เขาด้วย ”


     อย่างไรก็ตามสำหรับแผนในอนาคตก็จะยังคงหาพื้นที่ใหม่ๆ ในการสานต่อโมเดลนี้ต่อไป อีกทั้งจะยังคงเดินหน้าให้ร้านชื่อดังช่วยซับพอร์ตร้านเล็กๆ เพราะร้านที่ดังๆ รู้ว่าเขาสามารถช่วยให้ร้านอื่นๆ ดีขึ้นด้วย ในการช่วยในการโปรโมท ให้ข้อมูลข่าวสารว่ามีร้านอื่นๆ ที่อร่อยมากมายในบริเวณใกล้เคียงใกล้กัน แบบนี้เรียกว่าธุรกิจใหญ่ช่วยธุรกิจขนาดเล็ก เช่นปัจจุบันร้านมนต์นมสด ช่วยเหลือร้านเล็กๆ บริเวณรอบข้าง โดยเงิน 300 บาท สามารถกระจายไปร้านอื่นๆ ได้ด้วย


     ศานนท์ กล่าวอีกว่า อยากให้แพลตฟอร์มนี้เป็นเครื่องมือที่สร้างมิตรภาพ สร้างความสัมพันธ์ในระดับชุมชนย่านเดียวกัน จากเดิมที่บางร้านไม่เคยคุยกันเลย หรือไม่เคยเอื้ออาทรกันขนาดนี้ แต่วันนี้เราเห็นเลยว่าเขาเอื้ออาทรกันมากขึ้น ผ่านเครื่องมือนี้ ซึ่งมองว่าพอเกิดความสัมพันธ์กันแล้ว เรามองว่ามันน่าจะมีเรื่องอื่นที่ยั่งยืนขึ้น เช่น การจัดการตัวเองได้จริงๆ สุดท้าย ท้ายที่สุดเชื่อว่ามันคือเครื่องมือที่ใหญ่กว่าแพลตฟอร์มเดลิเวอรีคือเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์ในชุมชน และสร้างทรัพยากรบางอย่างสำหรับการพัฒนาชุมชนได้


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup