Starting a Business

เครื่องประดับ Mejuri ...คิวยาวแค่ไหนก็รอ





 

     การจำหน่ายเครื่องประดับออนไลน์อาจจะไม่ใช่แนวคิดใหม่ในการดำเนินธุรกิจแต่อย่างใด แต่โดยมากแล้ว เครื่องประดับที่จำหน่ายทางอินเตอร์เน็ตนั้นมักเป็นประเภท costume jewelry ที่เป็นของเลียนแบบ และดีไซน์หวือหวา เมื่อใช้ไประยะหนึ่งก็จะล้าสมัย ต่างจาก fine jewelry ที่เป็นเครื่องประดับแท้ ทำจากวัสดุราคาสูง เช่น ทอง เพชร เงิน การจำหน่าย fine jewelry ทางออนไลน์อาจมีบ้างประปรายแต่หนึ่งในแบรนด์ที่โดดเด่นสุดเห็นจะเป็น Mejuri แบรนด์เครื่องประดับจากโตรอนโต แคนาดาที่ฉีกทุกขนบของการจำหน่ายเครื่องประดับประเภท fine jewelry ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำคอลเลคชั่นใหม่ทุกสัปดาห์ ไปจนถึงการตั้งราคาที่ถูกเหลือเชื่อเพื่อให้เข้ากับคอนเซปต์แบรนด์ “ความหรูที่เข้าถึงได้ในราคาไม่แพง”               

     อะไรที่ทำให้แบรนด์เครื่องประดับ Mejuri ซึ่งเปิดตัวเข้าสู่ตลาดเมื่อต้นปี 2015 ประสบความสำเร็จถึงขนาดลูกค้าต้องลงชื่อรอคิวกว่า 40,000 รายเพื่อให้ได้เป็นเจ้าของคอลเลคชั่นใหม่ๆ ผู้ก่อตั้งแบรนด์เป็นสองสาวที่มีดีกรีต่างกัน Noura Sakkijha จบการศึกษาด้านวิศวกรรมอุตสาหกรรมและมาจากครอบครัวที่ทำธุรกิจอัญมณี ขณะที่ Justine Lancon ทำงานด้านศิลปะมาตลอด ทั้งคู่จับพลัดจับผลูมารู้จักและเกิดไอเดียอยากทำธุรกิจเครื่องประดับร่วมกัน โดยทั้งสองมีแนวคิดตรงกันคือการปั้นแบรนด์เครื่องประดับหรูคุณภาพสูง ดีไซน์เรียบเก๋ สวมใส่ได้ทุกวัน ที่สำคัญเป็นเครื่องประดับที่บรรดาสาวๆ สามารถควักกระเป๋าซื้อหามาสวมใส่เองได้เหมือนซื้อรองเท้าหรือกระเป๋าโดยไม่ต้องรอให้คนรอบกายมอบให้ในวาระสำคัญ เช่น วันเกิด วาเลนไทน์ วันครบรอบ วันคริสต์มาส หรือปีใหม่

     สินค้าภายใต้แบรนด์ Mejuri ประกอบด้วยแหวน สร้อยคอ สร้อยข้อมือ และต่างหู ทำจากวัสดุคุณภาพดี ได้แก่ทอง 14เค เงินสเตอริ่ง (เงินที่มีแร่เงินบริสุทธิ์ 92.5%) และgold vermeil หรือเครื่องประดับทองชุบ โดยแบ่งเป็นคอลเลคชั่น เช่น เครื่องประดับทั่วไป เครื่องประดับเพชรที่สวมใส่ได้ทุกวัน และเครื่องประดับตามราศี เป็นต้น ราคาเริ่มต้นที่ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไปจนถึง 365 ดอลลาร์ขึ้นไป เป็นเครื่องประดับที่ออกแบบสไตล์ minimalistic + timeless คือเรียบง่ายไร้กาลเวลา ไม่ล้าสมัย

     เนื่องจากเป็นเครื่องประดับที่ไม่ตามแฟชั่นหรือเทรนด์ใดๆ Mejuri ซึ่งทำงานร่วมกับดีไซเนอร์ในแคนาดาและทั่วโลกจะออกแบบเครื่องประดับโดยอิงจากฟีดแบ็คที่ได้รับจากลูกค้า และจากสิ่งรอบตัว เช่น จากงานศิลปะ ในการออกแบบเครื่องประดับ ทางแบรนด์ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ร่วม ได้แก่ 3D printing เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ กับ CAD design หรือโปรแกรมที่ช่วยในการออกแบบและเขียนแบบ สิ่งเหล่านี้ทำให้ Mejuri สามารถย่นเวลาในการออกแบบและผลิตเครื่องประดับ จนทำให้สามารถนำเสนอคอลเลคชั่นใหม่ได้ทุกสัปดาห์ต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งคอลเลคชั่นเครื่องประดับที่นำเสนอในแต่ละสัปดาห์มีจำนวนจำกัด ทำให้ลูกค้าต้องลงชื่อเพื่อจะได้เข้าไปจับจอง

     จากการเปิดเผยของผู้ก่อตั้งแบรนด์ 89% ของลูกค้าเป็นผู้หญิง และโดยมากเป็นกลุ่มมิลเลนเนียม อายุ 18-35 ปี โดย 90% ของลูกค้าหญิงเหล่านี้ควักกระเป๋าซื้อเครื่องประดับให้ตัวเอง นับตั้งแต่เปิดตัวมา ธุรกิจ Mejuri เติบโตต่อเนื่อง โดยปี 2017 ที่ผ่านมาทำยอดขายกว่า 60,000 ชิ้น และ 20-30% ของลูกค้าในแต่ละเดือนเป็นลูกค้าเก่าที่กลับมาอุดหนุนซ้ำ

     Mejuri ไม่มีนโยบายทุ่มงบแพงๆ ให้กับการโฆษณา สิ่งที่ทำให้ธุรกิจก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วมาจากการยึดโมเดลผลิตเองและขายตรงให้กับลูกค้าโดยไม่ผ่านคนกลาง นอกจากนั้นยังเน้นที่การบริการแบบพรีเมี่ยม ไม่สร้างความผิดหวังให้ลูกค้า และสำคัญไม่น้อยคือการรับฟังความคิดเห็นจากลูกค้าแล้วนำมาพัฒนาสินค้า จึงไม่แปลกที่คนที่พลัดหลงเข้าไปสั่งเครื่องประดับจาก Mejuri จะเกิดความประทับใจ นอกจากกลายเป็นลูกค้าประจำช่วยประชาสัมพันธ์ให้คนรอบข้างรับรู้อีกด้วย
 
     ที่มา : www.businessinsider.com/mejuri-fine-jewelry-founder-interview-2018-9
www.forbes.com/sites/forbesstylefile/2017/01/12/designer-spotlight-mejuri-makes-fine-jewelry-a-uniquely-personal-decision-for-every-woman/#3435132d1990
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup