Starting a Business

แม้จะเป็นเรื่องธรรมดาแต่ถ้าทำด้วยถนัดและเข้าใจ รายได้เดือนละ 11 ล้านไม่ใช่เรื่องยาก

Text : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
 



Main Idea
 
  • ที่สิงคโปร์ fish & chips หรือปลาทอดกับมันฝรั่งทอด เป็นเมนูธรรมดาที่พอหาได้ตามร้านคาเฟ่หรือร้านอาหารบางแห่ง และไม่ได้โดดเด่นเท่าเบอร์เกอร์ หรือแซนด์วิช
 
  • แต่ ธัม ก๊อก หยุ่น และอ็อง เหว่ย เช็ง กลับไม่คิดเช่นนั้น พวกเขาพลิกเมนูนี้ให้ขึ้นมาเป็นเมนูเด่นของร้าน Big Fish Small Fish และเพียง 2 ปีครึ่ง พวกเขาก็ขยายร้านไปถึง 5 สาขา แถมยังขยายไปยังประเทศมาเลเซียอีกด้วย 
 


     เป็นที่ทราบกันดีว่า fish & chips หรือปลาทอดกับมันฝรั่งทอดเป็นอาหารต้นตำรับและเรียกได้ว่าเป็นอาหารประจำชาติของชาวอังกฤษ ที่ประเทศสิงคโปร์ก็เช่นกันหากใครต้องการรับประทาน ก็พอหาได้ตามร้านคาเฟ่หรือร้านอาหารบางแห่งที่แซมเข้าไปเป็นตัวเลือกในเมนู แต่ fish & chips ไม่เคยถูกจัดเป็นอาหารจานหลัก และไม่ได้โดดเด่นเท่าเบอร์เกอร์ หรือแซนด์วิช ชะรอยจะเห็นช่องว่างในตลาดนี้สองหนุ่มสิงคโปร์ ธัม ก๊อก หยุ่น และอ็อง เหว่ย เช็ง หุ้นส่วนร้าน Big Fish Small Fish จึงพลิกชู fish & chips เป็นเมนูเด่นของร้าน

     ในปี 2017 พวกเขาตัดสินใจลงขันกันด้วยเงินลงทุน 300,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมา 6.6 ล้านบาท เลือกทำเลในย่านพังโกล อีสต์ คอนเทนเนอร์ ปาร์คซึ่งเป็นย่านกินดื่มแบบฮิปสเตอร์แหล่งใหม่ ในการเปิดร้านที่ชู fish & chips เป็นจุดขาย ผลคือได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเกินความคาดหมาย ทำให้สามารถขยายเพิ่มเป็น 5 สาขาในเวลาเพียง 2 ปีครึ่ง สร้างรายได้รวมแล้วประมาณ 500,000 ดอลลาร์สิงคโปร์หรือราว 11 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่สาขาแรกที่พังโกล บางช่วงมีลูกค้าต่อแถวยาวเพื่อรอซื้อนานนับชั่วโมงก็มี

     ก๊อก หยุ่นเล่าว่าเขาต้องการให้ Big Fish Small Fish ได้รับการจดจำในฐานะแบรนด์จากสิงคโปร์ จึงพยายามสร้างจุดเด่นให้กับร้านคือ นอกจากชูสินค้าหลักเป็นปลาและมันฝรั่งทอด ลูกค้าที่มาใช้บริการสามารถเลือกปลาได้ตามต้องการ อาทิ แซลมอน กะพงขาว อลาสก้าพอลล็อค และปลาตระกูลปลาค็อก เช่น แฮดด็อค โดยเริ่มต้นตั้งแต่เสิร์ฟละ 7.90 ดอลลาร์ หรือประมาณ 174 บาท ไปจนถึง 15.90 ดอลลาร์ หรือประมาณ 350 บาท และมันฝรั่งทอดที่เสิร์ฟพร้อมกัน ได้เปลี่ยนจากเฟรนช์ฟรายเป็น crisps หรือมันฝรั่งแผ่นบางทอดกรอบ

     จุดเด่นอีกประการคือซอสที่มีให้เลือกมากถึง 5 ชนิด ประกอบด้วย ซอสพริก ซอสถั่วลิสง ซอสไข่เค็ม ซอสชีส และซอสแกง (curry) โดยแกลลอนซอสขนาดใหญ่จะถูกแขวนไว้ให้ลูกค้ากดเองตามใจชอบ ซึ่งแน่นอนว่าบริการในรูปแบบนี้อาจจะมีปัญหาการกดซอสมากเกินไปจนทำให้เหลือทิ้ง ทางร้านจึงมีพนักงานคอยสอดส่องแนะนำ พร้อมกับติดป้ายเตือน นอกจากนั้นทางร้านยังเตรียมกระดาษปูโต๊ะเพื่อให้ลูกค้าสามารถเทอาหารลงบนกระดาษเพื่อแชร์กับเพื่อนๆ หรือสมาชิกครอบครัว จะได้กินไป คุยไป เป็นการสร้างประสบการณ์การกินอีกแบบ

     ก่อนหน้าที่จะเปิดร้าน Big Fish Small Fish ก๊อก หยุ่น และเหว่ย เช็งคร่ำหวอดในธุรกิจร้านอาหารมานาน โดยเคยทำงานให้กับเชนร้านอาหารทะเลสไตล์อเมริกันกว่า 10 ปี กระทั่งตัดสินใจลาออกเพื่อเปิดธุรกิจของตัวเอง พวกเขาเคยเปิด “ชาชังเตง” ซึ่งเป็นร้านน้ำชาแต่จำหน่ายอาหารด้วย เป็นร้านสไตล์ฮ่องกง แต่ไม่ประสบความสำเร็จจนต้องปิดกิจการหลังดำเนินไปได้เพียง 3 ปี

     จากนั้น ทั้งคู่ก็ตรึกตรองว่าควรกลับไปทำธุรกิจอาหารประเภทที่ตัวเองถนัด นั่นคือประเภทอาหารทะเล อีกทั้งพวกเขาก็มีสายสัมพันธ์และรู้จักซัพพลายเออร์อยู่แล้ว ความจริงหุ้นส่วนทั้งสองเคยคิดจะทำร้าน fish & chips ยู่แล้ว และตั้งใจว่าหากได้ทำจริง จะต้องไม่เหมือนคนอื่น เช่น การเสิร์ฟ crisps  มันฝรั่งแผ่นบางทอดกรอบแทนเฟรนช์ฟราย ที่พวกเขาต้องลองผิดลองถูกกับมันฝรั่งประมาณ 30 ชนิดเพื่อเสาะหาชนิดที่เหมาะที่สุดในการทำ

     การเลือกทำเลก็เป็นสิ่งสำคัญ จากการสำรวจพบเขตพังโกลอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาพื้นที่ เป็นที่อยู่อาศัย และชุมชนขนาดใหญ่ มีสวนสาธารณะเลียบคลองให้พักผ่อนหย่อนใจ ร้านอาหารและอาหารยังมีให้เลือกไม่มาก และพื้นที่นี้ถูกกำหนดให้เป็นจุดดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้มาเที่ยว ในด้านกลยุทธ์การตลาดจึงตกแต่งร้านและออกแบบอาหารให้น่าสนใจพอที่จะกระตุ้นให้ลูกค้าเช็คอิน และถ่ายรูปลงอินสตาแกรมหรือโซเชี่ยลมีเดียอื่น ๆ

     หลังจากเปิดขายได้เพียงสัปดาห์เดียว เจ้าของ Big Fish Small Fish ต้องปรับการดำเนินการใหม่เนื่องจากผลตอบรับดีเกินจากที่คาดไว้ทำให้ทอดไม่ทัน ต้องซื้ออุปกรณ์เพิ่มเพื่อลดเวลาในการรอของลูกค้า แม้จะชู fish & chips เป็นอาหารจานหลัก แต่ภายหลังทางร้านก็ได้เพิ่มเมนูอื่น ได้แก่ นักเก็ตปลา และเรนดังปลา (คล้ายแพนงหรือฉู่ฉี่ปลา) ด้วยกลยุทธ์การตลาดที่วางไว้เป็นอย่างดี ทำให้การดำเนินธุรกิจค่อนข้างราบรื่น และสามารถคืนทุนได้ใน 1 ปีแรกของการทำธุรกิจ  

     และพวกเขาใช้เวลาเพียง 2 ปีครึ่งขยายร้าน Big Fish Small Fish ไป 5 สาขาทั่วเกาะสิงคโปร์ และยังขยายไปต่างประเทศที่กัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซียเป็นที่แรก

     สำหรับแผนในอนาคตของ Big Fish Small Fish คือการขยายไปยังตลาดอื่นในเอเชีย โดยเล็งไว้ว่าจะรุกเข้าไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามในปี 2021 ตามด้วยเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอินเดียในปี 2013
 
     อ้างอิง : https://vulcanpost.com/677786/big-fish-small-fish-singapore/
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup