Starting a Business

จากรองเท้าแตะถึงเคสโทรศัพท์ ไอเดียทำเงินของ Jude Case


 




     ด้วยความที่ชอบใส่รองเท้าแตะเป็นประจำ อีกทั้งยังชอบเปลี่ยนเคสโทรศัพท์อยู่บ่อยๆ ลฎาภา ยิ้มละมัย จึงเกิดไอเดียเก๋ หยิบรองเท้าแตะพื้นสีขาว สายยางสีน้ำเงินมาเป็นแรงบันดาลใจในการทำเคสที่ชวนว้าว

     ก่อนลงมือสร้างแบรนด์จริงจัง เธอลองเอารองเท้าแตะตัดครึ่งมาติดกับเคสแล้วถ่ายรูปโพสต์ลงโซเชียลมีเดียส่วนตัว ผลตอบรับที่ได้คือ เพื่อนๆ ออนไลน์ต่างถามไถ่ถึงที่มาของเคส จากผลที่เกิดขึ้นทำให้เธอมองเห็นโอกาสทางการตลาด เพราะเคสหน้าตาละม้ายคล้ายรองเท้าแตะยังไม่มีให้เห็น

     ในช่วงแรกที่ทำแบรนด์ เธอประสบปัญหาสายที่ทำจากยางไม่ยึดติดกับตัวเคสที่เป็นพลาสติกผิวลื่นทั้งที่ใช้กาวตราช้างเป็นตัวยึดติด เธอและคุณพ่อจึงช่วยกันคิดค้นกาวสูตรพิเศษที่ติดพลาสติกกับสายยางได้อย่างถาวร แต่อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ JUDE CASE ขายดิบขายดีในเวลาเพียงไม่นาน การจะนั่งติดสายยางกับตัวเคสด้วยกาวเห็นทีจะทำให้กระบวนการการทำงานล่าช้า เธอจึงเลือกผลิตแบบเชื่อมตัวเคสและสายยางเข้าด้วยกัน





     JUDE CASE คอลเลกชันแรกที่วางขายในช่องทางออนไลน์คือ คอลเลกชันคลาสสิก เคสรองเท้าแตะพื้นสีขาว มีสายยางให้เลือก 3 สี ได้แก่ สีแดง สีน้ำเงิน และสีเขียว ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย แต่เพราะเธออยากเจาะกลุ่มลูกค้าผู้หญิงด้วยจึงทำคอลเลกชันที่สองออกมา โดยตัวเคสเป็นสีพาสเทลอย่างสีชมพู สีเขียว และสีฟ้า ซึ่งเคสสีชมพูและสีฟ้ามักถูกขายออกพร้อมกันหากลูกค้ามาซื้อกับแฟน

     สำหรับช่องทางการขาย JUDE CASE หลักๆ ยังเป็นช่องทางออนไลน์ ซึ่งนอกจากโซเชียลฯ อย่างเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม เธอได้วางแผนที่จะทำการตลาดบนยูทูบโดยเน้นไปที่การทำวิดีโอรีวิวสินค้า และวิดีโอแนะนำสินค้า เช่น วิดีโอแนะนำสินค้าใหม่ รวมถึงวิดีโอแนะนำฟังก์ชันการใช้งานอย่างสายยางที่ทำให้ตัวเคสตั้งได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน ไม่เพียงเท่านี้ เนื่องจากลูกค้าต่างชาตินิยมซื้อเคสรองเท้าแตะไปฝากคนพิเศษ ร้านขายของฝากจึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางการขายที่สำคัญของแบรนด์ เพราะทำให้เข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้ได้โดยตรง

     หลังจากขาย JUDE CASE ได้สักระยะและเห็นโอกาสการเติบโตของแบรนด์ เธอได้เริ่มศึกษาระบบตัวแทน เพราะเป็นวิธีกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพ ทำให้แบรนด์โตเร็ว อีกทั้งทำให้เธอเหนื่อยกับการขายน้อยลง แต่มีเวลาไปพัฒนาสินค้ามากขึ้น เพราะมีคนเข้ามาช่วยขาย





     “ในช่วงแรกที่เปิดรับตัวแทนมียอดขายจากตัวแทนน้อยมาก บางเดือนเขาขายได้แค่ 3-5 ชิ้นเท่านั้น เราเลยต้องคิดหาโปรโมชัน เทคนิคการขายที่น่าสนใจ ตลอดทั้งหาช่องทางการขายที่เหมาะสมให้เพื่อที่พวกเขาจะได้ขายสินค้าได้มากขึ้น ทั้งนี้ จากการที่เปิดรับตัวแทนแบบไม่คิดค่าสมัครในช่วงแรกทำให้พบปัญหาว่า บางคนเข้ามาสมัครตัวแทนเพื่อซื้อเคสในราคาถูก ไม่ได้ซื้อเพื่อนำไปขายต่อ เราเลยต้องแก้ปัญหาด้วยการเก็บค่าสมัครตัวแทน”

     นอกจากตัวแทนในไทยที่มีกว่า 30 คน ตอนนี้ JUDE CASE ยังมีตัวแทนที่ลาว เหตุผลที่เธอมุ่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านคือ การขนส่งที่สะดวก เพราะเพียงแค่วันเดียวสินค้าก็ถูกส่งถึงมือตัวแทนลาวแล้ว นอกจากนี้ JUDE CASE ยังมีตัวแทนในญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ซึ่งจากการขายในหลายประเทศทำให้เธอรู้ถึงความต้องการที่ต่างกันของลูกค้า อย่างลูกค้าสหรัฐฯ ชอบเคสรองเท้าแตะคอลเลกชันคลาสสิก ขณะที่ลูกค้าญี่ปุ่นมีความต้องการเคสรองเท้าเกี๊ยะไม้

     “สิ่งที่จะทำให้แบรนด์อยู่ได้นานคือ การรักษาคอนเซปต์ ถ้าเราไม่ใช้ยางทำสายหรือเปลี่ยนไปทำเคสรองเท้าเกี๊ยะไม้ คอนเซปต์ที่วางไว้ตั้งแต่เริ่มจะหายไป แบรนด์ก็ไม่มีเอกลักษณ์ และถ้าอยากให้เคสของเราสะดุดตาลูกค้าก็ต้องสร้างความแตกต่างอาจจะแตกต่างด้วยดีไซน์หรือฟังก์ชันการใช้งานก็ได้”




     Line : @jude_case
     Instagram : jude_case
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี