Starting a Business
ส่องเทรนด์ค้าปลีกออนไลน์สหรัฐฯ สินค้า No Brand มาแรง!!
Main Idea
- แน่นอนว่าการที่คิดจะแทรกตัวเข้าไปแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ด้านอี-คอมเมิร์ซ อย่างอเมซอน ซึ่งมีสินค้าจำหน่ายครอบคลุมแทบทุกด้าน นับเป็นเรื่องยาก
- แต่มีกลุ่ม Startup ได้พยายามสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ นั่นคือการผลิตสินค้าไม่มีแบรนด์ ขายทางออนไลน์ตรงสู่ผู้บริโภคไม่ผ่านคนกลาง เพื่อดึงดูดลูกค้า และดูเหมือนว่าจะทำสำเร็จซะด้วย
หากพูดถึงการซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภคทางออนไลน์ในอเมริกา แน่นอนว่าอเมซอน ยักษ์ใหญ่ด้านอี-คอมเมิร์ซย่อมหาใครเทียบเคียงได้ยากเนื่องจากเป็นเจ้าแรกที่บุกเบิกตลาด และมีสินค้าจำหน่ายครอบคลุมแทบทุกด้าน สำหรับผู้ประกอบการที่มีขนาดเล็กกว่า จึงเป็นเรื่องยากที่จะแข่งกับรายใหญ่อย่างอเมซอนที่กินรวบสินค้าแทบทุกหมวดหมู่ อย่างไรก็ตาม มีผู้ประกอบการหน้าใหม่ในกลุ่ม Startup ได้พยายามสร้างโมเดลธุรกิจขึ้นมาเพื่อดึงดูดลูกค้า โมเดลที่ว่าคือการผลิตสินค้าไม่มีแบรนด์ ขายทางออนไลน์ตรงสู่ผู้บริโภคไม่ผ่านคนกลาง
วันนี้มี 2 บริษัทที่ต้องการยกตัวอย่างให้เห็น รายแรกคือ ToBox เป็น Startup ในแอลเอ ก่อตั้งเมื่อเดือนสิงหาคม 2017 โดย เอ็ดเวิร์ด ฮัทชินส์ ToBox เป็นแพลทฟอร์มขายตรงสินค้าประเภทอุปกรณ์ในครัว และเครื่องใช้ภายในบ้านจากโรงงานผลิตถึงผู้บริโภคโดยตรง โดยสินค้าเหล่านั้นไม่มียี่ห้อ แต่คุณภาพดี และจำหน่ายในราคาต่ำกว่าสินค้าชนิดเดียวกันที่จำหน่ายในท้องตลาดราว 40%
รูปแบบของ ToBox อธิบายได้ดังนี้ บริษัทจะมีทีมงานคอยคัดกรองและตรวจสอบสินค้า โดยสินค้าที่จำหน่ายใน ToBox จะมาจากโรงงานต่างๆ เมื่อตรวจสอบผ่านมาตรฐาน จะถูกนำมาโพสต์ขายบนเว็บ ลักษณะเด่นของสินค้าที่จำหน่ายใน ToBox คือ 1 ไม่มีแบรนด์ 2 คุณภาพได้มาตรฐาน 3 รับประกันความพึงพอใจ 100% และ 4 คืนสินค้าได้ถ้าไม่พอใจ โดยสรุปเป็นโมเดลธุรกิจที่ผสมระหว่าง ODM-Original Design Manufacturer กับ DTC-Direct to Consumer เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตได้นำเสนอสินค้าตรงถึงผู้บริโภคโดยไม่ผ่านคนกลาง
ในขณะที่สินค้าตามร้านค้าปลีกตั้งราคา 3 เท่าของต้นทุน แต่สินค้าที่จำหน่ายบน ToBox เป็นสินค้าจากโรงงานโดยตรงและที่ไม่มีแบรนด์จึงลดต้นทุนในการประชาสัมพันธ์หรือสร้างแบรนด์ ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย No Brands, Lower Prices ของบริษัท นอกจากราคาถูกกว่าราว 40% ToBox ยังดำเนินนโยบายที่เรียกว่า honest pricing ซึ่งมีความโปร่งใสไม่ว่าจะเรื่องราคา ซัพพลายเออร์ หรือกระทั่งผลกำไรที่เจ้าของสินค้าได้รับจากการขาย โดยมีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตของทุกผลิตภัณฑ์เพื่อให้ลูกค้าได้รับรู้และเข้าใจถึงต้นทุนสินค้า
สำหรับสินค้ายอดนิยมใน ToBox ประกอบด้วยเครื่องปิ้งขนมปัง เครื่องทำโยเกิร์ต หม้อทอดไร้น้ำมัน เครื่องบดพริกไทย เครื่องชงกาแฟ เตาไฟฟ้า เครื่องทำขนมปัง กล่องใส่อาหาร และมีดปอกผักผลไม้ ในอนาคต ToBox จะเพิ่มเครื่องใช้ภายในบ้านประเภทผลิตภัณฑ์ในห้องนอน ห้องน้ำ และห้องนั่งเล่น
รายที่ 2 ได้แก่ Brandless เป็น Startup ที่ก่อตั้งโดยทีน่า ชาร์คกี้ และไอโด้ เลฟเฟลอร์ และเปิดตัวในปี 2016 Brandless เป็น e-commerce startup ที่จำหน่ายของกินของใช้ทุกอย่างรวมถึงสินค้าออร์แกนิก แน่นอนว่าเป็นสินค้าไม่มีแบรนด์ และจำหน่ายในราคาถูก ทั้งนี้ผู้ก่อตั้งทั้งสองได้สังเกตว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคได้เปลี่ยนไป คือมีแนวโน้มจะซื้อสินค้าตามมูลค่าของสินค้า
Brandless เน้นจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน สินค้าจึงประกอบด้วยอาหาร เช่น อาหารกระป๋อง และสแน็คต่างๆ และของใช้ในครัวเรือน อาทิ สบู่ ยาสีฟัน น้ำยาล้างจาน น้ำยาทำความสะอาด และอื่นๆ ราคาไม่แพง เริ่มต้นที่ 3 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไป แถมจัดส่งฟรีทั่วอเมริกาหากซื้อเกิน 39 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ถ้าซื้อต่ำกว่านั้น บริษัทคิดค่าขนส่งเพียง 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ
ด้วยคอนเซปต์จำหน่ายของกินของใช้แบบนี้ Brandless จึงวางตำแหน่งตัวเองว่าเป็น “พีแอนด์จีสำหรับกลุ่มมิลเลนเนี่ยล” ในระยะ 1 ขวบปีของการดำเนินธุรกิจ Brandless สามารถระดมทุนจากนักลงทุนอิสระจนทำให้สามารถเพิ่มรายการสินค้าจำหน่ายมากกว่า 300 รายการ และเมื่อปลายปี 2018 ก็เพิ่งได้รับเงินสนับสนุนอีก 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากซอฟต์แบงค์ กลุ่มบริษัทข้ามชาติด้านโทรคมนาคมจากญี่ปุ่น ส่งผลให้มูลค่าบริษัททะยานพุ่งไปสู่ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในตลาด
โมเดลการจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานในราคาถูกกว่าท้องตลาดอย่างที่ ToBox และ Brandless ทำ แม้จะไม่พะยี่ห้อ ไม่ขายแบรนด์แต่ก็ตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าของเงินที่จ่ายไปเพื่อแลกกับสินค้าที่มีมูลค่าตามความเป็นจริง
ที่มา : www.techpluto.com/tobox-online-marketplace-kitchenware-small-appliances/
www.abnewswire.com/pressreleases/how-tobox-is-building-the-next-generation-amazon_209958.html
www.businessinsider.com/review-brandless-store-sells-everything-for-3-dollars-2017-8
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup