Starting a Business
Solopreneur เทรนด์ผู้ประกอบการยุค 4.0
Main Idea
- ด้วยยุคดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนโลกการทำธุรกิจ ทำให้การเริ่มต้นเป็นเจ้าของธุรกิจนั้นแสนง่ายและรวดเร็วขึ้นกว่าการทำธุรกิจแบบเดิมๆ จึงเหมือนเป็นการเปิดประตูแห่งโอกาสให้กับผู้ประกอบการได้สร้างสรรค์ธุรกิจของตัวเองได้อย่างเต็มกำลัง
- ทำให้เกิดผู้ประกอบที่พร้อมลุยเดี่ยวมากขึ้น สร้างธุรกิจด้วยตัวคนเดียวทั้งหมด ตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่ไอเดีย การพัฒนาสินค้า ถ่ายรูป ทำตลาด คุยกับลูกค้า ส่งของ ฯลฯ ซึ่งเราเรียกผู้ประกอบการกลุ่มนี้ว่า Solopreneur
สังคมผู้ประกอบการในประเทศไทยกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว เมื่อเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามามีบทบาทจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ และมีอิทธิพลมากพอที่จะเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ ทำให้การเริ่มต้นเป็นเจ้าของธุรกิจนั้นง่ายและรวดเร็วขึ้นกว่าการทำธุรกิจแบบเดิมๆ ข้อจำกัดหลายๆ อย่างถูกเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาทดแทน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินทุน ทำเล กระทั่งทรัพยากรบุคคล จึงเหมือนเป็นการเปิดประตูแห่งโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ที่จะได้ทดลองและสร้างสรรค์ธุรกิจของตัวเองได้อย่างเต็มกำลัง ด้วยรูปแบบของการทำธุรกิจที่มีขนาดเล็กลงแต่ทรงประสิทธิภาพมากขึ้น และได้สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ถูกเรียกขานว่า Solopreneur
เทคโนโลยี + ไลฟ์สไตล์ จุดเริ่มของ Solopreneur
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลได้ทำให้ข้อจำกัดของการทำธุรกิจหลายอย่างลดลงไป ทำให้การสร้างธุรกิจเริ่ม ต้นได้ง่ายขึ้น ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ไม่ต้องมองหาทำเลในการเปิดร้าน เพราะออนไลน์สามารถให้เขาสร้างร้านค้าที่มีลูกค้าอยู่ทั่วโลก
ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ไม่ต้องจ้างพนักงานจำนวนมากในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพราะปัจจุบันมีแอพพลิเคชัน หรือ Outsource ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจำนวนมากให้เลือกใช้ตามความถนัด ไม่ว่าจะเป็น บัญชี Stock การจัดการต่างๆ แม้กระทั่งคุณอยากจะมีสำนักงานที่คอยรับ-ส่งเอกสารต่างๆ บนตึกหรูใจกลางกรุงก็สามารถทำได้ ด้วยงบประมาณน้อยนิด ประกอบกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่รักอิสระ ไม่ชอบเป็นลูกจ้างใคร มีไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ มี Passion ความมุ่งมั่นตั้งใจสูง จึงทำให้กลุ่มผู้ประกอบการที่ถูกเรียกว่า Solopreneur กลายเป็นเทรนด์ใหม่ของผู้ประกอบการในยุค 4.0
ปัจจุบันจะเห็นคนรุ่นใหม่ที่ผันตัวเองมาเป็น Solopreneur หรือผู้ประกอบการเดี่ยวมากขึ้น พวกเขาทำธุรกิจด้วยความมุ่งมั่นและความรักด้วยตัวเองคนเดียว โดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นผู้ช่วย Solopreneur มีความมุ่งมั่นและทุ่มเท แต่จะไม่ใช้เวลาทั้งหมดลงไปกับงาน พวกเขาสามารถบริหารทั้งธุรกิจและไลฟ์สไตล์ส่วนตัวให้เดินไปด้วยกัน เพราะคนกลุ่มนี้มองว่า ชีวิตต้องเดินด้วยความสุข พวกเขาสามารถที่จะไปออกกำลังกาย ไปทำงานอดิเรกอย่างที่ตัวเองอยากทำ และสามารถเดินทางท่องเที่ยวไปในที่ที่อยากไป ในขณะเดียวกันก็ไม่กระทบการทำธุรกิจของพวกเขา ขอเพียงมีโทรศัพท์มือถือกับอินเทอร์เน็ต พวกเขายังสามารถขับเคลื่อนธุรกิจได้ ไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของโลก
Solopreneur ไม่เร่งรัดที่จะให้ธุรกิจต้องเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขามองเรื่องยอดขายมากกว่าการขยายตัวของธุรกิจ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ปฏิเสธถ้าวันหนึ่งธุรกิจของพวกเขาจะขยายตัวและต้องมีทีมเข้ามา ถ้าเขามองว่าตัวเองพร้อมที่จะเติบโตไปอีกขั้นและยังคงวิธีการทำงานในแบบเดิมๆ ที่ทำมาได้ และสิ่งที่น่าสนใจคือ Solopreneur จำนวนไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จ พวกเขาสามารถขับเคลื่อนธุรกิจลำพังคนเดียว มีจุดเริ่มต้นด้วยเงินลงทุนเพียงน้อยนิด แต่สามารถเก็บเกี่ยวดอกผลที่ลงทุนไปอย่างงดงาม ขณะเดียวกันก็สามารถ Balance ชีวิตการทำงานกับไลฟ์สไตล์ได้อย่างลงตัว
กิ๊บ-กรณิสา มงคลพรอุดม เป็นตัวอย่างของ Solopreneur ที่เลือกทำในสิ่งที่ถนัดและชอบ นั่นคือเมื่อเรียนมาทางด้านกราฟิกดีไซน์ แต่หลงรักการเดินทางท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีความคิดไม่อยากเป็นลูกจ้างใคร จึงมุ่งที่จะสร้างรายได้ให้กับตนเองด้วยการสร้างแบรนด์ Unmelt งานโปรดักต์รูปสัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็น กระเป๋าเหล่าสัตว์ป่า หมอนสัตว์น่ารักๆ ปลอกแก้ว แน่นนอนว่า กิ๊บอาศัยออนไลน์เป็นเครื่องมือทำการตลาดและขายสินค้า เธอลงมือดีไซน์งานด้วยตนเอง เลือกวัสดุ การแพ็กสินค้า คุยกับลูกค้า ติดต่อช่างเย็บ และใช้เอาต์ซอร์ซในการผลิตและการจัดส่ง
เมื่อเริ่มต้นทำธุรกิจเธอใช้เงินที่สะสมมาเพียง 5,000 บาท เพื่อทำปลอกแก้วกาแฟจากไม้ก๊อก ปัจจุบันหลังจากขยายโปรดักต์ทำให้เธอมีรายได้ถึง 6 หลัก สิ่งหนึ่งที่ทำให้สามารถสร้างผลกำไรได้มากคือ การบริหารจัดการที่เจ้าตัวบอกว่าเป็นลีนโปรดักชัน กล่าวคือ พยายามประหยัดต้นทุนทุกอย่าง เช่น ผ้าที่นำมาใช้จะไม่เหลือเศษที่เหลือทิ้ง ถ้าเหลือชิ้นเล็กก็สามารถเอามาปักกับปลอกแก้ว ซึ่งการทำคนเดียวทุกอย่างก็ทำให้เธอได้ดูแลทุกๆ ส่วนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำแม้จะเหนื่อยก็ตาม โดยเธอหวังว่าสักวันหนึ่งถ้าเธอเซ็ตระบบต่างๆ เข้าที่ก็จะสามารถได้เดินทางท่องเที่ยวอยู่ที่ใดก็ได้ของโลกตามความฝันแต่ก็ยังสามารถทำธุรกิจต่อไปได้อย่างราบรื่น
กฎเหล็กของการเป็น Solopreneur
แม้ว่าการทำธุรกิจยุคดิจิทัลใช้ต้นทุนน้อยและสามารถเริ่มต้นได้ไม่ยากก็จริง แต่ก็ใช่ว่าเมื่อลงมือทำแล้วจะประสบความสำเร็จได้ง่ายๆ ซึ่งในสนามการเป็น Solopreneur ก็เลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องมีการแข่งขันทางธุรกิจ ดังนั้น ถ้าต้องการเป็น Solopreneur ให้ประสบความสำเร็จทั้งในสนามการแข่งขันและการใช้ชีวิตต้องไม่พลาดกฎเหล็กเหล่านี้
1. มี Passion และเริ่มลงมือทำ จะพบว่า มี Entrepreneur หลายคนเลยทีเดียวที่เริ่มต้นธุรกิจเพราะ Passion หรือปัญหาที่เจอแล้วไม่มีสินค้าหรือบริการใดในตลาดตอบโจทย์ความต้องการได้ Solopreneur ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งข้อดีของ Solopreneur คือ มักจะไม่รีรอที่จะลงมือทำมันในทันทีเมื่อเจอสิ่งที่ใช่ จึงทำให้ไม่ต้องเสียเวลาไปกับความกลัว ความลังเลใดๆ
2. รู้คุณค่าของเวลา Solopreneurs ที่ประสบความสำเร็จจะรู้ความสำคัญของเวลา เพราะอย่าลืมว่า Solopreneurs เป็นผู้ประกอบการลุยเดี่ยวที่ไม่มีทีมงานสนับสนุน ดังนั้น จึงต้องใช้เวลาที่มีอย่างคุ้มค่า รู้จักบริหารจัดการเวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด
3. มีความกระหายอยากรู้ตลอดเวลา ข้อนี้ก็เหมือนที่สตีฟ จอบส์ ได้เคยกล่าวเอาไว้ “Stay Hungry, Stay Foolish” หรือจงกระหายและทำตัวโง่ให้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นความหิวกระหายในการทำสิ่งใหม่ๆ ทำสิ่งที่เรารัก และหาความรู้ตลอดเวลาเพื่อสามารถช่วยพัฒนาธุรกิจให้ดีขึ้นได้
4. ไม่กลัวที่จะพยายามทำสิ่งใหม่ มีความกล้าที่จะทำอะไรที่แตกต่าง และในบางครั้งการทำครั้งแรกอาจจะไม่สำเร็จหรือดีพอ ก็ต้องพยายามที่จะปรับเปลี่ยนและทดลองอีกครั้งไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ผล
5. รู้ถึงพลังของการทำงานร่วมกัน แม้ว่าจะชอบทำงานลำพังแต่ก็อย่าพยายามอยู่ด้วยตัวคุณเองคนเดียว แต่เปิดกว้างสำหรับการทำงานร่วมกับคนอื่น ด้วยการมองหาพันธมิตรที่จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนธุรกิจซึ่งกันและกัน เช่น การขยายช่องทางการตลาดด้วยการโปรโมตสินค้า หรือบริการกับพันธมิตร เป็นต้น
6. มีความยืดหยุ่น การมุ่งมั่นและลุยไปข้างหน้าแม้จะเป็นเรื่องดี แต่ถ้ามันทำให้ต้องทำงานหนักจนละเลยการใช้ชีวิตก็อาจถึงเวลาแล้วที่จะทบทวนธุรกิจอีกครั้ง
สเตปการเติบโตที่ต้องเข้าใจ
มาดู 5 สเตปเส้นทางการเติบโตเพื่อทำความรู้จักและเข้าใจในการทำงานแบบนี้กัน
1. Solopreneur จุดเริ่มต้นของการลุยเดี่ยว แน่นอนว่าสเตปแรกก็คือ จุดเริ่มต้นของการเป็น Solopreneur ย่างก้าวแรกของการค้นหาไอเดียทำธุรกิจที่ต้องอาศัยทั้งแรงกายและแรงใจเป็นอย่างมาก และด้วยการขาดแคลนเงินทุนและความเชื่อถือในความสามารถของคนอื่นทำให้ต้องสวมหมวกหลายใบในเวลาเดียวกันเพื่อที่จะผลักดันให้ธุรกิจเดินต่อไปข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นการหาลูกค้า ออกแบบ วางแผนการตลาด ฯลฯ
2. มองหาพาร์ตเนอร์ หลังจากที่ลงมือทำเองสักพัก ก็จะเริ่มมองเห็นภาพได้ชัดมากขึ้น ดังนั้น ในสเตปนี้อาจมองหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางหรือพันธมิตรมาช่วยต่อยอดการทำธุรกิจ หรืออาจทำการขยายบริการออกไปให้เติบโตมากขึ้น
3. ดำเนินงานอย่างเต็มที่ ในขั้นนี้คุณจะมีเพื่อนร่วมทีมประมาณ 4-10 คน สิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจในช่วงนี้คือ เรื่องของการตลาดซึ่งต้องมีการกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น อยู่ในขั้นที่รู้แล้วว่าลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายคือใคร
4. ประสบความสำเร็จ มาถึงขั้นที่คุณเป็นที่รู้จักในตลาดและผู้คนให้การยอมรับว่าเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ จากการลุยเดี่ยวด้วยตัวเองจนมาถึงตอนนี้จะมีพนักงาน อีกทั้งเป็นระยะที่ต้องปล่อยให้คนอื่นๆ เข้ามารับผิดชอบด้านต่างๆ ของการทำธุรกิจเพื่อที่จะได้มีเวลาโฟกัสด้านอื่นๆ มากขึ้น ดังนั้น การจ้างคนที่ถูกต้องและมีความสามารถเข้ามาร่วมทีมจะช่วยแบ่งเบาภาระ และช่วยในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้
5. จัดตั้งบริษัท มาถึงสเตปสุดท้ายที่ฝันของคุณนั้นเป็นจริงเข้าให้แล้ว ความก้าวหน้าและการเติบโต ตอนนี้การทำงานจะไม่เดียวดายเหมือนช่วงเริ่มต้นอีกต่อไป เพราะจะมีพนักงานในมือมากมาย ในขั้นนี้คุณอาจจะควบคุมธุรกิจด้วยตัวคุณเอง หรือเลือกให้คนอื่นเข้ามาดูแลแทนก็ได้ ซึ่งต้องอาศัยการเลือกผู้นำที่ดี และเป็นคนที่ใช่เพื่อรักษาวิสัยทัศน์ของคุณที่ได้ให้ไว้
การเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลที่ทำให้มีเครื่องมือใหม่ๆ มาช่วยให้การใช้ชีวิตและการทำธุรกิจง่ายขึ้นอย่างเหลือเชื่อ จึงไม่แปลกใจที่จะเห็นเทรนด์ฮอตๆ Solopreneur ผู้ประกอบการลุยเดี่ยวเกิดขึ้น และเชื่อว่าจะไม่หยุดเพียงเท่านี้ เพราะยิ่งความก้าวหน้าเทคโนโลยีมากขึ้นเท่าไหร่ ไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา จะได้เห็นรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ๆ อีกอย่างแน่นอนในอนาคต
แคทเธอรีน ครูก นักธุรกิจหญิงลุยเดี่ยวเงินล้าน
เลือกทำงานที่ชอบใช้ชีวิตที่ใช่
หนึ่งใน Solopreneur หรือนักธุรกิจลุยเดี่ยวที่ประสบความสำเร็จจากฝั่งสหรัฐอเมริกาคงหนีไม่พ้น แคทเธอรีน ครูก เจ้าของผลงาน BetterBack อุปกรณ์ช่วยพยุงหลังให้นั่งในท่าที่ถูกต้องเพื่อป้องกันและบรรเทาอาการปวดหลังร้าวไปขา หรือ Sciatica โดยก้าวแรกของเธอมาจากการสามารถเรียกเงินระดมทุนบนเว็บไซต์ Kickstarter ไปได้ถึง 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
การได้เงินทุนเป็นแค่เพียงก้าวแรกแห่งความสำเร็จของนักธุรกิจหญิงรายนี้เท่านั้น เพราะหลังจากนั้นไม่นาน แคทเธอรีน ครูก ก็ได้ไปออกรายการทีวีชื่อดังอย่าง Shark Tank ที่ทำให้ธุรกิจของเธอนั้นเติบโตมากขึ้น ซึ่งภายใน 365 วันแรกของการทำธุรกิจ เธอก็สามารถทำเงินได้ถึง 3 ล้านดอลลาร์ฯ เลยทีเดียว
โดยครูกถือเป็นหนึ่งใน Solopreneur หรือผู้ประกอบการลุยเดี่ยวที่น่าจับตามองจากการทำเงินได้มากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ฯ จากข้อมูลของสำนักงานสำมะโนประชากรของสหรัฐอเมริกา (The U.S. Census Bureau) พบว่า มีบริษัทของผู้ประกอบการเดี่ยวที่ไม่ได้จ้างใครหรือไม่มีพนักงานถึง 35,584 บริษัท ซึ่งสามารถทำเงินได้ 1-2.49 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี พ.ศ.2558 เพิ่มขึ้น 33 เปอร์เซ็นต์จากปี พ.ศ.2554
เมื่อยอดขายของตัวผลิตภัณฑ์มีการเติบโตมากขึ้น ทำให้ครูกต้องมานั่งคิดว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องเพิ่มพนักงานเข้ามาเหมือนอย่างที่บริษัทอื่นทำ แต่เมื่อเธอได้ลองจ้างคนให้มาทดลองงานเป็นเวลา 90 วัน กลับพบว่า มันเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังเพราะคนที่จ้างเข้ามานั้นไม่สามารถช่วยงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้
อันที่จริงครูกสามารถเลือกที่จะฝึกพนักงานให้มากขึ้นหรือหาลูกน้องคนใหม่เข้ามาช่วยก็ได้ แต่นั่นกลับไม่ใช่คำตอบเพราะการที่จะต้องมีความสัมพันธ์แบบนายจ้าง-ลูกจ้างไม่ใช่สไตล์ของเธอ และเธอเองก็ไม่ชอบที่จะต้องมานั่งบริหารงานหรือทำงานประจำแบบออฟฟิศอีกด้วย เพราะเธอต้องการให้ธุรกิจนั้นเติบโตอย่างรวดเร็วในขณะที่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระในแบบที่เธอต้องการ ซึ่งนั่นก็หมายถึงการไม่ต้องมานั่งบริหารและดูแลลูกน้องในที่ทำงานนั่นเอง
และแม้ว่าจะต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง แต่เธอก็ชอบที่จะมีไลฟ์สไตล์แบบไม่ติดอยู่กับที่ หรือคือการที่เธอสามารถจะทำงานเมื่อไรและที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นจากกรุงโตเกียว หรือจากสระว่ายน้ำในไมแอมี และเพราะเธอได้ปูทางความสำเร็จไว้แล้วตั้งแต่ต้น เธอจึงเลือกที่จะพึ่งพาและทำงานร่วมกับผู้รับจ้าง หรือคอนแทรกเตอร์และที่ปรึกษาในการที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้น เช่น การทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเธอในการทำ BetterBack ขึ้นมา
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การเป็น Solopreneur ที่ประสบความสำเร็จนั้นเป็นตัวเลือกที่ดีอย่างหนึ่งในการทำให้ธุรกิจมีความก้าวหน้า พร้อมๆ กับคงความเป็นตัวของตัวเองไว้ ซึ่งเห็นได้จากครูก นักธุรกิจสาวรายนี้ที่แม้ว่ายอดขายของเธอจะมากมายแต่ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงานที่ “ชอบ” และเลือกใช้ชีวิตในแบบที่ “ใช่” ได้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup