Starting a Business

เมื่อปัญหามาเจอกับโอกาส The Apothecary โคโลญจ์ขี้ผึ้ง จึงแจ้งเกิดแบบปังๆ ในตลาดเครื่องสำอาง

Text : Vim Viva
 
 
 

Main Idea
 
 
  • จากการสังเกตว่าความนิยมในสินค้าประเภททำมือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะตลาดเครื่องสำอางสำหรับผู้ชายที่เติบโตเป็นตัวเลขสองหลักทุกปี
 
  • ทำให้เอเดรียน ชอง หนุ่มมาเลย์วัย 30 ปีมองเห็นช่องว่างตลาด หลังซุ่มศึกษามาระยะหนึ่ง โคโลญจ์กึ่งแข็งภายใต้แบรนด์ The Apothecary Malaysia ก็ถือกำเนิดขึ้น
  • ผลคือผู้บริโภคตอบรับดี แถมยังขยายตลาดในหลายประเทศเอเชียอีกด้วย 



 
     เอเดรียน ชอง
เป็นหนุ่มมาเลเซียวัย 30 ปีที่ชอบเข้าครัวทำอาหาร ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน เขาฉุกใจได้คิดได้ว่าครัวไม่ใช่สถานที่ที่ใช้ปรุงอาหารอย่างเดียว แต่น่าจะใช้ทำอย่างอื่นได้ด้วย เขาจึงหาข้อมูลและพบว่าผลิตภัณฑ์บางอย่างที่ผลิตได้ในครัวและเป็นสินค้าที่ยังไม่แพร่หลายในมาเลเซีย ผลิตภัณฑ์ที่ว่าคือ solid colognes หรือโคโลญจ์ในรูปแบบกึ่งแข็งคล้ายขี้ผึ้ง เอเดรียนสังเกตว่าช่วงนั้น ความนิยมในสินค้าประเภททำมือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะตลาดเครื่องสำอางสำหรับผู้ชายที่เติบโตเป็นตัวเลขสองหลักทุกปี


     ส่วนตัวเอเดรียน เขาเป็นคนชอบใช้น้ำหอม และมองว่าการพกพาขวดน้ำหอมเวลาเดินทางไปไหน ๆ เป็นเรื่องที่ไม่สะดวกนัก เขาจึงชักชวนหุ้นส่วนมาทำธุรกิจ solid colognes ที่พกพาง่ายกว่า ด้วยความที่ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้แม้แต่น้อย เขาเริ่มต้นจากการเรียนรู้วิธีทำสบู่จากคนในชุมชน แม้สบู่กับโคโลญจ์จะไม่เหมือนกันแต่ก็มีความใกล้เคียงกันระดับหนึ่ง เอเดรียนยอมรับว่าแนวคิดการผลิตโคโลญจ์ในรูปแบบกึ่งแข็งนั้นอาจจะไม่ใช้สิ่งแปลกใหม่เพราะมีหลายแบรนด์จากสหรัฐฯและยุโรปเคยผลิตออกจำหน่ายแล้ว แต่เขามองว่าทางเอเชียนั้น ยังไม่มีแบรนด์ไหนผลิต  





     หลังจากที่ซุ่มศึกษามาระยะหนึ่ง โคโลญจ์กึ่งแข็งภายใต้แบรนด์ The Apothecary Malaysia ก็ถือกำเนิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 2015 เป็นผลิตภัณฑ์ Made in Malaysia ที่ใช้วัตถุดิบ ได้แก่ เครื่องเทศ และสมุนไพรจากในประเทศ นอกจากนั้น เขายังทำงานใกล้ชิดกับซัพพลายเออร์ในประเทศที่ผลิตน้ำมันหอมระเหยเพื่อให้ได้คุณภาพตามต้องการ โคโลญจ์ The Apothecary มาในรูปแบบขี้ผึ้ง มีส่วนผสมของเชียบัตเตอร์ และปลอดแอลกอฮอล์ สามารถใช้ทาตามผิวกายได้อย่างปลอดภัย และส่งกลิ่นหอมไม่ต่างจากฉีดโคโลญจ์ 


     เอเดรียนยังเล่าที่มาของชื่อแบรนด์ว่า Apothecary มีรากศัพย์มาจากภาษากรีก หมายถึงคนปรุงยาหรือเภสัชกร เขาชอบชื่อนี้ จึงนำมาใช้เป็นชื่อแบรนด์ ส่วนชื่อกลิ่นแต่ละกลิ่นก็มีที่มาที่ไปเช่นกัน ช่วงแรก ๆ การออกแบบกลิ่นจะเน้นไปที่กลุ่มผู้ใช้ที่เป็นชาย ชื่อจึงบ่งบอกไปทางนั้น เช่น กลิ่น ‘Maverick’, ‘Colossus’ และ ‘Hotshot’ ช่วงหลังเริ่มมีกระแสความต้องการจากลูกค้าสตรี จึงมีการผลิตกลิ่นสำหรับผู้หญิงออกมาด้วย เช่น กลิ่น ‘Cleopatra’





     ช่วงที่เปิดตัวใหม่ ๆ ทำยอดขายได้เดือนละประมาณ 20 กล่องเท่านั้น ปัจจุบัน ยอดขายขยับเพิ่มเป็น 200-250 กล่องต่อเดือน แม้จะเป็นสินค้ามาเลเซีย แต่ The Apothecary ไม่ได้จำกัดที่ตลาดในประเทศ เพราะนับตั้งแต่เปิดตัววันแรก เอเดรียนก็ตั้งเป้าจะขายในตลาดต่างประเทศด้วยอยู่แล้ว รวมถึง สิงคโปร์ ไทย เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน และจีน ในตลาดอย่างจีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไทย ยอดขายต่อเดือนทะลุ 1,000 กล่อง ล่าสุดเขาเพิ่งนำสินค้า The Apothecary ไปวางจำหน่ายที่ร้านในนิวยอร์กด้วย


     เอเดรียนกล่าวว่าเขาเน้นความสำคัญในเรื่องคุณภาพและดีไซน์เพื่อลบล้างชุดความคิดเดิม ๆ ที่ว่าสินค้าจากมาเลเซียต่ำกว่ามาตรฐาน ที่สำคัญ ลูกค้าหลายคนเชื่อใจในแบรนด์ชนิดที่สั่งซื้อผ่านออนไลน์โดยไม่ทดลองกลิ่นก่อนด้วยซ้ำ เขาเชื่อว่าดีไซน์และแนวคิดผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งดึงดูดให้ลูกค้ายอมควักกระเป๋าจ่ายโดยไม่ต้องสัมผัสหรือลองสินค้าจริงก่อน  สำหรับราคาจำหน่ายแบบค้าปลีกอยู่ที่กล่องลง 60 ริงกิตหรือราว 450 บาทโดยเฉลี่ย และบางครั้งทางแบรนด์จะทำโปรโมชั่นลดราคา 30 เปอร์เซนต์ ลูกค้าสามารถเลือกซื้อผ่านทางออนไลน์ได้


     แม้จะดำเนินธุรกิจเข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว แต่ The Apothecary Malaysia ก็ยังพึ่งพาเงินลงทุนของตัวเองทั้งหมด เอเดรียนยอมรับว่าด้วยความที่เป็นทุนของตัวเองจึงใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่พยายามไม่ให้เกินงบ และใช้จ่ายทุกบาททุกสตางค์ให้คุ้มค่า อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และขยายธุรกิจให้โตกว่าเดิม เอเดรียนกำลังมองหานักลงทุนอิสระที่จะมาสนับสนุนด้านการเงินเช่นกัน เนื่องจากบริษัทมีแผนจะขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายขึ้น
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup