Starting a Business

MORELOOP, The Circular Economy Way อมรพล หุวะนันทน์ ธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์

Text : รัชนี พันธ์รุ่งจิตติ  Photo : กิจจา อภิชนรจเรข




Main Idea

 
  • จากการอ่านหนังสือ Resource Revolution นำมาสู่จุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจให้ พล-อมรพล หุวะนันทน์ และ แอ๋ม-ธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์ หยิบผ้าเหลือใช้จากโรงงานมาสร้างมูลค่าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งธุรกิจที่ทั้งสองเลือกทำนี้เรียกว่า Circular Economy
 
  • Moreloop เป็นธุรกิจที่มีความเชื่อและตั้งต้นจากเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเอาทรัพยากรที่มีอยู่แล้วมาหมุนเวียนใช้ใหม่ ซึ่งวัสดุแรกที่ Moreloop นำขึ้นมาบนตลาดคือ ผ้าส่วนเกินจากโรงงานอุตสาหกรรมตัดเย็บและโรงงานทอผ้า



 
     เพียงคลิกเดียวจากการอ่านหนังสือ Resource Revolution เป็นจุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจที่ทำให้  พล-อมรพล หุวะนันทน์ และ แอ๋ม-ธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์ หยิบผ้าเหลือใช้จากโรงงาน มาสร้างมูลค่าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยที่อมรพลยอมทิ้งชีวิตมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้จำนวนมาก มาเดินตามความเชื่อของตนเอง โดยมีธมลวรรณทายาทโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเข้ามาร่วมสร้างความฝันนั้น จนเกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ที่เรียกว่าเป็น Circular Economy



     ทำไม Moreloop ถึงเรียกตัวเองว่าเป็น Circular Economy

     อมรพล  : Moreloop เป็นธุรกิจที่มีความเชื่อและตั้งต้นจากเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นการเอาทรัพยากรที่มีอยู่แล้วมาหมุนเวียนใช้ได้ใหม่ ซึ่งทรัพยากรที่ว่าคือขยะหรือของเหลือ ทั้งที่เป็นของเหลือจากชุมชน และของเหลือจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งสิ่งที่ง่ายที่สุดในการทำคือสร้างตลาดตรงนี้ขึ้นมา เราเลยพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อสร้างตลาดขึ้นมา โดยที่วัสดุแรกที่ Moreloop นำขึ้นมาบนตลาดคือผ้าส่วนเกินจากในโรงงานอุตสาหกรรมตัดเย็บและโรงงานทอผ้า

     ธมลวรรณ : จริงๆ แล้วคือตัวแอ๋มเองเป็นทายาทรุ่นที่ 2 ของโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งผ้าที่เหลือเป็น Pain Point  ของเราถามว่าทำไมต้องมีผ้าเหลือ ก็มีหลายสาเหตุแต่หลักๆ คือการที่เราจะผลิตเสื้อแต่ละออเดอร์จะต้องมีการเผื่อสูญเสีย เผื่อตำหนิ ซึ่งในการเผื่อตรงนี้เวลาเหลือ จะเหลือเป็นพับเป็นม้วนแต่ก็ไม่ได้มากอะไร ส่วนใหญ่จะเผื่อกัน 1-2 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ด้วยตัวโรงงานเราเป็นโรงงานผลิตเพื่อส่งออก ฉะนั้นผ้าทุกผืนที่สั่งมันมีที่มาที่ไป เรารู้ว่ามันเป็นเส้นใยอะไร มีคุณสมบัติยังไง ซึ่งมันไม่ควรจะโดนมองว่าเป็นขยะหรือเป็นของเหลือที่ไม่มีมูลค่า เราเลยมองว่าจริงๆ แล้วตัวผ้าพวกนี้มันเกิดขึ้นมาแล้ว มันมีมูลค่ามีคุณสมบัติครบถ้วนเท่ากับตอนที่เราสั่งเลย ทำไมเราไม่ทำให้มันได้ขายออกไปในมูลค่าที่ควรจะเป็น

     อมรพล : จริงๆ ตลาดของเหลือมีหลายวัสดุ เราไปดูหลายวัสดุทั้งพลาสติก เหล็ก พอมาเจอผ้าซึ่งเป็น Pain Point ของโรงงานและมีขนาดด้วย เป็นสิ่งที่ลูกค้าถัดจากเรา แค่เขามีกรรไก มีจักรเย็บใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไป ก็เป็นสินค้าใหม่ได้แล้ว ซึ่งสามารถไปต่อยอดและพัฒนาได้จริง แล้วก็รู้สึกว่ามันน่าจะเป็นวัสดุที่เราน่าจะเริ่มต้นกับมัน



     อะไรที่ทำให้คุณสนใจเรื่อง Circular Economy

     อมรพล : ผมมีโอกาสอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า Resource Revolution เขาบอกว่าในบริบทของการที่จะเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งล่าสุด ใครสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่กำลังเพิ่มขึ้นมาได้ก็จะเติบโตได้ในอนาคต ซึ่งทรัพยากรที่พูดถึงบ่อยมากตอนนี้คือ Data เพียงแต่ผมมองอีกอย่างคือทรัพยากรที่เพิ่มขึ้นทุกวันแล้วเป็นปัญหาก็คือขยะหรือของเหลือ มองว่า เป็นโอกาสได้มั้ย พอคิดแค่นี้ก็เออจริงๆ เราน่าจะมีกลไกตลาดในการเชื่อมต่อตรงนี้ได้ พอเรามีภาพในหัวก็คิดต่อไปว่า แล้วที่ไหนที่เราจะแยกขยะได้ ในราคาไม่แพง นั่นก็คือบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งสามารถเป็นสโตร์ที่ใหญ่ที่สุดได้  มีลูกค้ารออยู่รายล้อม พอมองตรงนี้ก็เห็นภาพนี้ขึ้นมา ก็เลยตามหาว่าจะทำไอเดียนี้ให้เป็นจริงได้หรือเปล่า เราสร้างซัพพลายกับดีมานด์ในตลาดแบบนี้ได้มั้ย พอคิดแบบนั้นก็เริ่มถามคำถามตัวเอง เริ่มเข้าสู่ระบบการสร้างธุรกิจแบบ Lean Startup
               
     หลังจากนั้นเราก็ไปดูว่าไซส์ของปัญหาผ้าที่เหลือๆ มีเท่าไหร่ ประเมินเบื้องต้นในเมืองไทยมีผ้าส่วนเกินปีหนึ่ง 3.5 แสนตัน ซึ่งสามารถผลิตเสื้อได้ 700 ล้านตัวต่อปี เลยมองว่าอันนี้เป็นทรัพยากรที่น่าจะเข้าไปบริหารจัดการ

     ธมลวรรณ :  อย่างที่พี่พลบอกเริ่มต้นของ Moreloop เราใช้แนวคิดแบบ Lean Startup คือเป็นการเริ่มต้นโดยใช้เงินลงทุนน้อยที่สุด อะไรที่เราทำได้เราทำเอง สิ่งที่เราลงทุนมากที่สุดคือเวลากับแรง เราลุยเต็มที่แล้วเราทุ่มมันมากๆ พี่พลเองคือออกจากงาน มาทำ Moreloop เต็มตัว  


 
     คุณมีความมั่นใจแค่ไหนว่าโมเดลนี้จะไปต่อได้

     ธมลวรรณ  : ทำไมเรารู้สึกว่าโมเดลนี้เกิดขึ้นได้ เพราะในระบบโรงงานอุตสาหกรรมเราก็มีการซื้อขายผ้าเหลือเหล่านี้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าการซื้อขายส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบการลดมูลค่าของตัววัตถุดิบ ทีนีความต่างของ Moreloop คือจะทำยังไงให้วัตถุดิบนี้ขายได้ในราคาสมเหตุสมผล โมเดลนี้เราไม่ได้คิดไปเอง จริงๆ แล้วพวกเราก็เอาไอเดียไป Pitching ในเวทีการประกวดมาก่อน  ตั้งแต่เริ่มต้นมีแค่ไอเดียเลย เพราะเราอยากรู้ว่าสิ่งที่เราคิดกันจะมีคนเข้าใจมั้ย  ถ้ามีคนเข้าใจเขาเห็นภาพเรายังไง     

     อมรพล : ถามว่ามั่นใจมั้ย ตอนแรกก็ไม่มั่นใจ เพราะเป็นอะไรใหม่ แต่เรามีหน้าที่จะต้องทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นจริง ซึ่งวิธีการที่จะทอนความเสี่ยงออกมา ก็เช่นไปประกวดหรือลองทำอะไรใหม่ๆ  Moreloop ขึ้น Pitching แค่ 2 เวที เวทีแรกเป็นของ NIA (สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ) ซึ่งอันนั้นเป็นแค่ไอเดีย ยังไม่ชื่อ Moreloop เลยด้วยซ้ำ เราได้ที่ 2 อย่างน้อยทำให้เรารู้สึกว่ามีคนเข้าใจไอเดียเรานะ น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่ตอนนั้นเรายังเป็นแพลตฟอร์มของวัสดุเหลือใช้หลายๆ ตัวอยู่ ยังไม่ได้เจาะจงมาที่ผ้า ส่วนเวทีที่ 2  เป็นของบริษัท บ้านปู Banpu Champions for Change ซึ่งเราได้ลงมาเฉพาะเรื่องผ้าแล้ว เวทีนี้เขาจะถามเลยว่าจะหาเงินได้ยังไง และขยายไอเดียนี้ไปได้ยังไงบ้าง แล้วก็มากกว่านั้นผลกระทบจริงๆ ของคุณคืออะไรกันแน่ เพราะตอนแรกที่เราไป คิดว่าผลกระทบเป็นด้านของเหลือ คือเรากำจัดของเหลือ แต่จริงๆ มันมีอีกด้านคือการผลิตเพราะการที่เราใช้ของที่มีอยู่แล้วทำให้เราลดการผลิตลงไปได้ เราถึงได้บอกว่าการใส่เสื้อ Moreloop เท่ากับได้ลดการที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซค์ได้เท่าไหร่ ก็เพราะเราไม่ได้ผลิตเพิ่ม  

     สำหรับเราภาพที่อยากจะเห็นมันสวยงาม ดังนั้นจึงมองว่ามันคุ้มที่จะเสี่ยง แล้วก็คนในครอบครัวก็เป็นอีกส่วนที่สนับสนุน แล้วบอกว่าทำไปเหอะเป็นสิ่งที่ดี  

     ธมลวรรณ : มันช่วยลดการที่ขยะพวกนี้จะไปสู่ที่ฝังกลบ นอกจากนั้นเรายังได้เพิ่มโอกาสให้กับดีไซเนอร์หรือแบรนด์ของไทยที่อาจจะมีไอเดียในการออกแบบ แต่เข้าไม่ถึงแหล่งวัตถุดิบที่เป็นระดับส่งออกหรือเนื้อผ้าคุณภาพดีๆ  เพราะว่าส่วนใหญ่ผ้าพวกนี้จำนวนในการสั่งต้องมาก แต่พอมาเป็น Moreloop เนื่องจากเป็นของเหลือจากล็อตใหญ่ของโรงงานผลิตแล้ว จำนวนก็จะลดน้อยลง ก็เลยทำให้ Business Model ของ Moreloop หมุนต่อไปได้  เราไม่ได้มองว่าลูกค้าจะมาซื้อเรา ซื้อเพราะรักษ์โลก แล้วได้ผ้าหนึ่งพับไปกองที่บ้าน ลูกค้าจะต้องซื้อกับ Moreloop เพราะผ้าที่เราให้ทุกคนมันเหมาะกับการใช้งานของเขา จำนวนที่เรามีให้เข้ากับบริบทในการใช้ของเขา ราคาเหมาะสมกับแบรนด์ของเขา นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เราหมุนไปได้เพราะเราขายของที่เขาจะใช้จริงๆ
 

     
     คุณมองเรื่องของการสร้างรายได้สำหรับ
Business Model  นี้อย่างไรบ้าง

     อมรพล  : ผมเป็นนักวิเคราะห์การเงินมาก่อน ฉะนั้นจะคิดเรื่องการหาเงินตั้งแต่แรกเลย  เรากำลังแลกชีวิตเราออกมาทำสิ่งนี้ ฉะนั้นไอเดียนี้เขาต้องเลี้ยงผมได้เหมือนกัน ณ วันนี้เรามีการขาย 3 รูปแบบคือ อย่างแรกขายเป็นวัตถุดิบ อันนี้เราจะเก็บเป็นค่าคอมมิสชั่นให้ทางผู้ขายตั้งราคามา แล้วเราบวกคอมมิสชั่นเพิ่มในการที่เราทำเซอร์วิสให้เขา อย่างที่สองเราทำของให้กับองค์กร โดยเราเอาวัตถุดิบเหล่านี้มาเพิ่มมูลค่า ตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าหรือกระเป๋าต่างๆ ให้กับองค์กรต่างๆ เช่น เสื้อ SCG  อย่างที่สามคือเราขายของเป็นแคปซูลคอลเลคชั่นเล็กๆ ของเรา เช่น เราตัดเสื้อ 150 ตัวขายตามเว็บหรือเวลาไปออกอีเว้นต์ เป็นต้น

     ธมลวรรณ  : ตอนแรกพวกเราคิดว่าจะขายผ้าอย่างเดียว คือเราเป็นฮับรวบรวมโรงงานต่างๆ ซึ่งมีโรงงานมาเข้าร่วมกับเราเกือบ 30 โรงงานแล้วทั่วประเทศไทย ก็กะว่าเรามีผ้าเยอะมาก ดีไซเนอร์ต้องวิ่งเข้ามาหาเรา ขายไม่ทันแน่ๆ แต่พอเราลอนซ์แพลตฟอร์มจริงๆ รอบในการสั่งซื้อ เขาก็จะมีซีซันของเขา มีคอลเลกชั่นของเขา มันไม่ใช่ว่าเขาเจอผ้ากลุ่มนี้แล้วซื้อได้เลย แล้วผ้าที่เรามีเป็นผ้าเหลือมีจำกัด ไม่ใช่ลอตใหญ่ๆ เหมือนที่เราคิดไว้ตอนแรก สิ่งที่เราปรับคือเรามาอ้อนโรงงาน นอกจากจะเอาผ้ามาให้เรายังขอกำลังการผลิตของเขา เพื่อหมุนวัตถุดิบเหล่านี้ให้กลายเป็นสินค้าสำเร็จรูปคือพวกกลุ่มของเสื้อองค์กรต่างๆ แต่เนื่องจากผ้ามันมีอยู่จำกัด บางรุ่นหรือบางแบบลูกค้าต้องการงานจำนวนที่เยอะ กลายเป็นว่าเขาอาจจะต้องผสมผ้าหลายๆ ผืน ถ้าผสมผ้าหลายผืนแล้วไปจ้างข้างนอกตัดเย็บก็เกิดปัญหา เพราะว่าหลายโรงงานที่รับผลิตยังไม่เข้าใจการใช้ผ้าส่วนเกินหรือผ้าเหลือ กลายเป็นว่าต้นทุนหรือการบริหารค่อนข้างยาก พอ Moreloop มาคุยกับโรงงานที่เข้าใจวิธีการใช้ผ้าเหลือเหล่านี้ เขารับได้กับการที่เราจะทำถุงผ้าพันใบแทนที่จะมีหนึ่งไลน์เย็บง่ายๆ เหมือนกันหมด กลายเป็นว่าเราต้องผสมผ้า มี 14 หน้าผ้า ตัด 14 ครั้ง เปลี่ยนเส้นด้าย 14 รอบ พอเราคุยกับโรงงานที่เข้าใจเลยเกิดเป็นโมเดลที่ 2 ก็คือการที่เรารับผลิตให้กับบริษัทต่างๆ เพราะว่าบริษัทเองไม่ได้มีฐานของโรงงานผลิตอยู่แล้ว ไม่เหมือนพวกแบรนด์ มาผลิตกับ Moreloop กลายเป็นวันสต็อปเซอร์วิส ก็เลยเป็นจุดที่ทำให้ต่อยอด แล้วทำให้ทุกคนรู้สึกว่าการเข้าถึงเศรษฐกิจหมุนเวียนมันง่ายแค่นี้เอง
               

     
     ทำไมเลือกที่จะวางตัวเองเป็น
Startup

     อมรพล  : การที่เราไปอยู่บนออนไลน์อัตโนมัติคือขยายได้ง่ายในต้นทุนที่ต่ำกว่า ผ้าเหลือที่เราประเมิน ผลิตเสื้อได้ 700 ตัวนั่นแค่เมืองไทย ทั่วโลกไม่รู้เท่าไหร่ ฉะนั้นมันเป็นธุรกิจที่สเกลได้แน่นอน เราไม่ใช่ Startup แต่เป็น Lean Startup ความ Lean ของเราคือขวนขวายที่สุด ที่จะทำยังไงให้เราได้สิ่งที่เราต้องการในราคาที่เราคิดว่าเหมาะกับเรา แล้วเรามีความเชื่อว่าหาได้แน่นอน เช่น ตอนแรกเลยเราเคยไปขอบริษัทหนึ่งทำเว็บไซต์ให้ เขาบอกราคามา 3 ล้านบาท สุดท้ายเราไปหาวิธีมาจนกระทั่ง เราไปเช่าเว็บสำเร็จรูปแล้วมีฟังก์ชั่นที่เราต้องการ เดือนละพันบาท ถามว่าผมไปเจอแพลตฟอร์มนี้เลยมั้ย ไม่ใช่ ก่อนหน้านี้ไปหาอีกว่าหรือจะเอาโค้ดสำเร็จรูปมา แล้วค่อยจ้างอีกคนมาโมดิฟาย หรือแม้กระทั่งว่าแพลตฟอร์มสำเร็จรูปเหมาะกับเราหรือเปล่า ก็มีอีกหลายแพลตฟอร์มที่เป็นแพลตฟอร์มที่ไม่เหมาะกับเรา ผมก็ลอง ลอง ลอง คือใช้เวลากว่าจะหาเจอ

     ธมลวรรณ : เราเห็นภาพในหัวแล้วว่าเว็บไซต์ของเราต้องการอะไร ก่อนหน้านั้นเป็นปีเราทำแบบสอบถามคนที่รู้จักว่าถ้ามีแพลตฟอร์มแบบนี้เกิดขึ้น จะใช้มั้ย อยากได้ Mood & Tone แบบไหน ฟังก์ชั่นอะไรที่อยากได้ วิเคราะห์วิจัยกันเป็นปี ไม่ใช่ว่าเราคิดอะไร แล้วคิดว่าถูกต้องที่สุดเพราะเราเป็นคนขายไม่ใช่คนซื้อ สิ่งที่ดีที่สุดคือเราไปถามคนอื่นว่าเขาอยากเห็นอะไรแล้วเอาอันนั้นมาจูนกับเราว่าสามารถทำได้หรือเปล่า ในแพลตฟอร์มก็เลยมีทั้งที่เป็นแบบฟังก์ชั่นจริงๆ ว่าชื่อทางการค้า ชื่อสิ่งทอ สิ่งที่อยากสื่อกับคนที่มาใช้ผ้าคือเราอยากให้เขาเรียกชื่อผ้าให้ถูกต้อง เพราะว่าส่วนใหญ่เราชอบเรียกผ้าตามแบรนด์ ซึ่งไม่ใช่ชื่อผ้าแต่เป็นชื่อแบรนด์นั้นๆ เราเลยใส่ข้อมูลที่ถูกต้องว่าเส้นใยอะไร ทอแบบไหน สีอะไร มีน้ำหนักเท่าไหร่ แต่พอลอนซ์ออกมาจริงๆ 3-4 เดือนแรก ดีไซเนอร์ยังไม่รู้จักชื่อผ้าจริงๆ เลย ก็ยังทำแบบนั้นอยู่เพราะเราอยากให้คนรู้จักชื่อเหล่านี้ ให้วันหนึ่งเมื่อเขาไปคุยกับโรงงานต่างๆ เขาสามารถเรียกชื่อได้ถูกต้องเข้าใจกับโรงงานได้ หรือการเปลี่ยนหน่วยจากกิโลเป็นหลา เพราะบ้านเราซื้อขายเป็นกิโลกรัม เมืองนอกซื้อขายเป็นหลา ดีไซเนอร์ไม่สามารถเอากิโลไปคำนวณผ้าได้จะต้องเป็นหลา

     อย่างคอนเทนต์เราแทบจะไม่โพสต์คอนเทนต์ที่เป็นด้านลบ เพราะเรารู้สึกว่ามีคนพูดเยอะ เราอยากจะเป็นอีกเพจที่โพสต์เกี่ยวกับโซลูชั่นมากกว่า เช่น เวลาที่เราโพสต์สินค้าต่างๆ ที่เราทำให้แต่ละบริษัทจะไม่ใช่แค่บอกว่าขอบคุณบริษัทนี้ที่สั่งงานกับเรา แต่เราจะบอกว่าแต่ละบริษัทยอมอะไรเราบ้าง เพราะว่าคุณกำลังใช้ของที่มีอยู่จำกัด อาจจะไม่ใช่สีองค์กร บางทีคุณอยากได้ 200 ตัวหน้าตาเหมือนกันหมดเ เราอาจจะหาผ้าแบบนั้นไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือตัวสีหนึ่ง แขนสีหนึ่งได้มั้ย โซลูชั่นพวกนี้เกิดจากความเข้าใจ แล้วก็ความอะลุ่มอะล่วยของลูกค้าที่มีให้กับ Moreloop ฉะนั้นสิ่งที่เราอยากจะสื่อไปให้ทุกคนคือแค่เปลี่ยนมุมมอง ทุกอย่างก็เปลี่ยน


 
     การเดินทางของ moreloop จนถึงวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง

     ธมลวรรณ : ความโชคดีของ Moreloop คือมีลูกค้าทักเข้ามาทุกวัน  ส่วนในเรื่องอิมแพคแน่นอนมันเป็นเงาตามตัว  เพราะว่าผ้าทุกพับงานทุกชิ้นที่ออกไป มันสร้างอิมแพคอยู่แล้วเพราะเราไม่ต้องผลิตวัตถุดิบใหม่ เราเอาของเก่าที่มีอยู่แล้วมาหมุนใช้ให้เกิดศักยภาพสูงสุดเพราะฉะนั้นยิ่งตัวเลขอิมแพคเราสูงสุดเท่าไหร่ รายได้ของเราก็คือสูงขึ้นตาม

     อมรพล :  ตั้งแต่เปิดแพลตฟอร์ม Moreloop มาไม่ถึงปีเราใช้ผ้าเหลือไปได้ประมาณ 6,664 กิโลกรัม ลดคาร์บอนไดออกไซค์ไปได้  เกือบ 1 แสนกิโลกรัม ซึ่งเทียบกับการขับรถรอบโลกก็คือ 1 ล้านกิโลเมตร หรือ 25 รอบโลก ก็ค่อนข้างภูมิใจที่มันโตแบบก้าวกระโดดเลย จากเมื่อ 3 เดือนที่แล้วยังอยู่แค่ 3,500 กก. คือเพิ่มขึ้นมาเท่าหนึ่ง
  
     คุณได้เรียนรู้อะไรจากการเติบโตของ Moreloop

     อมรพล  : ผมเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ดีมาก ตำแหน่งสุดท้ายก่อนลาออกคือเป็น Country Head แต่เรามองเห็นตัวเองอีก 5 ปีข้างหน้าก็น่าจะประมาณนี้ไม่ไปไหนแล้ว การที่ยิ่งอ่านหนังสือ เห็นคนอื่นทำ Startup มีคนบอกว่านี่เป็นเวลาที่ดีที่สุดที่จะมาเริ่มอะไรใหม่ๆ ด้วยตัวเอง พอเราฟังอย่างนั้นก็คิดว่าจริงเหรอ แต่วันนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าความเชื่อก็เป็นจริงได้ ด้วยวิถีที่เราทำของเราเอง ความยากน่าจะเป็นเรื่องของใจมากกว่า ถ้าเราเข้มแข็งแล้วลองลงอทำไป ผมเรียนรู้ว่าเป็นจริงได้  

     ธมลวรรณ :  แอ๋มอยู่ในธุรกิจที่ทุกคนเรียกว่าเป็น Sunset Industry มาเป็น 10 ๆ ปี พอเราเริ่มต้นทำ Moreloop ผลตอบรับดี  ทำให้เราเห็นว่าธุรกิจจะ Sunset หรือไม่ Sunset ไม่ใช่คนอื่นมาบอก อยู่ที่ว่าเราจะทำยังไงให้ Sunset Industry ของเรายั่งยืน เรารู้สึกดีใจที่ได้เจอคนใหม่ๆ ทำให้เรามอ’ธุรกิจเปลี่ยนไปเหมือนกัน เราฉีกทุกกฎหมดเลย เช่น ทุกคนบอกว่าเราจะขายดี ถ้าเราอัดโฆษณาเฟซบุ๊ก  จริงๆ เราโพสต์แล้วแต่วันว่าง ช่วงไหนมีเวลาเราถึงจะโพสต์ เราไม่มีตารางว่าต้องโพสต์วันไหนกี่โมง เราแค่คิดว่าสิ่งที่เราจะสื่อสารกับทุกคนมันเป็นสิ่งที่เราอยากคุยกับเขา ฉะนั้นเราคุยกับเพื่อนเรากี่โมงก็ได้  หรือกระทั่งการที่เรามองว่าธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น แค่ปรับมุมมองนิดเดียวก็เกิดขึ้นได้แล้ว  
     พี่พลเป็นมนุษยเงินเดือนขั้นเทพที่ลาออกจากงานมาทำ Moreloop วันนี้ Moreloop เลี้ยงตัวเองได้ เราจ่ายเงินเดือนจ้างทีมงานเล็กๆ แต่ยังเลี้ยง Co-founder ไม่ได้ทั้งคู่ เราถามตัวเองเมื่อหลายเดือนก่อน ถ้าตอนนี้ Moreloop ยังไม่สามารถเลี้ยงพวกเราได้เรายังจะทำมันอยู่มั้ย ซึ่งคำตอบคือปัจจุบันเราก็ยังนั่งอยู่ตรงนี้ เพราะมองว่าถ้าทำสิ่งที่ดีทั้งต่อคนอื่นทั้งต่อโลก แล้วเราวิเคราะห์ศึกษามาแล้ว ในชีวิตคนเราจะมีโอกาสกี่ครั้งที่ได้ทำ เพราะฉะนั้น เราเลยมองว่าเราลุยกันอีกสักปี ลองดูสิว่าจะเกิดอะไรขึ้น


 
     ก้าวย่างต่อไปของ Moreloop จะเป็นอย่างไรบ้าง  

     อมรพล : เราอยากให้เขาคิดถึง Moreloop เป็นที่แรก ถ้าอยากได้ของที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ของอย่างคุ้มค่า หรือนึกถึงเศรษฐกิจหมุนเวียน แล้วถ้าในประเทศเราเริ่มโอเค เราก็มองไปที่ต่างประเทศด้วย ซึ่งวันนี้เราก็มีลูกค้าต่างประเทศแล้ว ต้นปีหน้าน่าจะได้ส่งออกกันจริงๆ แล้วตอนนี้เราได้ Raise Fund ก้อนแรก เป็นรอบ Pre-seed คือจริงๆ เราไม่ได้อยากจะ Raise Fund กับทุกๆ  VC ที่ติดต่อมา แต่เราเลือก VC ที่มีวิสัยทัศน์เดียวกับเรา เหมาะกับเรา เชื่อในศักยภาพของเรา ไม่ใช่ดูว่าจะสร้างมูลค่าเท่าไหร่ในหลักของจำนวนเงิน แต่ สร้างอิมแพคต่อสังคมเท่าไหร่มากกว่า  
               
     นอกจากนี้เราวางเป้าหมายเอาไว้ 5 ปี ว่าตั้งใจจะลดคาร์บอนไดออกไซค์ให้ได้ 1 ล้านกิโลกรัม ซึ่งเท่ากับว่าเราต้องดึงผ้าขึ้นมาในระบบให้เพียงพอ อย่างน้อย 10 เท่าของสิ่งที่เราใช้ได้จริง ในอีกด้านหนึ่งเรามีก็เป้าหมายที่จะขยายไปยังวัสดุเหลืออื่นๆ บนแพลตฟอร์มเดียวกัน โดยปีหน้าจะมีวัสดุหนังมาอยู่บนแพลตฟอร์ม เพราะมองว่า Pain Point คล้ายๆ กับผ้า ส่วนวัสดุอื่นคงต้องใช้เวลาออกไป

     ธมลวรรณ : เรามองว่าไทยเป็นฐานการผลิตผ้า แต่ก็ยังมีประเทศเพื่อนบ้านเราหรือประเทศอื่นที่อยู่ในพื้นที่อื่นที่เป็นฐานการผลิตเหมือนกัน ถ้าโมเดลเราพิสูจน์ว่ามันเกิดขึ้นได้จริงแล้วการขยายตัวไปยังประเทศอื่นก็น่าจะทำได้ แต่เคยมีดิวแรกๆ ที่เราทำสนุกมาก คือตกลงผ้าราคาทุกอย่างโอเคหมดสั่งผ้ามาแล้ว ปรากฏว่าตายน้ำตื้นเลย  เจอค่าโลจิสติกส์แพงกว่าค่าผ้า เลยกลายเป็นว่าดิวนั้นทำให้เราเรียนรู้ว่าไม่ใช่ทุกประเทศที่เราจะไปได้ ฉะนั้นประเทศที่เราจะส่งออกต้องเป็นประเทศที่ถ้าเขาจะผลิตสินค้าตัวนี้ในประเทศเขาแพงกว่าซื้อจากเรารวมค่าขนส่ง  แต่ส่วนกลุ่มประเทศที่เราจะไปหาผู้ขายก็ต้องเป็นประเทศอีกลักษณะหนึ่ง ไม่ใช่ว่าเราจะไปประเทศเดียวทั่วไปหมด เรามีการวิเคราะห์ว่าประเทศไหนเหมาะจะเป็นผู้ขาย ประเทศไหนเหมาะจะเป็นผู้ซื้อ
               



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup