Starting a Business
CHAR ชาดอกไม้บาน ทางเลือกใหม่ของคนรักชา
หลังจากได้เจอกับชาดอกไม้บานที่จีน ณฤดี อภินันทกุลชัย จึงเกิดความคิดอยากทำแบรนด์ชาดอกไม้บานที่ให้สุนทรียะใหม่แห่งการดื่มชาขายในไทยบ้าง
เธอเล่าถึงแรงบันดาลใจในการสร้างแบรนด์ให้ฟังว่า แบรนด์ CHAR เกิดขึ้นหลังจากได้เห็นชาดอกไม้ในต่างประเทศ ซึ่งเป็นชาดอกไม้แบบบานได้ ขณะที่ในไทยยังไม่มีชาประเภทนี้ จึงมองเห็นโอกาสทางการตลาด สำหรับดอกไม้ที่นำมาทำชาเป็นดอกไม้ที่บานสวยเมื่อเจอน้ำร้อนในกา กลิ่นหอม และรสอร่อย โดยมีทั้งดอกไม้ในไทยอย่างดอกบัวสาย และดอกไม้จากต่างประเทศ เช่น ดอกกุหลาบจากเยอรมนี ดอกเก๊กฮวยขาวจากจีน และดอกลิลลี่จากเทือกเขาหิมาลัย
“ไม่ใช่ดอกไม้อะไรก็นำมาทำชาได้ เราเลือกสรรเฉพาะดอกไม้ที่บานสวยและมีคุณภาพระดับพรีเมียม อย่างชาดอกกุหลาบเยอรมนี ดอกเดียวบานเต็มกา กลิ่นหอมมาก เติมน้ำร้อนได้หลายรอบ และชาดอกลิลลี่ที่นอกจากบานสวยแล้ว ยังมีสีสวยด้วย ตอนนี้ชาทั้ง 7 ชนิดที่จำหน่ายมีทั้งที่ไม่มีกาเฟอีน และมีกาเฟอีนอย่างชาดอกไม้บานที่เย็บชาเขียว ชาขาว และดอกไม้หลากชนิดเข้าด้วยกัน เรียกว่าเป็นงานอาร์ตของแบรนด์ CHAR ก็ได้ เพราะเย็บด้วยมือ ทั้งนี้ เนื่องจากมองว่า ชาของเราเหมาะแก่การมอบเป็นของขวัญแก่บุคคลอันเป็นที่รัก จึงได้มีชุดของขวัญจำหน่ายด้วย โดยในหนึ่งชุดประกอบด้วย ชา กาใสเพื่อให้เห็นช่วงจังหวะที่ดอกไม้กำลังบาน และแก้วชา” ณฤดีกล่าว
ด้วยความที่อยากให้ทุกองค์ประกอบของแบรนด์ เช่น สินค้า การบริการ การตลาด ตลอดจนภาพลักษณ์ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด ณฤดีจึงชวนแฟนหนุ่ม พงศกร ทองสุข และพี่สาวของเธอ ศิริพิม อภินันทกุลชัย มาร่วมทำแบรนด์ โดยแต่ละคนต่างมีจุดแข็งที่เอื้อต่อการสร้างความสมบูรณ์แบบให้เกิดขึ้น
พงศกรนั้นดูแลเรื่องภาพลักษณ์และการตลาดออนไลน์ โดยเขาให้ความสำคัญกับภาพสินค้าเป็นอย่างมาก เพราะ CHAR ขายผ่านเฟซบุ๊กเป็นหลัก ดังนั้น ภาพจึงต้องสวยงามเพื่อจะได้ดึงความสนใจของคนที่เห็นโพสต์และกระตุ้นให้เกิดการซื้อ เพราะคนซื้อของออนไลน์ตัดสินใจซื้อจากภาพ ไม่เพียงเท่านี้ ภาพต้องสื่อได้ด้วยว่า ชาดอกไม้เมื่อบานแล้วสวยแค่ไหน ช่วยให้บรรยากาศการดื่มชาดีอย่างไร ภาพทุกภาพถ่ายจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เพื่อลูกค้าจะได้ไม่ต้องลุ้นว่า ถ้าชงชาตามวิธีแนะนำแล้วดอกไม้จะบานสวยเหมือนในภาพหรือไม่
“เราเชื่อว่าภาพมีผลต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ จึงทำให้ต้องใส่ใจเรื่องภาพเป็นสำคัญและนำเสนอเป็นสิ่งแรก ส่วนเรื่องสรรพคุณและรสชาติของชานำเสนอเป็นเรื่องรอง เพราะสรรพคุณเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว เช่น ชาดอกบัวสายช่วยให้หลับสบาย ชาเก๊กฮวยขาวแก้ร้อนใน ส่วนรสชาติไม่ซับซ้อน เพราะไม่ได้เบลนด์ เป็นรสชาติของดอกไม้นั้นๆ ด้านคอนเทนต์จะปรับให้เข้ากับกลุ่มลูกค้า และโพสต์สม่ำเสมอเพื่อให้เห็นว่าแบรนด์เคลื่อนไหวอยู่ตลอด ที่สำคัญต้องตอบแชตลูกค้าเร็ว เพราะลูกค้าสมัยนี้ไม่ชอบรอนาน รวมถึงต้องส่งสินค้ารวดเร็ว และเทกแคร์เป็นอย่างดี เช่น ถ้าลูกค้าบอกว่า กาแตก จะไม่ถามว่าทำไมถึงแตก แต่จะส่งกาใหม่ไปให้เลย และถ้าส่งสินค้าล่าช้า หรือออร์เดอร์ผิดพลาดจะส่งสินค้าพิเศษให้ไปเพื่อเป็นการขอโทษ” พงศกรกล่าว
ในส่วนของศิริพิมดูแลเรื่องการติดต่อกับคาเฟ่ ห้างสรรพสินค้า และโรงแรมเพื่อนำ CHAR เข้าไปวางจำหน่าย ซึ่งเธอมองว่านี่เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น และทำให้เจอกับกลุ่มลูกค้าใหม่ โดยก่อนจะผลักดันสินค้าสู่พื้นที่ออฟไลน์เหล่านี้ต้องค้นหากลุ่มลูกค้าของแบรนด์ให้เจอก่อน โดยเริ่มจากการตั้งกลุ่มลูกค้าขึ้นมาหนึ่งกลุ่ม จากนั้นทำให้กลุ่มลูกค้าแคบลงเรื่อยๆ จนในที่สุดเจอกลุ่มลูกค้าที่แท้จริง เมื่อรู้ว่าใครคือลูกค้า จึงมองหาสถานที่ที่จะนำสินค้าเข้าไปวาง โดยเลือกจาก 1.สถานที่นั้นๆ มีสไตล์เดียวกันกับแบรนด์ เช่น คาเฟ่ที่ตกแต่งด้วยดอกไม้ และ 2.ลูกค้าของแบรนด์เข้าใช้บริการ
“จริงๆ ตั้งใจเปิดตัวแบรนด์ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนของปีที่ผ่านมา เพราะอยากให้ทุกคนได้ซื้อชาของเราไปเป็นของขวัญในเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ แต่เพราะยังทำแบรนด์ออกมาไม่ดีพอ จึงเลื่อนมาเปิดตัวในช่วงต้นปีนี้ แม้จะเปิดตัวช้ากว่ากำหนด แต่ก็คุ้มค่าที่รอ เพราะลูกค้าได้รับสินค้าคุณภาพดี ซึ่งส่งผลดีกับแบรนด์ในระยะยาว นั่นคือการกลับมาซื้อซ้ำ เพราะพวกเขามั่นใจในคุณภาพชาของเรา” ศิริพิมกล่าวปิดท้าย
www.charflowertea.com
Line : @charflowertea
Facebook : charflowertea
Instagram : char_flowertea
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup