Starting a Business
Choosy แบรนด์แฟชั่นน้องใหม่ไวกว่า Fast Fashion
โดยทั่วไป แฟชั่นเสิร์ฟด่วนหรือ Fast Fashion ของบรรดาแบรนด์ดังอย่าง H&M หรือ Zara จะแนะนำคอลเลคชั่นใหม่ในความถี่ต่อหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน ซึ่งนั่นก็ถือว่าเร็วมากแล้ว และแบรนด์เหล่านี้มักเกาะขอบรันเวย์เพื่อศึกษาเทรนด์แฟชั่น จากนั้นก็รีบออกแบบและผลิตออกมาทันทีเพื่อให้ทันกับความต้องการของลูกค้า แต่ความเร็วแบบ Fast Fashion อาจต้องหลบให้ระดับ Ultra Fast Fashion ของบริษัทสตาร์ทอัพสายแฟชั่นบางรายที่เปิดตัวคอลเลคชั่นใหม่ถี่ยิบ 2 ครั้งต่อสัปดาห์เลยทีเดียว
สตาร์ทอัพดังกล่าวมีชื่อว่า Choosy เป็นแบรนด์แฟชั่นที่จำหน่ายบน Gilt Groupe เว็บช้อปปิ้งออนไลน์ในสหรัฐฯที่เน้นสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ จุดเด่นของแบรนด์นี้คือการแนะนำคอลเลคชั่นใหม่ช่วง Flash Sale ทุกเที่ยงวันของวันอังคาร และวันศุกร์ ปรากฎผลตอบรับดี มีลูกค้าออร์เดอร์เข้ามาจำนวนมาก คำถามคือ Choosy ทำได้อย่างไรในการสร้างสรรค์แฟชั่นใหม่ๆ ออกมาป้อนตลาดทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง และเพราะเหตุใด Choosy จึงไม่ประสบปัญหาสินค้าค้างสต็อก
ทั้งหมดทั้งปวงมาจากมันสมองของเจสซี่ เฉิง สาวฮ่องกงวัย 25 ปี อดีตพนักงานไฟแนนซ์ในวอลล์สตรีท นิวยอร์ก เจสซี่ชอบติดตามบรรดานักแสดง นางแบบ และเซเลบในโซเชียลมีเดียแล้วสังเกตว่าเมื่อคนดังเหล่านั้นสวมใส่อะไร มักจะมี follower เข้ามาถาม เช่น ชุดของใคร หาซื้อได้ที่ไหน หลายคนอยากซื้อตาม แต่ปัญหาที่มักเจอบ่อยคือสินค้าไม่มีวางจำหน่ายแล้ว หรือถ้ามีก็ราคาแพงเกินไป เจสซี่มองว่านี่เป็นโอกาสทางธุรกิจ ทำไมเธอไม่ทำเสื้อผ้าที่คล้ายกันออกมาขายในราคาที่ถูกกว่าเพื่อตอบสนองคนกลุ่มนี้ซึ่งมีจำนวนมหาศาล
ด้วยเหตุนี้แบรนด์ Choosy จึงถือกำเนิดขึ้นเมื่อต้นปี 2018 โดยชิมลางด้วยการแนะนำแจ็คเก็ตสไตล์เดียวกับที่จีจี้และเบลล่า ฮาดิด สองพี่น้องนางแบบสุดแซ่บใส่ ผลคือแค่ 2 ชั่วโมง โกยออร์เดอร์ไป 300,000 ดอลลาร์ วิธีการทำงานของแบรนด์ Choosy มีลักษณะดังนี้คือเข้าไปส่องเทรนด์แฟชั่นจากเหล่าเซเลบ และ influencer ทั้งหลาย แน่นอนว่ามีคอม คาร์เดเชียนอยู่ด้วยเพื่อดูว่าพวกเขาใส่อะไร จากนั้นก็ดูในคอมเมนต์ของคนที่เข้ามาวิพากษ์วิจารณ์ว่าพวกเขาพูดถึงชุดนั้นอย่างไร ต้องการประมาณไหน เมื่อรวบรวมข้อมูลได้ ก็ส่งให้ดีไซเนอร์ออกแบบโดยอิงจากสิ่งที่คนในโซเชียลมีเดียพูดคุยกัน โดยพยายามไม่ลอกเลียนแบบต้นฉบับของแบรนด์อื่นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เจสซี่ปฏิเสธชัดเจนว่าเสื้อผ้าแบรนด์ Choosy ไม่ก๊อปปี้แบรนด์อื่นแน่นอนแต่เป็นดีไซน์เฉพาะที่เกิดจากความต้องการของผู้คนในโลกออนไลน์ สำหรับ Choosy แล้ว รันเวย์ไม่ได้กำหนดเทรนด์แต่เป็นโซเชียลมีเดียต่างหาก
ทั้งนี้ แต่ละคอลเลคชั่นของ Choosy จะออกมาครั้งละ 5 ชุดและวางจำหน่ายระยะสั้นๆ ไม่กี่วัน ขนาดมีตั้งแต่ 0-20 และราคาไม่เกิน 100 ดอลลาร์ สำหรับกลุ่มเป้าหมายเป็น Generation Z อายุระหว่าง 15-25 ปี ส่วนสาเหตุที่ Choosy ไม่ต้องมานั่งเดาว่าคอลเลคชั่นที่ออกมาจะโดนใจลูกค้าแค่ไหน ควรต้องผลิตเท่าไร สินค้าจะค้างสต็อกหรือไม่ เหมือนกรณี H&M ที่ผลิตออกมามากเกินไป ขายไม่หมด กลายเป็นสินค้าตกเทรนด์ ค้างอยู่ในคลังสินค้ามูลค่า 4,300 ล้านดอลลาร์
นั่นเป็นเพราะ Choosy ใช้วิธีผลิตในปริมาณแค่พอจำหน่าย โดยการนำระบบการผลิตแบบ Just In Time มาใช้ คือการผลิตในเวลาที่ต้องการ ด้วยจำนวนที่ต้องการ โดยใช้ความต้องการของลูกค้าเป็นเครื่องกำหนดปริมาณการผลิต เมื่อลูกค้ากดสั่งสินค้า เร็วสุดที่ได้รับคือใน 3 วัน แต่อาจมีล่าช้าบ้างหากลูกค้าสั่งล่าช้าเพราะทางบริษัทต้องผลิตในจีน ข้อได้เปรียบของ Choosy คือการที่ครอบครัวของเจสซี่ทำธุรกิจสิ่งทอขนาดใหญ่ในจีน เมื่อลูกค้าออร์เดอร์มา เจสซี่สามารถสั่งผลิตจากโรงงานโดยตรง ไม่ต้องผ่านคนกลาง ทำให้ย่นเวลาได้เร็ว การผลิตตามคำสั่งซื้อลูกค้านี่เองที่ทำให้สินค้า Choosy ไม่ค้างสต์อก และด้วยความชาญฉลาดในการเนินธุรกิจเช่นนี้ที่ทำให้ Choosy แม้จะเป็นแบรนด์น้องใหม่ แต่ก็สามารถแข่งขันกับแบรนด์ใหญ่ระดับโลกได้
ที่มา : https://money.cnn.com/2018/07/24/technology/choosy-fast-fashion-instagram/index.html
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี