Starting a Business
HATCH goodies ข้าวพันธุ์ไทยของคนอยากกินข้าวอร่อย
ด้วยความอยากให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักกับข้าวพันธุ์ไทยที่ไม่ได้มีเพียงข้าวหอมมะลิ สองสาวเพื่อนสนิท ฌา-ฬิฌฌา ตันติศิริวัฒน์ และ แพม-ภัทรินา กิตติภูมิวงศ์ จึงลงพื้นที่ตามจังหวัดต่างๆ ที่เป็นแหล่งปลูกข้าวพันธุ์ไทย เพื่อศึกษาเรื่องราวของข้าวเหล่านี้ให้ถ่องแท้ก่อนนำมาให้ทุกคนได้ลิ้มลอง
ฌาเล่าถึงสิ่งที่ทำให้เธอและเพื่อนเกิดไอเดียในการทำแบรนด์ข้าวไทยให้ฟังว่า เนื่องจากตระหนักว่าข้าวคืออาหารหลักของคนไทย แต่คนไทยกลับรู้จักข้าวไทยน้อยมาก โดยส่วนใหญ่รู้จักแค่ข้าวหอมมะลิและข้าวไรซ์เบอร์รีทั้งที่ในเมืองไทยมีข้าวหลายพันธุ์ ดังนั้น เพื่อให้ทุกคนเข้าใกล้กับข้าวพันธุ์ไทยมากยิ่งขึ้นจึงสร้างแบรนด์ HATCH goodies ที่มีสินค้าหลักเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมือง รวมถึงพันธุ์ที่เกษตรกรพัฒนาขึ้นเอง
“ก่อนสร้างแบรนด์ต้องศึกษาหาข้อมูลว่า ในเมืองไทยมีข้าวพันธุ์พื้นเมืองและข้าวที่ชาวนาพัฒนาพันธุ์เองกี่พันธุ์ ปลูกในจังหวัดใดบ้าง จากนั้นมองหาชาวนาที่ดูแลข้าวด้วยวิธีธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี ซึ่งจากการลงพื้นที่ทำให้ได้รู้จักกับข้าวไทย 3 พันธุ์ที่มีความอร่อยแตกต่างกัน เราจึงตัดสินใจนำข้าวทั้ง 3 พันธุ์นี้มาจำหน่าย โดยบรรจุลงในกระปุกพลาสติกที่อัดแก๊สไนโตรเจน ซึ่งเป็นแก๊สที่มีความปลอดภัย ไม่มีกลิ่นและสี และเก็บความสดของข้าวได้ แต่ถึงอย่างนั้น เราก็แนะนำกับลูกค้าว่า ควรรับประทานข้าวให้หมดภายใน 1 เดือน เพราะถ้านานกว่านั้นข้าวจะไม่สด ความอร่อยจะลดลง และมอดอาจขึ้นได้เพราะไม่ได้รมยาฆ่ามอด แต่การที่มอดขึ้นข้าวไม่ใช่ว่าไม่ดี มันแสดงให้เห็นว่าข้าวไม่มีสารเคมี และเป็นข้าวที่อร่อย มอดถึงกิน” ฌากล่าว
ข้าว 3 พันธุ์ที่จำหน่ายภายใต้แบรนด์ HATCH goodies ได้แก่ ข้าวพันธุ์เวสสันตระ ปลูกในพื้นที่จังหวัดยโสธร พัฒนาพันธุ์โดยเกษตรกร โดยดึงเอาความหอมนุ่มของข้าวหอมมะลิและความเหนียวนุ่มของข้าวเหนียวเล้าแตกมาไว้ด้วยกัน ข้าวพันธุ์ปะกาอัมปึลเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของจังหวัดสุรินทร์ เหมาะจะรับประทานเป็นข้าวกล้อง มีความกรอบนอก นุ่มใน น้ำตาลต่ำ และข้าวพันธุ์ขาวยาวจากจังหวัดสุพรรณบุรี แม้จะร่วนนิดๆ แต่ก็มีความนุ่มที่อร่อย
“ข้าวที่เอามาขายเป็นข้าวพันธุ์เฉพาะ ไม่ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย การให้ข้อมูลกับลูกค้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทุกกระปุกเราเขียนถึงที่มาและคาแร็กเตอร์ของข้าวพันธุ์นั้นๆ ว่าหุงสุกแล้วจะมีหน้าตาอย่างไร เหมาะจะรับประทานกับอาหารประเภทไหน เช่น ข้าวปะกาอัมปึลเหมาะจะรับประทานกับอาหารเผ็ดและของผัด และข้าวเวสสันตระเหมาะสำหรับรับประทานกับของทอดและทำเป็นข้าวต้ม นอกจากนี้ ยังเขียนคำแนะนำอัตราส่วนของน้ำและข้าวไว้ด้วย เพื่อให้หุงออกมาแล้วได้ข้าวที่อร่อย” แพมกล่าว
ทั้งนี้ แพมบอกกับเราว่า เนื่องด้วยข้าวที่นำมาจำหน่ายเป็นข้าวอินทรีย์ ไม่มีการรมยาฆ่ามอด ฉะนั้นเพื่อป้องกันปัญหามอดขึ้นข้าวจึงไม่สีข้าวเก็บไว้ในปริมาณมากๆ แต่จะทยอยสีข้าวแบบ Small-Batch ในปริมาณที่พอดีกับการขายในแต่ละครั้ง และด้วยความที่ข้าวทั้ง 3 พันธุ์ปลูกแบบนาปีจึงต้องสต็อกข้าวให้มีปริมาณเพียงพอกับการขายตลอดทั้งปี วิธีสต็อกข้าวที่เลือกใช้คือ เก็บข้าวไว้ทั้งเปลือก เพราะเปลือกช่วยเก็บความอร่อยและความสดของข้าว เมื่อจะขายจึงนำข้าวไปสี
“การขายข้าวในช่องทางออนไลน์เป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะข้าวที่ขายเป็นข้าวพันธุ์เฉพาะที่คนไม่ค่อยรู้จัก และเป็นสินค้าประเภทอาหารที่จะรู้ว่าอร่อยก็ต่อเมื่อได้ชิม ดังนั้น ต้องเขียนคอนเทนต์ประเภท Story Telling เพื่อแนะนำข้าวให้ลูกค้ารู้จัก การเขียนถึงรสชาติและกลิ่นเมื่อหุงสุกว่าคล้ายกับอาหารประเภทใดก็ช่วยให้ลูกค้าจินตนาการออกว่า ความอร่อยของข้าวเป็นประมาณไหน เช่น ข้าวเวสสันตระมีกลิ่นหอมคล้ายขนมปังปิ้ง ข้าวปะกาอัมปึลหอมอร่อยคล้ายข้าวโพดต้ม ไม่เพียงเท่านี้ เรายังให้ความสำคัญกับการดูแลความคาดหวังของลูกค้า เพราะใช่ว่าลูกค้าทุกคนจะหุงข้าวออกมาเหมือนที่เราหวัง การมีช่องทางให้พวกเขาได้พูดคุยถึงข้าวที่ซื้อไป ได้สอบถามถึงวิธีการหุงข้าวให้อร่อยจึงเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้” ฌากล่าว
เมื่อตัดสินใจทำแบรนด์เกี่ยวกับอาหารการกิน การออกบู๊ธจึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สำคัญพอๆ กับโซเชียลมีเดีย โดยแพมบอกว่า การไปออกบู๊ธเหมือนการนำแบรนด์ออกไปทักทายลูกค้า ทุกครั้งที่ออกบู๊ธจะมีกิมมิกเล็กๆ ให้ลูกค้าเข้าถึงรสชาติความอร่อยของข้าวอย่างการเสิร์ฟข้าวหุงสุกร้อนๆ พร้อมหมูทอดสูตรพิเศษ มีเกลือสินเธาว์ให้เหยาะเพิ่มรสชาติข้าวให้เด่นชัดขึ้น
Tel. 08-1818-4700
Facebook : hatchgoodies
Instagram : hatchgoodies
Line : @hatchgoodies
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup