Starting a Business
CHEW GREEN ผลไม้อบแห้งไม่เติมหวาน ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ
ทำไมผลไม้อบแห้งต้องมีน้ำตาล ในเมื่อตัวผลไม้เองก็มีความหวานตามธรรมชาติอยู่แล้ว และเชื่อว่าน่าจะมีคนชอบผลไม้อบแห้งที่หวานธรรมชาติเหมือนกัน แพร-ธันยธร ชาติละออง จึงตัดสินใจทำเป็นธุรกิจเสียเลย
ก่อนจะเป็นแบรนด์ CHEW GREEN ผลไม้อบแห้งนั้น ธันยธรเริ่มต้นจากกล้วยน้ำว้าตากแห้งฝีมือคุณแม่ที่ทำกินกันเองที่บ้านบ่อยๆ ซึ่งจะเป็นสูตรกล้วยน้ำว้าตากแห้งแบบดั้งเดิมไม่ใส่น้ำผึ้ง น้ำตาลอะไรเพิ่มทั้งสิ้น จากนั้นก็คิดกันในหมู่พี่น้องว่าน่าจะลองทำขายดู เพราะในช่วงนั้นร้านค้าเพื่อสุขภาพทยอยเปิดเพิ่มมากขึ้น CHEW GREEN จึงเริ่มต้นจากการทำกล้วยน้ำว้าอบแห้งโฮมเมดที่ทำกันในครัวที่บ้าน ก่อนที่จะขยายไปเป็นผลไม้อื่นๆ เช่น มะม่วง สับปะรด สตรอว์เบอร์รี ลำไย แก้วมังกร และขยายการผลิตสู่การทำในโรงงานที่ได้มาตรฐาน
CHEW GREEN มีคอนเซปต์ชัดเจนว่าเป็นผลไม้อบแห้งที่คงความเป็นธรรมชาติมากที่สุด ไม่ใส่น้ำผึ้ง น้ำตาลเพิ่ม ดังนั้น โดยกระบวนการผลิตจึงมีความยากกว่าทั่วไป และการเลือกวัตถุดิบหรือผลไม้จึงมีความสำคัญมาก
“ด้วยหลักการของแบรนด์คือ อยากให้เป็นธรรมชาติมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ คือต้องการคงรสผลไม้ตอนสุกเหมือนรับประทานสดให้ได้ ปรุงแต่งให้น้อยที่สุด จะมีบ้างบางผลไม้ เช่น สตรอว์เบอร์รี ที่เราใส่น้ำตาลเพิ่ม แต่จะมีแค่ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเพื่อให้คงรูป ตอนที่เราทำกล้วยน้ำว้าเป็นผลไม้แรก ทำให้เรารู้ว่ากล้วยจากแต่ละพื้นที่จะให้รสชาติที่ไม่เหมือนกัน การตัดกล้วยเร็วหรือช้าเกินไป ขนาดเล็กหรือใหญ่ ล้วนมีผลทำให้รสชาติที่ได้ไม่เหมือนกัน เราถึงขนาดเคยทิ้งกล้วยเป็น 100 หวีไปแล้วด้วยเรื่องพวกนี้ แต่ก็ทำให้เรารู้ว่าถ้าได้วัตถุดิบที่ดี จะช่วยได้เยอะ”
ดังนั้น เพื่อให้ได้วัตถุดิบตั้งต้นที่ดี ธันยธรจึงลงพื้นที่ไปเสาะหาและรับซื้อผลไม้จากเกษตรกรโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยจะเลือกวัตถุดิบที่มีทั้งขนาดและความสุกกำลังดี รวมถึงการเลือกผลไม้ที่เป็นออร์แกนิกอีกด้วย ขณะเดียวกันเนื่องจากคนไทยมีทัศนคติต่อผลไม้อบแห้งไปในทางลบ กล่าวคือจะคิดว่าผลไม้อบแห้งมีรสชาติที่หวานมาก จึงเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ทำให้เธอต้องให้ข้อมูลของแบรนด์ CHEW GREEN กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
“เราพิถีพิถันตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ โดยเราเวิร์กไปกับเกษตรกรที่เป็นชาวสวนจริงๆ เพราะเราต้องการของดี ผลไม้หลายประเภทที่เราเอามาก็เป็นอินทรีย์แล้ว อย่างกล้วยเป็นกล้วยอินทรีย์แล้วเพียงแต่ยังไม่ได้ใบรับรอง เพราะเราใช้สวนที่เกษตรกรรายย่อยจริงๆ ซึ่งการขอใบรับรองจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการมาตรวจ เราก็พยายามเวิร์กอยู่ว่าถ้าสามารถสร้างดีมานด์ให้ได้มากพอ ก็จะสามารถช่วยสนับสนุนในส่วนนี้ให้เกษตรกรได้”
นอกจากการให้ความสำคัญกับวัตถุดิบแล้ว ธันยธรยังให้ความสำคัญกับแพ็กเกจจิ้งไม่แพ้กัน เพราะรู้ดีว่าแพ็กเกจจิ้งจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของสินค้าให้ดูโดดเด่น รวมไปถึงการเป็นช่องทางสื่อสารเรื่องราวของสินค้าออกไปให้ผู้บริโภคได้รับรู้และเข้าใจ ด้วยเหตุนี้เธอจึงตัดสินใจเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้ง จากถุงคราฟต์กระดาษสีน้ำตาลธรรมดา มาเป็นแพ็กเกจจิ้งใหม่ที่ดึงดูดสายตาและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่สำคัญคือมีถึง 4 ภาษา คือ ไทย จีน ญี่ปุ่น และอังกฤษ
“ผลไม้อบแห้งถ้ามีแพ็กเกจจิ้งที่ไม่ดึงดูดก็จะทำให้การตัดสินใจซื้อยากมาก ทีนี้ทำยังไงที่จะทำให้ได้เห็นแล้วดึงดูดเพื่อให้ลองชิม เพราะถ้าลองชิมแล้วจะรู้ว่ามันต่างจากผลไม้อบแห้งทั่วไป ซึ่งข้อดีของการเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งคือ ทำให้เราได้ลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้นจากกลุ่มรักสุขภาพ เพราะเรามองว่าไม่ได้แค่เรื่องสุขภาพ แต่ CHEW GREEN คือขนมชนิดหนึ่งที่กินได้ทุกวัน นอกจากนี้ ยังได้ลูกค้าต่างชาติเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วเราตั้งเป้าหมายที่จะส่งออกด้วย ผลไม้จากบ้านเราอร่อย ทีนี้ถ้าเราคงความอร่อยไว้ได้เราก็อยากให้คนอื่นได้ลองด้วย” ธันยธรกล่าวในตอนท้าย
FB : Chew Green
Tel : 08-1647-0836
เว็บไซต์ : www.chewgreen.com
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup