Starting a Business

พลิกจาก Tech Startup สู่ Food Startup โอกาสของหนุ่มสาวเอเชียในซิลิคอล วัลเลย์

 Text : วิม วิมาลี



 
Main Idea
 
  • เมื่อซานฟรานซิสโกเป็นที่ตั้งของซิลิคอน วัลเลย์ แน่นอนว่าย่อมทำให้บรรดา Tech Startup จากทั่วโลก รวมถึงจากเอเชียหลั่งไหลมาปักหลักเพื่อแสวงโอกาสในการทำธุรกิจกันมากมาย
 
  • และสิ่งที่ตามมาจากการเข้ามาของ Startup จากเอเชีย คือความแพร่หลายของอาหารเอเชีย และร้านอาหารของ Startup เอเชียที่มองเห็นช่องทางการทำธุรกิจ
 
 


     เป็นที่ทราบกันดีว่าพื้นที่ทางใต้ของอ่าวซานฟรานซิสโกเป็นที่ตั้งของซิลิคอน วัลเลย์ แหล่งรวมออฟฟิศของบริษัทเทคโนโลยีมีชื่อเสียงจำนวนมาก ความฮอตฮิตของซิลิคอน วัลเลย์ ทำให้บรรดา Tech Startup จากทั่วโลกอพยพมาปักหลักในซานฟรานซิสโกเพื่อแสวงโอกาสในการทำธุรกิจ

     ข้อมูลจากสถาบันนโยบายสาธารณะแห่งแคลิฟอร์เนียระบุจำนวนผู้อพยพเข้ามาอาศัยในรัฐแคลิฟอร์เนีย  50% มีภูมิลำเนาในละตินอเมริกา และ 40% มาจากเอเชีย เฉพาะในซิลิคอน แวลลีย์ ประชากรเชื้อสายเอเชียขยับจาก 28% ในปี 2007 มาอยู่ที่ 34% ในปีนี้ สิ่งที่ตามมาจากการหลั่งไหลเข้ามาของ Startup จากเอเชียในพื้นที่อ่าวซานฟรานซิสโก คือความแพร่หลายของอาหารเอเชีย ที่สำคัญนอกจากเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารเอเชียยังทำให้รูปแบบการเริ่มต้นธุรกิจร้านอาหารของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในพื้นที่นี้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อ Startup หลายรายมองเห็นโอกาสและผันตัวเข้าสู่ธุรกิจอาหารแทน

     เทรซี่ โกห์ นักการตลาดสาววัย 37 ปีจากมาเลเซียที่ย้ายมาทำงานในซานฟรานซิสโกเมื่อปี 2012 ด้วยความที่ไม่รู้จักใครและต้องการหาเพื่อนคุย จึงทำธุรกิจเล็กๆ แล้วเชิญชวนคนที่อาศัยอยู่ในแฟลตเดียวกันมาทานอาหารที่ห้อง โดยเธอลงมือปรุงอาหารมาเลเซียให้ลองชิม จากลูกค้าไม่กี่คน ขยายกลายเป็น 20-60 คนเมื่อ “หลักซา” ก๋วยเตี๋ยวแกงสไตล์มาเลย์กลายเป็นเมนูที่ถูกปากลูกค้าเธอ เทรซี่ตัดสินใจลาออกจากงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การตลาดเพื่อมาเป็นแม่ครัวเต็มตัว โดยใช้วิธีเช่าครัวพาณิชย์เพื่อเตรียมอาหาร ช่วงปี 2017-2018 เธอเสิร์ฟ “หลักซา” ไปกว่า 1,000 ชาม และหวังว่าจะเป็นการเผยแพร่อาหารมาเลย์ให้กับคนที่ไม่รู้จักได้ลิ้มลอง

     เช่นเดียวกับ เคน คาเนะมัตสึ หนุ่มญี่ปุ่นวัย 41 ปี ที่ย้ายจากโตเกียวมาอยู่ซานฟรานซิสโกเมื่อ 13 ปีก่อนบอกเล่าเรื่องราวก่อนจะมาเป็นเจ้าของร้านอาหารว่าจุดเริ่มต้นมาจากความไกลบ้านทำให้เขาความโหยหา  “โอนิกิริ” หรือ “ข้าวปั้น” อาหารแสนโปรดที่หาซื้อได้ง่ายจากร้านสะดวกซื้อทุกแห่งในญี่ปุ่น แต่ที่ซานฟรานซิสโกไม่มี เคนจึงลาออกจากงานนักพัฒนาแอปพลิเคชั่นในมือถือมาเป็นพ่อค้าข้าวปั้นข้างถนน ส่วนหนึ่งก็ต้องการแนะนำอาหารสไตล์ฟาสต์ฟู้ดเพื่อสุขภาพในราคาไม่แพงให้เป็นที่รู้จักด้วย

     แต่การเริ่มต้นธุรกิจอาหารในพื้นที่อ่าวก็ไม่ใช่ง่ายเนื่องจากค่าเช่าพื้นที่นั้นสูงมาก ซึ่งผลสำรวจเกี่ยวกับอัตราค่าเช่าพื้นที่พบว่า 7 ใน 10 ของเคาน์ตี้ในสหรัฐฯที่ค่าเช่าแพงสุดอยู่ในพื้นที่อ่าวนี่เอง ไม่เท่านั้น การแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารก็สูงเช่นกัน เฉพาะในเมืองซานฟรานซิสโกที่เดียว มีร้านอาหารกว่า 4,000 ร้าน แม้การท้าท้ายจะสูงขนาดนั้น เทรซี่ก็ยังมุ่งมั่นเดินหน้ากับธุรกิจร้านอาหารของเธอ หลังจากที่ทำร้าน pop-up คือเวียนไปเปิดบริการตามที่ต่างๆ กว่า 500 ครั้ง เธอก็สามารถระดมทุนผ่าน crowdfunding ได้ 47,000 เหรียญ และจะใช้เงินนี้เป็นทุนเปิดร้านของตัวเอง

     เทรซี่ได้เข้าโครงการของ La Cocina องค์กรไม่แสวงกำไรที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการใหม่ในชุมชนผู้อพยพ โดยทางองค์กรช่วยหาทำเลขนาด 1,000 ตารางฟุตที่ค่าเช่าอยู่ในงบประมาณของเธอ ก่อนเข้าโครงการ La Cocina เทรซี่เคยใช้วิธีเช่าครัวกลางเชิงพาณิชย์ของ BiteUnite เพื่อให้บริการลูกค้า ปีที่แล้วเธอเคยใช้พื้นที่ครัวและห้องอาหารของ BiteUnite บริการลูกค้า 140 ราย เธอวางแผยไว้ว่าหากสามารถเปิดร้านได้ จะใช้ชื่อร้าน Damansara ซึ่งเป็นเขตที่เธอเติบโตมาในกัวลาลัมเปอร์

     BiteUnite ก็เป็นอีกตัวอย่างของธุรกิจร้านอาหารรูปแบบใหม่ ก่อตั้งเมื่อปี 2015 โดยสตรีไทยนาม Patta Arkaresvimun ผู้เคยทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ในฮ่องกง ก่อนจะย้ายมาซานฟรานซิสโกเพื่อทำในสิ่งที่ชอบนั่นคือธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร BiteUnite เป็นโมเดลการทำธุรกิจแบบ sharing economy คือมีครัวมาตรฐาน และห้องอาหารให้เช่าสำหรับเชฟและคนที่ชอบทำอาหาร ที่ยังไม่มีทุนเปิดร้าน หรือเพื่อต้องการเวทีทดสอบรสชาติอาหารก่อนจะเข้าสู่ธุรกิจนี้เต็มตัว เรียกได้ว่า BiteUnite เป็นเสมือนชุมชนของเชฟทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นที่บริการอาหารแก่ลูกค้าจากครัวให้เช่านั่นเอง

     กระทั่งเคน พ่อค้าข้าวปั้นเอง แม้จะมีบริการครัวพาณิชย์ให้เช่า แต่เขาก็ยังติดปัญหาเรื่องเงินทุน และการทำประกันต่างๆ เคนไม่มีประวัติการกู้สินเชื่อในอเมริกา จึงไม่สามารถกู้สินเชื่อจากธนาคาร ปี 2009 เขาจึงเข้าโครงการ La Cocina ที่ช่วยเหลือในการติดต่อธนาคารให้ และยังช่วยเดินเรื่องขอใบอนุญาตทำธุรกิจสตรีทฟู้ดจนสามารถจอดรถขายข้าวปั้นในพื้นที่สวนสาธารณะ และสถานที่ต่างๆ ได้

     Food truck ขายข้าวปั้นไส้ต่างๆ ของเคนได้รับความนิยมอย่างมาก กระทั่งปี 2012 เขาก็มีทุนเปิดร้าน “Onigilly” สาขาแรกในไชน่าทาวน์ จนถึงปัจจุบัน ร้าน Onigilly มี 5 สาขาแล้ว และปีหน้าเคนมีแผนขยายเพิ่มอีก 2 สาขา โดยมีเงินทุนจากนักลงทุนสนับสนุนกว่า 1 ล้านเหรียญแล้ว เคนจึงตั้งเป้าจะผลักดันแบรนด์ของเขาให้เป็นเชนร้านข้าวปั้นเติบโตทั่วอเมริกา

     มาถึงเรื่องราวของมาริโกะ เกรดี้ ที่มาจากญี่ปุ่นเช่นกัน ปี 2011 เธอทำ “มิโสะ” หรือเต้าเจี้ยวบดออกขายเพื่อหาทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่นที่มีผู้เสียชีวิตเกือบ 19,000 ราย ปรากฏว่าสินค้าของเธอคือมิโสะได้รับการตอบรับดีมาก เธอจึงตั้งบริษัท Aedan Fermented Foods เพื่อแนะนำอาหารเพื่อสุขภาพชนิดนี้ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น มาริโกะสามารถผลิตมิโสะได้สัปดาห์ละ 90 กิโลกรัม ผลิตภัณฑ์ของเธอถูกนำไปใช้ในร้านอาหารทั้งระดับ 2 และ 3 ดาวมิชชินในซานฟรานซิสโก

     มาริโกะได้ไปเปิดบู๊ธในงานสินค้าเกษตรเพื่อนำผลิตภัณฑ์ไปแสดง ได้แก่มิโสะ 4 แบบ และผลิตภัณฑ์หมักดองชนิดต่างๆ และเธอก็เป็นอีกคนที่ร่วมโครงการของ la Cocina ขอความช่วยเหลือในการหาพื้นที่เพื่อเปิดคาเฟ่มิโสะเพื่อจำหน่ายซุปมิโสะ และเป็นสถานที่จัดเวิร์กชอปสอนลูกค้าให้ปรุงอาหารที่มีมิโสะเป็นส่วนประกอบ มาริโกะกล่าวว่าเธอไม่ต้องการขยายธุรกิจใหญ่โต ต้องการทำแบบเล็กๆ จะได้สื่อสารกับลูกค้าอย่างทั่วถึง
 
อ้างอิง : www.scmp.com/week-asia/society/article/3023203/how-asian-immigrants-are-transforming-san-francisco-bay-areas
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup