Starting a Business

7 สิ่งที่ SME Startup จำเป็นต้องเรียนรู้




แปลและเรียบเรียง : เจษฎา ปุรินทวรกุล
 
    การทำธุรกิจ เปรียบเสมือนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ เพราะทุกธุรกิจ เมื่อเริ่มต้นแล้ว ต้องมีการจ้างงาน ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ก่อให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ และนำมาซึ่งการแข่งขันกันในตลาดมากยิ่งขึ้น แต่สำหรับผู้ประกอบการมือใหม่ที่อายุยังน้อย การเริ่มต้นธุรกิจก็ไม่ใช่เรื่องง่ายซะทีเดียว ยิ่งถ้าต้องประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดไปได้ 3-5 ปี ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เพราะ SME ในเมืองไทยส่วนใหญ่แค่เริ่มทำธุรกิจได้ 1-2 ปี ก็พลาดท่าเสียทีกันไปนับไม่ถ้วน ดังนั้น การหาเคล็ดลับดีๆ มาช่วยเสริมประสิทธิภาพให้กับตัวเองก่อนเริ่มธุรกิจ ก็นับเป็นไอเดียที่ไม่เลว

    ทั้งนี้ John Pilmer หนึ่งใน CEO ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างบริษัท PilmerPR บริษัทที่ให้คำแนะนำด้านการประชาสัมพันธ์และการตลาดแก่บริษัทต่างๆ ในอเมริกา จนทำให้บริษัทกว่า 500 แห่งเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเขาได้ให้คำแนะนำถึงผู้ประกอบการที่ยังหนุ่มยังสาวอยู่ว่า “หากใครต้องการเริ่มต้นธุรกิจเพื่อเป็นผู้ประกอบการอย่างแท้จริง นี่คือ 7 เคล็ดลับที่คุณไม่ควรพลาด”

    1.ต้องมีความชื่นชอบ ก่อนเริ่มต้น จำไว้เสมอว่าคุณมีโอกาสล้มเหลวเพราะการล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจ อาจไม่ได้เหลวถึงขั้นธุรกิจต้องปิดตัว คุณอาจล้มเหลวด้านการบริหารคนหรือการเงินในบางจังหวะก็ได้ แต่อย่าเพิ่งรีบถอดใจไป เพราะบางครั้งความล้มเหลวก็เป็นแรงผลักดันที่ดี หากคุณมีความอดทนและเชื่อว่าสิ่งที่ทำอยู่มันใช่ รวมถึงสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เราชื่นชอบจริงๆ ก็ลองทำต่อไป ดีกว่าเริ่มต้นธุรกิจเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว สนใจแต่เงินหรือผลกำไร เพราะการทำแบบนั้นจะทำให้คุณไร้ทิศทางจนผลสุดท้ายอาจต้องย่ำอยู่กับที่และต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่
 

    2.กำหนดตลาดให้ชัดเจน จากประสบการณ์ส่วนตัวของ John Pilmer พบว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ผิดพลาดกันมากที่สุด ดังนั้น ทางที่ดีคือการเริ่มต้นไปตามกลุ่มเป้าหมายที่สมจริง เช่น ถ้าคุณเป็นธุรกิจเริ่มต้นที่มีขนาดเล็กและยังเป็นนักเรียนหรือนักศึกษาอยู่ การมองหาเป้าหมายที่เป็นคนพื้นที่ คนแถวบ้าน หรือเพื่อนนักเรียน นักศึกษาด้วยกัน ถือเป็นทางเลือกที่ยอดเยี่ยมที่สุด

    3.ราคาสินค้า การตั้งราคาของสินค้าหรือบริการสำหรับธุรกิจใหม่ๆ โดยไม่ศึกษาข้อมูลตลาดให้ถี่ถ้วน ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ธุรกิจไปไม่รอดเลยทีเดียว สำหรับวิธีการตั้งราคาก็คือ พยายามพิจารณาสินค้าหรือบริการของคุณให้อยู่ในขั้นพื้นฐานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แล้วลองผลิตขึ้นมาเพื่อทดลองตลาดก่อน (ยังไม่ต้องผลิตเยอะ และใช้เงินลงทุนไม่มาก) วิธีนี้ค่อนข้างน่าสนใจมาก เพราะอาจทำให้เราได้กลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้น หรืออาจทำให้ทราบว่าสินค้าไม่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายเดิมที่เคยวางไว้ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ได้ทัน แต่ถ้ากำหนดได้ทั้งกลุ่มเป้าหมายและราคาที่ชัดเจนแล้ว ในวันข้างหน้าหากสินค้าขายดีจนติดตลาดก็สามารถปรับราคาสินค้าตามการเติบโตของธุรกิจได้



 
    4.ซื่อสัตย์ ถ้าเราไม่ซื่อสัตย์กับการทำธุรกิจเราอาจเสียลูกค้าไปได้ง่ายๆ ยกตัวอย่างเช่น โฆษณาว่าสินค้าใช้วัสดุชั้นดี แต่ในความจริงใช้วัสดุเกรด B หรือรับรองว่าจะรับประกันสินค้า 30 วัน แต่กลับไม่ยอมทำตามที่พูดไว้โดยหาข้ออ้างต่างๆ มาหักล้าง เป็นต้น ไม่เพียงแค่ซื่อสัตย์กับลูกค้าเท่านั้น ผู้ประกอบการต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง พันธมิตรทางธุรกิจและกับพนักงานของตนเองด้วย

    5.ใช้โซเชียลมีเดียอย่างเหมาะสม ผู้ประกอบการรุ่นใหม่มักจดจ่ออยู่ที่การตลาดออนไลน์ นั่นไม่ใช่สิ่งที่แย่ แต่สิ่งสำคัญคือการคิดให้รอบคอบก่อนใช้โซเชียลมีเดียว่าจะใช้อย่างไร และนำเสนออะไรลงไปบ้าง บางคนใส่ทุกอย่างเข้าไปจนสื่อโซเชียลมีเดียที่ใช้สำหรับทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ธุรกิจขาดความน่าสนใจ ซึ่งวิธีการใช้ที่ดีคงหนีไม่พ้นการทดลองและประเมินผลอย่างต่อเนื่องว่า โซเชียลมีเดียชนิดใดเหมาะกับธุรกิจของเราและใช้อย่างไรให้กลุ่มลูกค้าติดตาม เพราะถ้าหากใช้ทุกประเภท เราอาจเสียเวลากับโซเชียลมีเดียบางชนิดไปฟรีๆ ก็ได้
 


 
    6.อย่าลืมการประชาสัมพันธ์ อย่าเพิ่งรีบไปแตะสื่อใหญ่อย่างโฆษณาเร็วจนเกินไป เพราะการประชาสัมพันธ์แบบดั้งเดิมหรือการประชาสัมพันธ์ทางสื่อออนไลน์ มักช่วยสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวให้กับฐานลูกค้าได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญราคาถูกกว่าไปลงโฆษณาบนโทรทัศน์หรือลงแบนเนอร์ตามอินเทอร์เน็ตเสียด้วย แถมบางครั้งบทความหรือโฆษณาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของคุณในหนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัยที่มีกลุ่มผู้อ่านเป็นคนในพื้นที่ อาจมีคุณค่าต่อผลิตภัณฑ์ของคุณมากกว่าที่คุณคิดไว้ก็ได้

    7.มองหาพี่เลี้ยง-ผู้ให้คำปรึกษา ผู้ประกอบการรุ่นใหม่อาจจะมีความชำนาญทางด้านเทคโนโลยี แต่ต้องอย่าลืมว่าผู้ประกอบการรุ่นเก่าเองก็มีความเก๋าเกมส์จากประสบการณ์จริงมากกว่า การจะไปสู้ไปชนกับแบรนด์ที่มีอยู่เดิมหรือการจะเข้าไปแชร์ตลาดคงเป็นเรื่องยาก อาจต้องมองหาพี่เลี้ยงทางธุรกิจหรือมีผู้ให้คำปรึกษากันบ้าง โดยในบางกลุ่มธุรกิจอาจมีการรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ (Cluster) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันร่วมกัน ทำให้เรามีโอกาสได้แชร์ข้อมูลร่วมกับผู้ที่ทำธุรกิจในประเภทเดียวกับเรา

    เคล็ดลับเหล่านี้ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่าคุณจะประสบความสำเร็จได้แบบไร้ตำหนิ แต่เคล็ดลับเหล่านี้ถือเป็นส่วนประกอบของความรู้เล็กๆ น้อยๆ ก่อนที่คุณจะกระโดดเข้าไปสู่โลกธุรกิจอย่างแท้จริง เพื่อให้สามารถหลีกเลี่ยงความผิดพลาดอันร้ายแรงได้ในอนาคต

Create by smethailandclub.com