Starting a Business
ถอดความสำเร็จการปั้น “SAADO” แบรนด์รองเท้าดังของ Startup เวียดนาม
Main Idea
- SAADO เป็นรองเท้า Made in Vietnam ที่ขายไปทั่วโลก โดย ฟุ่ง เล เลิม ฮาย หรือลูคัส โดยหลังจากเปิดตัว SAADO ทำยอดขาย 25,000 คู่ภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือน
- เคล็ดลับของลูคัสในการทำธุรกิจคือ เริ่มต้นด้วยการลงทุนน้อย และทำกลยุทธ์การตลาดแบบศูนย์ด่อง คือสร้างแบรนด์รองเท้าแตะที่ออกแบบ ผลิต กระจายสินค้า และทำการตลาดในเวียดนาม แต่จดเครื่องหมายทางการค้า ในสหรัฐฯ จึงกลายเป็น Product of USA แต่ Made in Vietnam
วันนี้จะพาไปรู้จักนักธุรกิจหนุ่มชาวเวียดนามที่ก่อตั้งบริษัทในสหรัฐฯ และผลิตรองเท้า “Made in Vietnam” เพื่อขายทั่วโลก เขาคนนั้นคือ ฟุ่ง เล เลิม ฮาย หรือที่ชาวต่างชาติเรียกลูคัส เด็กหนุ่มจากเมืองดาลัตผู้มุ่งมั่นสร้างแบรนด์เวียดนามให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลก
หลังเปิดตัวเข้าสู่ตลาดรองเท้าแตะรัดส้นภายใต้แบรนด์ SAADO ของเขาทำยอดขาย 25,000 คู่ภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือน และกระจายไปยัง 40 จังหวัดของเวียดนามในเวลา 9 เดือน และ 1 ปีหลังจากนั้นก็เริ่มขยายไปยังตลาดต่างประเทศ ปัจจุบันรองเท้าแตะ SAADO วางจำหน่ายใน 7 ประเทศ รวมถึง เวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา ไทย และสหรัฐฯ ลูคัสตั้งเป้าจะขยายธุรกิจให้ครบ 15 ประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้า
ปูมหลังของลูคัสก่อนที่จะปลุกปั้นแบรนด์ SAADO เขาเคยทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด และผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่บริษัท Startup ชื่อ ORI Mart และยังเคยนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ที่ Bratus Agency ซึ่งเป็นบริษัทเอเยนซีชั้นนำในเวียดนาม เรียกว่าเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่หาตัวจับยากเนื่องจากมีความรู้หลายทาง และทำให้เขาส่งต่อความรู้เพื่อพัฒนาธุรกิจให้เติบโตโดยเร็ว
เหตุผลที่ลูคัสเลือกทำธุรกิจรองเท้าคือ เวียดนามเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อในการเป็นแหล่งผลิตรองเท้า โดยขึ้นแท่นประเทศส่งออกรองเท้ามากที่สุดอันดับ 3 ของโลก แต่ไม่เคยมีแบรนด์ของตัวเองที่สร้างชื่อในตลาดโลก ส่วนในตลาดเวียดนามเองการแข่งขันก็ดุเดือดมาก ผู้ค้าพร้อมจะหั่นราคาตัดหน้าคู่แข่งเพื่อทำยอดขายให้มากกว่า สุดท้ายแล้วก็บาดเจ็บไปตามๆ กัน ลูคัสมองว่า ทำอย่างไรจึงจะลดความเสี่ยงเหล่านั้น และทำให้คนในอุตสาหกรรมรองเท้าได้ดำเนินธุรกิจในสภาพแวดล้อมที่ดี สนับสนุนซึ่งกันและกัน และสร้างคุณค่าตามแบบฉบับเวียดนามขึ้นมา
เมื่อพิจารณาจากจุดแข็งของตัวเองคือ ความได้เปรียบด้านภาษา และสายสัมพันธ์ในต่างประเทศที่เขามี
บวกกับทำการศึกษาพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค เขาตัดสินใจทำรองเท้าแตะเป็นสินค้าแรก และต้องติดฉลาก “Made in Vietnam” เท่านั้น โดยตั้งเป้าจะเป็นแบรนด์ค้าปลีกรองเท้าแฟชั่นรายแรกที่โกอินเตอร์ และเป็นแบรนด์ชั้นนำที่คนรุ่นใหม่ในเวียดนามนิยม
แผนการเข้าสู่ตลาดโลกนั้นไม่ง่ายเพราะเขาต้องศึกษาตลาดทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งจากการตระเวนสอบถามคนในพื้นที่พบว่ารองเท้าแตะแบบที่เขาผลิตไม่น่าจะขายได้ เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่มีอายุ และคนส่วนใหญ่สนใจคุณภาพมากกว่าแฟชั่น
เขาจึงทบทวนกลยุทธ์ใหม่ ตัดสินใจมองข้ามตลาดยุโรปไปก่อน และมองว่ารองเท้าแตะน่าจะเหมาะกับประเทศที่มีกลุ่มผู้บริโภคจำนวนมากอย่างสหรัฐฯ รวมถึงประเทศกำลังพัฒนา เช่น สปป.ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย และอีกหลายประเทศที่มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับเวียดนามที่ชื่นชอบรองเท้าแตะ ไม่เพียงแค่ใส่สบายแต่ต้องดูดีด้วย
รองเท้า SAADO เหมาะสำหรับประเทศเขตร้อนชื้นเพราะนอกจากดีไซน์สวย สวมใส่สบาย ยังมีน้ำหนักเบาเพราะมีส่วนผสมของ Phylon ซึ่งเป็นโฟมชนิดหนึ่งใช้ในการผลิตรองเท้า เมื่อโดนฝนหรือน้ำก็แห้งไว ทำให้เท้าไม่มีกลิ่นเหม็น ใช้ทนทาน สามารถใส่ลุยน้ำได้ แต่สิ่งที่ทำให้ SAADO แตกต่างคือ บริการและประสบการณ์ที่ลูกค้าจะได้รับ รวมถึงราคาที่สมเหตุสมผล
เคล็ดลับของลูคัสในการทำธุรกิจคือ เริ่มต้นด้วยการลงทุนน้อย และทำกลยุทธ์การตลาดแบบศูนย์ด่อง (ศูนย์บาท) ลูคัสตัดสินทำธุรกิจโดยเลือกสร้างแบรนด์รองเท้าแตะที่ออกแบบ ผลิต กระจายสินค้า และทำการตลาดในเวียดนาม แต่จดเครื่องหมายทางการค้า หรือ Trademark ในสหรัฐฯ ทิศทางธุรกิจของ SAADO จึงแตกต่างจากแบรนด์รองเท้าอื่นในตลาด เพราะกลายเป็น Product of USA แต่ Made in Vietnam
ข้อดีของการจดเครื่องหมายการค้าในสหรัฐฯ คือ ใช้เป็นใบเบิกทางในการรุกเข้าตลาดต่างประเทศอื่นๆ นอกจากนั้น ยังลดหย่อนภาษีในฐานะที่เป็นสินค้าของอเมริกา เพราะอเมริกาจะปกป้องสินค้าในประเทศอยู่แล้ว นี่จึงเป็นแต้มต่อที่เหนือกว่าของ SAADO เมื่อเทียบกับแบรนด์ Startup รายอื่น
ตลาดข้ามชาติที่ SAADO บุกเข้าไปเป็นประเทศแรกคือเพื่อนบ้านกัมพูชา โดยชิมลางเดือนแรกด้วยการวางขาย 300 คู่ เพื่อดูท่าทีและความต้องการของผู้บริโภค ผลจากการศึกษาตลาดมาอย่างดี ทำให้สินค้าของลูคัสได้รับการตอบรับดีมากจากลูกค้ากัมพูชาที่ชื่นชอบรองเท้าที่มีคุณสมบัติเบา และดีไซน์วัยรุ่น
จากกัมพูชาก็ขยายไปที่ สปป.ลาว เพียง 2 เดือนหลังการแนะนำสินค้า SAADO ทำยอดขายเดือนละ 900-1,200 คู่ต่อเดือนในกัมพูชา และ สปป.ลาว จากนั้นมุ่งหน้าไปยังตลาดเมียนมา คราวนี้เขามั่นใจขนาดส่งไปล็อตแรก 3,000 คู่ ผลคือขายเกลี้ยงทั้งที่เป็นแบรนด์น้องใหม่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก ในอนาคตมีแผนเจาะตลาดมุสลิม เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน ยูเออี และดูไบ
หลังจากที่ทำยอดขายทะลุ 60,000 คู่ในตลาดเอเชียในเวลาเพียงปีเดียว เมื่อกลางปี พ.ศ.2562 SAADO ก็รุกเข้าตลาดสหรัฐฯ ด้วยการวางขายในอเมซอน อี-คอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของอเมริกาและของโลก ผลตอบรับดีมาก ได้รับเสียงสะท้อนในทางที่ดี และมีการแนะนำบอกต่อกัน
แม้จะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ แต่ลูคัสไม่มีแผนจะเปิดหน้าร้านเอง เขายังยึดมั่นในโมเดล “Uber in Retail” นั่นคือการสร้างแพลตฟอร์มที่ทำให้คนรุ่นใหม่ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการได้เข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจของเขาด้วยการเป็นตัวแทนจำหน่าย เป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นหลังมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจโดยแบรนด์ SAADO จะเป็นผู้สนับสนุน เมื่อพวกเขาประสบความสำเร็จแล้ว คิดจะเปิดร้านภายหลังก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ลูคัสได้ฝากคติที่เขายึดไว้ว่า “ถ้าขายรองเท้าได้ไม่กี่คู่อย่าเพิ่งเปิดร้าน ขายให้ได้สัก 1,000 คู่ก่อนแล้วจึงคิดจะเปิดร้าน”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup