Starting a Business
Thorr สร้างมูลค่าเสื่อกกด้วยดีไซน์เพื่อลูกค้ายุคใหม่
Main Idea
- เมื่อคิดอยากหยิบเสื่อกก ของดีจากบ้านเกิดมาเพิ่มมูลค่า ธัญญ์นภัส กิ่งสุวรรณ สาวจากอำนาจเจริญเลยใช้ความรู้ด้านดีไซน์ที่ร่ำเรียนมาลงมือทำ
- เสื่อกกสินค้าเชยๆ จึงกลายมาเป็นเสื่อกกที่มีความสวยชิกเข้าตาคนรุ่นใหม่ ภายใต้แบรนด์ Thorr
Text : Kritsana S. Photo : Vipa Vadi
ธัญญ์นภัส กิ่งสุวรรณ สาวจากอำนาจเจริญที่วันหนึ่งเกิดอยากหยิบเสื่อกก ของดีจากบ้านเกิดมาเพิ่มมูลค่าด้วยมองเห็นว่า ของใช้ในบ้านที่ทำโดยฝีมือคนไทยไม่ถูกนำมาใช้งานจริง ส่วนใหญ่เลือกเป็นของฝากช่วงเทศกาลสำคัญ หรือของที่ใช้เฉพาะโอกาสมากกว่า ดังนั้น เธอจึงนำความรู้เรื่องงานดีไซน์ที่ตนเองมีมาปรับโฉมเสื่อกกไทยๆ ให้มีความสวยชิกเข้าตาคนรุ่นใหม่
จากความสงสัยที่ก่อตัวว่า ทำไมของใช้ไทยๆ ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติจึงไม่ถูกนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน สังเกตได้จากในบ้านหรือคอนโดมิเนียมของคนสมัยนี้แทบไม่มีของใช้ไทยๆ อยู่เลย หรือถ้ามีก็น้อยมาก เธอจึงหาคำตอบให้ความสงสัยนี้ ซึ่งได้ความว่า ดีไซน์ของใช้ไทยไม่แมตช์กับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ ลวดลายเน้นความเป็นไทยมากกว่าความร่วมสมัย ตลอดจนยังขาดการทำการตลาดให้เป็นที่รู้จัก
“เมื่อรู้ว่าอะไรคือสาเหตุเลยมีไอเดียที่จะปรับดีไซน์ของใช้ไทยใหม่ด้วยการลดความวิจิตรของลวดลายลงให้เหลือเพียงลวดลายที่เรียบง่าย มีความร่วมสมัย และใช้สีไม่ฉูดฉาดเพื่อให้เข้ากับการแต่งบ้านของคนยุคนี้ โดยของใช้แรกที่นึกถึงคือ เสื่อกก ซึ่งชาวบ้านอำนาจเจริญเมื่อว่างจากการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวจะทอเสื่อกกทั้งไว้ใช้เองและขาย ซึ่งรายได้ที่ได้จากขายนั้นไม่คุ้มกับแรงที่เสียไป เราเลยชวนชาวบ้านมาร่วมกันทำสินค้าจากเสื่อกกภายใต้แบรนด์ Thorr โดยตั้งใจทำเป็นหัตถอุตสาหกรรมคือ เสื่อกกยังคงเป็นงานทอมือ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่มีบางอย่างที่ถูกคิดให้เป็นอุตสาหกรรม เช่น คิดต้นทุนและกำไรให้ชัดเจน และให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ เพราะอยากให้คนไทยเปลี่ยนความคิดที่ว่า เสื่อกกเป็นสินค้าเชยๆ พร้อมทั้งอยากให้ชาวต่างชาติยอมรับในของใช้ไทย”
ทั้งนี้ ด้วยรู้ดีว่าเมื่อพูดถึงสินค้าจากเสื่อกก คนส่วนใหญ่คงไม่รู้สึกว้าวเพราะเคยเห็นอยู่แล้ว เธอจึงงัดกลยุทธ์การถ่ายภาพมาใช้อย่างการสร้างเรื่องราวให้ภาพถ่ายมีความน่าสนใจ เริ่มตั้งแต่การเลือกช่างภาพคนอีสานและสถานที่ถ่ายภาพสุดชิกในภาคอีสาน เพื่อตอกย้ำว่าสินค้าทุกชิ้นทำโดยคนอีสาน ภาพที่ถ่ายออกมาต้องสวยสะดุดตา เนื่องจากมองว่า ภาพถ่ายสวยๆ ช่วยเปลี่ยนมุมมองของลูกค้าได้ โดยลูกค้าที่เห็นภาพมักถามว่า สิ่งของในภาพคืออะไร เมื่อทุกคนรู้ว่าเป็นเสื่อกกก็รู้สึกว้าว เพราะไม่เคยเห็นเสื่อกกในภาพลักษณ์แบบนี้ ส่วนใหญ่ที่เห็นจนชินตาคือ เสื่อกกลายขิด สีสด
นอกจากนี้ เธอยังตั้งใจทำแบรนด์ให้เป็น White Business ที่ได้ประโยชน์ทั้งเจ้าของแบรนด์และชาวบ้าน นั่นคือแบรนด์ต้องมีรายได้ที่จับต้องได้ และมีกลุ่มลูกค้าจริง ขณะเดียวกันก็ทำประโยชน์ให้ชุมชน สร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความรู้ชาวบ้าน เช่น ความรู้เรื่องการผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด หรือการควบคุมคุณภาพสินค้าให้คงที่ แม้ในอนาคตแบรนด์มีอายุไม่ยืนยาว แต่ชาวบ้านสามารถนำสิ่งต่างๆ ที่ได้รับไปต่อยอดได้
“แบรนด์ไปได้ไกลมากทั้งที่ทำได้ไม่ถึงปี ต้องเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อให้ทันกับความต้องการของลูกค้า ตอนนี้ลูกค้าต้องสั่งแบบ Made to Order เพราะสินค้าในสต็อกมีไม่พอขาย สาเหตุมาจากสินค้าทุกชิ้นยังคงทอมือ ไม่ได้ใช้เครื่องจักร อีกทั้งในช่วงหน้าฝนไม่มีแดดให้ตากเส้นกก เราเลยต้องมีแผนรับมือกับปัญหาที่เกิดเพื่อให้แบรนด์เดินต่อไปได้อย่างไม่ติดขัดทั้งการเพิ่มจำนวนคนทอ และช่วงไหนแดดแรงก็ต้องเอาเส้นกกออกไปตากให้ได้มากที่สุด เพื่อให้มีเส้นกกในสต็อกมากพอสำหรับทอทั้งปี ลูกค้าที่สั่งแบบ Made to Order ใช้เวลารอประมาณ 2 สัปดาห์-1 เดือน ขึ้นอยู่กับว่าสินค้าที่สั่งมีขนาดใหญ่แค่ไหน”
ท้ายสุด เมื่อถามถึงอนาคตของแบรนด์ เธอตั้งใจเป็นแบรนด์ส่งออก และอยากทำให้แหล่งผลิตเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม อันจะนำมาซึ่งรายได้ของชุมชน พร้อมกันนี้ เธอฝากคำแนะนำให้กับคนที่อยากหยิบสินค้าชุมชนมาเพิ่มมูลค่าว่า ต้องดูว่าสินค้านั้นตอบโจทย์ความต้องการของตลาดหรือไม่ มีคู่แข่งไหม ส่วนคนที่จะทำงานร่วมกับชาวบ้านให้ราบรื่นต้องเรียนรู้ว่าชาวบ้านมีมุมมองความคิดอย่างไร ซึ่งคนในพื้นที่จะได้เปรียบคนนอกพื้นที่ตรงที่เข้าใจในวิธีคิด วิถีชีวิต และรู้แหล่งวัตถุดิบสำหรับนำมาทำสินค้า อย่างไรก็ตาม ต้องใจเย็นด้วย เพราะชาวบ้านมีความหลากหลาย ต้องใช้เวลาในการทำให้พวกเขาเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังทำ และต้องมีอุดมการณ์ที่แน่แน่วว่า จะทำสิ่งนั้นจริงๆ ไม่ล้มเลิกง่ายๆ แล้วจะประสบความสำเร็จ
www.thorrliving.com
Facebook : thorrliving2018
Instagram : Thorr_living
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup